ครูจิ๋ว ฮีโร่ข้างถนนของเด็กด้อยโอกาส

โดย | พ.ย. 25, 2021 | Human-Inspire

.
“แม่ๆ ทั่วไป แม่นก แม่ไก่ หัวใจเดียวกัน รักลูกทุกคน ตลอดจนแม่ฉัน รักลูกทั้งนั้น ป้องกันทุกข์ภัย แม่จ๊ะแม่จ๋า ตั้งหน้าตั้งตา หาข้าวของให้ ให้นมให้น้ำ แม่ทำทั่วไป เพราะความรักใคร่ น้ำใจแม่ดี แม่สั่งแม่สอน ให้เล่นเต็มที่ หาใครรักเท่า แม่รักไม่มี ความรักอย่างนี้ เป็นศรีแก่ลูกเอย”
.
ท่ามกลางเสียงดังเคาะเหล็กตอกตะปูในไซต์งานก่อสร้าง มีเสียงท่องอาขยานก้องกังวานสอดแทรกเป็นระยะ เป็นเสียงของเด็กๆ ที่นั่น ที่ทำให้แม่ ซึ่งมีอาชีพกรรมกรก่อสร้างจุกอก ปลื้มใจ และเห็นความสำคัญของการศึกษา เป็นอีกเทคนิค ของครูจิ๋ว ทองพูล บัวศรี แห่งมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ที่ทำงานเป็นครู “เดินสอนในแหล่งก่อสร้าง” ให้กับลูกๆ ของแรงงานตั้งแต่ปี 2531 
.
ครูจิ๋ว บอกว่าต้องการหยิบยื่นโอกาสให้เด็กๆ เหล่านี้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่อย่างนั้นก็ยากที่จะทำให้เขาหลุดจากวงจรของความยากจน และเธอ ไม่เคยเลือกปฏิบัติ แม้ว่าคนงานแต่ละแห่งที่เธอไปสอนจะเป็นแรงงานต่างด้าวถึง 90% คนไทยเพียงแค่ 10% กลับข้างกันเมื่อเทียบกับ 20-30 ปีก่อน 
.
แม้การเข้าไปสอนในไซต์งานจะไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ แต่ครูจิ๋วก็ฝ่าด่านความยากนั้นๆ มาแล้ว ด้วยความตั้งมั่นให้เด็กได้รับการศึกษาให้ได้ ครูบอกว่า ในครั้งแรกๆ ของการทำงาน เราต้องไปคุยกับผู้รับเหมา ให้เขาเห็นด้วยกับความคิดของเรา ฝ่าด่านได้แล้วก็ต้องไปบุกเบิกเองทุกอย่าง เพราะเขาไม่ได้ซัพพอร์ตอะไรให้ ตั้งแต่ไปหาจุดที่ปลอดภัยของไซต์งานเพื่อตั้งศูนย์การเรียน ให้เด็กๆ มาเรียนได้อย่างปลอดภัย บางที่ต้องหาบน้ำมาใช้อาบกิน เพราะเราต้องค้างอ้างแรมที่นั้นเลย เนื่องจากกระบวนการสอนต้องเริ่มตั้งแต่เวลา 9.00 น. ของทุกวัน 
.
อาหารการกินก็ง่ายๆ เพราะงบจำกัด บางทีก็เด็ดผักรอบๆ ไซต์งานมาทำกับข้าวให้เด็ก ได้เรียนรู้ไปด้วย ได้กินไปด้วย เพราะในช่วงกลางวันเด็กอยู่กับเรา หรือบางทีข้าวเช้า เด็กไม่มีกับข้าวที่บ้าน ก็หอบท้องมากินกับเราด้วย ด้วยความที่ครูเป็นตัวหลักในทำกับข้าวให้กับคนในครอบครัวตั้งแต่เด็กๆ ครูก็เลยทำกับข้าวเป็น เด็กๆ ก็ชอบกัน
.
ครูบอกว่า ความยากจริงๆ อยู่ที่การฝ่าด้านกำแพงความคิดของพ่อแม่ ที่เห็นว่าการศึกษาไม่จำเป็น โดยมักจะบอกว่า “เรียนไปทำไม ยังไงก็ต้องมาทำงานก่อสร้างเหมือนเขาอยู่ดี มากไปกว่านั้นพ่อแม่อยากให้ลูกไปมีสามีเร็วๆ ด้วย เพื่อให้ได้ห้องพักคนงานเพิ่มอีก 1 ห้อง”
.
แต่เป้าหมายของครูจิ๋วที่หนักแน่น อยากให้เด็กได้อ่านออกเขียนได้ จะได้ตามทันเพื่อน หากจะเข้าระบบการศึกษา สร้างโอกาสให้เข้ามีงานทำที่ดีกว่าการใช้เป็นแรงงานก่อสร้างตามพ่อแม่ แล้วก็มีโอกาสหลุดจากวงจรความยากจน
.
ทำให้ครูหาสารพัดเทคนิค มาทำให้พ่อแม่เห็นความสำคัญของการเรียน ไม่ว่าจะเป็นการท่องอาขยานดังๆ ให้ได้ยินทั้งไซต์งาน หรือการให้เด็กหัดท่องหัดอ่านที่บ้าน บางวันเราสอนทั้งเด็กและพ่อแม่ไปด้วย ผ่านบทเพลงนี้ “ฃ ขวด” ให้เด็กท่องจำ “ฃ ขวด หัวหยักๆ ฉันไม่รัก ฃ ขวด ใส่เหล้า ไม่ชอบนักเลงขี้เมา ฃ ขวด ใส่เหล้าเอาโยนทิ้งไป” และการสอนอย่างเข้มข้นของเรา ทำให้เด็กอ่านออกเขียนได้ พอพ่อแม่เห็นก็เริ่มคิดที่จะส่งลูกเรียนในระบบต่อ 
.
ครูจิ๋ว เล่าว่า เรามีเวลาทำงานกับเด็กแต่ละคนเพียง 3 เดือนเท่านั้น ก็เป็นอีกความยาก เพราะโครงการก่อสร้าง จะเปลี่ยนชุดคนงานทุกๆ 3 เดือน ตามช่วงเวลาของการก่อสร้าง เช่น เริ่มต้นเป็นงานขุด ต่อมาก็เป็นช่วงเริ่มก่อสร้าง โครงสร้าง ตกแต่ง บางไซต์งานครูกินนอนอยู่ที่นั่นเป็นปี เช่น โครงการที่พุทธมณฑล เพราะเป็นโครงการบ้านจัดสรรขนาดใหญ่ 
.
แต่การตั้งใจทำงานจริงๆ ทำให้ทุกอย่างเห็นผล เด็กๆ ก็รักที่จะมาเรียน บางทีเด็กโตก็มาช่วยครูสอนน้องๆ  และ33 ปีจากวันแรกจนถึงวันนี้ การเดินสอนของครูจิ๋วอาจเปลี่ยนไป เป็นรถเคลื่อนที่ แต่ภารกิจของครูจิ๋ว ยังเหมือนเดิม เสริมทีมด้วยครูผู้ช่วย รถคันนี้จะแล่นไปตามไซต์งานต่างๆ 27 แห่งทุกวันผลัดเปลี่ยนกันไป พร้อมกับนำถุงยังชีพติดมือไปให้ด้วย เป้าหมายให้เด็กๆ ให้ได้รับการศึกษาเหมือนเดิม 
.
ทำไปทำมาเราก็พบว่าแรงงานในไซต์งานก่อสร้างมาอย่างผิดกฎหมายจำนวนมากถึง 60% ทำให้ไร้สวัสดิการใดๆ เราก็ช่วยถึงที่สุด แล้วครูก็ทำงานช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนขอทานด้วย ซึ่งตอนนั้นปี 2537 มีถึง 50,000 คน เป็นเด็กไทย 30,000 คน และต่างด้าว 20,000 คน 
.
โดยเราพุ่งเป้าไปที่เด็กๆ เป็นสำคัญ ให้เด็กได้เข้าเรียนตามระบบ โดยใช้มติ ครม. ปี 2548 เป็นตัวตั้ง ที่รัฐบาลไทยจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับเด็กทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีสัญชาติไทยหรือไม่ก็ตาม หมายถึงเด็กอยากเรียนต้องได้เรียน สำหรับเด็กต่างด้าว กระทรวงศึกษาธิการจะออกเอกสารประจำตัวให้เด็ก ที่ขึ้นต้นด้วยอักษร G ให้เด็กกลุ่มนี้เข้าเรียนได้ ตามมาด้วยมติ ครม. ปี 2559 ให้เด็กที่กำลังเรียนหนังสือในประเทศไทย มีสิทธิอาศัยในประเทศจนกว่าจะจบช่วงชั้น แล้วเราก็พยายามผลักดันให้เด็กๆ ได้สัญชาติไทยด้วยแม้จะเป็นเรื่องยากก็ตาม โดยวันนี้มีเด็กเร่ร่อนที่ครูจิ๋วนำเข้าระบบการศึกษามากกว่าพันคน 
.
ครูจิ๋ว บอกว่า หลายคนวิจารณ์ว่าครูช่วยต่างด้าวแทนที่จะช่วยคนไทย ครูจิ๋วอธิบายว่า คนต่างด้าวอยู่ในเมืองไทยจำนวนมาก เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยไปแล้ว การไปไล่ต้อนจับไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง แต่เราต้องทำให้เขาได้รับการศึกษา เพิ่มศักยภาพให้เขามาช่วยพัฒนาประเทศไทย เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนมากกว่า     
.
เราจะทำต่อไปจนกว่าจะไม่ไหว เพราะคิดว่าการศึกษาเท่านั้น ที่จะทำให้เขามีโอกาส มีงานทำ พ้นจากความยากจน อาจไม่ร่ำรวย แต่พอมีพอกินได้ เหมือนครูที่มาจากครอบครัวยากจนมากๆ จนถึงขนาดไม่รู้จักเนื้อสัตว์ เพราะกับข้าวมีแต่ผักปลาที่หาได้ตามทุ่งนา ส่วนเนื้อไก่ มาจากไก่ที่เลี้ยง แล้วก็นานๆ ได้กินครั้ง แต่ครูได้รับการสนับสนุนให้เรียนหนังสือ แล้วก็มีคนให้โอกาส ทั้งคนในครอบครัว แล้วก็ครูบาอาจารย์ ที่ทำให้ครูจิ๋วมีรายได้พิเศษจากการสอนหนังสือ มีเงินไปจ่ายค่าเทอมได้ 
.
“ยายของครูพร้อมจะให้เราได้เรียน แม้จะต้องขายของรักในบ้านเพราะความที่ครูเป็นคนตัวเล็กมาก เขาเห็นว่าไม่แกร่งพอจะทำไร่ทำนาได้ ก็เลยอยากให้เราเรียน เราไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม ก็มีครูให้งานเราทำไปด้วยเรียนไปด้วย ทำให้เราได้เรียนจนจบปริญญาตรี วิทยาลัยครู พระนครศรีอยุธยา” เมื่อครูจิ๋วได้รับโอกาส ก็อยากให้โอกาสเด็กๆ ต่อ เป็นแรงผลักดันให้ทำงานนี้มายาวนาน 33 ปี และเธอจะทำต่อไปจนทำไม่ไหว
#ครูจิ๋ว #เด็กด้อยโอกาส #ทองพูลบัวศรี #มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก