สัมภาษณ์ คุณกรด โรจนเสถียร

โดย | ต.ค. 28, 2021 | Community, Heart-Inspire

“ทุกคนต้องตื่นขึ้นมาได้แล้วครับ นี่คือ Wake up call…ถึงเวลาร่วมมือและลงทุนใน Wellness สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ”

จากประสบการณ์ บริหาร “ชีวาศรม” รีสอร์ทชื่อดังระดับโลกที่ให้บริการแบบ Wellness ดูแลสุขภาพกายและจิตใจแก่นักท่องเที่ยว ณ เขาตะเกียบ หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำให้วิสัยทัศน์ของ คุณกรด โรจนเสถียร นายกสมาคมการส่งเสริมสุขภาพไทย มุ่งเน้นภารกิจ การออกแบบธุรกิจท่องเที่ยวแนวใหม่ซึ่ง “ประเทศไทยจะหยุดนิ่งไม่ได้ โดยเฉพาะหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงและอีก 2 ปีข้างหน้า”

คุณกรด มองว่า ก่อนวิกฤตโควิด เศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคท่องเที่ยวสูงมาก ทุกคนก็ “Enjoy” กับตัวเลขเชิงปริมาณ อย่างปี 2562 มีนักท่องเที่ยวเกือบ 40 ล้านคน เราจึงตกอยู่ในสภาพ “Over Tourism” มานาน ขณะนั้นไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดสถานการณ์เช่นนี้ 

…กระทั่งปัจจุบันจากตัวเลข 40 ล้านคนเหลือไม่ถึง 1 ล้านคน 

“หลังโควิดลดลง เราควรหันมาทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นกับธุรกิจโรงแรมว่าจะเดินไปในทิศทางไหน พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ผมเชื่อว่านักท่องเที่ยวจะดูแลเรื่องสุขภาพ สุขภาวะ ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม ดังนั้น กระแส Wellness จึงเกิดขึ้น แม้ในต่างประเทศมีมานานแล้วแต่ประเทศไทยเริ่มพูดถึงกันมาก ทั้งที่เรามีศักยภาพแต่ยังไม่พัฒนาจริงจัง”

Wellness คือ “การดูแลสุขภาพดีแบบองค์รวม” ทั้งร่างกาย อารมณ์ และจิตใจป้องกันมิให้เกิดภาวะป่วยไข้ นับเป็นความสุขที่สมบูรณ์จากภายในโดยมีองค์ประกอบหลักๆ อาทิ เรื่องการตรวจสุขภาพ สุขภาวะ ทานอาหารที่เป็นประโยชน์ นอนหลับดี มีสมาธิ ออกกำลังกายและลดทอนความเครียด เป็นต้น

คุณกรด กล่าวว่า นักท่องเที่ยวกำลังมองหา Destination ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกแข่งขันกันอย่างสูง แต่ประเทศไทยในฐานะที่เราโดดเด่นเรื่องบริการ Wellness มาก แต่การพัฒนาอาจจะติดขัด เช่น กฎระเบียบ กฎหมายอยู่บ้าง เรื่องของบุคลากรที่มีทักษะด้าน Wellness ไม่เพียงพอ ดังนั้น เมื่อมีโอกาสดีแล้วจึงต้องจุดประกายให้เกิดขึ้น มองผู้ใช้บริการว่าต้องการอะไรจากประเทศไทย และให้บริการที่ตอบโจทย์

“…หนึ่งคือต้องการด้านสุขภาพร่างกายที่ดี ซึ่งไม่ใช่แค่การกินยาหรือฉีดยาแล้วหาย แต่เวลานี้ต้องการมากกว่าเดิม คือทำอย่างไรไม่ให้ตนเองเจ็บป่วย มีความสมบูรณ์อย่างยั่งยืน หรือทำให้เป็นหนุ่มสาวตลอดเวลา สองคือด้านจิตใจ หรือ Mental Spiritual ต้องการสุขภาวะทางอารมณ์และแสวงหาสิ่งแวดล้อมที่ดี ผมมองว่าประเทศไทยมี Trend เรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมเป็นจุดขายอยู่ตลอด เพียงแต่เราต้องมองว่าเขาคาดหวังหรือต้องการอะไร”

บริการด้าน Wellness ทั่วโลกในแต่ละปี มีมูลค่าการตลาดมหาศาลและเป็น MegaTrend ใหม่ๆ ที่น่าจับตามอง ครอบคลุมทั้งเรื่องของ Medical , Beauty , Tourism ,Culture ฯลฯ ซึ่งสามารถแตกแขนงสาขาสู่ธุรกิจมากมาย อาทิ โรงพยาบาล สปา คลินิคเสริมความงาม แพทย์แผนไทย นวดเพื่อสุขภาพ โรงแรม รีสอร์ท สมุนไพร ยารักษา ร้านอาหาร ล้วนสร้างรายได้ไปยังธุรกิจรายย่อยๆ รายเล็กรายน้อย และระดับท้องถิ่น 

คุณกรด ยกตัวอย่าง ระบบสุขภาพที่นำมาให้บริการในโรงแรมแบบ Wellness Hotel เช่น เรื่องทันตกรรม การดูแลผิวพรรณ การโบทอกซ์ สมุนไพร เป็นต้น ซึ่งบ้านเราสามารถทำได้แน่เพราะเป็นสาขาที่มีศักยภาพสูง เหมือนดังเช่นในเยอรมันหรือสหรัฐอเมริกาบางโรงแรมของเค้าจะมีสปาและกายภาพบำบัดให้บริการลูกค้า ช่วยดูแลสุขภาพในวันพักผ่อนได้อย่างสบายใจ

ยกตัวอย่าง “ชีวาศรม” ที่ก่อตั้งมาถึง 26 ปีแล้ว มีใบอนุญาตสหคลินิก ครอบคลุมเรื่องกายภาพ ความงาม แพทย์แผนไทย ฝังเข็ม แพทย์ทางเลือก การทำสมาธิ ดูแลเรื่องอาหาร เสิร์ฟสิ่งที่มีประโยชน์กับชีวิต สร้างสภาพแวดล้อมให้ดีต่ออารมณ์และจิตใจ จนกระทั่งแขกผู้มาพักเกิดความพึงพอใจโรงแรมของเรา

“ผมเชื่อว่าผู้ประกอบการไทยเก่งๆมีมาก แต่ยังต้องเพิ่มการเรียนรู้ การผลิตบุคลากรรองรับให้มากที่สุด ปรับปรุงกฎหมายรองรับ หลักสูตรและความร่วมมือหลายๆอย่างต้องเกิดขึ้น เพราะแต่ละภูมิภาคมีของดี จังหวัดอันดามัน ล้านนา อีสาน ภาคกลาง หรือพื้นที่ริเวียร่า ล้วนมีจุดขายของตัวเอง เพียงแค่ต้องเข้าใจการดูแลแบบองค์รวมก่อนจึงเกิดความนิยมตามมาอย่างแน่นอน”

อย่างไรก็ตาม การบูรณาการให้เกิด Wellness ทั้งระบบ มิใช่ ภาครัฐ ภาคเอกชน แต่ยังมี มหาวิทยาลัย หน่วยวิจัย ฝึกอบรม ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาแนะนำ การรับรองมาตรฐานกิจการด้านสุขภาพ และบริหารจัดลงลึกระดับท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมามีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง “กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ” กระทรวงสาธารณสุขและเครือข่ายพันธมิตรการพัฒนาและส่งเสริม “Wellness Hub” ของประเทศไทย เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ถือเป็นจุด “คิกออฟ” ที่สำคัญและเริ่มดำเนินการในพื้นที่ท่องเที่ยวจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน ก่อนจะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆทั่วประเทศ

คำถามคือเมื่อภาคเอกชนพัฒนา Wellness แล้ว กฎหมายจะเอื้ออำนวยหรือไม่? จำเป็นที่ภาครัฐต้องดูแลทิศทาง ลดอุปสรรค และพัฒนาหลักสูตรกลางขึ้นมาร่วมกับมหาวิทยาลัย ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง มีมาตรฐาน สร้างบุคลากร และตรากฎระเบียบที่สนับสนุน เพื่อให้ทุกอย่างเดินไปข้างหน้าเกิดรูปแบบ “One License” ขออนุญาตในคราวเดียวกันได้ ย่อมจะเป็นการปรับตัวที่รวดเร็ว แต่ก็ต้องหาจุดสมดุลที่เหมาะสมเช่นกัน  

“…ถึงเวลาแล้วที่เราต้องรีบเร่ง ซึ่งโควิดได้ทำให้เกิดปฏิกิริยานี้” 

 

กระแส Wellness และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ คือโอกาสใหม่ๆ ของประเทศไทยใช้จุดแข็งสร้าง “รายได้” เป็นความหวังและภูมิคุ้มกันที่ดีว่า…เราจะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม พร้อม “ส่งมอบ” อนาคตให้กับนักธุรกิจรุ่นต่อไปอย่าง “ทนุถนอม” และ “ยั่งยืน”

 

#กรด โรจนเสถียร

#ท่องเที่ยวไทย2564

#เปิดประเทศ

#WellnessHotel