การสื่อสารทางดนตรี ไม่ใช่ แคปซูลยาวิเศษ แต่ต้องใช้เวลาและความอดทน ของพ่อแม่หลายต่อหลายเดือน กว่าที่เด็กๆ พิเศษ จะเปิดใจต้อนรับสิ่งใหม่ๆ…เข้าสู่โลกของเขา
‘โรคสังคมสมัยใหม่’ สร้างความความทุกข์ใจให้กับผู้คนบน ‘โลกยุคสมัยนี้’ โดยเฉพาะกับ ‘พ่อแม่’ ที่ต้องเผชิญกับภาวะผิดปกติ ของเจ้าตัวน้อย ซึ่งมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นทุกวัน
‘เด็กพิเศษ’ คือนิยามของเด็กๆ ที่มีปัญหาทางร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็น โรคออทิสติก สมาธิสั้น ดาวน์ซินโดรม พิการทางสมอง พิการซ้ำซ้อน ไปจนถึงเด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้
การเยียวยาเด็กเหล่านี้ผ่าน ‘สุนทรียภาพทางดนตรี’ กำลังได้รับความสนใจจากพ่อแม่ยุค 4.0 มากขึ้น นอกเหนือไปจากการรักษาเด็กพิเศษ ด้วยระบบการแพทย์ตามปกติ
การสื่อสารทางดนตรี ไม่ใช่ แคปซูลยาวิเศษ แต่ต้องใช้เวลาและความอดทน ของพ่อแม่หลายต่อหลายเดือน กว่าที่เด็กๆ พิเศษ จะเปิดใจต้อนรับสิ่งใหม่ๆ…เข้าสู่โลกของเขา
‘ครูสอ’ ฐานันดร ชูประกาย ผู้มีประสบการณ์สอนเด็กพิเศษมานาน 15 ปี และปัจจุบันยังมีลูกศิษย์เป็นเด็กพิเศษในความดูแล 30 คน เล่าว่า สิ่งสำคัญในการสอน คือต้อง เชื่อมความสัมพันธ์ ระหว่างครูดนตรีกับเด็กพิเศษก่อน เพื่อเปิด ‘พื้นที่ทางจิตใจ’ ให้เค้ายอมรับสัญญาณการเรียนรู้แก่คุณครู ให้เข้าหาตัวตนนั้นๆ ได้
“เมื่อชั่วโมงดนตรีของเด็กพิเศษมาถึง พอเค้าเห็นเครื่องดนตรีเยอะมากๆ อาจจะกลัวแล้ว ดังนั้น เราต้องทำให้เค้าผ่อนคลาย เป็นมิตร สนุกสนาน จนเค้าอยากลองเรียนรู้ไปด้วยกัน”
อย่างการเริ่มเล่นเกมง่ายๆ ก่อน อาทิ การโยนบอล การสันทนาการประกอบบทเพลง สลับกับการเล่นดนตรีบ้าง เรียกว่าใน 1 ชั่วโมงที่สอน ต้องนำการฝึนฝนหลายๆ รูปแบบมาช่วยให้เกิดความคุ้นชิน
“นิทานเพลง คือสิ่งที่อยู่ในใจเด็กๆ ทุกคนอยู่แล้ว นำมาใช้ได้แต่ต้องให้เด็กได้คิด หรือมองเห็นสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวด้วย ส่วนการเปิดเพลงแล้วให้เด็กเต้นๆ ซึ่งไม่เพียงพอแต่ต้องเป็นการ เคลื่อนที่ คือการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ปฏิสัมพันธ์กับดนตรี และเพื่อนๆ”
เมื่อทั้งครูและลูกศิษย์เริ่มสื่อสารความคิด ‘จูนสัญญาณ’ และปรับความต้องการเข้าหากันติด เราก็จะทราบว่า เด็กคนนี้ชอบเล่นเครื่องดนตรีอะไร หรือเหมาะกับเครื่องดนตรีแบบไหน บางคน ครูสอ เริ่มจากการให้ฝึกเปียโน บางคนเล่นกีตาร์ บางคนเครื่องเป่า
ลูกศิษย์หลายคน ได้เรียนดนตรีกับครูสอ ตั้งแต่อยู่ชั้นอนุบาล จนปัจจุบันโตขึ้นระดับชั้นประถม และสามารถเล่นโชว์ในงานต่างๆ ได้อย่างน่าปรบมือให้
เด็กพิเศษหลายคน เริ่มฝึกด้วยการ ฟื้นฟูกล้ามเนื้อ สร้างสมาธิ และการทรงตัว จนวันนี้สามารถเล่นเปียโน แซกโซโฟน เล่นขิม แบนโจ และร้องเพลงลั้ลลา…ได้อย่างน่ารักน่าชัง
ประสบการณ์การพัฒนาเด็กพิเศษด้วยเสียงเพลงของ “ครูสอ” ฐานันดร ยังได้รับการถ่ายทอดไปสู่ผู้ที่สนใจ
โดยล่าสุดได้จัดกิจกรรม ‘การใช้ดนตรีสำหรับเด็กผู้มีความต้องการพิเศษ’ ปรากฎว่ามีผู้ปกครอง ครูดนตรี นักกิจกรรมบำบัด และมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือเด็กที่ไม่แสวงหากำไร มาเข้าร่วมคอร์สนี้ถึง 40 คน
งานดังกล่าวจัดไป เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่ผ่านมา ณ บ้านไม้หอม ถนนพระราม 2 ซอย 33 ใกล้ๆ กับโรงเรียนรุ่งอรุณ
หากใครร่วมกิจกรรมนี้ จะได้เรียนรู้แนวทางที่เรียกว่า บูรณาการดนตรีสู่ชั้นเรียน กระตุ้นพัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์ การเข้าสังคมของเด็กพิเศษ ผ่านเกมการเล่น ร้องนิทานเพลง พร้อมคลิปวิดีโอ ซึ่งทั้งหมด ครูสอ ออกแบบการสอนด้วยตัวเอง
นับเป็น คัมภีร์เล่มเล็กๆ ช่วยนำไปสู่การเข้าถึงจิตใจเด็กพิเศษอย่างแท้จริง!
คุณหลิน สุชาดา เกษมอมรกิจ หนึ่งในผู้ปกครอง กล่าวว่า ที่ผ่านมาเคยได้ให้ลูกทดลองเรียนดนตรีหลายที่ แต่เมื่อมาเรียนกับครูสอแล้วรู้สึกว่าได้ผลดี เป็นสิ่งที่เราอยากให้เด็กๆ ได้ร่วมกิจกรรมแบบนี้ เมื่อนำซีดีหรือเพลงประกอบไปฝึกฝน ทุกคนรู้สึกสนุกและเข้าใจภาษาได้ดีขึ้น เกิดเป็นพัฒนาการผ่านดนตรีและเสียงเพลง
“ช่วงเริ่มแรกได้ให้ลูกคนเล็กมาเรียนก่อน เมื่อเห็นว่าเป็นคอร์สที่ได้ผล จึงให้ลูกคนโตวัย 5 ขวบมาเรียนด้วย ก็ปรากฎว่า การใช้ดนตรีเป็นสื่อกลาง เกิดผลลัพท์ที่เป็นประโยชน์จริงๆ ค่ะ”
คุณหลิน นับเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดกิจกรรมอบรม ‘การใช้ดนตรีสำหรับเด็กผู้มีความต้องการพิเศษ’ เพราะเธอเห็นประโยชน์งดงาม สำหรับเพื่อนๆ ผู้ปกครอง ที่ผ่านประสบการณ์เช่นเดียวกัน และน่าจะ ‘แชร์’ ความรู้ของครูสอ ออกสู่โลกภายนอก
ปัจจุบัน ยังมีครูดนตรี ที่รับสอนเด็กพิเศษไม่มากนัก และนักดนตรีบำบัดที่ผ่านมาเรียนรู้ ‘ในระบบ’ ก็ยังมีน้อยมาก ขณะที่ภาครัฐยังไม่เห็นความสำคัญของกระบวนการนี้อย่างจริงจัง
ดังนั้น แนวทางที่ ครูสอ ได้คิดขึ้น จึงถือเป็น คุณูปการสำคัญ ต่อทั้งวงการดนตรีสำหรับเด็ก และการแพทย์สมัยใหม่ อย่างแท้จริง!