เมื่อสามีพบว่า…ภรรยาก็เป็นโรคซึมเศร้าเหมือนกัน?

โดย | ม.ค. 6, 2022 | Community, Heart-Inspire

การสร้างกำลังใจในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนเป็นโรคซึมเศร้า แต่บางกรณีที่เกิดขึ้นจริง พบสิ่งที่น่าตระหนกว่าเมื่อทั้งสามีและภรรยาต่างเป็นโรคดิ่งลึกเช่นนี้เหมือนกัน พวกเค้าจะหันหน้าไปพึ่งใครได้บ้าง?  

 

The HUMANs นำประสบการณ์ที่ผู้ป่วยยินดีแบ่งปันให้ผู้เผชิญหน้ากับปัญหาโรคซึมเศร้าภายในครอบครัว ได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้ หาทางออกอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่เลือกที่จะจบชีวิตหรือหลีกหนีสังคมจมความทุกข์โศก เพราะยังมีลูกน้อยที่รอคอยพลังจากพ่อแม่

 

คุณเอก (นามสมมุติ) เล่าให้ The HUMANs ฟังว่า ส่วนตัวอายุ 35 ปี มีอาชีพที่มั่นคง แต่งงานและมีลูกเล็ก แต่เมื่อราวๆ 4-5 ปีก่อน เริ่มเกิดภาวะโรคซึมเศร้า จากแรงกดดัน ภาระหน้าที่ ครอบครัว หนี้สิน ปัญหาที่สะสมมาเรื่อยๆ จนเครียดมาก ทำอะไรก็เบลอๆ สมาธิไม่อยู่กับตัว 

 

อาการผมมาหนักสุดก็ต้นปีนี้ครับที่น้ำหนักลดลง 8 กิโลภายในเดือนเดียว มีอาการไม่อยากทำไรเลย แม้แต่จะกินข้าว ทั้งๆ ที่หิวนะครับ แต่ไม่อยากใส่อะไรลงท้องเลย เหมือนสมองผมมันมีแต่ปัญหาจนทำอะไรไม่ได้ ภรรยาบอกผมให้ไปเอายามากิน ต้องรักษาตัว ผมถึงได้พบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาจริงๆจังๆ

 

คุณเอก บอกว่า สภาพจิตใจที่เลวร้ายมีผลต่อการดูแลครอบครัวเยอะมาก แต่ละวันผ่านไปแทบจะทำอะไรไม่ได้เลย จากที่เคยพาครอบครัวไปเที่ยว พาลูกไปเล่น ไปกินข้าวกันตามประสาก็แทบจะไม่อยากไปไหนอีก ตื่นมาทำงานกลับบ้านนอน วันหยุด อยู่แต่ในห้องนอนดูทีวี แค่เจอข่าวหรืออะไรที่สะเทือนจิตใจนิดเดียวก็เกิดภาวะดิ่งมากๆ 

 

เรื่องกระทบจิตใจของคนเป็นโรคซึมเศร้าส่วนมาก จะถูกตอกย้ำโดยสภาพแวดล้อมที่ทำงาน แต่กรณีของคุณเอก กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะที่ออฟฟิสไม่มีอะไร เพื่อนร่วมงานเปิดใจกว้างและเข้าใจกับสิ่งที่ตัวเองพานพบประสบมา 

แต่สิ่งที่สะเทือนใจรุนแรง!! ก็คือเมื่อเดือนที่ผ่านมา พบว่าภรรยาผมก็เป็นโรคซึมเศร้าเหมือนกัน ผมก็เพิ่งรู้เลยครับ ด้วยที่ว่าผมอาจจะอยู่ในภวังค์ของตัวเอง มากเกินไปจนไม่รับรู้ว่าคนรอบข้างเป็นยังไง และด้วยภรรยาผมเป็นคนมีบุคลิก นิ่งๆอยู่แล้ว ไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยแสดงออก อะไร มาแต่ไหนแต่ไร ผมเลยดูไม่ออกจนเค้ามาบอกผมเองว่าตอนนี้ก็กำลังรักษาอยู่และเป็นหนักกว่าผมด้วย

 

สัมพันธภาพของคู่รักที่เป็นโรคซึมเศร้าและต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลา หลายคนอาจจะมองภาพไม่ออกว่าจะเป็นอย่างไร แต่คุณเอก เล่าความรู้สึกตรงนี้ว่า ถ้าพูดถึงความรักเท่าเดิมครับ แต่ความสัมพันธ์มันลด มันห่างเหินมากขึ้น เพราะ ต่างคนต่างมีความเป็นโลกส่วนตัว เราคุยกันน้อยลงอยู่กับตัวเองมากขึ้น คงเพราะโรคนี้ด้วยแหละครับ ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป

 

“…. ภรรยาผมเคยไม่ไหว จนถึงขนาดมาถามผมว่าถ้าเธอไม่อยู่แล้วให้ผมดูแลลูกต่อจะทำได้ไหม? ผมเลยตอบว่าได้ แต่ด้วยความที่ผมก็เป็นโรคนี้เหมือนกัน ผมให้กำลังใจภรรยาแทบไม่ได้เลย ผมไม่รู้ต้องทำยังไงครับ ขนาดแค่ตัวผมเองยังไม่รู้เลยว่าจะให้กำลังใจตัวเองยังไง จากนั้น ภรรยาผมเลยถามกลับว่าผมไหวมั้ย ผมตอบว่าตอนนี้ยังไหวเพราะยารักษา แต่วันข้างหน้าผมรับปากไม่ได้นะว่า ผมจะอยู่แบบนี้ได้นานแค่ไหน ภรรยาผมเลยตอบว่า ถ้าอย่างนั้นเค้าจะสู้เพื่อลูกให้ได้ต่อไป

 

คนเป็นโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรงส่วนใหญ่เวลาดิ่งหนักๆ จะเริ่มคิดสั้น ซึ่งคุณเอก ยอมรับว่า ที่ผ่านมาเคยคิดสั้นเหมือนกันแต่ไม่บ่อยมาก มีเพียงครั้งเดียวที่คิดสั้นอยากทำมากๆแต่ใจผมกลัว ผมกลัวทุกอย่าง กลัวสิ่งที่ตามมา กลัว กลัวความตาย กลัวคนข้างหลังจะอยู่ยังไง ตอนนั้นอยากฆ่าตัวตายมาก จนผม เก็บเอาไปฝันว่าผมผูกคอตายและสำเร็จด้วย แล้ววิญญาณผมยืนดูร่างผมเองห้อยหัวอยู่แบบนั้นนานมาก ด้วยความรู้สึกโล่งและรู้สึกกลัว ในความเวลาเดียวกัน

 

ส่วนวิธีให้กำลังใจตัวเองของคุณเอก เพื่อฮึดสู้กับปัญหาหรือหาทางออก…. “เอาตรงๆนะครับ ผมยังมองไม่ออกเลยว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ผมมีกำลังใจ ขนาดหมอถามว่ามีสิ่งที่ชอบมั้ย หรือสิ่งที่ทำให้ตัวเองดีขึ้น ผมตอบหมอว่า ไม่มีครับ ผมนึกไม่ออก ขนาด ลูก ยังไม่ทำให้ผมมีความรู้สึกดีขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้ผมแย่ลง หมอเลยแนะนำว่าให้อยู่กับลูกเยอะๆ เพราะลูกคือสิ่งที่ไม่ทำให้เราแย่ลงไปกว่านี้ ส่วนภรรยาก็คงมีแต่ลูกแหละครับที่ทำให้เค้ายังไม่ดิ่งและอยู่ได้ไปเรื่อยๆ ส่วนเวลาดิ่งผมไม่เคยทะเลาะกับภรรยาครับ เพราะรู้ว่าการทะเลาะจะทำให้เราทั้งสองดิ่งลงด้วยกัน ผมจะเลือกวิธีเดินออกมาอยู่คนเดียว สักพัก ดีขึ้นค่อยคุยกันใหม่

 

ปัจจุบัน คุณเอก ใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าและไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งทำให้สามารถไปต่อได้ในแต่ละวัน หากวันไหนไม่กินยา ยาหมด หรือลืม เขาจะมีอาการดาวน์ลงๆ ทุกครั้งชีวิตนี้คงต้องกินยาไปเรื่อยๆ แหละครับ จนกว่าผมจะดีขึ้น

 

จากกรณีศึกษาของคุณเอกที่ทั้งสามีและภรรยาต่างเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว ปัญหาที่พบได้ทั่วไปในระดับครอบครัวก็คือ ผลกระทบต่อคนรอบข้าง เช่น ลูกน้อย หรือ ญาติพี่น้อง อาจทำให้เด็กๆไม่เข้าใจเราและผลักไสพวกเขาไปสู่อาการจมอยู่กับความเสียใจ ดิ่งลึก จมอยู่กับตัวเอง สุดท้ายก็เป็นโรคทางวิตเวชเช่นเดียวกัน หรือ อาจเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกับญาติในครอบครัว ที่ไม่เข้าใจภาวะโรค ก็เป็นสัมพันธภาพที่พบได้บ่อยครั้งเช่นกัน

 

ขณะที่ผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าก็ไม่ควรด่วนตัดสินใจอะไรในเรื่องที่สำคัญต่อชีวิต เช่น การหย่า การลาออกจากงาน เพราะ ขณะที่เรากำลังอยู่ในภาวะซึมเศร้านี้การมองสิ่งต่างๆ ในแง่ลบอาจทำให้การตัดสินใจผิดพลาดไปได้ ควรเลื่อนการตัดสินใจไปก่อน หากจำเป็นหรือเห็นว่าปัญหานั้นๆ เป็นสิ่งที่กดดันเราทำให้อะไรๆ แย่ลง ก็ควรปรึกษาผู้ใกล้ชิดหลายๆ คนให้ช่วยคิดได้

 

.นพ.มาโนช หล่อตระกูล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคทางจิตเวช แนะนำด้วยว่า โรคซึมเศร้าไม่ได้เป็นแค่ภาวะอารมณ์ความรู้สึกเท่านั้น แต่เป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและครอบครัวหากปล่อยทิ้งไว้ไม่บำบัดรักษา อาจนำมาสู่ปัญหาการทำงานและการดำเนินชีวิต บางรายอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ ดังนั้น หากพบหรือสงสัยว่าตนเองและคนใกล้ชิดของคุณป่วยด้วยโรคซึมเศร้าอย่าได้นิ่งนอนใจควรพามาปรึกษาแพทย์ ถ้าได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้องด้วยวิธีที่เหมาะสมคนใกล้ตัวก็สามารถจะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขต่อไป

 

สิ่งสำคัญคือครอบครัวหรือญาติมักจะรู้สึกห่วงใยผู้ป่วย ไม่เข้าใจสังสัยว่าทำไมเขาถึงได้ซึมเศร้ามากขนาดนี้ ทั้งๆที่เรื่องที่มากระทบก็ดูไม่หนักหนานัก กระทั่งบางคนพาลรู้สึกโกรธ ขุ่นเคือง เห็นว่าผู้ป่วยเป็นคนอ่อนแอ เป็นคนไม่สู้ทำไมเรื่องแค่นี้ถึงต้องเศร้าเสียใจขนาดนี้ ท่าทีดังกล่าวกลับยิ่งทำให้ผู้ที่เป็นโรครู้สึกว่าตัวเองยิ่งแย่ขึ้นไปอีก เกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระแก่ผู้อื่น จิตใจยิ่งตกอยู่ในความทุกข์ 

 

ภาวะที่เขาเป็นนี้ไม่ใช่อารมณ์เศร้าธรรมดา หรือเป็นจากจิตใจอ่อนแอ หากแต่เป็นภาวะของความผิดปกติ เขากำลังเจ็บป่วยอยู่ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีและระบบฮอร์โมนต่างๆ ในสมอง เกิดมีอาการต่างๆ ตามมาทั้งทางกายและใจ ซึ่งเมื่อได้รับการรักษาหายแล้ว อารมณ์เศร้าหมองก็จะดีขึ้น จิตใจแจ่มใสขึ้น การมองสิ่งรอบตัวก็จะเปลี่ยนไป อาการต่างๆ จะค่อยๆ หายไป

 

ข้อแนะนำสำหรับญาติหรือครอบครัวในการดูแลผู้ป่วยดังนี้ 

1 รับฟังผู้ป่วยด้วยความเข้าใจ ใส่ใจ โดยไม่ตัดสิน  อารมณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า อ่อนไหวมากและหลายครั้งเข้าใจยาก การรับฟังอย่างเข้าใจ โดยไม่ตัดสิน จะช่วยให้ความรู้สึกของผู้ป่วยดีขึ้นที่มีคนพร้อมจะเข้าใจตัวเขาอย่างแท้จริง

2 ชวนผู้ป่วยคุยบ้างเล็กน้อย ด้วยท่าทีที่สบายๆ ใจเย็น พร้อมที่จะช่วยเหลือ โดยไม่กดดัน ไม่คาดหวัง ไม่คะยั้นคะยอว่าผู้ป่วยต้องพูดคุยโต้ตอบได้มาก เพราะท่าทีที่คาดหวังมากจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่ที่ทำให้ญาติผิดหวัง

3 เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ระบายความคิดความรู้สึก ที่ไม่ดี ที่รู้สึกแย่ ต่างๆ ออกมา โดยเฉพาะความคิดอยากฆ่าตัวตาย การที่ผู้ป่วยได้พูดได้ระบายออกมาจะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดในใจลงได้อย่างมาก

นี่คือผลสืบเนื่องจากผู้ป่วยที่มีประสบการณ์โรคซึมเศร้าอย่างหนักในครอบครัว สามี ภรรยา และคำแนะนำของคุณหมอที่จะเป็นกุญแจสำคัญในการหาทางออกจากอาการดิ่งของโรคนี้ไม่ให้ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกของชีวิต ทั้งที่ยังมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เสมอ