“ลาก่อน” คำล่ำลาสุดท้ายที่แก้วอยากจะบอกกับยายของเธอ แต่ไม่มีโอกาส เมื่อ “ICU” ห้องช่วยชีวิตผู้คน กลายเป็นปราการสี่เหลี่ยม แยกคนรักให้ออกห่าง แม้ในวาระสุดท้าย ที่ควรจะได้บอกลา
แก้วอยู่กับยายมาตลอดยี่สิบกว่าปี ตั้งแต่จำความได้ ป้อนข้าว อาบน้ำ กล่อมให้หลับ ปลอบยามร้องไห้ หันหลังง่วนกับการทำกับข้าวให้เธอกินแทบทุกมื้อ เสียงสั่งสอนยายยังแว่วดังเสมอ “อดทนเข้าไว้ เป็นคนดี อย่าเอาเปรียบใครนะลูก”
บ้านไม้หลังเล็กๆริมคลองที่แสนสุขของเธอ อาจคับแคบในสายตาคนทั่วไป แต่สำหรับเธอ มันเป็นบ้านที่แสนจะเย็นสบาย ไม่ว่าเธอจะทุกข์แค่ไหน ตักอุ่นๆนิ่มๆของยายช่วยชโลมจิตใจเธอเสมอ เหมือนสายลมโชยพัดให้เธอคลายความคับข้อง แม้ไม่มีเสียงปลอบปะโลมใดๆออกจากริมฝีปากยาย
น้ำตารินไหลอาบสองแก้มของเธอทุกครั้ง คราใดที่นึกถึงวันนั้น วันที่ยายทุกข์ เจ็บปวดจากโรคภัย เธอกลับไม่ได้ตอบแทน มีเพียงสายตาที่มองยายในวันที่ยายไร้สติสัมปชัญญะแล้วเธอก็เป็นอีกคนที่ยอมปล่อยมือยาย เพื่อมอบให้ยายของเธอที่อยู่ด้วยกันมาตลอดยี่สิบกว่าปีอยู่ในเงื้อมมือของหมอพยาบาลที่ไม่คุ้นหน้า และเครื่องมือสารพัดที่พันธนาการยาย ในวันนั้นไร้อ้อมกอดของคนที่ยายรัก และรักยาย
แก้ว อยากจะกอดยาย อยากตะโกนสุดเสียงว่า “รักยาย” แต่ไม่มีใครให้ทำอย่างนั้นในห้อง ICU
ความเจ็บปวดที่ค้างคาในใจเธอมาตลอดหลายปี ทำให้เธอ ตัดสินใจเยียวยาหัวใจของเธอด้วยการเป็นอาสาสมัครรณรงค์ให้ผู้คนปรับทัศนคติเรื่อง ความตาย เสียใหม่ ให้วันเวลาสุดท้ายของชีวิตของทุกคนเป็นวันแห่งการอำลาที่อบอุ่นระหว่างญาติพี่น้อง เป็นวันที่ทุกคนจะจับมือกัน พาให้คนในครอบครัวจากไปอย่างสงบ เพื่อ “พบกันใหม่”
แก้วเดินสายไปตามที่ต่างๆพร้อมคณะรณรงค์ ไปตามโรงพยาบาล ไปตามชุมชนทั่วประเทศ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของเธอ เพื่อให้ทุกคนเผชิญหน้ากับความเป็นจริง และถามกลับตัวเองเสมอว่า สิ่งที่เราต้องการเมื่อถึงวาระที่คนที่เรารัก รวมถึงตัวเราเองกำลังเดินทางไปสู่ภพภูมิใหม่ในไม่ช้า คืออะไร ???
“ปล่อยให้เขาอยู่กับเครื่องช่วยหายใจเพียงลำพัง กับหมอพยาบาลที่ไม่รู้จัก เสียงที่ไม่คุ้นหู หรือในครอบครัวจะอยู่เป็นเพื่อนเค้า คอยเล่าเรื่องราวเก่าๆ สนุกๆ ให้กันฟัง เพราะคนป่วยจะรับรู้ได้ แม้ไม่ได้ด้วยสายตา แต่สุ้มเสียงที่คุ้นเคยจะดังก้องในใจเขาเสมอ และเมื่อวินาทีสุดท้ายมาถึง เราจะจับมือกันเพื่อบอกลาอย่างอบอุ่น” ประโยคสั้นๆกระชับๆที่แก้ว พยายาม บอกเล่าให้ทุกคนฟัง
หลายโรงพยาบาลตระหนักดี และกำลังวางระบบการดูแลประคับประคองผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Palliative Care)
ที่ต้องใส่จิตวิญญาณเข้าไปในเนื้อหาด้วย เพื่อให้หมอ พยาบาลและบุคลากรให้ใจและเวลาค้นหาความต้องการที่แท้จริงของคนไข้ ได้พูดคุยกับคนในครอบครัวของคนไข้ เพื่อเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ ให้ระยะสุดท้ายของผู้ป่วยเป็นช่วงที่เค้าได้สงบนิ่ง และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จนถึงวันที่จิตใจและร่างกายแยกจาก ไม่ถูกกระทำในสิ่งที่ผู้ป่วยไม่ต้องการ เพื่อยื้อ ความตาย อย่างทรมาน
แก้ว เล่าซ้ำไปซ้ำมาให้ชุมชนต่างๆที่เธอไปเยือน เผชิญกับความเป็นจริง และให้ยอมรับว่า “การตายอย่างสงบ” เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการทั้งสิ้น เพื่อให้เตรียมกายและใจที่จะเดินทางไปจุดนั้นอย่างที่ต้องการ
เธอยังได้อธิบายเครื่องมือทางสังคมที่กฎหมายสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 12 เปิดช่องทางให้ทุกคนแสดงเจตนาไว้เป็นหนังสือแนบกับประวัติในโรงพยาบาลที่รักษาอยู่เป็นประจำ 1 ฉบับ เก็บไว้กับตัว 1 ฉบับ และสื่อสารให้คนใกล้ชิดได้รับทราบเจตนาของตัวเองว่าในช่วงถึงวาระสุดท้ายต้องการให้ดูแลรักษาอย่างไร
“ถึงตอนที่ป้าไม่รู้เรื่องอะไรแล้ว ต้องการใส่ท่อเพื่อช่วยหายใจ หรือต้องการให้ปั๊มหัวใจหรือเปล่า หรือป้าต้องการจากไปอย่างไม่ทรมาน มีคนที่เรารักและรักเราอยู่ใกล้ชิดกันจนถึงวันที่ป้าหมดลมไหม ป้าต้องการแบบไหน ป้าก็เขียนไว้ แล้วบอกลูกหลานไว้ว่าป้าต้องการอะไรในตอนที่ป้าถึงวาระนั้น หรือแม้ว่าป้าอยากจะให้มารักษาที่บ้านจนถึงวันสุดท้ายก็เขียนได้นะ” แก้ว นั่งอธิบายให้คนในชุมชนหลายแห่งฟัง
หลายที่ที่เธอไปเยือน บ้างก็เปิดใจรับฟัง บ้างก็โบกมือส่ายหน้า ไม่ต้องการฟังเรื่องเป็นเรื่องตายอะไรตอนนี้ เพราะอัปมงคล ทุกวันที่เธอจะออกบ้านเพื่อไปเยี่ยมชุมชนต่างๆ เธอจะนึกถึงยายเสมอ ให้ยายเป็นกำลังใจให้เธอให้ยายช่วยผู้คนเข้าใจในสิ่งที่เธอพูด สิ่งที่เธอสื่อสาร เพื่อเสียงในใจเค้าจะได้สงบลงพร้อมกับคนรักที่จากไป
ไม่ดังกึกก้องเหมือนอย่างเธอในวันนี้ วันที่อยากจะย้อนกลับไปในวันสุดท้ายของยาย เพื่อให้ยายอยู่กับเธอ ได้จับมือกัน มีโอกาสบอกให้ยายรู้ว่า “เธอรักยาย” เพียงใดจนสิ้นลม