โรสนี นูรฟารีดา

ภาพถ่าย-ธาตรี แสงมีอานุภาพ

แม้บนถนนนักเขียน โรสนี นูรฟารีดา จะได้พบกับพื้นที่แห่งความฝันที่ค้นหามานาน เมื่อผลงาน ‘ไกลกว่ารั้วบ้านของเรา’ เข้าถึงรอบสุดท้ายรางวัลซีไรท์ปีล่าสุด

ขณะที่ในโลกความเป็นจริง บทกวีของเธอ ยังคงพร่ำบอกสังคมนี้ว่า มีผู้คนอีกจำนวนมาก ‘Lost in HOMELAND’ ….พวกเขาหลงทางในประเทศของตัวเอง

บทกวีชิ้นนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจ ให้สารคดีสั้นของ ‘ไรอัน แอนเดอร์สัน’ ช่างภาพอิสระชาวเยอรมัน-อเมริกัน สะท้อนภาพวิถีของชีวิตเล็กๆ และความหวังอันพร่ามัว ท่ามกลางทะเลเวิ้งว้างเป็นฉากหลัง ของบรรดา ‘ผู้อพยพ’ บนเรือที่โคลงเคลง

…และโรสนี ได้ขับขานลำนำนี้ออกมา อย่างสะเทือนใจ!

“ไม่ใช่กองเรือของเจิ้งเหอ

ไม่ใช่กองเรือนักล่าอาณานิคม

เป็นแค่คนหลงทาง

เรือลำเล็กไร้เสากระโดง

ไม่มีใครรับรองสัญชาติ

ล่องไปในทะเลสาบ

ไม่มีคลื่น

ไม่มีดอกบัวหลวง

ไม่มีฝูงนกปากห่างอพยพหนีหนาว

มีแต่คนอพยพไร้จุดหมาย

ไม่มีแสงแดด

รอยต่อวันคืนที่บอกไม่ได้ว่าเช้าตรู่หรือย่ำค่ำ

เห็นตัวเองในลำเรือ

ล่องไปไม่รู้ทิศ

คล้ายว่าจะหลงทาง

หลงทางในประเทศของตัวเอง

หลงประเทศในทางใคร.”

จากบทกวีชื่อ ‘หลงทางในประเทศของตัวเอง’

โรสนี นูรฟารีดา

ภาพถ่าย-ธาตรี แสงมีอานุภาพ

เช่นเดียวกับกวีอีกหลายๆ ชิ้น ในหนังสือ ‘ไกลกว่ารั้วบ้านของเรา’ ซึ่งเธอรวมผลงานเขียนช่วงปี 2556-2558 เอาไว้อย่างมีเอกภาพ ตอกย้ำถึงอารมณ์ความรู้สึกสั่นไหว โหยหา อึดอัด กับสภาพแวดล้อมของสังคมไทย และปรากฎการณ์ความเป็นไป ในโลกใบนี้ ด้วยวลีที่อ่อนโยน คลี่คลาย และครองกลิ่นอายของความเป็นศาสนาอิสลาม 

กวีสาวผู้มี HOMELAND อยู่ในจังหวัดสงขลา ยังทำหน้าที่สื่อมวลชน ผ่านท่วงทำนองของนักเขียน เพราะเธอกล้าที่จะยกมือตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์

“เพื่อนจากอินโดนีเซียส่งข้อความมาขอโทษ

ควันไฟจากบ้านเขาอาจลอยมารบกวนพวกเรา

เพื่อนจากซีเรียส่งข้อความมาขอโทษ

ฝุ่นและควันจากระเบิดอาจปลิวมาถึงที่นี่

เพื่อนจากปาเลสไตน์ส่งข้อความมาขอโทษ

ภาพร่างกายฉีกขาดเลือดอาบ

อาจทำให้ใครหลายคนฝันร้าย

……..

เพื่อนจากปัตตานีส่งขนมมาแทนคำขอโทษ

พวกเขาพยายามใช้ชีวิตให้ปกติที่สุด

แม้ว่าเสียงตูมตามและเหตุไฟดับ จะทำให้ไม่กล้าออกจากบ้าน

เราเขียนคำขอโทษส่งกลับไปหาเพื่อน

เสียงสวดมนต์ของเราไม่ดังพอจะไปไกลถึงที่นั่น

และบางทีเสียงบ่นด่าของเราก็ดังเกินไป

ไกลกว่ารั้วบ้านของเราเอง”

จากบทกวีชื่อ ‘ไกลกว่ารั้วบ้านของเรา’

โรสนี เล่าให้ฟังว่า หนังสือเล่มนี้คล้าย บันทึกเหตุการณ์ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต บางเรื่องสะท้อนชีวิตการทำงานนักข่าว แต่บางด้านบอกกล่าวต่อสาธารณะไม่ได้ เธอก็ใช้เฟสบุ๊คเป็นพื้นที่ระบาย ‘ภาวะข้างในจิตใจ’ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์โลก สังคม ชายแดนใต้ ศาสนา ชะตากรรมและผลลัพท์ของแต่ละคน ที่เกิดขึ้นแตกดับ ต่างกันอย่างน่าฉงน

“ที่แห่งนี้ธงชาติขาดตลาด

ทั้งหมดถูกใช้คลุมร่างคนตาย

พ่อค้าเดินทางไปยังที่เกิดเหตุ

เปิดกระเป๋ารับกำไรบนการสูญเสีย

มีบางคนไปทำงานเก็บเงินแต่งงาน

เงินก้อนใหญ่ได้มาพร้อมธงชาติ

ทิ้งความเดียวดายในบางพื้นที่

ทิ้งชื่อไว้ในดอกลั่นทมสีขาว

มีงานรื่นเริงไหมในหลุมฝังศพ?”

จากบทกวีชื่อ ‘เจ้าสาวในกุโบร์’

โรสนี นูรฟารีดา

ภาพถ่าย-อิสรภาพ ชุมรักษา

ตัวตนของโรสนี ได้รับการหล่อหลอมจาก ชุมชนที่เธออาศัยอยู่ ผู้คนล้วนมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งไทยพุทธ อิสลาม และจีน แม้จะมีพื้นเพ ภาษา และรากเหง้ามาจากคนละทิศละทาง แต่ผูกพันกันด้วยทัศนคติที่งดงาม เรียนรู้ และแบ่งปันน้ำใจ

“บ้านของเราเป็นชาวมุสลิม กลางซอยเป็นชุมชนพุทธ ปากซอยเป็นมัสยิด เลยไปก็เป็นวัด เมื่อถึงเวลาละหมาด เพื่อนๆ ชาวพุทธก็จะรับรู้ได้ เวลามีคนตาย ถ้าที่บ้านรู้จักกัน เราก็ไปงานศพที่วัด”

จากเด็กน้อย ผู้รักการเขียนไดอารี่เป็นชีวิต ต้องจากบ้านไปไกล เพื่อเรียนต่อ ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุดนี้เองคือ ‘ครึ่งทางความฝัน’ สร้างโลกทัศน์ใหม่ ให้เธอเติบโตอย่างกล้าแกร่ง เปลี่ยนแปลงโลกสมมติให้กลายเป็นจริง

หนึ่งในเส้นบางๆ ที่บ่งบอกราวกับว่า เจ้าหญิงได้สวมมงกุฎ เจ้าดักแด้ตัวน้อยๆ สดใส ได้กลายเป็นผีเสื้อ ออกบินสู่ท้องฟ้ากว้าง นั่นคือการที่โรสนีตัดสินใจ! สวม ‘ฮิญาบ’ หรือผ้าคลุมผมของสตรีที่นับถือศาสนาอิสลาม

แม้ต้องสวมใส่สิ่งที่ผิดแผก แตกต่าง ไปจากเพื่อนๆ แต่ลึกลงสู่หัวใจเปิดกว้างที่จะยอมรับทุกๆ ความรู้สึก ทุกๆ สายตา ซึ่งโถมถาเข้ามาใส่

นักเขียนจากแดนใต้ บอกว่า การตัดสินใจครั้งนั้น เกิดจากความรู้สึกและประสบการณ์ ที่เธอต้องพบกับความยากลำบากใจ เมื่อต้องบอกรุ่นพี่ซึ่งกำลังรับน้องปี 1 อยู่ว่า ตนเองต้องขอออกไปทำ ‘ละหมาด’

รวมไปถึงเรื่องสำคัญอย่าง ‘อาหาร’ ทั้งๆ ที่มีการจัดให้แบบไม่ใส่เนื้อหมูแล้ว แต่เธอก็ต้องขอปฏิเสธอีกครั้ง เพราะไม่ใช่อาหาร ‘ฮาลาล’ ที่จะมีความเคร่งครัดมากกว่า

นี่เอง…สะท้อนว่า คนรอบข้างอาจจะยังไม่เข้าใจหลักศาสนาของเราเพียงพอ เช่นเดียวกับตัวเอง ที่ไม่ได้สื่อสารให้คนเหล่านั้นเข้าใจอย่างกระจ่างชัด

ดังนั้น สิ่งแรกที่ โรสนี เริ่มต้นปลี่ยนแปลงก็คือ การแต่งกาย เธอจึงหันมาสวมใส่ ‘ฮิญาบ’ เพื่อแสดงให้เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ เห็นว่า เคร่งครัดกับหลักศาสนาอิสลามเพียงใด

โรสนี นูรฟารีดา

ภาพถ่าย-อิสรภาพ ชุมรักษา

“เป็นการแสดงให้คนอื่นเห็นว่า คนใส่ฮิญาบ ไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างหรือพิเศษกว่าคนทั่วไป เหมือนคนอื่นๆ ที่เลือกซื้อเสื้อผ้าตัวเอง มันไม่ได้มีผลอะไรกับสมอง เรายังทำงานได้เหมือนเดิม พูดคุยกับคนอื่นได้เหมือนเดิม และเรารู้สึกเสถียรกับความเป็นเรา พอใจ ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นปมด้อย กับการที่เราเป็นมุสลิม นี่คือความภูมิใจ ที่ทุกอย่างประกอบสร้างมาเป็นเรา และไม่ว่าจะเป็นอย่างไร เราจะไม่เสียความมั่นใจนี้ไป

เฉกเช่นเดียวกับบทกวีที่ไร้ฉันทลักษณ์ของเธอจำนวนมาก ได้สอดแทรกสัญลักษณ์ ความเชื่อ ความรัก ความศรัทธา วิถีแห่งศาสนา เข้ามาระหว่างบรรทัดอย่างชัดเจน และก็ไม่ได้ทำให้คนอ่าน รู้สึกแปลกปร่าแต่ประการใด

“หัวใจดวงเดียวดวงเดิมที่รินน้ำรดราก

เป็นดวงเดียวกันที่บดขยี้อกไม้เต่งตูมในวันแรกผลิ

หัวใจดวงเดียวดวงเดิมที่เคยอ้าแขนรอรับฝูงผีเสื้อ

เป็นดวงเดียวกันที่กักขังปีกเล็กๆ ไว้ในกล่องพลาสติก

หัวใจดวงที่กลืนกินหัวใจดวงอื่น

เป็นดวงเดิมดวงเดียวกันที่เคยสะทกสะท้านสั่นไหว

ขณะที่เห็นความตายกวักมือเรียก

ไม่ใช่เสียงกระซิบล่อลวงของชัยฏอนในนรกขุมไหน

ความชั่วร้ายนอนหลับอยู่ในหัวใจดวงเล็กๆ

ทุกดวง.”

จากบทกวี ‘ไม่ใช่เสียกระซิบของชัยฏอน’

แน่นอน ถ้ามองให้ ไกลกว่ารั้วบ้านของประเทศไทย ขณะนี้ทั่วโลก กำลังเผชิญหน้ากับ ‘ภาวะสงคราม’ และ ‘ความเกลียดชัง’ เพียงเพราะเชื้อชาติ ศาสนา และสีผิว ที่ต่างกัน ถึงจะไม่ใช่การหยิบปืนผาหน้าไม้ออกมาต่อสู้ แต่สงครามในจิตใจ ก็ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

โรสนี มองว่า ความสูญเสียย่อมไม่มีศาสนา ทุกคนสะเทือนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ชนชั้นผู้นำ สั่งการ แต่ไม่เคยต้องมาแบกรับความเสียใจ ทั้งในซีเรีย ปาเลสไตน์ เกิดสงครามมาหลายปี แต่คนได้ประโยชน์คือพ่อค้าอาวุธ

ในส่วนของนโยบายของ โดนัลด์ ทรัมป์ แบนชาวมุสลิมเข้าประเทศ หรือสร้างกำแพงกั้นชายแดนนั้น เธอเชื่อว่า นี่คือเกมการเมือง ที่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์มหาศาล มีทั้งคนได้และมีคนเสีย”

“มีเจ้าสาวไหมในกุโบร์

มีของชำร่วยไหมในหลุมฝังศพ?”

ปัจจุบัน โรสนี ยังมีผลงานบทกวี ที่บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ผ่านทาง หน้าเฟสบุ๊กอยู่สม่ำเสมอ พร้อมบอกด้วยว่า การที่หนังสือได้เข้ารอบ 6 เล่มสุดท้าย วรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน จุดประกายให้บทกวีทุกชิ้นของเธอ มีคนติดตามอ่านมากขึ้น

ส่วนสารคดีสั้น ที่โรสนีมีส่วนร่วมมากมายกับ ไรอัน แอนเดอร์สัน ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีทาง Youtube ในโครงการของ OXLAEY MEDIA มีการนำไปฉายในเทศกาลหนังสั้นมาทั้งในไทยและต่างประเทศ

ทุกวันนี้…เธอยังคงใช้ชีวิตอยู่ในจังหวัดสงขลา ท่ามกลาง พหุวัฒนธรรม ที่ไม่มีกำแพงกั้น เฝ้ามองปัญหาและชะตากรรมของผู้คน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ถ่ายทอดเรื่องใกล้ๆ ตัว และไกลกว่ารั้วบ้านของเรา ก่อนที่จะมาบอกเล่าให้ทุกคนฟัง…ผ่านบทกวีมีชีวิต

โรสนี นูรฟารีดา

ภาพถ่าย-อิสรภาพ ชุมรักษา

……………………………………………………………..