‘Wellness Hotel’ มิติใหม่โรงแรมส่งเสริมสุขภาพ ยกระดับท่องเที่ยวไทยด้วยนวัตกรรมเวลเนส

โดย | ก.ย. 29, 2021 | Health-Inspire, Health&Environment

อนาคตธุรกิจท่องเที่ยวไทยภายใต้วิถีใหม่ซึ่งผู้คนโฟกัสเรื่องของ สุขภาพ เป็นหลัก นับเป็นจังหวะก้าวที่มี ความหวัง หลังการเปิดประเทศปลายปี 2564 นี้ โดยหนึ่งในผู้ริเริ่มแนวคิดการขับเคลื่อน “โรงแรมส่งเสริมสุขภาพ” หรือ “Wellness Hotel” ก็คือ อาจารย์ ฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทยและกรรมการเลขานุการกฎบัตรไทย

 

โรงแรมส่งเสริมสุขภาพ น่าจะเป็นทางเลือกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือกับภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการสร้าง กฎบัตรสุขภาพ หรือ Thailand Charter oh Health ที่ทางสมาคมการผังเมืองไทยได้ดำเนินโครงการระยะแรกเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและอันดามัน

 

การเริ่มต้นที่ จุดประกาย นโยบาย Wellness Hotel ให้เกิดขึ้น เมื่อทุกฝ่ายมองว่าในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา 2 ปี นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป โรงแรมรีสอร์ทส่วนใหญ่ 100% ไร้เงานักท่องเที่ยวหรือมีก็เบาบางมาก บางแห่งทนแบกภาระต้นทุนไม่ไหวต้องปิดกิจการ บางแห่งปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนไป

 

“เราจำเป็นต้องปรับโครงสร้างการผลิต โดยเฉพาะในธุรกิจบริการซึ่งนักวิชาการเห็นตรงกันว่าการท่องเที่ยววิถีเดิมทีี่เคยรองรับอยู่ 40 ล้านคน จะเดินไปเหมือนเดิมไม่ได้อีกแล้ว ประเทศไทยต้องแสวงหานักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพด้วย แม้ปริมาณไม่มาก แต่สร้างสรรค์มูลค่าทางเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้น ซึ่งเราแนะนำว่าควรพัฒนาสู่การเป็น Wellness Hotel”

 

สมาคมการผังเมืองไทย ได้ร่วมกับองค์กรภาคี ภาครัฐและเอกชนผลักดัน โครงการเขตเศรษฐกิจนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพวิถีใหม่เพื่อพลิกฟื้นประเทศไทย ในหลายๆพื้นที่ โดยใช้เครื่องมือกฎบัตรสุขภาพ หรือ Thailand Charter of Health เป็นกลไกในการทำงาน

ปัจจุบัน หลายคนอาจยังไม่คุ้นเคยกับคำว่า กฎบัตร ขณะที่ในต่างประเทศ ได้นำวิธีการนี้มาใช้สำหรับการออกแบบและพัฒนาเมือง ไปสู่ความยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับบริบทและเป็นความต้องการร่วมของพื้นที่ ผู้คนในชุมชน สังคม หรือท้องถิ่นนั้นๆ โดยมี เกณฑ์ชี้วัด ตามแผนแม่บทที่จัดทำขึ้นในแต่ละสาขา

 

สำหรับ กฎบัตรไทย หรือ Thailand National Charter เกิดขึ้นเพื่อขับเคลืื่อนสาขายุทธศาสตร์ที่มีศักยภาพ ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว กระจายรายได้ และเพิ่มโอกาสความเจริญของท้องถิ่น มีด้วยกัน 5 สาขา ได้แก่ กฎบัตรเมืองอัจฉริยะ (Thailand Smart City Charter) กฎบัตรสุขภาพ (Thailand Charter of Health) กฎบัตรการท่องเที่ยวยั่งยืน (Thailand Charter for Sus tainable Tourism) กฎบัตรอาหารปลอดภัย (Thailand Food Charter) และ กฎบัตรคมนาคมขนส่งเขียว (Thailand Green Transportation Charter)

 

ในส่วนของ กฎบัตรสุขภาพ มีเจตนารมณ์มุ่งวางแผนและออกแบบปรับปรุงฟื้นฟูทางกายภาพและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อมุ่งสู่ เมืองสุขภาพ สร้างความแข็งแกร่งด้านสาธารณสุข แพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือก อาหารปลอดภัย อาหารสุขภาพ สมุนไพร และเทคโนโลยีดิจิทัล บูรณาการการพัฒนาระบบสุขภาพกับ การท่องเที่ยวสุขภาพ การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงศรัทธา และการท่องเที่ยวเชิงการเรียนรู้

“ขณะนี้การพัฒนา โรงแรมส่งเสริมสุขภาพ ของประเทศไทยได้เกิดขึ้นแล้ว โดย สมาคมการผังเมืองไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สมาคมการส่งเสริมสุขภาพไทย สมาคมโรงแรมที่พักอันดามันและอ่าวไทย และเครือข่ายพันธมิตรกฎบัตร มีการลงนามกฎบัตรสุขภาพอันดามัน และ เปิดการฝึกอบรมผู้ประกอบการโรงแรมรีสอร์ทในพื้นที่อันดามันเพื่อก้าวสู่การเป็น Wellness Hotel ว่าต้องเตรียมพร้อมโครงสร้างด้านใดบ้าง และภาครัฐจะมีนโยบายสนับสนุนได้อย่างไร ปรากฎว่ามีโรงแรมสมัครเข้าร่วมมากถึง 120 แห่ง

ทั้งนี้ มีการศึกษาพบว่า หากผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมในพื้นที่อันดามันมีการปรับตัวไปสู่ Wellness Hotel จะยกระดับรายได้จากปี 2564 ที่คาดว่าจะมี 3,830 ล้านบาท เป็น 42,793 ล้านบาทในปี 2565 และ 50,575 ล้านบาท ในปี 2566

 

ขณะเดียวกัน ยังช่วยให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่จาก 8,200 คนในปี 2564 เป็น 30,000 คนในอีก 2 ปีข้างหน้าอีกด้วย

 

คำถามก็คือ โรงแรมส่งเสริมสุขภาพ จะให้บริการแตกต่างจากรูปแบบของโรงแรมปกติอย่างไรบ้าง? อาจารย์ ฐาปนา ระบุว่า Wellness Hotel นั้น จะมีรายละเอียดของการให้บริการมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องของ อาหารสะอาดปลอดภัย เกษตรไร้สารเคมี สปา หรือห้องฟิตเนสเท่านั้น แต่ยังสามารถเปิดบริการเชิงสุขภาพในโรงแรม เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมความงาม การประทินผิวพรรณ การทันตกรรม ฯลฯ ซึ่งมีมูลค่าทางธุรกิจสูงขึ้น และในอนาคตทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จะได้มีการปรับปรุงระเบียบและกฎหมายเพื่อส่งเสริมการเป็น Wellness Hub ของประเทศไทยต่อไป

 

นอกจากนั้น จะมีกำหนดเกณฑ์มาตรฐานในการเป็น Wellness Hotel อาทิ การออกใบอนุญาตโรงแรมส่งเสริมสุขภาพ สำหรับโรงแรมที่มีหลายสาขาจะมีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะเป็น One License ในส่วนของพนักงานจะผ่านการฝึกอบรมที่ได้รับการยอมรับจาก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และโรงแรมที่เป็น Wellness Hotel ยังต้องดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น อาคารสีเขียว อาคารประหยัดพลังงาน เป็นต้น รวมถึงต้องมีผู้ดูแลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพตลอด 24 ชั่วโมง และกำหนดระยะเวลาการเข้าพักที่เหมาะสม เป็นต้น

 

ในส่วนของการสนับสนุนด้านการเงินก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการยกระดับเป็น Wellness Hotel ไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนจะทำได้แบบ พลิกฝ่ามือ แต่จำเป็นต้องลงทุนพัฒนาทั้งองคาพยพ ไม่ว่าจะเป็นอาคาร ห้องพัก พนักงาน แพทย์ พยาบาล เครื่องมือ อุปกรณ์ และความพร้อมทางสาธารณสุขต่างๆ ซึ่งทั้งหมดต้องอาศัยเงินลงทุนก้อนใหญ่ ซึ่งอาจารย์ฐาปนา ระบุว่า ปัจจุบัน มีสถาบันการเงินรัฐอย่าง ธนาคารกรุงไทย พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการที่ผ่านการฝึกอบรมเป็น Wellness Hotel แล้ว คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี และมี บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย.ค้ำประกันอีกด้วย

 

หลักสูตรการสร้างผู้ประกอบการด้าน Wellness Hotel เป็นหนึ่งในแนวทางยกระดับธุรกิจด้านการท่องเที่ยวของประเทศ มุ่งไปสู่การพัฒนาเป็น Wellness Hub และผมเชื่อว่าจะสามารถสร้างธุรกิจ Unicorn ของคนไทยในระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ขึ้นมาได้แน่นอน อาจารย์ฐาปนากล่าว

 

หลังจากนี้ ทุกฝ่ายจะได้ยินคำว่า กฎบัตรสุขภาพ หรือ Thailand Charter oh Health และโรงแรมแบบ Wellness Hotel มากขึ้น เมื่อทางสมาคมการผังเมืองไทยร่วมกับภาคีเครือข่าย เดินหน้าพัฒนา ขยายไปสู่พื้นที่ๆมีศักยภาพการท่องเที่ยวหลักๆ เช่น พัทยา หัวหิน และเชียงใหม่ อีกด้วย โดยตั้งเป้าหมายว่าในปี 2579 ธุรกิจโรงแรมส่งเสริมสุขภาพของประเทศไทยจะเติบโตร้อยละ 10 ต่อปี และมีมูลค่าสูงถึง 8 หมื่นล้านบาท!!