ถ้าคนฉายหนังผู้เป็นแรงบันดาลใจแก่เด็กน้อย ในภาพยนตร์คลาสิกชื่อดัง รางวัลออสการ์ อย่าง Cinema Paradiso ข้ามห้วงเวลา มาเห็น ‘ปรินซ์ รามา’ ณ เวลานี้ คงรู้สึกเศร้าเสียดาย
โรงภาพยนตร์…สถานที่ๆ เคยให้ความสุขแก่ผู้คนและความฝันของทุกชนชั้น ทั้ง แม่บ้านร้านตลาด ช่างไม้ นายกอง อาแปะ อาม่า และกะลาสี ได้หลีกลี้จากความทุกข์ใจในโลกของความเป็นจริง…กำลังล้มหายตายจากไปอย่างเงียบๆ
คล้ายๆ กับเครื่องฉายหนังและม้วนหนามเตย ของลุง ‘อัลเฟรโด้’ ที่เคยทำหน้าที่ ‘สปอตไลต์’ ถ่ายทอดตัวละครในม้วนฟิล์มไปสู่ผืนผ้าขนาดใหญ่ ต้องมืดดับลง หลงเหลือแต่ความทรงจำ และก็เหมือนกับฉากจบของหนัง ที่ค่อยๆ Fade Out จางออกไปๆ ทุกขณะ
‘ปรินซ์ รามา’ ก็ถือเป็น 1 ในโรงภาพยนตร์ไทยกว่า 150 แห่ง ได้รับการนิยามว่า เป็นโรงหนัง Stand Alone ของกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ใจกลางชุมชน ริมถนนบางรัก แหล่งที่พักนักเดินทางจากทั่วทุกสารทิศ
ที่ดินผืนนี้เป็นของ ‘กรมธนารักษ์’ เปิดให้เอกชนเข้ามารับสัมปทาน บริหารจัดการเมื่อ 98 ปีก่อน โดยแรกตั้งใจจะสร้างตลาดสดแห่งใหม่ให้แม่ค้าแถวนั้นมาเช่าแผงขายของ แต่ด้วยทำเลที่อยู่ในซอยแคบ ทำให้แม่บ้านไม่เดินเข้ามาจ่ายตลาด พ่อค้าก็ไม่กล้าลงของมาขาย สุดท้ายเปิดได้ไม่นานนักก็ต้องปิดตัวลง
จากคำบอกเล่าของ ลุงประยุทธ์ เลิศภิญโญภาส อายุ 80 ปี ผู้อยู่อาศัยในชุมชนรอบๆ ปรินซ์ รามา มาตั้งแต่ยุคแรก สะท้อนบรรยากาศสมัยนั้นว่า เมื่อเจ้าของตลาดประกาศปิดกิจการไปแล้ว บริษัทแห่งใหม่ที่รับสัมปทานจากกรมธนารักษ์ ก็เปลี่ยนแปลงสภาพอาคาร มาเป็นโรงหนังทันสมัยของชาวบางรักยุคนั้น
“จำได้ว่าราคาตั๋วแรกๆ อยู่ที่สามบาทห้าสิบสตางค์” ลุงประยุทธ์ย้อนความทรงจำให้ฟัง
ยุคนั้นเรียกได้ว่า หนังไทยกำลังเฟื่องฟู ผู้คนจูงลูกจูงหลานมาชมกันมากพอสมควร แม้จะไม่คึกคักเหมือน อย่าง เฉลิมกรุง เฉลิมไทย หรือสกาล่า แต่ ปรินซ์ รามา ก็ได้แฟนประจำระดับหนึ่ง
เช่นกัน กิจการโรงหนัง เริ่มซบเซาลงไปตามกาลเวลา เจ้าของโรงหนัง เปลี่ยนรูปแบบจากการฉายหนังปกติ มาเป็น ‘หนังสำหรับผู้ใหญ่’ ก็มีคนมาดูเข้าๆ ออกๆ อยู่ตลอดเวลา
“ผู้จัดการโรงหนังคนเดิมเค้าขอลาออกไป เพราะไม่ชอบความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ แต่ไม่นาน ทางเจ้าของโรงหนังก็ได้ผู้จัดการคนใหม่เข้ามาดูแล”
แต่ก็ทนทำได้อีกระยะหนึ่งเท่านั้น กระทั่ง ปรินซ์ รามา ปิดกิจการอย่างถาวรเมื่อหลายปีก่อน กรมธนารักษ์ ได้เปิดให้บริษัทเอกชนมาพัฒนาพื้นที่นี้อีกครา
ตามคำบอกเล่าของชาวชุมชน มีหลายบริษัทเข้ามาสำรวจพื้นที่ รวมถึงกลุ่ม สิงห์ คอร์ปอเรชั่น แต่ส่วนใหญ่ ล้วนติดขัดปัญหาเรื่องของทางเข้าที่ค่อนข้างเล็ก คับแคบ และไม่สะดวก
ในที่สุด ธนารักษ์ ก็ได้ บริษัท มนทาระ โฮลดิ้งส์ จำกัด เข้ามาเป็นผู้พัฒนาพื้นที่แทน โดยภาครัฐมีเงื่อนไขว่า ชุมชนโดยรอบต้องไม่ถูกไล่ที่ แผนธุรกิจใหม่ ต้องสอดคล้องและอนุรักษ์วิถีชีวิตที่ดีงามเอาไว้ต่อไป
จากโรงหนัง ณ วันนั้น ปรินซ์ รามา กำลังจะกลายเป็น โรงแรมแบบ ‘โฮสเทล’ ให้นักเดินทางจากทั่วโลก ได้มาสัมผัสประสบการณ์ทางวัฒนธรรมเก่าและใหม่
ด้านล่างเคยเป็นที่นั่งแถวยาวเหยียด ถูกรื้อถอนออกไปทั้งหมด พื้นที่ตรงนี้ ส่วนใหญ่จะกลายเป็น ‘ล็อบบี้’ ของโรงแรม ส่วนบริเวณชั้นสอง ซึ่งเคยเป็นแถวที่นั่งราคาแพง และห้องฉายหนัง กำลังจะกลายเป็นห้องพักของชาวต่างชาติ
นลินี เทียรพิพัฒน์พงศ์ อดีตพนักงานบริษัทในวัย 60 ปี ที่อยู่อาศัยในชุมชนมานาน เล่าว่า ชุมชนแห่งนี้มีความหลากหลายของผู้คนทั้งรุ่นเก่า รุ่นใหม่ บางคน เมื่อครอบครัวขยายตัว ลูกหลานก็ออกไปอยู่อาศัยที่อื่นบ้าง แต่ส่วนใหญ่ จะยังคงอยู่บ้านเดิมในชุมชนแห่งนี้ต่อไป
“สมัยก่อนจะมี ชาวต่างชาติ มาเดินเที่ยวในชุมชนแห่งนี้มาก เพราะที่นี่ คงวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านกลางใจเมือง บ้านเรือนส่วนใหญ่มีรูปทรงเดิมๆ อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ ก็มีอาจารย์มหาวิทยาลัยมาลงพื้นที่ศึกษา เพราะสนใจโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ ซึ่งหาดูไม่ได้แล้วในยุคปัจจุบัน”
บริษัท มนทาระ โฮลดิ้งส์ ได้ปิดประกาศแจ้งให้ชาวบ้านรับทราบเกี่ยวกับ การรื้อวัสดุภายในอาคารเดิม ออกทั้งหมดภายในปีนี้ เพื่อที่จะเข้าไป รีโนเวท โฮสเทล แห่งใหม่ใจกลางชุมชนบางรัก
คุณค่าของ ปรินซ์ รามา คงไม่ใช่แค่โรงภาพยนตร์ หรือเพียงสาขาที่สองของโรงหนังต้นแบบที่เยาวราช แต่บรรยากาศซึ่ง ‘โอบล้อม’ โดยผู้คนในชุมชนมากหน้าหลายตา ตลอดหลายสิบปีนี้…นี่คือหนัง Coming of Age จริงๆ เรื่องหนึ่ง ที่ฉายให้เห็นถึงสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
อาจมีเด็กหลายคน เป็นเหมือน ‘โตโต้’ ในหนังเรื่อง Cinema Paradiso ที่เคยผูกพันกับห้องฉายหนังเล็กๆ ของลุงอัลเฟรโด้ สร้างแรงบันดาลใจ ให้เขาเติบโตขึ้นมา เป็นผู้กำกับใหญ่
แล้วก็คงมีบางคน ต้องทิ้งอดีตไว้เบื้องหลัง เหมือนที่ ‘โตโต้’ ทิ้งทุกสิ่งอย่างเอาไว้ในเมืองเล็กๆ ชุมชนเล็กๆ อย่าง ซิซิลี แห่งอิตาลี เพื่อก้าวไปสู่อนาคตที่สดใสกว่า
หรืออาจมีหญิงสาวหลายคน เคยจูงมือ ‘ชายคนรัก’ เข้ามาชมภาพยนตร์ใน ปรินซ์ รามา บันทึกช่วงเวลาแห่งความสุข หรือบางคนอาจเพียงแค่ต้องการคร่าเวลาจากความทุกข์
บรรดาภาพเล็กๆ เมื่อเราปะติดปะต่อ และเรียงร้อยเข้าหากัน จะกลายเป็นภาพใหญ่ ไปปรากฎบนจอหนังอันว่างเปล่า เพราะอดีตอันหอมหวานไม่อาจย้อนกลับคืนมา
คงมีแต่เรื่องราวใน ‘ภาพยนตร์ประโลมโลก’ เท่านั้น ที่ย้อนคืนความรัก ความทรงจำเก่าๆ ของพวกเราเอาไว้ได้…
‘ปรินซ์ รามา Paradiso’ ปิดตำนานแห่งความทรงจำไว้เพียงเท่านี้!