ความหลงใหล…ในสิ่งที่ต้องการสื่อสาร

การสื่อสารระหว่างบุคคล ไม่ใช่ นวัตกรรม ที่ต้องล้ำสมัย หรือต้องแข่งขันกันค้นหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มานำเสนอ เสมอไป

มันกลับตรงกันข้ามเลยครับ การสื่อสารยุคนี้ ย่ิงถ่ายทอดเรื่องราวที่ยากๆ ให้เข้าใจง่าย จดจำได้นานๆ ยิ่งถือเป็นเรื่องดี

ที่ผ่านมา เราเห็นความล้มเหลวอย่างหนึ่ง ของนักธุรกิจที่เก่งๆ นักวิชาการไอคิวสูง คนใหญ่ๆ โตๆ ในเมืองไทย ถ่ายทอดความนึกคิด ออกมาเป็นคำพูดได้อย่าง “แห้งแล้ง” เหลือกำลัง

เวลาไปงานสัมนาต่างๆ หรือการพูดต่อหน้าสาธารณะ ธารกำนัล พวกเขามักจะอ่านข้อความจากโพยที่เตรียมมาอย่างมุ่งมั่น หรือไม่ก็ยึดติดกับเนื้อหาหน้าจอพรีเซนต์ จนหลงลืมที่จะมองตาผู้ที่เข้ามารับฟังอย่างถ้วนทั่ว

รวมไปถึงเวลาจัด อีเวนต์ เปิดตัวสินค้า การแถลงข่าวเมื่อเข้าตลาดหุ้น การเสวนาพาทีต่างๆ เรามักเห็นการยัดเยียดข้อมูล ตัวเลข ข้อดี ข้อเด่น จนเต็มพรึ่ดดไปหมด ไม่ได้ยึดคนฟังเป็นเซ็นเตอร์ แต่ยึดสิ่งที่ตัวเอง อยากพูดเป็นหลัก

ในวันที่ สตีฟ จ็อปส์ เปิดตัวไอโฟน ว่าเป็นโพรดักส์ใหม่ของแอปเปิล และเป็นสมาร์ทโฟน ที่จะสร้างความตื่นตาตื่นใจในการใช้ชีวิตนั้น เขาไม่ได้ใช้ศัพท์แสงทางเทคโนโลยีมากมายเลยครับ อธิบายภาษาบ้านๆ ให้คนฟังเข้าใจง่าย จอพรีเซนต์ก็ไม่ได้มีกราฟิกอะไรที่วิจิตรพิศดาร แถมการแต่งตัวยังช่างเรียบง่าย เอ๊ะ! แต่ทำไมทุกคนในโลกจดจำภาพของสตีฟ จ็อปส์ และคำพูดวันนั้นได้หมด

เมื่อเรา “สปอตไลต์” ถึงความแตกต่างในการอธิบายคุณสมบัติ สมาร์ทโฟนแห่งศตวรรตที่ 21 กับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์แบบดาดๆ ที่ซีอีโอคนอื่นๆ ในโลกนี้ทำกัน จะเห็นว่า สตีฟ จ็อปส์ สอดใส่สิ่งที่เรียกว่า “ความหลงใหล” หรือ Passion ในการสื่อสาร เข้าไปจุดประกายผู้คน

ถ้าเปิด พจนานุกรม เราจะพบความหมาย “ความหลงใหล” ว่า คือความรู้สึกกระตือรือร้นอย่างไม่เสื่อมคลาย เป็นความรู้สึกชอบสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างรุนแรง

จ็อปส์ สามารถถ่ายทอด สิ่งที่อยู่ในสมอง ความคิด และจินตนาการ ออกมาเป็นถ้อยคำได้อย่างบรรเจิด โน้มน้าวจิตใจคนฟัง ให้คล้อยตาม ว่าสมาร์ทโฟนไม่ใช่เครื่องมือสื่อสารธรรมดา แต่เป็น “ศิลปกรรมทางเทคโนโลยี” ที่ทุกคนควรคว้ามันมาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิต

ท่วงทำนองของการโน้มน้าว จึงไม่ใช่การตะบี้ตะบัน ใคร่ขายสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่สอดใส่จิตวิทยาที่ละเมียดละไม เข้าไปในไลฟ์ทอล์คนั้นด้วย

และนี่คือ กุญแจความสำเร็จ ของการถ่ายทอดเรื่องราวสู่ผู้ฟัง!!

ในแวดวงนักสื่อสารสาธารณะ มีการบัญญัติศัพท์ไว้คำหนึ่ง และถือเป็นตัวชูโรงในโลกธุรกิจยุคนี้ ก็คือคำว่า “ระดับความหลงใหล” หรือ Passion quotient ว่าจะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการเป็นผู้นำ การแชร์ไอเดีย และการทำงานทุกๆ อย่าง ซึ่งต้องชักจูงให้ผู้อื่น ก้าวเดินตามไปกับคุณด้วย

โธมัส ฟรีดแมน สื่อมวลชนชื่อดังและนักเขียนหนังสือเกี่ยวกับการสื่อสารธารณะ บอกว่า ในโลกทุกวันนี้ ที่ข้อมูลข่าวสารทะลักทลาย และความรู้ที่ทุกคนได้รับนั้น มีมากจนท่วมท้น ทว่า ความหลงใหล และ ความกระตือรือร้น ต่างหาก ที่เป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จ ถ้าคุณมีสองอย่างนี้จะช่วยให้พัฒนาตัวเองไม่หยุดนิ่ง เกิด self-motivated ที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว

“ระดับความกระตือรือร้น เมื่อบวกกับ ระดับความหลงใหล ยิ่งใหญ่กว่าระดับความรู้ ที่มีอยู่ในตัวเอง (IQ :  Intelligent Quotient)”

แนวคิดของโธมัส ฟรีดแมน สอดคล้องกับสิ่งที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยกล่าวไว้ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้”

ขณะที่ผมเชื่อมาตลอดว่า แรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิต และความปรารถนาในการทำงาน คือทรัพย์สมบัติที่แท้จริงในตัวมนุษย์

โฮวาร์ด ชูลท์ซ ผู้สร้างสตาร์บัคส์ให้กลายเป็นอาณาจักรไปทั่วโลกขณะนี้ เขาไม่ได้หลงใหลเพียงเมล็ดกาแฟคั่วหอมกรุ่นเท่านั้น แต่ชูลท์ซปรารถนาที่จะรังสรรค์ “ร้านกาแฟ” ให้เป็น สถานที่แห่งที่ 3 ที่อยู่ระหว่างบ้านและออฟฟิส ซึ่งคุณสามารถนั่งลงแล้วพูดคุยกันหรือหยิบโน้ตบุ้คตัวเก่งขึ้นมาครีเอทงานได้

ไม่เพียงผู้คนจะชื่นชม ชูลท์ซ ว่าเป็นนักสื่อสาร กับผู้บริหารและพนักงานชั้นยอดเท่านั้น แต่ไอเดียที่เขาสร้าง “บรรยากาศ” ให้เก้าอี้ทุกตัวในสตาร์บัคมีชีวิตชีวา ก็เป็นการสื่อสารที่ยอดเยี่ยมอีกอย่างหนึ่ง เพราะมัน “คลิก” ลูกค้า เหมือนการพูดคุยที่เข้าใจกัน และสัมผัสใจคนดื่มกาแฟได้เป็นอย่างดี

ซูซี่ ออร์แมน นักบริหารการเงินชื่อดัง เป็นอีกคนหนึ่งที่ขึ้นเวทีพูดเมื่อไหร่ ราวเหมือนคนฟังถูกสะกดจิตทีเดียว เคล็ดลับที่ถูกเผยออกมาภายหลังก็คือ การที่ซูซีผูกพันอย่างลึกซึ้งกับประเด็นที่ต้องการสื่อสารออกไป ด้วยเรื่องราวแต่หนหลัง กลายมาเป็นพลังยิ่งใหญ่ในการให้ความรู้ เธอมอบ โนว์ฮาว แก่ผู้คน ในยุคหนี้สินเป็นใหญ่…เราจะต้องทำอย่างไรให้เป็นอิสระทางการเงิน

สิ่งที่เธอเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ก็คือ แม้ว่าจะต้องพูดเรื่องเดิมเป็นพันครั้ง เล่าประเด็นเดิมวันแล้ววันเล่า แต่เมื่อไฟส่องหน้าเมื่อไหร่ ซูซี่กลับรู้สึกว่า นี่คือเรื่องใหม่อยู่เสมอ เหมือนเพิ่งพูดเป็นครั้งแรก คล้าย รักแรกพบ ที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์และความหลงใหล

การสื่อสารกับคนฟัง ถือเป็นศาสตร์ที่ไม่เพียงจะเรียนรู้ได้ในตำรา ยังต้องยกระดับและพัฒนาระดับความหลงใหลในตัวเอง หรือ Passion Quotient ให้สูงขึ้น พึงระลึกไว้เสมอว่า “ความกระตือรือร้นบวกด้วยพลัง” เป็นมนต์เสน่ห์สำคัญ ต่อสิ่งที่คุณต้องการจะสื่อ เติมสองอย่างนี้ลงไปในเนื้อหาทุกๆ ถ้อยคำ…ถ้าทำได้เช่นนี้แล้ว เชื่อว่า นี่จะเป็นอีกวันที่คุณสื่อสารได้อย่างสวยงาม ตรงความต้องการอย่างแน่นอน