“ผมได้รับพรวิเศษให้มีความสามารถในการสื่อสารกับคนทุกประเภทเพื่อสร้างความเข้าใจร่ามกันได้” โฮวาร์ด ชูลท์ซ ประธานบริษัทสตาร์บัคส์
“ผมอยู่ในธุรกิจเวนเจอร์แคปิตอลนาน 25 ปี ผมได้ชมการพรีเซนเทชั่นสัปดาห์หนึ่งเป็น 10 ครั้ง ส่วนใหญ่น่าเบื่อ ผู้บรรยาย ซึ่งเป็นหัวใจของการพรีเซนเทชั่น ต้องทำให้ผมรู้สึกมีส่วนร่วมเสมอ” มาร์ติน เกเก้น อดีตผู้บริหาร 3i Venture Capital
“คุณอาจมีไอเดียบรรเจิด แต่ถ้าคุณไม่สามารถเผยแพร่ออกไป ไอเดียของคุณก็ไปไม่ถึงไหน” ลี ไออาคอคค่า แห่งไครสเลอร์
ในโลกของการทำงาน มนุษย์เงินเดือนในแต่ละออฟฟิส ล้วนมีการประชุมทุกวี่ ทุกวัน ชุลมุนชุลเก กันไปซะหมด
ผู้อ่านหลายๆ คน ก็คงเคยเป็นทั้ง คนพรีเซนต์ผลงานเอง และดูผลงานพรีเซนต์ของคนอื่นๆ ใช่หรือไม่? บางวันก็เฟี้ยวฟ้าว แต่บางวันก็คงพูดแล้วฟาล์วๆ ไม่ได้อย่างที่ต้องการ
เคล็ดลับของการพรีเซนต์อย่างหนึ่งก็คือ การอธิบายให้เรื่องราวของเรา ฟังดูง่าย ชัดเจน และกระชับ โดยถ้อยคำที่ถ่ายทอดออกไป ควรสอดใส่ “แพสชั่น” (Passion) หรือความหลงใหล ต่อสิ่งที่คุณกำลังสื่อสารอยู่ ให้คนฟังได้รู้สึกไปด้วย
เจ้าความหลงใหลนี่แหละ คือเสน่ห์ของการสื่อสารอย่างหนึ่งที่จับจิตจับใจ คนฟังดีนัก จะเรียกว่าเป็นการหว่านล้อมก็ได้ จะบอกว่าเป็นการโน้มน้าวใจก็ถูก แต่ที่สำคัญกว่านั้น ต้องเป็น “อินเนอร์” ที่ออกมาจากภายในใจของคุณเองไม่ใช่ดัดจริต ซึ่งจะทำให้ย้วยและน่าเบื่อมากกว่า
การเริ่มต้นพรีเซนต์ก็เป็น “ช่วงเวลาทองคำ” เพราะทุกคนกำลังตั้งอกตั้งใจ ฟังคุณอย่างจดจ่อ ลูกล่อลูกชน มันอยู่ตรงนี้ คือสร้างความผูกพันทางอารมณ์กับคนที่กำลังจ้องตามาที่คุณเป็นอันดับแรก
อาจเริ่มจากการตั้งคำถาม การแลกเปลี่ยนประสบการณ์บางอย่าง ที่ทุกคนรู้สึกเหมือนๆ กัน ปูทางเชื้อเชิญเค้าไปสู่โลกของเราอย่างง่ายๆ ก่อนจะเข้าสู่คอนเทนท์หนักๆ หรืออัดแน่น แต่ไม่ใช่การยัดเยียด
และในระหว่างการพรีเซนต์ ก็ควรสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ฟังเป็นระยะๆ กับโครงการหรือผลงาน ที่ต้องการนำเสนอ ชวนให้ทุกคนคิดตาม
คำถามก็คือความสำเร็จอยู่ตรงไหน? ก็ตอบให้ได้เลย…คือความรู้สึกของผู้ฟังต่อสิ่งที่คุณพูด ว่าจะสามารถเปลี่ยนโลกทัศน์พวกเค้าได้หรือไม่
ฉะนั้น ก่อนพูดจึงต้องเตรียมความพร้อม ซ้อมให้หนักๆ หาจุดที่เรียกว่า “คานงัด” คือสร้างแรงบันดาลใจให้คนฟัง เกิดพลังของโกรทฮอร์โมน ที่จะมาร่วมเดินไปกับคุณแบบหนุ่มสาว
แล้วถ้าคุณต้องเตรียมไฟล์ พรีเซนเทชั่น เพื่อช่วยให้การพูดง่ายขึ้นอยากให้ ครีเอท พรีเซนต์ แบบดีงาม ดึงดูดใจ เพราะมันสะท้อนถึงความตั้งใจในการสื่อสาร
ปกติจะให้ดี ก็ไม่ควรใส่รายละเอียดมากเกินงาม เพราะนอกจากจะทำให้ความคิดสับสน อลหม่าน แล้ว ผู้ฟังยังเสียสมาธิในการเพ่งอ่านแต่จอข้างหลัง ไม่ได้ฟังที่เราพูดซะอย่างนั้น
รูปแบบของไฟล์พรีเซนต์ ก็สร้าง “โฟกัส” ให้แต่ละหน้า ที่เน้นประเด็นซึ่งต่างกันไป แต่ใช้สไตล์ตัวอักษร รูปภาพ หรือสัดส่วน สอดคล้องกันอย่างเป็นเอกภาพ
ในต่างประเทศ ซีอีโอ ชื่อดังๆ ล้วนต่างต้องจ้างเทรนเนอร์มาฝึกการสื่อสาร การพรีเซนเทชั่น และฝึกท่าทางระหว่างการบรรยาย ให้โดนใจคนฟังเป็นการเฉพาะทีเดียว เรื่องนี้สำคัญมาก ไม่อย่างนั้น สตีฟจ๊อปส์ คงไม่ทำให้แอปเปิล ประสบความสำเร็จเฉกเช่นวันนี้ใช่มั้ยล่ะครับ