วาระสุดท้ายของชีวิต

“ชีวิตที่มีความหมาย คือความทรงจำที่ดี…ที่ทิ้งให้ผู้คน”

บรรยากาศในห้อง ICU ของ โรงพยาบาล Highland เมืองโอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นไปอย่างเคร่งเครียด…เมื่อแพทย์และทีมดูแลห้องผู้ป่วยหนัก ต้องเผชิญโมเมนต์สำคัญ ในการสื่อสารกับครอบครัวของคนไข้ว่า การรักษาได้เดินมาถึง ‘ทางแยก’…ระหว่างความเป็นและความตาย!

อารมณ์ที่สลับไป สลับมา ของตัวละครในสารคดีสั้นเข้าชิงรางวัลออสการ์ปีล่าสุด 2017  ‘Extremis’ คือการนับถอยหลังสู่วินาทีสุดท้ายของคนที่เรารัก การตัดสินใจอันแสนยากลำบาก ต้องเลือกว่าจะยื้อชีวิตต่อไปอีกสักนิด หรือ Shut down ปิดเครื่องช่วยหายใจ

24 นาทีสำคัญ ที่สารคดีชุดนี้สะท้อนเรื่องราวความขัดแย้งทางจิตใจของตัวละครอย่าง Dr. Jessica Zitter แพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการรักษาแบบประคับประคองให้กับผู้ป่วยระยะสุดท้าย พร้อมๆ กับแรงกดดันจาก ลูก สามี ภรรยา และญาติของคนไข้

เมื่อทุกคนต้องเลือกระหว่าง ‘วิทยาศาสตร์หรือปาฏิหารย์’  

เมื่อทุกคนต้องตกอยู่ในบรรยากาศของ ‘การปล่อยวางหรือหวาดกลัว’

บทสนทนาระหว่างหมอ คนไข้ ครอบครัว ถ่ายทอดจากเรื่องจริงราวกับ Reality ในโรงพยาบาล Highland ซึ่งไม่แตกต่างจากประสบการณ์จริง…สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทย

Extremis

Extremis

คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์  ผู้รณรงค์เรื่องสิทธิการตายอย่างสงบมากว่า 10 ปี มองว่า “เราไม่จำเป็นต้องตกอยู่ในสภาวะทางเลือกที่มีเพียง 2 อย่าง คือยื้อชีวิตต่อด้วยเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือปล่อยให้เสียชีวิตอย่างสงบ เพราะยังมีอีกทางเลือกหนึ่งในการให้ผู้ป่วย เขียนหนังสือแสดงเจตนาล่วงหน้า ว่าจะให้รับการรักษาอย่างไร ในช่วงสุดท้ายของชีวิต เป็นทิศทางของการตัดสินใจแก่หมอและญาติ  รวมถึงสอดคล้องกับแนวทางที่ผู้ป่วยต้องการอย่างแท้จริง เมื่อวาระสุดท้ายมาถึง ซึ่งผู้ป่วยไม่สามารถสื่อสารกับใครๆ ได้แล้ว”

คุณหญิงจำนงศรี กล่าวในวงเสวนา “ความตายบนแผ่นฟิล์ม” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ยกตัวอย่างของสารคดี Extremis มากระตุ้นให้สังคมไทย เห็นความสำคัญของ มาตรา 12 ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ซึ่งให้บุคคลมีสิทธิทำ ‘หนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุข เพื่อยื้อการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต’ ลดความทรมานและให้ผู้ป่วยได้จากไปอย่างสงบ แต่คนจำนวนมากยังไม่เข้าใจถ่องแท้

คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์

credit : FB_จำนงศรี หาญเจนลักษณ์ Chamnongsri Hanchanlash ป้าศรี

“….การสื่อสาร ระหว่างหมอ ผู้ป่วยและญาติ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด แต่ละคนจะต้องลดทิฐิ ความเป็น ตัวฉัน ออกไป เพื่อพุ่งตรงไปที่ความต้องการของผู้ป่วยอย่างแท้จริง”

สารคดี Extremis ได้สะท้อนให้เห็นการทำงานในภาวะวิกฤต ของ Dr. Jessica Zitter ต่อคนไข้ที่ครอบครัวรู้สึกเหมือน ‘มีความหวังเล็กๆ’ และไม่ต้องการเป็น ‘ลูกอกตัญญู’ เช่นกรณีของผู้ป่วยอาการร่อแร่ ที่ชื่อ Selena ซึ่งได้รับความกระทบกระเทือนทางสมองอย่างรุนแรง และหยุดหายใจไปชั่วขณะ ระหว่างการส่งตัวมายังห้องฉุกเฉิน

ในฐานะแพทย์ Zitter ทราบดีถึงสิ่งที่กำลังจะเป็นไป บนความหวังริบหรี่ ขณะที่ Tama ลูกสาวของ Selena กลับบอกว่า “ฉันกำลังมองหาปาฏิหารย์ให้เกิดขึ้นอีกครั้ง” และย้ำว่า การถอดเครื่องช่วยชีวิตแม่ของเธอออกไปนั้น… “ฉันรู้สึกว่ามันคือการฆาตกรรม”

สภาวการณ์อัดแน่นที่เกิดขึ้น คือสิ่งที่ทุกคนไม่ได้เตรียมใจไว้ล่วงหน้า ทั้งๆ ที่สามารถทำได้

นพ.สกล สิงหะ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  อธิบายว่า ในวิชาชีพแพทย์ของไทยเวลานี้ เกิดการสื่อสารในเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายมากขึ้น เพื่อให้หมอไม่เป็นผู้ตัดสินใจแทนทุกอย่าง มีความรู้สึกอ่อนโยน รับรู้อารมณ์ของผู้คนรอบข้าง และหันมาฟังความต้องการของผู้ป่วยให้มากกว่าเดิม

“เราต้องเปลี่ยนความคิดของผู้ที่เกี่ยวข้องใหม่ด้วย ในการบอกภาวะความเป็น ความตายของผู้ป่วย แทนที่จะมองเป็นข่าวร้าย เปลี่ยนเป็นข่าวดี  คือหาแนวทางการรักษา ที่จะให้ผู้ป่วยได้ จากไปอย่างสงบ” 

อาทิ ในช่วงราวๆ 2 อาทิตย์ก่อนจะเสียชีวิต แพทย์อาจจะให้ผู้ป่วยกลับบ้าน เพื่ออยู่กับครอบครัวที่รัก แม้ผู้ป่วยไม่มีเครื่องช่วยหายใจ แต่ยังมีการใช้ยา เพื่อลดความทรมานหรืออาการปวด

นพ.สกล มุ่งหวังให้ทุกๆ คน ช่วยกันสื่อสารต่อสังคมสมัยใหม่ เลิกสื่อถึง ชีวิตที่เป็นอมตะ ใช้เงินเป็นใหญ่ เชื่อมั่นในเทคโนโลยียื้อลมหายใจมากเกินไป  รวมถึงการใช้ชีวิตอย่างประมาท  เพราะการตายดี  ต้องมี ‘การใช้ชีวิตที่ดี’ มาก่อนหน้านี้

ขณะที่ ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส  อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า ทางออกที่ดีที่สุดในช่วงเวลาสุดท้าย คือการแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้า อาจทำเป็นหนังสือ หรือเอกสารที่ชัดเจน บอกให้คนในครอบครัวได้รับรู้ ว่าเราต้องการให้รักษาแบบใดในระยะสุดท้าย  และมอบให้ไว้กับ งานเวชทะเบียนของโรงพยาบาล ที่ตนเองรักษามาตลอด  อีก 1 ชุดเก็บไว้ที่บ้าน หรือพกติดตัวด้วย  เพื่อให้เจตนานี้สื่อสารไปยังคนเกี่ยวข้องให้ทั่วถึง 

โดยส่วนตัวของ ศ.แสวง จะมีเศษกระดาษเล็กๆ ที่พกติดไว้ในกระเป๋าสตางค์มาตลอดหลายปี  ระบุ ‘ข้อความ’ แสดงเจตนาให้คนที่ได้มาเจอเขาในช่วงวิกฤติ รับรู้ถึงความต้องการ…

เช่นเดียวกับ นพ.บรรลุ ศิริพานิช ปูชนียบุคคลในวงการสาธารณสุข ก็มี หนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต พกไว้ในกระเป๋าอยู่ตลอดเวลาหลายปี

“ขณะที่เขียนหนังสือนี้ 1. ข้าพเจ้ามีสุขภาพกาย สุขภาพจิต เป็นปกติสมบูรณ์ทุกประการ 2. ข้าพเจ้าเป็นแพทย์และพุทธศาสนิกชน รู้ว่าชีวิตคนนั้น เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีใครหลีกพ้นได้ 3. บัดนี้ข้าพเจ้าอายุ 87 ปีแล้ว เกิด 17 พฤษภาคม พ.ศ.2468 จึงมีประสบการณ์ชีวิตมากพอสมควร ข้าพเจ้าได้ส่งเสริมสุขภาพตนเองตลอดมา ข้าพเจ้าได้ป้องกันโรคติดต่ออย่างไม่ประมาท และโรคไม่ติดต่ออย่างระมัดระวัง เพื่อให้ชีวิตมีคุณภาพที่จะอยู่ในโลกโดยไม่เป็นภาระแก่ผู้อื่น

4. แม้ข้าพเจ้าจะเป็นแพทย์ ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามความรู้ที่มี แต่ สักวันข้าพเจ้าจะต้องเจ็บและตายเป็นธรรมดา ข้าพเจ้าไม่ได้กลัวความตายเพราะข้าพเจ้ารู้สึกว่า ข้าพเจ้าได้มีชีวิตในโลกนี้มาพอสมควรแล้ว 5. เจตนาที่ข้าพเจ้าเขียนหนังสือนี้ คือ 5.1 เมื่อไหร่ที่ข้าพเจ้าเจ็บป่วยจากอะไรก็ตาม และคลื่นสมองของข้าพเจ้าไม่มีแล้ว ให้เลิกหรือหยุดการให้บริการแก่ข้าพเจ้าได้ อย่าทำอะไรให้แก่ข้าพเจ้า และขอให้ข้าพเจ้าจากโลกนี้ไปหรือเรียกว่าตายอย่างสงบเถิด 5.2 เมื่อไหร่ข้าพเจ้าเจ็บป่วย และแพทย์เห็นว่าไม่หายแน่ จงปล่อยให้ข้าพเจ้าไปอย่างสงบ อย่าต้องทำอะไรให้ข้าพเจ้าลำบากเลย”

ลงชื่อ ‘บรรลุ ศิริพานิช’ 1 มกราคม 2555

วาระสุดท้ายของชีวิต

นักปรัชญารุ่นใหญ่ ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ นักเดินทางแห่งภูสูง มองความตายอย่างสนิทแนบกับธรรมชาติและเป็นความงดงาม สัมพันธ์กับคำถาม 3 ข้อ ที่มนุษย์ทั่วโลกต้องการมากที่สุด คือ การให้อภัย , การให้ผู้คนมีความทรงจำที่ดีต่อตนเอง และการใช้ชีวิตอย่างมีประโยชน์ เพื่อตอบถามเดียว นั่นคือ

“ชีวิตที่มีความหมาย คือความทรงจำที่ดี…ที่ทิ้งให้ผู้คน”

หาก Extremis เป็นสารคดีบอกเล่าช่วงเวลาแห่งความตาย สะท้อนสภาวะสิ้นสุดทางการแพทย์  ความหวัง โชคชะตาที่ถูกปิดกั้น และการเปิดประตูไปสู่การร่ำลา

ณ โลกของความเป็นจริง พวกเราทุกคนก็ย่อมมีสิทธิเป็นตัวละครหนึ่ง ใน ‘สารคดีแห่งชีวิต’ เช่นนี้ อยู่ที่ว่าจะเตรียมตัวอย่างไร ให้มีเวลาสนทนากับคนที่เรารัก สื่อสารกับคนที่เข้าใจ ก่อนจากไปอย่างสงบ

…หรือเลือกตายไปกับสายระโยงระยาง เครื่องช่วยหายใจ โดยทิ้งน้ำตาไว้เบื้องหลัง!