[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Image_Widget”][/siteorigin_widget]

โลกได้เดินทางมาถึง ทางแยก ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ เปราะบาง และดูเหมือนว่า ทิศทาง จะแตกต่างจากเมื่อหลายทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งระเบียบโลกถูกจัดวางโดยวิถีตะวันตกอย่างชัดเจน…ขณะที่ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว

ดังเช่นที่ .ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองปี 2020 ว่า โลกยิ่งทวีความซับซ้อนมากขึ้นใน 3 มิติ คือ ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมเป็นโลกใหม่ที่มีพลวัตสูง เกิดความไม่แน่นอน ความเสี่ยง และเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว

“ผมคิดว่าความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจคือความขัดแย้งทางด้านยุทธศาสตร์ หรือ Strategic Competition จะมีหลากหลายมิติเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นประเทศไทยของเรา จำเป็นต้องติดตามศึกษาจะรอช้าไม่ได้”

แนวโน้มที่เกิดขึ้นมี 2 ด้านสำคัญคือ 1. เรื่อง Transition of Power การเปลี่ยนผ่านของอำนาจ จากเดิมอยู่ฝั่งตะวันตกไม่ว่าสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป แต่ปัจจุบันดูเหมือนอำนาจจะเคลื่อนย้ายมาสู่เอเชียตะวันออกมากขึ้น ไม่ว่าจีน ญี่ปุ่น อินเดีย ล้วนมีบทบาทสำคัญ

และ 2. เรื่อง Diffusion of Power การกระจัดกระจายของอำนาจ จากที่เคยรวมตัวอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำ หรือ Elite ปัจจุบันการปฏิวัติเกิดขึ้นหลายแห่งบนโลกใบนี้ เช่น ในแอฟริกาเหนือซึ่งผู้คนออกมาเป็นจำนวนมากจาก โซเชียลมีเดีย ช่วยทำให้ประชาชนมีบทบาททางด้านการเมือง หรือล่าสุดเหตุการณ์ประท้วงใหญ่ในฮ่องกงก็ตาม

“นี่คืออำนาจที่กระจัดกระจายจากชนชั้นนำมาสู่ชนชั้นล่าง สู่ประชาชนทั่วๆ ไปมากขึ้น เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ผมคิดว่า มี Implication กระทบต่อเศรษฐกิจการเมืองโลก ที่เราต้องติดตามทำความเข้าใจศึกษาอย่างลึกซึ้งด้วยเหตุผลและด้วยหลักฐาน”

แน่นอน การผงาดขึ้นมาของจีนแผ่นดินใหญ่สั่นสะเทือนระเบียบโลกเดิมซึ่งตะวันตก เช่น อังกฤษ อเมริกา สร้างกลไกผ่านองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง ซึ่ง ศ.ดร.จุลชีพ เรียกว่า Anglo-American World Order ไม่ว่าจะเป็นในด้านการค้าเสรี อาทิ แกตต์ ดับบลิวทีโอ หรือด้านระเบียบการเงินโลก อย่างไอเอ็มเอฟ เวิลด์แบงก์ หรือทางด้านการเมืองก็มี องค์การสหประชาชาติ พยายามมีบทบาทแก้ไขความขัดแย้งต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีระเบียบใหม่โลกขึ้นมา คู่ขนาน ไปกับระเบียบโลกของตะวันตกแล้ว เรียกว่า China – Centric World Order หรือ ระเบียบโลกแบบที่จีนเป็นผู้ริเริ่มสำคัญ อาทิ เส้นทางแพรไหมตะวันตกและทางทะเล (BRI : Belt and Road Initiative) เชื่อมโยงโครงข่ายกับประเทศต่างๆ ทั้งในเอเชีย อาฟริกา และยุโรป รวมถึงการตั้ง ธนาคารพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเซีย หรือ AIIB ที่จีนเป็นผู้สนับสนุนหลัก

ปัจจุบันไม่ใช่เพียงแค่ชาติตะวันตกอีกแล้วที่มีระเบียบโลกใหม่ ซึ่งประชาชนหรือประเทศต่างๆ ให้การยอมรับ แต่มีคู่แข่งคือจีน ที่มี China – Centric World Order ขึ้นมา

ในหนังสือ โลกในศตวรรษที่ 21 กรอบการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งได้รับ รางวัลมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย หรือ TTF AWARD ประเภทผลงานทางวิชาการดีเด่น สาขาสังคมศาสตร์ ประจำปี พ.ศ.2557 ของ ศ.ดร.จุลชีพ วิเคราะห์ถึงแนวโน้มของโลก (Global Trend) และการบริหารจัดการอภิบาลโลก (Global Governance) ไว้อย่างน่าสนใจ

โลกในศวรรษที่ 21กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง ที่อาจทำให้โลกรวมตัวกันมากขึ้น (Integration) แต่ในขณะเดียวกันก็อาจทำให้โลกแตกแยก (Fragmentation) เป็นการยากที่จะคาดคะเนแนวโน้มของโลกอย่างชัดเจนแน่นอน

หากพิจารณา มิติยุทธศาสตร์และการทหาร (Strategic/Military) ศ.ดร.จุลชีพ เชื่อว่า อีก 10-20 ปีข้างหน้า อเมริกากำลังเผชิญกับคู่แข่งคือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจมาตลอด 35 ปี ทุ่มเงินพัฒนากำลังทหารและยุทโธปกรณ์ให้ทันสมัย คาดว่าในปี 2030 จีนน่าจะมีจำนวนเรือบรรทุกเครื่องบินใกล้เคียงกับสหรัฐ

การเปลี่ยนผ่านของอำนาจครั้งนี้อาจนำไปสู่ความขัดแย้งและสงครามเพราะจีนมิได้มีอุดมการณ์หรือค่านิยมที่สอดคล้องกับสหรัฐ อีกทั้งสหรัฐคงไม่สามารถถดถอยทางอำนาจยอมมาเป็นหมายเลข 2 ของโลกได้ อย่างไรก็ดี การพึ่งพาซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจอย่างซับซ้อน (Complex Interdependence) อาจช่วยยับยั้งไม่ให้มีการใช้กำลังต่อกัน ความสัมพันธ์ของสองชาติมหาอำนาจมีแนวโน้มจะมีลักษณะ การแข่งขันแบบร่วมมือ(Cooperative Competition)

ส่วน มิติด้านการเมือง (Political) จะเป็นแบบทวิภพ (Bi-Polars) คือสองกลุ่มหรือสองขั้วที่มีความเห็นและจุดยืนทางการเมืองแตกต่างกัน ได้แก่ กลุ่มประเทศตะวันตก (The West) และกลุ่มประเทศอื่นๆ ที่เหลือ (The Rest) โดยแนวโน้มของกลุ่มประเทศในซีกโลกใต้กำลังทะยานขึ้น (Rising of Global South) โดยเฉพาะบราซิลในทวีปอเมริกาใต้ แอฟริกาใต้ในทวีปแอฟริกา อินเดียในทวีปเอเซีย ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศ BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) มีอำนาจต่อรองทางการเมืองเพิ่มมากขึ้นบนเวทีพหุภาคี 

กลุ่มประเทศอื่นๆ รวมทั้งประเทศกำลังพัฒนาในซีกโลกใต้ ซึ่งเคยเป็นเบี้ยล่าง ถูกบังคับให้ยอมรับค่านิยม กติกา นโยบายต่างๆ ที่กำหนดโดยกลุ่มประเทศตะวันตก กำลังพลิกกระดานการเมืองโลก

มิติทางเศรษฐกิจ (Economic) ศ.ดร.จุลชีพ มองอนาคตอาจพัฒนาไปสู่ จตุรภพ (Quadri-polars) ประกอบด้วยกลุ่มอเมริกา กลุ่มยุโรป กลุ่มเอเชียตะวันออก และกลุ่มประเทศมุสลิม ขณะที่ในช่วงกลางของศวรรษที่ 21 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะถูกขับเคลื่อนในระยะยาวโดย เบญจภพ (Penta-polars) ประกอบด้วย 5 กลุ่ม ซึ่งจะเพิ่มกลุ่มประเทศแอฟริกาขึ้นมา ทำให้กระดานเศรษฐกิจโลก พัฒนาไปสู่ทิศทางของ ความสัมพันธ์แบบพหุภาคีที่ซับซ้อน

สิ่งกำลังจะเกิดในปี 2020 แสดงให้เห็นชัดเจนว่า โลกในปัจจุบันและอนาคตทวีความเข้มข้นมากขึ้นความขัดแย้งในบางเรื่องอาจนำไปสู่ ความตึงเครียดเช่นประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน รวมถึงความขัดแย้งเรื่องเทคโนโลยี สภาวะอากาศ สภาพแวดล้อม ลัทธิความเชื่อ เชื้อชาติ ศาสนา การรับผู้อพยพ ฯลฯ เรียกว่าทุกๆ มิติของการปฏิสัมพันธ์ มีโอกาสที่จะเกิดรอยแยก

ในหนังสือ โลกในศตวรรษที่ 21 กรอบการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระบุว่า แนวทางใหม่สำหรับศตวรรษที่ 21 เน้นสร้างความร่วมมือแบบ องค์การเหนือชาติ (Supra National Organization) แต่อาจยังไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐ-ชาติอื่นๆ เร็วนัก เนื่องจากความรู้สึกของการเป็น ชุมชนโลก (Global Community) ยังไม่กระจายไปทั่วและมีความหวงแหนในอธิปไตยของรัฐสูงมาก

ดังนั้น อนาคตต้องใช้รูปแบบผสมทั้ง 2 วิธี โดยวิธีแรกซึ่งเป็นชุดกติกา กฎเกณฑ์ กฎหมาย ระบอบและองค์การระหว่างประเทศ และวิธีที่สอง สร้างองค์กรเหนือชาติเพื่อฉันทามติร่วมมือแก้ไขปัญหาต่างๆ ของโลก เพื่อให้โลกในศตวรรษที่ 21 เป็นโลกที่น่าอยู่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Environmental Friendly) อยู่ร่วมกันอย่างสันติ (Peaceful Coexistence) ร่วมมือร่วมใจแบบพหุภาคีในการแก้ปัญหา (Multilateral Cooperation) เพื่ออนาคตของมนุษยชาติรุ่นต่อๆ ไป

นี่คือบทสรุปและมุมมองที่ตกผลึกโดย ศ.ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ เจ้าของ รางวัล TTF AWARD จากหนังสือ โลกในศตวรรษที่ 21 กรอบการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งควรค่าแก่การศึกษาเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์โลกใหม่ ที่ไม่มีวันเหมือนเดิมได้อีกต่อไป

หมายเหตุ : รางวัลมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย หรือ TTF AWARD ตั้งขึ้นเพื่อประกาศเกียรติคุณผลงานทางวิชาการดีเด่นในสาขาวิชาต่างๆ สนับสนุนนักวิชาการไทยให้สร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ที่ทรงคุณค่า เท่าทันยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและเอื้อประโยชน์ทางภูมิปัญญาแก่สังคมไทยให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน การดำเนินการรางวัล TTF AWARD เกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย มีนโยบายในการคัดเลือกผลงานทางวิชาการดีเด่นเข้ารับรางวัลเป็นประจำทุกปี โดยในปี 2563 นี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อประกาศผลและมอบรางวัลให้ต่อไป