สัมภาษณ์พิเศษศ.คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ศิริราช

โดย | พ.ย. 5, 2021 | Health-Inspire, Health&Environment

ความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีช่วยให้บริการทางการแพทย์ “ยกระดับ” เข้าถึงประชาชน ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหนึ่งในผู้นำวิสัยทัศน์ขับเคลื่อนระบบการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine ให้กับโรงพยาบาลรัฐและเครือข่ายสาธารณสุข

การริเริ่มพัฒนาระบบ Telemedicine ของโรงพยาบาลศิริราช ถือว่าเหมาะสมกับบริบทในปัจจุบั เพราะเทคโนโลยีถือว่าดีมากตอบโจทย์ความต้องการทางสุขภาพ ทั้งแพทย์ผู้ให้บริการและผู้ป่วยสะดวกมากขึ้น แต่เราก็ต้องระมัดระวังถึงข้อจำกัดด้วยว่าจุดไหนที่ควรใช้หรือยังไม่ควรใช้ Telemedicine บ้าง”

ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ ยกตัวอย่าง คนไข้มะเร็งเต้านมที่ได้ผ่าตัดรักษาไปหลายปีแต่เนื่องจากคนไข้มีน้ำหนักตัวมากการเดินทางมาโรงพยาบาลลำบาก ช่วงไม่มีระบบ Telemedicine ญาติผู้ป่วยหรือลูกหลานต้องมารับยาแทนให้ แต่เมื่อมีระบบ Telemedicine “คุณป้าดีใจมากเพราะได้เห็นหน้าหมอ ได้คุยกัน มีอะไรก็เล่าสู่กันฟัง แม้ไม่ได้ตรวจก็ได้เห็นว่า หน้าตาเค้าเป็นอย่างนี้ อย่างน้อยคนไข้ก็ดีใจใช่มั้ยครับ”

หรือในโรงพยาบาลต่างจังหวัดก็ดี การเดินทางมาพบแพทย์ค่อนข้างยาก Telemedicine ช่วยประหยัดทุกอย่าง เคยมีการทำวิจัยเรื่องการประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำ Telemedicine พบว่า การมาพบแพทย์แต่ละครั้งนอกจากคนไข้แล้วยังต้องมีญาติมาด้วย มีค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารการกิน ค่าเดินทาง เมื่อโรงพยาบาลใช้ Telemedicine ประหยัดไปได้ 3,000-4,000 บาทต่อคนไข้หนึ่งราย เมื่อคำนวณทั้งประเทศจะประหยัดไปเท่าไหร่ 

 

“ผมคิดว่าประหยัดไปเยอะมากมายมหาศาล” ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ มั่นใจ

อย่างไรก็ตาม มีบางโรคหรือบางกรณีที่คนไข้ยังต้องสัมผัสและรักษาโดยตรงกับแพทย์อยู่ต่อไป ดังนั้น แพทย์จึงต้องมีความเข้าใจว่าผู้ป่วยคนไหนควรต้องมาโรงพยาบาล และคนไหนให้ทำ Telemedicine ได้ เช่น การส่งภาพเพื่อตรวจรักษาอาการ หรือการให้คำปรึกษาโรคทางจิตเวชก็สามารถทำได้อย่างสอดรับกับระบบนี้

#ศิริราชเร่งนำ Telemedicine มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ในส่วนของโรงพยาบาลศิริราช ระบบ Telemedicine พัฒนาไปมากพอสมควร ขณะนี้ดำเนินการครบ Loop แล้ว หมายความว่า คนไข้ทำนัดหมายลงทะเบียน ดูแลเรื่องสิทธิการรักษา การพบหน้าแพทย์และพยาบาล การนัดหมาย สั่งยา ส่งยาทางไปรษณีย์ การชำระเงิน ครบหมด ส่วนเจาะเลือดเรามีระบบ Drive Through สมมุติว่ามีนัดตรวจแล้วต้องเจาะเลือดก็ขับรถไปฝั่งตรงข้ามอรุณอัมรินทร์ เสร็จแล้วก็กลับบ้าน Telemedicine คุยกับหมอได้เลย 

“เราพยายามปรับปรุง Telemedicine ให้ประชาชนใช้บริการได้ง่ายและใช้สะดวกราบรื่นมากที่สุด”

อย่างในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แต่ละเดือนจะก็มีคนไข้ใช้ระบบ Telemedicine หลายพันคน การเลือกวิธีการรักษาขึ้นกับความพร้อมของทั้งสองฝ่าย ถ้าแพทย์ทำงานยาก บางท่านก็จะเลือกใช้แค่โทรศัพท์หรือให้พยาบาลโทรคุย ส่วน Telemedicine ที่ใช้มากคือกรณีผู้ป่วย Home Isolation สามารถส่งข้อมูลผ่านเข้ามาในระบบว่า วันนี้ชีพจรเท่าไหร่ ค่าอ๊อกซิเจนเท่าไหร่ แพทย์จะเห็นและมีระบบแจ้งสถานะอัตโนมัติ เพื่อสั่งการให้พยาบาลโทรไปคุยกับคนไข้ ตรงนี้ถือว่าช่วยโรงพยาบาลได้อย่างมาก

 

#มองจุดแข็งจุดอ่อนของระบบแพทย์ทางไกล

ส่วนประเด็นไม่เหมาะจะทำ Telemedicine และสิ่งที่ต้องระวังในมุมมองของ ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ ก็คือ การนำมาใช้ในทางที่ผิดหรือหลอกลวงกันทางออนไลน์ เช่น คนที่เราเห็นคุยด้วยเป็นตัวจริงหรือไม่ เพราะในระบบอิเล็กทรอนิกส์หลอกกันได้ทุกอย่าง

“ถ้าทำ Telemedicine แล้วไม่มีความแม่นยำในเรื่องนี้ ระบบเราจะเสียหาย คือไม่รู้ว่ารักษาคนนี้จริงมั้ย หรือตกลงคนที่เราไปรักษาด้วยเป็นแพทย์จริงมั้ย ต่างฝ่ายมีโอกาสเป็นของปลอมได้ คำถามคือพอไปเบิกค่ารักษา เบิกประกันสุขภาพ ตกลงผมเบิกของคนๆนั้นจริงหรือไม่ เบิกยาให้คนอื่นหรือเปล่า เหมือนกรณีใช้สิทธิไทยเที่ยวไทยที่มีข่าวปรากฎว่าโรงแรมบางแห่งไม่ได้มีผู้ไปเที่ยวจริงแล้วมาเบิกเงิน ตรงนี้ผมคิดว่ามีสิทธิทำให้ระบบ Telemedicine เสียหาย แต่ถ้าภาครัฐออกแบบระบบดี รัดกุม ปัญหาพวกนี้จะไม่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้ต้องทำให้ได้ เพราะการนำ Telemedicine มาใช้ผมคิดว่าดีแน่นอน ช่วยได้เยอะมาก

ในอนาคตเมื่อมองไปข้างหน้าเชื่อว่าทุกคนมีความหวัง และถ้ารู้ข้อจำกัดของ Telemedicine แล้ว ร่วมแก้ไขพัฒนาไปเรื่อยๆ ไม่ให้มีปัญหาเรื่องการนำมาใช้อย่างผิดๆ เช่น รักษาระบบทางไกล แต่เราไม่รู้ว่าแพทย์ต่างประเทศนั้นเป็นหมอจริงหรือเปล่า เอาหมอที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนมาตรวจหรือไม่ กระบวนการเก็บเงินสมเหตุสมผลหรือไม่ การสั่งยา ส่งยาถูกต้องแค่ไหน 

“ถ้ามาโรงพยาบาลเรามั่นใจว่ายาคุณภาพมาตรฐาน แต่ถ้าทำ Telemedicine แล้ว อาจมียาบางส่วนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ปกติคลินิกหมอเถื่อนจะมี กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ไปตรวจสอบอยู่แล้ว แต่คำถามคือถ้าบริการตรวจรักษาแบบ Telemedicine แล้ว มีเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบหรือไม่ รักษาเองสั่งยาเอง นี่คือจุดสำคัญ หลักการมีแค่นี้ ถ้าเรา Set หลักการพวกนี้ได้ดี มันก็ขับเคลื่อนไปได้หมด”

ปัจจุบัน กฎระเบียบของแพทยสภาออกมาแล้ว กรมสนับสนุบริการสุขภาพ ก็ออกแล้วเช่นเดียวกัน ดังนั้น ทิศทาง Telemedicine ค่อนข้างชัด ทุกฝ่ายร่วมกันพัฒนามาหลายปี “ผมเป็นผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา เพราะผมเห็นปัญหาเหล่านี้ แต่เราต้องเข็นเรื่องนี้ให้ได้ เพราะเราเห็นภาพและรู้ว่าความจริง Telemedicine เป็นบทบาทสำคัญ ต้องมองอนาคตและพัฒนาระบบตามหลักทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”

#แนะธุรกิจการแพทย์ไม่ควรอยู่ในตลาดหุ้น แต่นำกำไรกลับมาพัฒนาโรงพยาบาล

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการทางการแพทย์ของประเทศไทยแม้ได้รับการยกย่องว่าดีเลิศขนาดไหน แต่ก็ทำให้ ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ อดเป็นห่วงไม่ได้ เพราะธุรกิจการแพทย์ถือเป็น “ธุรกิจที่ชี้เป็นชี้ตาย” ของมนุษย์ แล้วคนไข้ก็ยังมีทางเลือกน้อย หากไม่ใช้สิทธิพื้นฐานของรัฐ หรือไม่มีประกันชีวิต ประกันภัย ก็ต้องใช้บริการเอกชนที่ค่ารักษาค่อนข้างสูงมาก ยิ่งแนวโน้มประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูวัยเต็มรูปแบบ ทำให้ปัจจุบันมีธุรกิจให้บริการทางการแพทย์เกิดขึ้นจำนวนมาก

ในหลักการแล้ว ธุรกิจแพทย์ควรเป็นธุรกิจที่ไม่แสวงหาผลกำไร แต่อะไรที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ เป็นบริษัทมหาชนย่อมจำเป็นต้องเอาผลกำไรกลับไปให้ผู้ถือหุ้น อย่างในปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนเติบโตรวดเร็ว หลายแห่งก็ไปลงทุนในตลาดหุ้น เมื่อระดมทุนแล้วก็ต้องมีปันผล ไม่เช่นนั้นคนไม่ซื้อหุ้น

“ผมคิดว่าโรงพยาบาลเอกชนมีกำไรได้ แต่กำไรเสร็จแล้วน่าจะกลับมาดูแลคนไข้ไม่ใช่คืนในรูปเงินปันผล กำไรมีได้แต่ต้องกลับมาพัฒนาให้ธุรกิจการแพทย์จริงๆ อย่างในสหรัฐอเมริกาจะไม่เป็นอย่างนี้ เมื่อทำกำไรเค้าจะรีเทิร์นกลับมาสร้างโรงพยาบาล หรืออย่างโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ เรามีคนไข้ มีบริการที่ดีกว่า คนยอมจ่ายค่าบริการที่แพงกว่า แต่เงินและกำไรกลับไปพัฒนาโรงพยาบาลศิริราช เราอยากเห็นวงการแพทย์ควรเป็นแบบนี้”

ด้วยประสบการณ์ที่ยาวในในฐานะศัลยแพทย์ชั้นแนวหน้าของประเทศ อาจารย์หมอที่มีลูกศิษย์มากมายทั่วประเทศ แพทย์อาสาผู้มีหัวใจเสียสละและจิตวิญาณที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นพัฒนาระบบสาธารณสุข 

ดังนั้น ทรรศนะของ ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงมีคุณค่าและน่าสนใจ…เพื่อนำไปสู่ทิศทางการแพทย์เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง