[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Image_Widget”][/siteorigin_widget]

หนึ่งในสาเหตุของการเกิดฝุ่นมลพิษ มาจากการจุดธูปในช่วงเทศกาลต่างๆ โดยเฉพาะในย่านที่มีสถานที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ทำให้ผู้คนมาสักการะไม่ขาด เช่น ย่านเยาวราช ซึ่งจากการลงพื้นที่ต่อเนื่องของนักวิจัยมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นระยะเวลา 2 ปี พบว่าค่าฝุ่น PM 2.5 ในจุดที่เป็นชุมชน ย่านที่ติดถนน และศาลเจ้า มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญ

ผศ.ดร.รัฐพล อ้นแฉ่ง อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นักวิจัยโครงการวิจัยการพัฒนาทุนทางศิลปะและวัฒนธรรมย่านเยาวราช ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เล่าว่า มีการวัดค่าฝุ่น PM 2.5 ได้ 100 กว่าๆ ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร บางวันขึ้นไป 150-200 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร สูงกว่าค่าเฉลี่ยอย่างน่าวิตก

จากการติดตามพบว่าพฤติกรรมผู้คนที่มาไหว้เจ้า ทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศที่มากขึ้น โดยทั่วไปผู้สักการะ 1 คน ใช้ธูป 3 ดอก ต่อ 1 กระถางธูป และปริมาณของเครื่องสักการะชิ้นอื่น ๆ มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นด้วยเช่นกัน เนื่องจากเครื่องสักการะ 1 ชุดใช้กับเทพเจ้า 1 องค์ ย่อมทำให้จำนวนการใช้เทียน และเครื่องกระดาษมากตามไปด้วย

ผศ.ดร.รัฐพล อ้นแฉ่ง

ผศ.ดร.รัฐพล อ้นแฉ่ง

โดยเฉพาะเทศกาลตรุษจีน มีผู้คนรวมทั้งนักท่องเที่ยวจำนวนกว่า 5,000 คนต่อวันมาที่นี่ หากพิจารณาร่วมกับจำนวนกระถางธูปจำนวน 5 กระถาง ที่ถือเป็นมาตราฐานของศาลเจ้าส่วนใหญ่ ทำให้ปริมาณการใช้เครื่องสักการะเฉลี่ยต่อ 1 คนเท่ากับ ธูป 15 ดอก เทียน 1 เล่ม และเครื่องกระดาษ 1 ชุด ดังนั้นภายใน 1 วันปริมาณการใช้ธูปทั้งหมด จะตกราวๆ 75,000 ดอก และในแต่ละปีนักท่องเที่ยวมากขึ้นทุกปี ทำให้การจุดธูป และเผากระดาษมากขึ้นตาม เกิดฝุ่นควันและเศษผงเพิ่มตามไปด้วย

นักวิจัยจึงเสนอแนวทางในการเปลี่ยนกระบวนการผลิตธูป เพื่อลดปัญหาฝุ่นมลพิษ โดยรศ.ดร.ศุภกิจ สุทธิเรืองวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาการและวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบุเราขอเสนอสูตรการพัฒนาธูปจากวัสดุทางเลือก เพื่อลดปริมาณควันพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของธูปไหว้เจ้าที่ส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบคุณภาพต่ำ ทำให้เกิดกระบวนการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์หรือเกิดสารพิษตกค้าง ซึ่งในธูปมีส่วนผสมของผงขี้เลื่อย หัวน้ำมันหอม ที่ก่อให้เกิดควันในปริมาณสูงและเป็นอันตรายต่อปอดและดวงตา

ดร.ศุภกิจ สุทธิเรืองวงศ์

ดร.ศุภกิจ สุทธิเรืองวงศ์

จึงเสนอให้ใช้วัสดุหินปูนเพิ่มเข้าไปในกระบวนการผลิตธูปในสัดส่วนที่สูงขึ้น และลดสัดส่วนเนื้อไม้ในก้านธูป เพิ่มวัสดุให้ความร้อนที่ควันน้อย เขม่าลดลง เพื่อให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ ไม่ทิ้งกากเถ้า ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ

“ปัจจุบัน เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่าง ๆ ทำให้เครื่องสักการะบูชาบางประเภทมีคุณภาพที่สูง และลดปริมาณการก่อมลพิษทางอากาศได้มากกว่าเครื่องสักการะทั่วไป แต่ต้นทุนของการผลิตมีราคาที่แพง ทำให้ยังไม่เป็นที่นิยมต่อผู้มาสักการะ ไม่สามารถยึดโยงกับกลุ่มผู้บริโภคและชุมชนภายในย่านเยาวราชได้ แต่สูตรต้นแบบที่ทีมวิจัยของเราเสนอ ไม่ได้แพง หรือซับซ้อน สามารถผลิตใช้ได้เลย”

โดยเราหวังว่าการศึกษาและข้อเสนอข้างต้น จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ โดยเริ่มจากย่านเยาวราชก่อนขยายวงไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งประเทศต่อไป เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในภาพรวม

ผศ.ดร.รัฐพล อ้นแฉ่ง