‘การที่เราได้ไปดูแลคนไข้ที่ห่างไกลจริงๆ แล้วเค้าไม่มีโอกาสรักษาเลย…เป็นความรู้สึกที่ดี เป็นความรู้สึกประทับใจ’

โดย | พ.ย. 5, 2021 | Community, Heart-Inspire

เส้นทางของแพทย์ส่วนใหญ่ ที่ใครๆ คิดว่า “โปรยด้วยกลีบกุหลาบ” แต่จริงๆแล้วก็อาจไม่ได้ราบเรียบเสมอไป หมอที่ได้รับการเชิดชูเกียรติจากสังคม ล้วนหล่อหลอมประสบการณ์จากความเสียสละ และวันเวลาได้พิสูจน์ว่าพวกเขาสร้างประโยชน์เพื่อสาธารณะอย่างแท้จริง … หนึ่งในบุคคลเหล่านั้นย่อมมีชื่อของ ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

“งานจิตอาสาในพื้นที่ต่างจังหวัดห่างไกล คืองานเสริมที่ผมทำมานับตั้งแต่เริ่มต้นวิชาชีพนี้ ศิริราชสอนเราว่า “ประโยชน์เพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” อยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมคือความสุขใจ เป็นความรู้สึกดีๆ ที่เราได้ช่วยเหลือคนอื่น” 

ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในฐานะนักวิชาการชั้นนำและศัลยแพทย์สาขาโรคศีรษะ คอ และเต้านม โดยแต่ละปีมีภารกิจดูแลคนไข้ที่ป่วยด้วย “โรคมะเร็ง” ไปจนถึง “โรคไทรอยด์” ซึ่งรักษาแบบปกติได้ยากมากกว่า 100 เคส นอกจากนั้น คุณหมอยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมทางการแพทย์ของโรงพยาบาลศิริราช เพื่อก้าวทันเทคโนโลยีแห่งโลกอนาคตอีกด้วย

เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ…แม้งานในแต่ละวันจะยุ่งเหยิงเพียงใด แต่จิตใจของ ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ ก็ยังไม่ลืมที่จะคิดถึง ผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้าไม่ถึงระบบการแพทย์และสาธารณสุข คนป่วยที่ทุกข์ทรมานแต่ไม่มีสตางค์ที่จะเดินทางไปโรงพยาบาลใหญ่ๆ ท้องถิ่นที่ห่างไกลหรือมีอันตราย ยากที่จะนำเครื่องมือไปผ่าตัดรักษาชีวิตเอาไว้ได้

ในขณะที่แพทย์ส่วนมากกำลังเดินตรวจคนไข้ในโรงพยาบาลหรือไม่ก็นั่งอยู่ในห้องตรวจโรคแคบๆ แต่ ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ แบ่งเวลาก้าวออกมาเดินสำรวจโลกกว้าง ณ โรงพยาบาลแห่งแผ่นดิน ที่ซึ่งมีวิถีชีวิตผู้คนหลากหลายระดับ ส่วนใหญ่แล้วยากจนข้นแค้น ดินแดนทุรกันดารหาความหวังใดๆได้ยาก ไม่ใช่แค่ปัจจุบันแต่คุณหมอทำอย่างนี้มาตั้งแต่ปี 2529 จนถึงขณะนี้นับเวลากว่า 35 ปี

 

“ผมก็เหมือนหมอทั่วไป เรียนแพทย์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2523 จบพ.ศ. 2529 ใช้ทุนคือไปประจำที่โรงพยาบาลต่างจังหวัด เป็นแพทย์ประจำบ้านอยู่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีพรมแดนติด กับสปป.ลาว สมัยนั้นยังห่างไกลความเจริญมาก เราก็จะมีการออกหน่วยเคลื่อนที่ขึ้นบนภูเขาไปดูแลคนไข้ ภาพการออกตรวจตามชนบทเป็นภาพจำที่ผมคุ้นเคยดีครับ”

จุดเปลี่ยนครั้งแรกในชีวิตของแพทย์จบใหม่ ก็คือการได้พบกับ ศาสตราจารย์ นพ.อุดม โปษะกฤษณะ อดีตเลขามูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) ซึ่งก่อนหน้านั้นท่านเคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ช่วงปี พ.ศ.2516-2518

“ตอนผมประจำอยู่โรงพยาบาลเชียงของ อยู่ๆ พยาบาลมาตาม บอกว่ามีอาจารย์ผู้ใหญ่มา อาจารย์อุดมท่านลงจากรถตู้โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ท่านให้ผมพาเดินไปชมโรงพยาบาลซึ่งปกติเรามีแพทย์ 3 คน แต่พี่ๆ ไม่อยู่หมดเลย ผมเป็นน้องเล็กสุดก็พาอาจารย์ไปดูแผนก OPD จนถึงหอผู้ป่วย ท่านชวนเราดูคนไข้ทีละคนๆ เหมือนตอนที่เราอยู่โรงเรียนแพทย์ แล้วท่านก็ยังสอนเราด้วย โอโห…นี่เป็นความประทับใจอย่างยิ่ง เป็น Impression ที่ดีในการเป็นเข้ามาสู่เส้นทางอาชีพแพทย์ของผม”

เมื่อใช้ทุนเสร็จแล้ว ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ ก็กลับมาเรียนศัลยแพทย์ต่อ ระหว่างที่เรียนอยู่ปีสุดท้ายนั้นเอง โชคดีมีอาจารย์ที่เก่งมากคือศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.นิตย์ ศุภะพงษ์ ศัลยแพทย์ด้านศีรษะ คอ เต้านม ก็ชวนว่า “อดุลย์ไปช่วยกันผ่าตัดตามเสด็จฯ” ซึ่งตอนแรกก็ไม่ทราบว่าผ่าตัดตามเสด็จฯ คืออะไร?

ขณะนั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระราชินี ท่านจะเสด็จฯแปรพระราชฐานปีละ 3-4 รอบ และทุกปีในเดือนมกราคม ท่านจะเสด็จฯไปที่จังหวัดเชียงใหม่ เวลาแปรพระราชฐานจะมีหน่วยแพทย์อออกไปตรวจคนไข้ คนไหนที่ตรวจก็รับมา คนไหนที่ป่วยก็ผ่าตัด “ผมตามอาจารย์นิตย์ออกหน่วยแพทย์อาสาตามเสด็จฯ ณ ค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ ปี 2535-2538

ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ เล่าถึงช่วงนี้อาจทำให้หลายคนอาจต้องเปลี่ยนความคิดว่า ชีวิตหมอนั้นสุขสบาย ซึ่งจริงๆแล้วหาใช่ไม่ หากปวารณาตัวให้แก่ผู้ทุกข์ยาก บางครั้งก็ต้องอดทนนอนแบบเอาศาลาวัดเป็นบ้าน ไม่ได้ค้างโรงแรม คนไข้ในถิ่นทุรกันดารก็มาก แต่ห้องผ่าตัดมีน้อย กั้นไว้แค่ 2 ห้อง มี 4 เตียง แพทย์ที่ร่วมเดินทางต่างต้องใช้ทุกวินาทีอย่างมีค่า เร่งผ่าตัดผู้ป่วยได้นับ 10 คนต่อวัน

“เราไปอยู่ที่นั่นสองอาทิตย์ดูแลคนไข้ผ่าตัดไปเป็น 30-40 รายเลยนะ เยอะมาก ผมจึงรู้สึกว่าทำไปแล้วมันได้บุญ หลังจากนั้นพอผมเรียนจบก็ได้บรรจุเป็นอาจารย์ในสาขาเดียวกับอาจารย์นิตย์ แล้วก็มีโอกาสตามเสด็จฯไปหลายรอบ จนกระทั่งไปเรียนต่อต่างประเทศ...นี่ก็คือที่มาของงานแพทย์อาสาที่ผมไปเกี่ยวข้อง”

ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ กลับมาเป็นอาจารย์แพทย์ที่ รพ.ศิริราช โชคดีอีกที่ได้รู้จัก นพ.ยุทธ โพธารามิก ซึ่งปัจจุบันเป็น เลขาธิการ พอ.สว.“วันนึงท่านก็มาชวน อดุลย์ แข็งแรงมั้ย ไปออกหน่วยกัน ที่อมก๋อย เชียงใหม่”  

คุณหมอบอกว่า หน่วยแพทย์นี้จะแตกต่างจาก “พอ.สว.ปกติ” ที่เอารถโฟร์วีลเข้าไปได้ แต่อันนี้เราเรียกว่า “แพทย์เดินเท้าพอ.สว.”จังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน เป็นไปตามพระราชปณิธานสมเด็จย่า ท่านทราบว่าคนไข้ที่อยู่ตามดอย เวลาเจ็บป่วยหน้าฝน เค้าเดินทางออกมายากมาก บางทีใช้เวลาสามวัน บางคนตายระหว่างทาง บางคนไม่มาเลย

“ปีที่ผมไปเป็นการออกหน่วยครั้งที่ 15 ทีมแพทย์ ตัวหมอ พยาบาล กายภาพบำบัด เภสัชกร หมอฟัน ทุกคนจะใช้วิธีเดินไปแบกของ แบกยา มีลูกหาบ วันนึงจะตรวจประมาณ 2-3 หมู่บ้าน พักค้างแรมบนเขา ไปอยู่ในป่า 5 วัน ผมไปออกด้วยหลายครั้ง ซึ่งก็เป็นความประทับใจดีมากที่เราได้ไปดูแลคนไข้ที่ห่างไกลจริงๆ แล้วเค้าไม่มีโอกาสรักษาเลย มีหลายโรคที่หากพวกเราไม่ไปเค้าเสร็จแน่นอน นี่ก็เป็นความรู้สึกที่ดี เป็นความรู้สึกประทับใจ

เมื่อจังหวะชีวิตต้องก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งบริหาร แม้ภารกิจหนักหนาขึ้นแต่นั่นหมายถึงการมีเพื่อนพ้องน้องพี่ ทั้งในวงการและนอกวงการแพทย์เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ทำให้ ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ สามารถขยายเครือข่ายร่วมไม้ร่วมมือช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ได้มากกว่าที่เคยทำมา มิตรสหายบางคนร่วมแรง เพื่อนบางคนร่วมบริจาคทุนทรัพย์ 

หนึ่งในนั้นคือกลุ่มเพื่อนหมอที่เรียน หลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (ปธพ) นำไปสู่การออก “หน่วยแพทย์อาสาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 -2562 ซึ่งเป็นช่วงที่จังหวัดนราธิวาสแทบจะไม่มีแพทย์เหลืออยู่ เพราะแพทย์คนสุดท้ายได้ลาออกไปแล้ว และไม่มีหมอผ่าตัดทั้งในรพ.ใหญ่ รพ.ศูนย์ 

“แพทย์คนสุดท้ายท่านร่วมสู้กันมาเป็นสิบปี บอกว่าไม่ไหวแล้ว ขอลาออกไปอยู่รพ.เอกชน จะมีก็แต่แพทย์จากรพ.พระมงกุฏเกล้า คอยหมุนเวียนไปเป็นครั้งคราว…..ผมจึงผมชวนเพื่อที่เป็นหมอผ่าตัด หมอตา หมอสาขาต่างๆ บินลงไปช่วย ทราบว่าเค้าขาดแคลนอะไรบ้าง เราไปสอนแพทย์ฝึกหัด ช่วยผ่าตัด คนไข้ฉุกเฉินเช่นโดนระเบิดมา ก็แทบหมดเวลาแล้ว ส่วนคนไข้มะเร็งจึงไม่มีหมอเพียงพอ พอดีผมเป็นแพทย์ดูแลมะเร็งเต้านมจึงบอกว่าถ้ามีคนไข้ให้นัดมาแล้วผมจะบินลงไปช่วยผ่าตัด ก็ทำอย่างนี้มาเรื่อยๆ” 

 

กระทั่งวัน นึงโชคดีมากปรากฎว่ามีแพทย์รุ่นพี่ท่านนึง “พี่หมอ สมปอง” เป็นคนนครศรีธรรมราช เดิมทำงานอยู่ที่ รพ.สนามจันทร์ เค้ายอมลาออกและไปรับราชการที่จังหวัดนราธิวาส ไปอยู่ รพ.รัฐบาล กินเงินเดือนน้อยนิด

“ผมบอกว่าพี่ขาดอะไรบอกเลยนะยินดีช่วย ชวนทีมหมอบินลงไปส่องกล้องลำไส้ ไปผ่าตัดคนไข้ไส้เลื่อนจำนวนมาก มะเร็งเต้านมผมก็ลงไปผ่าปีละ 3-4 รอบ ช่วงที่ไปนราธิวาสมีแต่คนบอกว่าไปทำไม น่ากลัวนะไปแล้วมันจะตาย จะโดนยิง ปรากฎว่าตอนนั้นผมไปก็ไม่เห็นมีอะไรเลย ไปได้กลับได้อย่างปลอดภัย ชวนหมอคนอื่นๆ ไป ก็บอกว่าผมไปมาแล้วมันไม่มีอะไรเลยจริงๆ ทุกคนก็เลยยอมไป เราทำให้คนไข้ที่รพ.นราธิวาสอุ่นใจว่ามีหมอมาช่วยดูแลพวกเขา”

เมื่อทีมแพทย์ฝึกหัดซึ่งรพ.นราธิวาสได้ส่งไปศึกษาต่อ ทยอยกลับมาทำงาน ปัจจุบันจึงมีแพทย์ผ่าตัดประจำ 4 คนแล้ว ทำให้ ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ ไม่ต้องบินลงไปช่วยบ่อยครั้งเหมือนเก่า แต่ก็ยังสื่อสารส่งข่าวคราวแล้วก็หาอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ไปช่วยสนับสนุนตลอด

ด้วยความเป็นแพทย์ที่มีจิตสาธารณะ ประมาณปีกว่าๆที่ผ่านมา ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ ยังแบ่งเวลาไปเป็น “แพทย์อาสา” ที่จังหวัดสุโขทัยอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งแม้จะไม่ใช่ถิ่นทุรกันดาร แต่ทราบมาว่ามีประชาชนเป็นไข้รอคอยการผ่าตัดไทรอยด์อยู่อีกพอสมควร โดยเฉพาะ “โรคพาราไทยรอยด์” ซึ่งแตกต่างจากปกติ ถ้าใครเป็นโรคนี้ร่างกายจะเสียแคลเซียม กระดูกบางและกระดูกหักง่าย หักแบบหักทั้งตัว ซึ่งพบเจอโรคนี้บ่อยในคนที่เป็นโรคไตหรือเกิดจากการล้างไตบ่อยครั้ง 

“เราบอกว่าถ้าผ่าตัดแบบนี้ต้องหมอที่มีทักษะ ผมก็รวบรวมน้องๆในสาขาศรีษะ คอและเต้านมไปกัน โรคแถวลำคอเราผ่าได้ เราเชี่ยวชาญเรื่องผ่าพาราไทรอยด์ก็บินไป 4-5 คน ซึ่งจริงๆสุโขทัยไม่ได้กันดารอะไรมาก แต่เป็นโรคที่รักษายาก ซึ่งหมอทั่วไปไม่กล้าผ่า แล้วถ้าจะส่งตัวไปบางทีก็ไม่ง่ายแม้แต่ส่งไปพิษณุโลกหมอก็ยังไม่กล้า อาจจะต้องไปเชียงใหม่ ปรากฎว่าเราผ่าตัดคนไข้ได้ 10 กว่าคน”

ปัจจุบัน หากใครมีความต้องการสนับสนุนทางการแพทย์อย่างนี้ ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ บอกว่า ยินดีเป็น “คนกลาง” ถ้าทำได้ก็ลงไปช่วยเหลือ ถ้าทำไม่ได้ก็ชักชวนคนอื่นไปร่วมกันทำ “ผมมีเพื่อนร่วมทางเยอะมาก เวลาเราไปชวนใครเค้าก็ยินดีทุกคน นี่เป็นเสน่ห์ของเมืองไทย เสน่ห์ของสังคมไทย”

แน่นอนว่า การออกตรวจในพื้นที่ต่างจังหวัดอาศัยทรัพยากรมาก รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า ที่ผ่านมาได้ใช้วิธีออกหนังสือเกร็ดความรู้ทางด้านการแพทย์จำนวน 2 เล่มจำหน่ายให้แก่คนทั่วไป เล่มแรกคือ “รู้จักมะเร็ง อยู่กับมะเร็ง” ตีพิมพ์เมื่อเดือนธันวาคม 2561 

และเล่มที่สองออกเมื่อเดือนมีนาคม 2563 ชื่อว่า “รอบรู้เรื่อง eXcercise” ทั้งหมดเป็นการรวมเรื่องราวจากการเขียนบทความ ทาง Page Facebook “บันทึกเรื่องน่ารู้ by dr.adune” โดยคุณหมอเริ่มเขียนผ่านโซเชียลมีเดียมาตั้งแต่กลางปี 2559 ส่วนใหญ่เป็นบทความเกี่ยวกับการแพทย์ แต่ระยะหลังมีการสร้างความเข้าใจในเรื่องโควิด-19 และประเด็นการใช้ชีวิตในสังคมยุคใหม่ ฯลฯ 

ทั้งหมดได้นำเงินรายได้มาเป็น “กองกลาง” ในกิจกรรมสาธารณะช่วยเหลือจิตอาสาให้ได้รับความสะดวกในการเดินทาง ซึ่งไม่ใช่แค่กลุ่มแพทย์ศิริราชเท่านั้นยังมีกลุ่มแพทย์อาสา เครือข่ายผ่าตัดไส้เลื่อน เครือข่ายผ่าโรคตา ฯลฯ จังหวัดอื่นๆทั่วประเทศมาร่วมอุดมการณ์เดียวกันด้วย…