‘อาหารเป็นยา’ ตามตำราแพทย์แผนไทย ป้องกันธาตุกำเริบจนเกิดโรคภัยไข้เจ็บ

โดย | ม.ค. 6, 2022 | Health-Inspire, Health&Environment

คำว่า “อาหารเป็นยา” คือหนึ่งในหัวใจหลักของแพทย์แผนไทย คนสมัยนี้นิยมทานอาหารแปรรูปมาก ภาวะธาตุในร่างกายจึงไม่สมดุล เท่ากับกินเคมีและความร้อนแรงมีธาตุไฟแฝงอยู่….นั่นคือพิษร้ายสะสมไว้ เมื่อไปกระทบกับธาตุลม น้ำ พัดพามาสู่ธาตุดิน สุดท้ายกลายเป็นเนื้องอกหรือไม่ก็มะเร็งในอวัยวะต่างๆ

 

“แพทย์แผนไทยอิงกับธรรมชาติเป็นหลัก คือรากแก้วแห่งการใช้ชีวิต ที่เราจะเห็นว่าวิถีคนชนบทไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องสุขภาพ เพราะเกิดความสัมพันธ์ของเรื่องธาตุและอาหาร เจ็บป่วยไม่นานก็หายได้ ขณะที่คนสมัยนี้มักเป็นโรคปัจจุบันทันด่วน เช่นอัมพาต หลอดเลือดสมอง เพราะมีปัญหาสะสมเอาไว้นานและไม่ส่งเสริมการป้องกันโรค” พท.ป.เธียรธรรม อภิจรรยาธรรม แพทย์แผนไทยปฏิบัติการ สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกล่าว

 

พท.ป.เธียรธรรม หรือ “หมอเธียร” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของ “เครือข่ายพลังภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย” คุณหมอเป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับเรื่องยาสมุนไพรกับการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เชื่อมโยงกับมิติของโหราเวชศาสตร์มาอย่างมากมาย ปัจจุบันคุณหมอพยายามขับเคลื่อนองค์ความรู้ในศาสตร์นี้ให้แพร่หลายและเข้าถึงประชาชนมากขึ้น ควบคู่ไปกับการยกระดับแพทย์แผนไทยเพื่อสร้างความยอมรับสู่เวทีนานาชาติ

 

“ปัจจุบันยาแพทย์แผนไทยอยู่ในบัญชียาหลักประมาณ 30-40 ตำรับแล้ว ทั้งสมุนไพรดั้งเดิมและกลุ่มที่พัฒนาหรือสกัดมาจากความรู้ดั้งเดิม เช่น ฟ้าทลายโจร เจลว่านหางจระเข้ เป็นต้น ส่วนใหญ่ยาของไทยที่ใช้รักษาโรคจะเป็น ยาชง ต้ม หรือดอง แล้วจัดรวมเป็นตำรับ ไม่ใช่ยารสชาติเดียวแต่จะเสริมฤทธิ์กันเพื่อรักษาร่างกายให้ครบตามระบบตรีธาตุ”  

 

ระบบ “ตรีธาตุ” หมายถึง ธาตุหลักที่สั่งการหรือควบคุมขับเคลื่อนภายในร่างกาย ได้แก่ ธาตุไฟ ธาตุลม และธาตุน้ำ ต้องทำงานอย่างสอดคล้องกัน เพื่อนำไปสู่ความแข็งแรงของ “ธาตุดิน” เปรียบเสมือนอวัยวะพื้นฐานนั่นเอง แต่การที่ตรีธาตุจะสมดุลหรือไม่นั้น มีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายประการ ซึ่งแพทย์แผนไทยจะมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการเชื่อมโยง เช่น วัน เดือน ปีเกิด และเวลา ของผู้คน อาชีพ เพศ และวัย

 

ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถปฏิบัติตามได้ไม่ยาก คือเรื่องของ “อาหารกับกาล” หรือวิธีทานอาหารกับเวลาในการดำเนินชีวิต ตามหลักแพทย์แผนไทยแบ่งธาตุเป็น 3 ช่วง ซึ่งมีผลต่อระบบในร่างกายเป็นวงกลม หมุนเวียนไปตั้งแต่ช่วงเช้าสายบ่ายเย็นกลางคืน ประกอบด้วย 

ธาตุน้ำ (เสมหะ : ความเย็น) เวลา 6.00-10.00 น. แนะนำให้ทานอาหารสเปรี้ยว

ธาตุไฟ (ปิตตะ : ความร้อน) เวลา 10.00-14.00 น. แนะนำให้ทานอาหารรสจืด ขม หอมเย็น 

ธาตุลม (วาตะ : ความไหว) เวลา 14.00-18.00 น. แนะนำทานอาหารเผ็ดร้อน

 

“ในมิติเรื่องอาหารต้องดูว่าเราทานได้สัมพันธ์กับธาตุมากน้อยแค่ไหน ณ เวลานั้น เช่น ถ้าธาตุน้ำเดินก็กินอาหารเปรี้ยวๆ เพื่อให้ระบบธาตุน้ำทำหน้าที่ได้ดี ส่วนตอนเที่ยง ก็ไม่ควรกระตุ้นธาตุไฟมาก อาจจะทานผักใบเขียว หรือตอนเย็นธาตุไฟเริ่มตก แต่ธาตุลมจะเดิน ก็ให้ทานเครื่องเทศ ยาลม ยาหอม บำรุงกำลังร่างกาย เป็นต้น”

 

หากพฤติกรรมการรับประทานไม่สัมพันธ์กับธาตุในร่างก่าย อาจทำให้เราอยู่ในภาวะอาการที่เรียกว่า “ธาตุกำเริบ” คือภาวะที่ธาตุใดธาตุหนึ่งทำหน้าที่มากผิดปกติ จนทำให้เกิดโทษต่อร่างกายขึ้น ได้แก่

ธาตุไฟกำเริบ (ปิตตะ:ความร้อน) จะทำให้เกิดอาการตัวร้อน เป็นไข้ ร้อนใน อักเสบ รสอาหารปรับธาตุคือกลุ่มรสเย็น ขม หอมเย็น จืด 

ธาตุลมกำเริบ (วาตะ : ความไหว) จะมีอาการปวด เจ็บ มึน ตื้อ จก เสียด แน่น รสอาหารปรับธาตุ เป็นกลุ่มรสสุขุม หอมเย็นขม 

ธาตุน้ำกำเริบ (เสมหะ : ความเย็น) อาการคือบวมน้ำ เสมหะมาก ปัสสาวะบ่อยครั้ง รสอาการปรับธาตุคือรสเผ็ดร้อน เปรี้ยว ฝาด

 

ขณะที่อาการ “ธาตุหย่อน” หรือภาวะที่ธาตุใดธาตุหนึ่งน้อยเกินไป หรือตรงกันข้ามกับภาวะธาตุกำเริบ ได้แก่ 

ธาตุไฟหย่อน ร่างกายก็จะเกิดไข้หนาวใน ตัวเย็น สีผิวซีด รสอาหารปรับธาตุก็คือกลุ่มรสร้อน เช่น อาหารเผ็ดร้อน ฝาด หวาน มัน เค็ม เมาเบื่อ

ธาตุลมหย่อน จะเกิดอาการอ่อนแรง อ่อนล้าได้ง่าย ชา ไม่รับรู้รส รสอาหารปรับธาตุ คือกลุ่มรสสุขม เผ็ดร้อนขม

ธาตุน้ำหย่อน อาการคือ ผิวแห้ง ไม่สดชื่น ขับถ่ายยาก รสอาหารปรับธาตุคือกลุ่มรสเย็น เปรี้ยว หอมเย็น จืด 

 

สุดท้ายคืออาการ “ธาตุพิการ” หมายถึง อาการแสดงทางกำเริบและหย่อนร่วมกันสลับไปมาต่อเนื่อง เมื่อถึงจุดที่ธาตุพิการโดยสมบูรณ์ สภาวะของธาตุนั้นจะไม่สามารถทำหน้าที่ได้ แนวทางการรักษาคือไปพบแพทย์แผนปัจจุบันหรือแพทย์แผนไทยก็ได้ เพื่อให้การรักษาวินิจฉัยโรคอย่างรวดเร็วทันเวลา

 

“ระบบตรีธาตุสันนิบาต ถ้าครบรอบที่สำคัญที่สุดคือ 29 วัน เป็นการนับวันตามจันทรคติไทยมีข้างขึ้นข้างแรม ถ้า 29 วันแล้วยังไม่หาย หรือเรียกว่าใน 1 เดือน ก็ยากแล้ว ความรุนแรงของโรคจะขึ้นไปอีกขั้น แต่ถ้า 29 วันดีขึ้นก็พักฟื้นก็จะไปได้ดี แต่การรักษาแพทย์แผนไทยจะใช้ระยะเวลาในการปรับพฤติกรรมและสร้างความสมดุลร่างกาย”

 

สิ่งที่ดีที่สุดที่ระบบการแพทย์แผนไทยแนะนำคือ การป้องกันรักษาสุขภาพตัวเอง วิธีง่ายๆ เช่น เรื่องการเลือกทานอาหารหรือสมุนไพร ให้เป็นไปตามธาตุกำเนิด ซึ่งอาจจะดูจากวันที่เราเกิด หรือ เดือนเกิด ก็ได้

 

อาหารที่แนะนำสำหรับคนที่มีธาตุเจ้าเรือนแตกต่างกันไปทั้ง 4 ธาตุรับประทาน ตามคัมภีร์วรโยคสาร และตำราอายุรเวทศึกษา ระบุว่า 

คนธาตุไฟ ลักษณะจะมีรูปร่างเล็ก ผิวแห้ง ผมนิ่ม เสียงเล็ก มีความเจ็บป่วยที่ต้องระวังคือ ความผิดปกติของฮอร์โมน ตับอักเสบ อาการไข้ขึ้น ตัวอย่างอาหารแนะนำคือ ผักบุ้ง ตำลึง ย่านาง บัวบก

คนธาตุลม ลักษณะรูปร่างผอม ผิวแห้ง ผมบาง เสียงต่ำ ความเจ็บป่วยต้องระวัง คือความดันโลหิตสูง ท้องอืด อัมพฤกษ์อัมพาต ตัวอย่างอาหารแนะนำ คือ ขิง ข่า ตะไคร้ พริกไทย

คนธาตุน้ำ ลักษณะรูปร่างท้วม ผิวสดใส ผมหนา เสียงนุ่ม ความเจ็บป่วยต้องระวัง คือ ไข้หวัด ระบบไหลเวียนโลหิต-ปัสสาวะ ตัวอย่างอาหารแนะนำคือ ขี้เหล็ก สะเดา มะนาว ส้ม 

คนธาตุดิน ลักษณะรูปร่างใหญ่ ผิวคล้ำ ผมหนา เสียงใหญ่ ความเจ็บป่วยที่ต้องระวัง คือหัวใจ ระบบทางเดินอาหาร-กล้ามเนื้อ-สืบพันธุ์ ตัวอย่างอาหารแนะนำคือ ถั่วต่างๆ น้ำผึ้ง เกลือ

 

“การทานอาหารเป็นยาถือเป็นแนวทางหนึ่งในหลักการแพทย์แผนไทย การทานอาหารให้สัมพันธ์กับธาตุหรือฤดูกาลตามธรรมชาติ จะช่วยให้ระบบหมุนเวียน ปรับสมดุลในร่างกายได้ดีมาก” หมอเธียรระบุไว้ หากใครทำได้ก็แนะนำว่า ลองปรับวิถีชีวิตและการรับประทานอาหารให้ตรงกับธาตุในร่างกาย ควบคู่กับการออกกำลังและทำสมาธิด้วย ก็จะช่วยเยียวยาร่างกายจิตใจให้กลับมาฟื้นฟูแข็งแรงอีกครั้งอย่างแน่นอน