อาจารย์ ภก.ชินวัจน์ แสงอังศุมาลี ภารกิจการสร้างคนรุ่นใหม่หัวใจอาสา
“ห้องเรียนขนาดใหญ่” ในการสอนนักศึกษาเภสัชศาสตร์นอกตำรา นำโดย “อาจารย์ ภก.ชินวัจน์ แสงอังศุมาลี” ผู้หลอมรวมพลังความเสียสละ จิตอาสา มหาวิทยาลัยสยาม 65 คน ช่วยผู้ป่วย Home Isolation ให้ได้ยาฟาวิพิราเวียร์
“ถ้านักศึกษากลุ่มนี้ลุกขึ้นมาทำงานจิตอาสาเพื่อสังคมได้ แล้วมหาวิทยาลัยอื่นเห็นโมเดลนี้ว่าดี จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ” Real-Inspire สัมภาษณ์พิเศษ ภก.ชินวัจน์ แสงอังศุมาลี อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ ม.สยาม ร่วมแบ่งปันประสบการณ์สำคัญย่ิงกว่าความเป็นนักวิชาการและการสอนหนังสือ…นั่นคือภารกิจการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ
Real-Inspire : เป้าหมายของการนำทีมนักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม มาเป็นเภสัชอาสาร่วมกับชมรมเภสัชชนบท
อ.ภก.ชินวัจน์ : แรกเริ่มคือนอกจากผมจะเป็นอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์แล้ว ก็ทำงานช่วยเหลือภาคประชาสังคมด้วย เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คุณนิมิตร เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ต้องการกำลังเภสัชกรอาสาที่จะมาช่วยงานที่ “พริบตาคลินิค” (ภายใต้สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี หรือ IHRI) ที่อาคารจามจุรีสแควร์ ซึ่งทำหน้าที่ในการส่งยา ฟาวิพิราเวียร์ และยาอื่นๆ ไปให้กลุ่มผู้ป่วยโควิดที่รักษาตัวเองที่บ้านหรือ Home Isolation เดิมเค้ามีเภสัชกรแค่สองคน แต่กทม.มีเคส Home Isolation ราวหมื่นคน จึงต้องการเภสัชกรมาดูคลังยาและประสานผู้ป่วย
ผมได้คุยกับเพื่อนๆเภสัชกรด้วยกัน ก็จะมีงานประจำอยู่แล้วที่โรงพยาบาล จึงลองชักชวนนิสิตนักศึกษาโดยเฉพาะในสถาบันที่ตัวเองสอนอยู่ว่าใครว่างให้ไปช่วยที่พริบตาหน่อย แล้วก็ยังมีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย ก็ประสานงานไปที่ประธานชั้นปีเค้า เค้าก็บอกว่าจะเวียนไปช่วยได้เพราะใกล้หอพักอยู่แล้ว แต่ก็มีนักศึกษาอีกกลุ่มนึงที่อยู่ต่างจังหวัด อีกกลุ่มหนึ่งผู้ปกครองเค้าลำบากใจเพราะเป็นห่วงช่วงแพร่ระบาด ดังนั้น ก็มีนักศึกษาเริ่มต้นส่วนหนึ่งไปที่พริบตาคลินิกไปช่วยจัดยาเช็คยาที่นั่น พอหลังจากนั้นประมาณหนึ่งสัปดาห์ ภก.สุภนัย ประเสริฐสุข ประธานชมรมเภสัชชนบท ก็หาอาสาสมัครที่โทรหาผู้ป่วย Home Isolation เพื่อยืนยันที่อยู่ในการจัดส่งยาและลงประวัติเบื้องต้น ผมก็เปิดรับสมัครอีกเดิมที่มีกันอยู่ 5 คน แต่ภายหลังเริ่มเพิ่มเป็น 10 คน เป็น 15 คน ชวนเพื่อนทุกคนก็มีแรงบันดาลใจคิดว่ามาช่วยไหนๆก็อยู่ต่างจังหวัด จริงๆก็ทำได้ จึงมีนักศึกษาเภสัชปี 1-5 ของมหาวิทยาลัยสยามเข้าร่วมถึง 65 คน นับเป็นจุดเริ่มต้นที่มีน้องๆ นักศึกษาร่วมเป็นเภสัชอาสาช่วยงานครั้งนี้
Real-Inspire : การจัดรูปแบบวิธีการทำงานให้กับนักศึกษาทั้ง 65 คน
อ.ภก.ชินวัจน์ : เมื่อทางทีมเภสัชอาสาได้เคสจาก สปสช.มา เช่น รับมา 500 คน จัดแบ่งให้นักศึกษาม.สยาม 200 คน ผมคิดว่าเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระเด็กบางคนติดเรียน จัดสรรให้หนึ่งคนรับผิดชอบ 5 เคส ก็ใช้ 40 คน แล้ววางระบบ Google Sheet มาช่วย เราจัดกระบวนให้น้องๆ จะได้ไม่โหลดเวลาเรียนด้วย แต่ถ้าต้องพูดคุยกันนานหรือบางคนคุยเสร็จก่อนก็จะแบ่งเบากัน ใช้เวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมงจัดการเคสทั้งหมด 200 เคส ดำเนินการไป 5 ครั้งแล้ว ครั้งละ 200 เคส สามารถแบ่งเบาภาระพี่ๆเภสัชกรมาได้มากพอสมควร
Real-Inspire : การเทรนนิ่งน้องๆ ให้มีศักยภาพรับมือกับผู้ป่วยภาวะวิกฤตทั้งร่างกาย อารมณ์ และ จิตใจ อาจารย์ทำอย่างไรครับ
อ.ภก.ชินวัจน์ : เนื่องจากนักศึกษาปี 1-2 ยังไม่ค่อยมีความรู้ด้านเภสัชเท่าไหร่ ก็ต้องมีการเทรนทักษะ บางคนกังวลว่าเราสั่งจ่ายยาผู้ป่วยหรือไม่ อันนี้เราไม่ได้ทำ เราแค่เช็คที่อยู่ รับฟังผู้ป่วย และสามคือให้เค้าแนะนำยาเบื้องต้น สรรพคุณข้อควรระวัง เช่น ฟ้าทะลายโจร ฟาวิพิราเวียร์ แต่ไม่ได้สั่งจ่ายยา เราเตรียมน้องที่ไม่ได้เรียนลึกๆ ทางเภสัช ให้เค้าคุยกับผู้ป่วยได้เบื้องต้นไม่ได้ลงลึก ซึ่งเค้าทำได้ดีเพราะคิดว่าขนาด อสม.ยังทำได้ นักศึกษาเภสัชก็ทำได้เหมือนกัน แต่เนื่องจากเวลาค่อนข้างจำกัดในการแนะนำ และน้องๆ ยังไม่ได้เรียนทักษะการสื่อสาร ซึ่งปกติจะเรียนปี 5 เราจึงไม่ได้เทรนเรื่องการสื่อสารเยอะ แต่เค้าเรียนจากข่าวสาร เห็นได้ยินจากการแชร์ในโลกโซเชียลมามาก ว่าผู้ป่วยยังเข้าไม่ถึงยา เค้าก็เข้าใจมากกว่า จริงๆมีเยอะที่โทรไปแล้วโดนตำหนิโดนว่า ตอนแรกน้องๆเค้าก็ตกใจ เคืองนิดๆ แต่คิดแล้วว่าถ้าเป็นครอบครัวเราก็ต้องรู้สึกเช่นนั้นเหมือนกัน เค้าจึงไม่ได้เป็นทุกข์หรือโกรธอะไร เค้าบอกว่าเรียนรู้จากข่าวและเรียนรู้หน้างานด้วย
Real-Inspire : กระบวนการ หรือ รูปแบบการทำงานที่เชื่อมกันราบรื่นระหว่าง นักศึกษา ผู้ป่วย Home Isolation และทีมประสานงานกลาง
อ.ภก.ชินวัจน์ : กระบวนการเชื่อมต่อเคสมาจนถึงเรา คือทางทีมเภสัชที่เป็น สสจ. สสจ.ขอนแก่น จะประสานกับ สปสช. และพริบตาคลินิกที่กทม.ก็จะลงเคสตรงนี้ประสานให้เราก่อน แล้วมาถามในกลุ่มเภสัช นพย. (โครงการ “พัฒนาผู้นำเครือข่ายในการเฝ้าระวังและจัดการปัญหาระบบยา” ) ว่าเราจะช่วยได้กี่เคส ผมจะแจ้งว่ารับได้เท่าไหร่จะมีไลน์กลุ่มเภสัชอาสากับน้องๆ 65 คน ก็จะบอกว่าคืนนี้มีเคสใครจะลงมือช่วยได้บ้างมั้ย บันทึกไปใน Google Sheet แต่บางเคสที่เค้ามีปัญหา แก้ไม่ได้ก็ต้องถามมาในไลน์กลุ่ม เช่น คุณพ่อเป็นโควิด ภรรรยาติดด้วย จะส่งต่ออย่างไร ผมก็จะแจ้งไปในเครือข่ายนพย.ให้น้องกรอกข้อมูลเพิ่มเติมมา แต่สำคัญคือเราจะไม่ให้นักศึกษารับปากว่าผู้ป่วยจะได้เตียงหรือไม่ ตรงนี้นอกขอบเขตของงาน เราให้เพียงคำแนะนำยา ประสานที่อยู่ กรณีผู้ป่วยเพิ่มเติมจะให้หน่วยงานกลางประสานงานต่อ
Real-Inspire : ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่นักศึกษาประสานงานให้ได้รับยาได้ครบหรือไม่
อ.ภก.ชินวัจน์ : ตอนแรกหน่วยงานกลางบอกว่าโทรไปแล้วให้บล็อคเบอร์ผู้ป่วย แต่เรากับนักศึกษามองว่าตรงนี้รู้สึกเหมือนทำร้ายเค้าไปหน่อย อย่างน้อยให้เค้าโทรกลับมา ถ้าไม่ไหวจริงๆค่อยบล็อคดีกว่ามั้ย มีครับส่งยาไม่ถึงประมาณ 2-3 คน บางส่วนแอดไลน์นักศึกษาว่ายามาไม่ถึง เค้าก็จะมาบอกในกล่มไลน์นพย. ซึ่งสสจ.ผู้ประสานงานส่วนกลางจะไปบอกให้สปสช.ส่งยาให้ผู้ป่วยต่อ แต่ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหายกเว้นเคสที่ Accident จริงๆ ผู้ป่วยอยู่ต่างจังหวัด ผ่านไปแค่วันเดียวแจ้งว่าทำไมยังไม่ได้ยา เช่นอยู่บุรีรัมย์เราก็ต้องใช้เวลาส่งนิดนึง แต่เคสหลักๆ เป็นกทม. เพราะติดเยอะมากเป็นหมู่ เราจะโทรคอนเฟิร์ม ทางพริบตาคลินิกเค้าให้ไรเดอร์ไปส่งยา ส่วนต่างจังหวัดบางทีชื่อเค้าทำงานอยู่กทม. แต่ไปกักตัวที่บ้านต่างจังหวัด เราก็จะแล้วแต่ว่าให้ส่งยาไปที่ไหน
Real-Inspire : ทางคณะหรือมหาวิทยาลัย ช่วยสนับสนุนการทำงานของพวกเราได้มากน้อยแค่ไหน
อ.ภก.ชินวัจน์ : มหาวิทยาลัยสยาม เรามีจิตอาสาฉีดวัคซีนที่เดอะมอลล์บางแคอยู่แล้ว แต่เดิมเราจะขอเบิกค่าใช้จ่ายค่าโทรศัพท์ให้น้องๆ จาก ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) โดย ผศ.ภญ.ดร.
นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการกพย. แต่ทางนักศึกษาก็พูดดีนะครับ บอกว่าเค้าไม่ได้ต้องการค่าตอบแทนหรือค่าโทรศัพท์ ส่วนทางเราเองก็ไม่ได้บังคับว่าห้ามรับนะ แต่เค้าบอกว่าเป็นงานจิตอาสาเค้ายินดีทำอยู่แล้ว พูดตรงๆก็คือปัจจุบันการที่นักศึกษามีจิตอาสาอย่างนี้หายากพอสมควร เราก็ค่อนข้างประหลาดใจและชื่นชมเด็กๆ เพราะทุกอย่างเกิดจากความรู้สึกนึกคิดเค้าเอง
Real-Inspire : ส่วนตัวอย่างอาจารย์เองได้อะไรจากการเสียสละนำทีมจิตอาสาครั้งนี้
อ.ภก.ชินวัจน์ : อย่างน้อย ในมุมของวิชาชีพ เราเห็นบทบาทเพื่อนๆเราในสาขาอื่นๆ เภสัชโรงพยาบาลรับเคสหนักทุกวัน เภสัชร้านยาเป็นด่านหน้าเหมือนกัน เพื่อนๆเจอผู้ป่วยโควิดเยอะพอสมควร เภสัชสสจ.ประสานเรื่องโรงพยาบาลสนาม เยี่ยมบ้าน ส่วนเภสัชสายวิชาการจริงๆเราทำหน้าที่ให้ความรู้ประชาชนผ่านสื่อ ในบทบาทความเป็นครูเราน่าจะปลูกฝังสร้างบทบาทให้ลูกศิษย์เรา สร้างเภสัชกรที่ทำเพื่อสังคม น้องๆอยู่ตรงจุดนี้แล้วมันเป็นการปลูกฝังว่า ถ้าเราจบเป็นเภสัชจะไม่ได้มองเห็นแต่กำไรแล้ว ไม่ได้มองตัวเงินเป็นหลัก จริงๆมหาวิทยาลัยเอกชนเสียค่าเทอมแพงพอสมควร แต่เมื่อคุณจบออกไปไม่ได้มุ่งหน้าเปิดร้านขายยา หรือ ไปอยู่บริษัทยาเพื่อสร้างยอดขายขึ้น หรือให้หมอสั่งยาอย่างเดียว นี่ก็คือสิ่งที่ผมได้ คือการสร้างลูกศิษย์ออกไปรับใช้สังคม คิดว่าคุ้มค่าที่ได้เสียสละตรงนี้
แล้วก็ต้องยอมรับว่าคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม เราเน้นด้านบริบาลเภสัชกรรม น้องๆตอนไปฝึกงานหลักๆ คือร้านยากับโรงพยาบาล จะไม่ได้สัมผัสผู้ป่วยอย่างนี้เพราะเป็นงานชุมชนสังคม กว่าจะปฏิบัติจริงปี 6 สถานการณ์ตอนนี้จึงเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้เค้าเรียนรู้มากขึ้นในจุดนี้ครับ
จริงๆ มีวิชาที่เป็นสร้างเสริมสุขภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค แต่การที่เราตั้งอยู่ในกทม.การลงชุมชนค่อนข้างลำบาก ไม่เหมือนต่างจังหวัดที่ลงหมู่บ้านได้ และคณะเภสัชมีเลคเชอร์มากยิ่งปีสามปีสี่ สิบวิชาต่อเทอมเรียนจันทร์ถึงเสาร์ และนักศึกษาปี 1-2 ก็ยังมีความรู้ความสามารถไม่ถึงที่จะลงพื้นที่ได้ แต่เราพยายามสอดแทรกให้เค้าได้พูดคุยกับผู้สูงอายุจะเน้นบ้านบางแคเป็นหลัก ถือเป็นจุดอ่อนของหลักสูตรเหมือนกันที่ทำให้นักศึกษาไม่สามารถลงพื้นที่ได้เหมือนต่างจังหวัด แต่อนาคตเราจะพัฒนาหลักสูตรตรงนี้เพราะคิดว่าสำคัญ
Real-Inspire : อาจารย์มองพลังบวกของ Young Generation เภสัชกรรุ่นใหม่แล้วมีความหวังมากน้อยเพียงใด
อ.ภก.ชินวัจน์ : อย่างน้อยเค้าได้ออกมาช่วยเป็นบทบาทสำคัญ การโทรหาผู้ป่วยทำให้เค้ามีความหวัง รู้ว่ามีคนเป็นห่วงเป็นใยเค้า วิชาชีพสายสุขภาพมาลงเป็นจิตอาสา ต่างจากสายสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์หรือวิศวะซึ่งเค้าลุยๆ เป็นอีกบทบาทหนึ่ง แต่สายวิทย์สุขภาพที่เค้าเรียนหนักเค้ายังมีเวลาทำจิตอาสา จัดการแบ่งเวลาเรียนกับทำกิจกรรมพวกนี้ได้ ทำให้ปลุกพลังวิทย์สุขภาพทั้งสายอื่นและสถาบันอื่นรู้สึกตัวเองมีควมสำคัญในการช่วยวิกฤตนี้มากขึ้น คิดว่าพลังเหล่านี้หลังเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลา หลัง 6 ตุลา พลังแบบนี้เลือนหายไประยะหนึ่งแล้ว ส่วนใหญ่กลายเป็นค่ายอาสาพัฒนาชนบท ทีนี้พอเกิดภาวะวิกฤตทำให้เกิดการตื่นตัวสายวิทย์สุขภาพ พวกบบรรดาเภสัชชนบท แพทย์ชนบท เค้าจะได้กำลังคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นมาจาการที่เค้ามีจิตสำนึกขึ้นมา พูดจริงๆเมื่อเทียบกับชมรมแพทย์ชนบท เภสัชชนบท เมื่อ 20-30 ปีก่อน เค้าก็เริ่มจากตรงนี้เหมือนกัน แล้วมันหายไปพักนึง ผมคิดว่าเด็กเหล่านี้กลับมาสานต่องานเพื่อสังคมได้มากขึ้น แล้วมันเป็นประเด็นที่น่าสนใจในยุคทางประวัติศาสตร์ด้วยนะ ผมยกตัวอย่างถ้ากลุ่มเด็กลุกขึ้นมาทำงานจิตอาสาเพื่อสังคม แล้วมหาวิทยาลัยอื่นเห็นโมเดลนี้ว่าดีจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสายวิทยาศาสตร์สุขภาพเลยครับ
น่าจับตามองตรงนี้เป็นพลังที่ขับเคลื่อน อันที่หนึ่งเมื่อเกิดภาวะโรคระบาดเนี่ย แน่นนอนว่าบุคลากรทางการแพทย์โดยตรงทั้ง หมอ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด สาธารณสุขชุมชนขาดแคลนแน่นอน ดังนั้น ฐานนักศึกษาก็จะเป็นขานึงที่ช่วยพยุงเค้าให้มันพ้นวิกฤตได้ครับ
Real-Inspire : ขณะนี้ยังไม่เห็นมหาวิทยาลัยอื่นๆ รวมพลังได้มากเท่ามหาวิทยาลัยสยาม
อ.ภก.ชินวัจน์ : พูดตรงๆ เด็กอยากทำมั้ยผมคิดว่าเค้าอยากทำ แต่จังหวะคือผมรู้จักกับทีมเภสัชชนบท จึงมีโอกาสที่เราสามารถประสานได้ ทำให้เด็กๆ เข้าถึงข้อมูลตรงนี้ทำให้ช่วยเหลือได้ พูดจริงๆ คือชมรมเภสัชชนบทก็ประสานกับมหาวิทยาลัยมหาสารคามด้วย ก็มีนักศึกษาจากม.สารคามอีกส่วนหนึ่ง คิดว่าเด็กทุกที่อยากมีส่วนร่วม แต่เค้าไม่รู้จะประสานงานตัวกลางอย่างไรมากกว่า
อย่างเด็ก ม.สยาม ก็มีผมเป็นผู้ประสาน ถ้ามหาวิทยาลัยอื่นมีอาจารย์ที่ดูแลกิจการนักศึกษาเค้าสนใจประเด็นนี้ก็จะเชื่อมต่อ เชื่อมร้อยกันได้ ไม่ว่าคณะแทพย์ พยาบาล เภสัช ผมคิดว่านโยบายการศึกษาของเรา ผมมีข้อเสนออย่างนึงที่ทุกคนพยายามผลักดันหลักสูตรเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย การใช้ยาอย่างสมเหตุผล และหลักสูตรสหวิชาชีพ บูรณาการสายอาชีพเข้าด้วยกัน ตอนนี้มันเหมาะนะที่จะเอานักศึกษาแพทย์ นักศึกษาทันตะ เภสัช วิศวะ พยาบาล เทคนิคการแพทย์ มาทำงานตรงนี้เป็นจิตอาสาร่วมกัน เด็กก็จะรู้จักการทำงานแบบบูรณาการ จิตอาสาแบบสหวิชาชีพด้วย
Real-Inspire : อาจารย์มีแนวคิดขยายกลุ่มจิตอาสา 65 คนออกไป โดยไม่ตีกรอบว่าเป็น คณะเภสัช ม.สยาม แต่เป็นเภสัชอาสาได้หรือไม่
อ.ภก.ชินวัจน์ : เป็นไปได้ครับ พยายามทำตรงนี้อยู่ อย่างน้อยผมได้เชื่อมกับนิสิตจุฬา นายกสโมสรนิสิต ถ้าเชื่อมร้อยก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก และส่วนนศ.เภสัชเค้ามี สหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย 19 สถาบัน จะเชื่อมให้มาทำจิตอาสาร่วมกันได้ คิดว่าเป็นแผนที่ร่วมกับ สนภท.ให้นิสิตนักศึกษามีส่วนร่วมตรงนี้มากขึ้น
Real-Inspire : ตรงนี้สำคัญมากนะครับ เพราะต่อไปแรงงานข้ามชาติในบ้านเราก็จะมากขึ้นด้วย จำเป็นต้องมีจิตอาสาเพิ่มเติม
อ.ภก.ชินวัจน์ : ใช่ครับ ผมคิดว่าปัญหาเกี่ยวกับเรื่องแรงงานต่างชาติต้องให้ความสำคัญพวกเค้านะ เพราะถ้าไม่มีพวกเค้าเราก็ขับเคลื่อนไม่ได้ อันนี้เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นความฝันของผมที่จะพานักศึกษาไปช่วยเหลือแรงงานต่างชาติเหมือนกัน พยายามประสานกับอาจารย์แหวว พันธุ์ทิพย์ สายสุนทร เหมือนกัน ที่ทำเกี่ยวกับชาติพันธุ์ ทำอย่างไรให้เภสัชมาช่วยคนเหล่านี้บ้าง แรงงานข้ามชาติที่รัฐไทยมองว่า เค้าไม่ควรมาใช้ระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ผมอยากจะทำอยู่แล้ว ในการนำนักศึกษาไปช่วยกับแรงงานเหล่านี้ เพราะหนึ่งมองในมุมของความเป็นมนุษย์ ว่าเค้าก็เป็นคนเหมือนกัน สอง เค้าเป็นคนขับเคลื่อนเศรษฐกิจในบ้านเราด้วย
อันนี้ ผมพยายามดึงนักศึกษาไปช่วยตรงนี้ ถามว่ามีหรือไม่ในช่วงโควิดที่โทรไปแล้วเจอแรงงานข้ามชาติ เด็กๆ โทรไปแล้วเจอแรงงานพม่าก็กังวลเหมือนกัน เช่นเค้าโทรไปบ้านนึงปรากฎว่าสังคมแรงงานพม่าจะอยู่เป็นสังคมใหญ่ในห้องเดียวกัน เค้าบอกว่าคุณโทรมาผมโอเค แต่พรรคพวกพี่น้องอีก 9 คนที่อยู่ในบ้านล่ะ จะทำอย่างไร ซึ่งเด็กก็กังวลแล้วว่าแรงงานต่างชาติเค้ามีปัญหาตรงนี้นะ รัฐไทยเราจะช่วยแรงงานเหล่านี้ได้อย่างไร
คนไร้บ้านก็เหมือนกัน เด็กก็เริ่มกังวล ตรงนี้ผมอยากจะเริ่มเชื่อมร้อยทั้ง Home Isolation คนไร้บ้าน และคนต่างชาติ ให้เข้าถึงยาได้มากขึ้น โดยเป็นการสอนนักศึกษาไปว่า พวกเค้าไม่ใช่บุคคลที่ควรจะทอดทิ้งนะ เราควรจะต้องนึกถึงความเป็นมนุษย์ นึกถึงสิทธิมนุษยชน การอยู่ร่วมกับการขับเคลื่อนในสังคมด้วย
“นี่เป็นความฝันของผมเลย ผมอยากจะไปต่อตรงนี้” …. คำพูดนี้คือบทสรุปสำคัญของนักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสยาม อาจารย์ผู้มีจิตสาธารณะอย่าง ภก.ชินวัจน์ แสงอังศุมาลี ซึ่งกำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับสังคมคนรุ่นใหม่ ท่ามกลางมหันตภัยโควิด-19 และโรคอุบัติใหม่ๆ ที่อาจยังอยู่กับคนไทยไปอีกนาน