องค์การ ‘ยูเนสโก’ ขึ้นทะเบียนเมือง ‘หลวงพระบาง’ เป็นมรดกโลกชิ้นสำคัญของสปป. ลาว มาตั้งแต่ปี 2538 เชิดชูความโดดเด่นทางด้านศิลปวัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานกันได้อย่างลงตัวกับวิถีชีวิตผู้คน

ตลอด 25 ปีที่ได้รับการยกย่องจากสหประชาชาติอดีตเมืองหลวงเก่าแห่ง ราชอาณาจักรล้านช้างได้กลายมาเป็นที่สุดของ Destination อันเปี่ยมล้นมนต์เสน่ห์ จิตรกรรมฝาผนัง วัดวาอารามทรงคุณค่า ยากยิ่งนักจะหาที่ใดเสมอเหมือน 

การเดินทางไปเมืองหลวงพระบางทุกวันนี้ ช่างสะดวกและง่ายดายเพราะมีสนามบินนานาชาติไว้รองรับผู้คนจากทุกมุมโลก แม้จะไม่ใหญ่โตอลังการหรือหรูหราเหมือนเมืองใหญ่ๆ แต่ก็ถือว่าพอดิบพอดีกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมเยือนอย่างไม่ขาดสาย

หลวงพระบางอดีตนั้นมีความสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเคยเป็นเมืองเอกของราชอาณาจักรล้านช้างเมื่อเกือบพันปีที่ผ่านมา ในยุคที่สปป. ลาวเริ่มก่อร่างสร้างประเทศ มีปฐมบรมกษัตริย์ปกครอง เรียกขานนครแห่งนี้ว่า ‘เชียงทอง’ หมายถึงเมืองแห่งทอง

กระทั่งหลายร้อยปีต่อมาเมื่อมีการสถาปนาอาณาจักรแห่งนี้ขึ้นมาใหม่หลังการรบพุ่งกันภายในหลายครั้งหลายครา การสร้างบ้านแปงเมืองต้องมีหัวใจหลักคือพระพุทธศาสนา กษัตริย์สปป.ลาวในขณะนั้นจึงให้อัญเชิญ ‘พระบาง’ มาจากเจ้าเมืองลังกา 

พระบางคือพระพุทธรูปซึ่งมีพระบรมสารีริกธาตุแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในองค์พระ 5 ชิ้น จนได้รับการเชิดชูบูชาถึงความศักดิ์สิทธิ์ ราชาจึงขอให้นำมาประดิษฐานคู่บ้านคู่เมืองที่สปป.ลาว และนับตั้งแต่นั้นมาเมืองเชียงทองจึงมีชื่อเรียกใหม่ว่า ‘เมืองหลวงพระบาง’

พื้นที่สำหรับผู้โหยหาจิตวิญญาณอันเก่าแก่

การเดินทอดน่อง-ท่องเที่ยวในหลวงพระบาง น่าจะเป็นวิธีการที่ชวนให้ทุกคนหลงใหลได้มากที่สุด 

เพราะบริเวณตัวเมืองเก่าๆ เล็กๆ ไม่กี่ตารางกิโลเมตร กลับมีสถานที่ให้แวะชมมากมายโดยเฉพาะใครที่รักชอบบ้านเรือนซึ่งมีกลิ่นอายโบร่ำโบราณสถานที่ล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ ทรัพย์สมบัติ วัดเก่าแก่ที่ได้รับการอนุรักษ์อย่างดี และตลาดท้องถิ่นซึ่งชาวลาวพื้นบ้านนิยมมาซื้ออาหารการกินในยามเช้า 

ทุกอิริยาบทของเด็กน้อย ผู้เฒ่า ผู้แก่ และคนหนุ่มสาว ยังคงไว้ซึ่งเสน่ห์ทางวัฒนธรรม เช่น การนุ่งผ้าซิ่น ถูกถักทอลวดลายอย่างสวยงาม ใส่แล้วรู้สึกราวกับสวมชุดประจำชาติ ดั่งอาภรณ์ประจำถิ่น กลิ่นอายความภาคภูมิใจ

นิยามของท้องถนนในเมืองหลวงพระบาง จึงผสมกลมกลืนระหว่างจิตวิญญาณและแหล่งท่องเที่ยว ไม่ได้แยกออกจากกันด้วยเงื่อนไขทางธุรกิจ ‘เกสต์เฮาส์’ บางแห่งสามารถตั้งอยู่หน้าโบราณสถานหลายร้อยปีได้อย่างไม่ขัดเขินไม่ทำลายทัศนียภาพ 

บ้านของผู้คนก็แนบแน่นอยู่รายล้อมพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ ริมทาง และตรอก ซอก ซอยต่างๆ รู้สึกถึงอิทธิพลจากเจ้าอาณานิคม ฝรั่งเศส 

บ้านไม้ธรรมดาและตึกเก่าๆ ที่ผ่านการออกแบบสไตล์โคโลเนียล ประตูบานเฟี้ยม หน้าต่างบานเกล็ด ปูนปั้น และกระจกใสที่มองออกมาชื่นชมทัศนียภาพได้แบบพาโนรามา แม้องค์ประกอบเหล่านี้ จะผ่านแดดฝนและลมหนาวนานนับร้อยปี แต่ก็ได้รับการดูแลรักษาอย่างดี ก็ทำให้สภาพที่พักอาศัยยังคงความสวยงามมาถึงปัจจุบัน เหมือนดังเราได้เดินทางหลงเข้าไปในภวังค์ที่ย้อนเวลานับร้อยปี

เมื่อเป็นพื้นที่มรดกโลกแล้ว หลวงพระบางก็ยกระดับสู่เมืองท่องเที่ยวระดับนานาชาติเช่นเดียวกัน เดินลัดเลาะไปทางไหนก็จะมี ร้านกาแฟ สวยๆ คอยต้อนรับให้มานั่งเอนหลัง ฟังเสียงอดีต เราขอแนะนำให้สั่งครัวซองค์ทานกับอเมริกาโน่ร้อนๆ หรือแอปเปิ้ลพายทานกับคาปูชิโนฟองละมุน เพราะครัวซองค์และขนมพายเหล่านี้ ‘ขึ้นชื่อ’ เรื่องความอร่อยที่ทางฝรั่งเศสมอบสูตรเด็ดให้เป็นมรดกตกทอด 

สภาพอาคารบ้านเรือนและแมกไม้ ยังสวยงามราวกับ ภาพเขียน ถูกรักษาสภาพดั้งเดิมเอาไว้ได้ รายละเอียดของเมืองไม่ได้รับความเสียหายจากการทิ้งระเบิดของสหรัฐอเมริกาในสงครามอินโดจีน

พิพิธภัณฑ์สมบัติพระมหากษัตริย์องค์สุดท้าย

จุดท่องเที่ยว ไฮไลต์ ที่อยากแนะนำ หอพระบางพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง ที่เก็บทรัพย์แผ่นดินในสมัยที่ยังมีพระมหากษัตริย์เป็นเจ้ามหาชีวิต ราชาองค์สุดท้ายก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ และบริเวณถนนหน้าหอพระบางนั้น ก็เปรียบเสมือนเส้นทางหน้าพระบรมมหาราชวังและถนนข้าวสารในบ้านเราดีๆ นั่นเอง ชมเรื่องราวและร้านรวงตั้งแผงขายของที่ระลึกน่ารักน่าสะสม โฮสเทล เกสต์เฮาส์ ในโซนนี้ก็จะเต็มไปด้วยฝรั่งมังค่าและชาวเอเชียมาพักผ่อน เดินชมเมืองและขี่จักรยานกันให้ขวักไขว่ตลอดทั้งวัน ขอแนะนำให้ซื้อของแฮนด์เมดที่บริเวณนี้เลย เพราะเป็นสินค้าคุณภาพดี ราคาไม่แพง 

ขณะที่ตอนกลางคืน…ถนนเส้นนี้มีชื่อเสียงทั่วโลกในเรื่องการช้อปปิ้งพ่อค้าแม่ค้าชาวหลวงพระบางและคนจากที่ราบสูง จะเริ่มตั้งเตนท์ประมาณห้าโมงเย็น นำสินค้ามาวางขายจากทั่วทุกทิศทุกทาง สุดแสนจะดึงดูดใจนักท่องเที่ยวอย่างเราให้ควักกระเป๋าจ่าย กลางคืนหน้าหอพระแห่งนี้จึงมี ‘สีสัน’ และ ‘แสงไฟ’ ประดับอย่างมีชีวิตชีวา 

อีกสถานที่หนึ่งที่พลาดไม่ได้คือวัดเชียงทองสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2103 วัดแห่งนี้เป็นตำนานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในฐานะวัดประจำราชวงศ์ลาว ที่มาตั้งรกรากในแผ่นดินหลวงพระบางนั่นเอง 

ประติมากรรมวัดเชียงทอง คือ มาสเตอร์พีซ พุทธศิลป์ชิ้นเอกแห่งอุษาคเนย์ ลวดลายจิตรกรรมฝาผนังของอุโบสถไม่ใช่แค่การวาดแต่เป็นการประดับกระจกแก้วชิ้นเล็กๆ สวยงามสุดบรรยาย โดยเฉพาะรูป ‘ต้นทอง’ หรือ ‘ต้นไม้แห่งชีวิต’ แรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ที่เชื่อมโยงศรัทธาระหว่างคนและธรรมชาติ 

สิ่งที่โดดเด่นมากของวัดเชียงทองก็คือหลังคาซ้อนกัน 3 ตับดัดรูปทรงอ่อนโค้งและลาดต่ำลงมาบนกลางสันหลังคามีการทำช่อฟ้าสีเขียว หรือ ‘สัตตะบูริพัน อันเป็นการจำลองจักรวาลตามคติพุทธศาสนา รวมถึงการเป็นสถานที่เก็บพระอัฐิของพระมหากษัตริย์

ตักบาตรยามเช้าในช่วงออกพรรษา

กิจกรรมที่นักท่องเที่ยวไม่ค่อยพลาดเมื่อมาหลวงพระบาง ก็คือการ ‘ตักบาตร’ ตอนเช้า เพราะจะมีพระภิกษุจากวัดต่างๆ เดินแถวมารับถวายภัตตาหารต่างๆ ที่สังเกตเห็นชัดๆ คือ ข้าวเหนียวอาหารพื้นฐานจากพุทธศาสนิกชนลาวทั่วไป 

จุดไฮไลต์หลักๆ ของการตักบาตรก็คือหน้า วัดใหม่และหน้า วัดเชียงทอง ซึ่งถือเป็นสถานที่ๆ มีแบ็คกราวด์การตักบาตรที่สวยงามที่สุดก็ว่าได้ เราพบฝรั่งสาว 2 คน ลงทุนแต่งชุดผ้าซิ่นย้อนยุคเหมือนชาวบ้านทั่วไป มาร่วมตักบาตรกันตั้งแต่เช้ามืด ขอนับถือจิตใจอันสงบร่มเย็นนี้จริงๆ

ในช่วงขึ้น 15 ค่ำของเดือนตุลาคม ถือเป็นเทศกาลออกพรรษาของชาวสปป.ลาว เป็นวันหยุดที่ทุกคนจะรวมตัวกันทำบุญใหญ่ ไปวัดวาอาราม ถวายข้าวปลาอาหารให้พระสงฆ์ และร่วมพิธีกรรมทางศาสนา แถมยังมีพิธีลอยกระทงในแม่น้ำโขงและแม่น้ำคาน อีกด้วยโดยชาวหลวงพระบางจะมารวมกันที่บริเวณวัดเชียงทอง ซึ่งเสมือนศูนย์กลางของวัฒนธรรมประเพณี แล้วร่วมกันอธิษฐานปล่อยเรือและกระทงลงสู่แม่น้ำโขง 

ทุกวัดในเขตเมืองเก่า พระและเณร ต่างก็จะร่วมจิตร่วมใจกันทำโคมไฟจากกระดาษสาและไม้ไผ่เป็นรูปดวงดาว พญานาค เรือไฟต่างๆ เพื่อประดับประดาโบสถ์วิหารภายในวัดให้เจิดจรัสงดงามทุกปี แต่ที่ประหลาดใจสุดก็คือในค่ำคืนพระจันทร์เต็มดวงของปีนี้ เราโชคดีที่เห็นพระจันทร์ทรงกลด สายรุ้งสีเขียวสีฟ้าล้อมรอบจันทราสีขาวนวล เป็นบรรยากาศบนท้องฟ้าที่แปลกตา ภาพที่ปรากฏจึงเป็นอะไรที่พิเศษจนยากจะหานิมิตใดๆ มาเปรียบ