‘เบียร์’เกี่ยวอะไร กับความเป็นประชาธิปไตยในพม่า?

โดย | ม.ค. 6, 2022 | Around the world

11 เดือนหลังรัฐประหารในพม่า ถือว่าสิ้นสุด ยุคแห่งเสียงสวรรค์แก้วเบียร์เย็นฉ่ำเคยกระทบกันในงานเลี้ยงสังสรรค์ไม่เหลือร่อยรอยเค้าลาง นครย่างกุ้ง เนปิดอร์ มัณฑะเลย์ ถูกปกคลุมด้วยทุกขเวทนา นักธุรกิจต่างชาติทยอยถอนตัวจากการลงทุนต่อเนื่องหนึ่งในนั้นคือ Kirin Ichiban บริษัทเบียร์ยักษ์ใหญ่จากแดนอาทิตย์อุทัย

Kirin เข้ามาลงทุนในพม่าเมื่อปี 2558 หลังพยายามเปิดตลาดเบียร์ในพม่ามาเนิ่นนาน แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จตามเป้า กระทั่งพม่าก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยและเปิดประเทศ ภายใต้รัฐบาลนางอองซาน ซูจี  

Kirin ก็ตัดสินใจครั้งสำคัญด้วยการเข้าไปซื้อหุ้น 51% ใน บริษัท เมียนมา บริวเวอรี่ จำกัด ร่วมกับกลุ่มบริษัท Myanma Economic Holdings Public Co. Ltd หรือ MEHL ซึ่งกองทัพพม่าเป็นเจ้าของ 

บริษัท เมียนมาร์ บริวเวอรี่นี่คือตัวละครที่สำคัญ เพราะมีผลิตภัณฑ์เบียร์ซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุดในท้องตลาดก็คือ “Myanmar Beer” ครองส่วนแบ่งถึง 80% 

นั่นหมายความว่า ดีลซื้อกิจการเบียร์ครั้งนี้ย่อมหมายถึง ทางลัด ในการเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ในช่วงเวลาที่ชาติตะวันตกทยอยยกเลิกโซ่ตรวนทางเศรษฐกิจ ที่เคยจองจำพม่ามานานครึ่งศตวรรษ นั่นคือการ คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เรียบร้อยแล้ว

ช่วงที่ Kirin เข้าไปลงทุนเมื่อ 7 ปีก่อน นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตลาดเบียร์ในพม่ามีมูลค่าประมาณ 440 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.4 หมื่นล้านบาทแต่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกๆปีระดับ 7-8% 

คาดการณ์ว่าเมื่อถึงปี 2568 มูลค่าตลาดเบียร์จะสูงขึ้นเป็น 886 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์รัฐประหารช็อคโลกเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564

ไม่แตกต่างกัน!! คนพม่าก็เหมือนคนไทยสมัยก่อน เมื่อรายได้ต่อหัวสูงขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น มันก็ต้องฉลอง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเบียร์ ได้รับความนิยมเหนือกว่า สุรา เท่าตัว เพราะคนพม่าถือว่าขวดเบียร์ หยิบจับง่าย จ่ายคล่อง แค่เปิดตู้แช่ในร้านรวงริมถนน ร้านอาหาร ผับบาร์ คาราโอเกะ จึงเป็นที่นิยมเหลือเกิน

นอกจากแบรนด์ Myanmar Beer แล้ว คนพม่ายังจิบเบียร์ยี่ห้อ Dagon Beer , ABC Beer ซึ่งผลิตโดยบริษัทท้องถิ่น รองมาก็คือเบียร์นำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่ Carlsberg , Heineken , Kirin , Asahi , Tiger รวมถึงเบียร์ช้าง เบียร์สิงห์ และเบียร์ลีโอของไทยด้วย

ฟองสีขาวที่ฟูฟ่องของเบียร์กลายเป็นสัญลักษณ์สะท้อนความรุ่งโรจน์ของประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้ แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่มันทำให้คนพม่ามีความสุขกับเงินตราต่างประเทศ รายรับที่หลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย รสชาติช่างละมุนชื่นใจ

มันคือความสุขจากสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยมันกินได้จริงๆ

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เคยเคียงคู่กับคนพม่าอายุ 50 ปีขึ้นไป กลับกลายเป็นสิ่งที่สัมผัสได้ของคนทุกชนชั้น ไม่ว่าวัยรุ่น คนชั้นกลาง หรือผู้หลักผู้ใหญ่ เบียร์สารพัดยี่ห้อได้รับความนิยมจนกระทั่งมีการเปิดเบียร์สตรีท ในเมืองย่างกุ้ง รองรับชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยวมานั่งจิบอะไรเย็นๆ เต็มไปด้วยความคึกคักไม่ต่างจากถนนข้าวสารของไทยแม้แต่น้อย

Kirin ควักเงินลงทุนอย่างต่ำ 560 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท ซื้อหุ้นร่วมทุนกับ MEHL โฮลดิ้งของกองทัพพม่า กลายเป็นเจ้าของ บริษัท เมียนมาร์ บริวเวอรี่ ซึ่งมีอำนาจทางการตลาดผลิต Myanmar Beer ได้อย่างเป็นทางการ 

แม้เม็ดเงินลงทุนดังกล่าวจะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 5% เมื่อเทียบกับเงินลงทุนของ Kirin ทั่วโลก ตรงกันข้ามกับสัดส่วนการตลาดของเบียร์ยี่ห้อนี้ในพม่ากลับมีมากถึง 80% เรียกว่าคุ้มค่าและต่อยอดให้พม่าเป็นฐานการผลิตและส่งออกเบียร์ในอนาคต

Kirin ได้รับ ดอกผลอันหอมหวาน ความสำเร็จจากการลงทุนได้ประมาณ 5 ปี ผู้ผลิตเบียร์จากญี่ปุ่นก็ต้องเผชิญหน้าวิกฤตศรัทธาอันท้าทาย เมื่อทหารพม่าเริ่มเผาหมู่บ้านชาวโรฮิงยาอย่างน่ากลัว 

ภาพที่สื่อระดับโลกเผยแพร่ออกไปทาง CNN คือทหารไล่ต้อนประชาชนจนหนีตายอลหม่านไปยังชายแดนบังคลาเทศอย่างโหดร้าย ไม่สามารถยอมรับได้ในโลกยุคใหม่

Amnesty International UK นำเสนอสกู๊ปวิดีโอเกี่ยวกับบริษัท Kirin Ichiban beer ทันที อ้างว่า Kirin เป็นหนึ่งในผู้ให้ทุนสนับสนุนทหารพม่าระหว่างเหตุการณ์ที่ต้องสงสัยว่าจะเป็น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงยาประชาชนกว่า 700,000 คน เสี่ยงตาย ต้องพลัดพราก และจากที่อยู่อาศัย 

“Kirin มีการบริจาคเงินก้อนหนึ่งให้กองทัพผ่านธุรกิจนี้ Amnesty International UK ระบุ แต่ต่อมาทาง บริษัท Kirin ญี่ปุ่นสำนักงานใหญ่ ชี้แจงว่า เงินบริจาคก้อนดังกล่าว ตั้งใจจะช่วยเหลือเหยี่อชาวโรฮิงยาจากวิกฤตความรุนแรงที่เกิดขึ้น 

แต่องค์กรภาคเอกชน ไม่ยอมรับเหตุผลนั้น! เพราะความจริงแล้ว พวกเขาเชื่อมั่นหรือมีหลักฐานว่า….เงินจำนวนมากถูกนำไปใช้ในการ บำรุงกองกำลังรักษาความปลอดภัยของทหารพม่านั่นเอง

ในที่สุด ธุรกิจเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นก็ลดแรงเสียงทานทางการเมือง โดย หยุดจ่ายเงินปันผลให้ MEHL เมื่อปี 2563 หลังจากที่ถูกประณามหนักหน่วงโดยองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

วิบากกรรมครั้งนั้นว่าหนักแล้ว หลังจากนั้นรุนแรงยิ่งกว่า!! คือเหตุการณ์รัฐประหารรัฐบาลอองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดยพล..มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด โหมไฟให้เกิดการลุกฮือประท้วงของประชาชนและองค์กรเอ็นจีโอทั้งในพม่า ตะวันตก และทั่วทุกมุมโลก 

บริษัทขนาดใหญ่ที่เข้าไปลงทุนในพม่า ล้วนถูกกดดันอย่างหนักให้ถอนตัวจากระบอบเผด็จการ

มีบริษัทต่างชาติกว่า 10 แห่ง ประกาศตัวอยู่เคียงข้างประชาธิปไตยทันที ไม่ว่า เทเลนอร์ ผู้ประกอบธุรกิจโทรคมนาคมของประเทศนอร์เวย์ , บริษัท เมโทร ยักษ์ใหญ่ด้านอาหารของเยอรมนี , บริษัทท่าเรือรายใหญ่ที่สุดของอินเดียอย่าง “Adani” , บริษัท เคมปินสกี้ ของสวิตเซอร์แลนด์ , บริษัท เมียนมา เมทัลส์ ลิมิเต็ด ของออสเตรเลีย , บริษัท “British American Tobacco Myanmar” ของสหราชอาณาจักร

Kirin ก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะทนแรงกดดันไม่ไหว บริษัทตัดสินใจประกาศ ยุติการร่วมทุนกับ MEHL ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้นั่นเอง 

ถ้าใครติดตามในสื่อสังคมออนไลน์ เราก็จะเห็นภาพผู้ประท้วงในพม่านำ Myanmar Beer ออกมาเททิ้งริมถนน กดดันให้ญี่ปุ่นถอนตัวจากการจับมือร่วมกับรัฐบาลทหารของ พล..มิน อ่อง ลาย 

หลังเหตุการณ์รัฐประหาร ทาง Kirin ญี่ปุ่นก็ประกาศว่าจะยุติการเป็นหุ้นส่วนกับ MEHL โดยอ้างถึงความกังวลอย่างลึกซึ้ง เกี่ยวกับการกระทำของกองทัพพม่า ซึ่งพวกเขามองว่าขัดต่อมาตรฐานของบริษัทและนโยบายเรื่องสิทธิมนุษยชน” THE IRRAWADDY ระบุ

Kirin ยังกล่าวในรายงานทางการเงินในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมาว่าบริษัทฯ กำลังเตรียมพิจารณาวิธีการที่เป็นไปได้ในการยุติการเป็นหุ้นส่วนกับ MEHL ภายในสิ้นปี 2564” 

อย่างไรก็ดี Myanmar Economic Holdings Public Co. ซึ่งถือหุ้นอีก 49% ได้แก้เกมด้วยการยื่นคำร้องเพียงฝ่ายเดียวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 เพื่อขอยุบเลิกกิจการร่วมทุนใน บริษัท เมียนมา บริวเวอรี่ 

ขณะที่ Kirin ซึ่งเคยมีกำไรจากการดำเนินงานปีละกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3,000 ล้านบาท ต้องการเดินหน้าผลประโยชน์ทางธุรกิจเบียร์ในพม่าต่อไป เพียงแค่เปลี่ยนไปร่วมทุนกับผู้ประกอบการท้องถิ่นรายอื่นๆ ที่มีศักยภาพ หรือการนำแบรนด์ Mynmar Beer ไปตั้งบริษัทใหม่ที่ไม่มีชื่อผู้ถือหุ้นจากกองทัพพม่ามากกว่า

โยชิโนริ อิโซซากิ ประธานและซีอีโอของ Kirin Holdings กล่าวที่ญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 22 .. 2564 ว่า บริษัทฯอาจขอให้รัฐบาลเข้ามาเป็นตัวกลางช่วยเจรจาข้อพิพาท เพื่อยุติความร่วมมือทางธุรกิจเบียร์กับกองทัพพม่า แก้ไขความไม่ลงรอยนี้อย่างยุติธรรมให้ได้ภายในเดือนมิถุนายน 2565

เพราะโลกกำลังเฝ้าดูว่า Kirin จะจัดการกับปัญหานี้อย่างไรอิโซซากิกล่าว

จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีใครรู้ว่าผู้บริหาร Kirin กับ MEHL จะได้จิบเบียร์เย็นๆ นั่งเจรจากันดีๆ หรือไม่?

เช่นเดียวกับ วิกฤตการเมือง ในพม่าจะลงเอยอย่างไร? ใครจะแพ้หรือชนะ? ระหว่าง พล..มิน อ่อง ลาย กับนางอองซาน ซูจีระหว่างกองทัพพม่ากับประชาชนที่ออกมาสู้เพื่อประชาธิปไตย 

แต่ที่แน่ๆ บทเรียนล้ำค่าครั้งนี้ ทำให้เศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของเพื่อนบ้าน ต้องหยุดชะงักไปอีกนาน!!