แรงบันดาลใจให้นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างเป็นผู้นำคือการยกระดับทักษะความรู้ความคิดและความเป็นผู้ประกอบการ…Startup นับเป็นเรื่องท้าทาย ‘จุดประกาย’ คน Generation Z ให้ก้าวออกจากพรมแดนการศึกษา สู่มิติทางธุรกิจ
การสร้าง ‘ระบบนิเวศน์สตาร์ทอัพ’ (Startup Ecosystem) ในรั้วเหลือง-แดง เช่นเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ให้เป็น Co-working Space หรือโครงการ Startup Exchange จับมือ ธนาคารกรุงเทพ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสตาร์ทอัพในสิงคโปร์ ล้วนพ่มเพาะความฝันของวัยใส ไปสู่ไอเดียที่มีชีวิตชีวาผ่านระบบดิจิทัล
แม้จะเป็นจุดเริ่มต้น โปรเจกต์เล็กๆ แต่ถ้าใครได้สัมผัสนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า TU Startup จะเห็นว่าเส้นทาง ‘ความคิดอ่าน’ พวกเขา ควรค่าแก่โอกาสในโลกที่เปิดกว้าง
‘มะเหมี่ยว’ อนัญชนา พัฒนานันท์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับเพื่อนซี้ ‘เต้’ จิรายุ พุฒาพิทักษ์ พัฒนา ‘Horhere’ เพจใหม่เอาใจนักศึกษาที่มองหาหอพักใกล้ๆ กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยขณะนี้เริ่มสร้างเครือข่ายและระดมทุนเพื่อทำให้ความฝันของเธอเป็นจริง
“นักศึกษาธรรมศาสตร์ที่อยู่หอพักมีมากถึง 50% ทำให้เราคิดว่าถ้าพวกเค้ามีข้อมูลที่มากพอ ทุกคนก็จะมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้ได้ จึงพัฒนาเพจ Horhere ขึ้นมาเพื่อเป็นตัวกลางในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลและหาหอพักให้แก่นักเรียนนักศึกษา”
เชื่อมต่อหอพักรอบๆ มหาวิทยาลัย
อนัญชนา เล่าว่า ปัญหาขณะนี้คือนักศึกษาหลายคนต้องเดินทางมาจากต่างจังหวัด เพื่อจองหอพักที่ใกล้กับมหาวิทยาลัย บางหอพักได้รับความนิยมมากต้องมาจองคิวตั้งแต่ตี 5 โดยยังไม่รู้ว่าห้องว่างหรือไม่ บางคนเจอปัญหาการทำสัญญา โอนเงินไปแล้วแต่ผู้เช่าเดิมยังไม่ย้ายออก เพราะหาสัญญาห้องพักผ่านทางเฟสบุ๊คและเว็บไซต์ ที่อาจมีมิจฉาชีพแฝงตัวอยู่
การสำรวจของทีมงาน Horhere ซึ่งมีทั้งสิ้น 8 คน พบว่ารอบๆ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีหอพักกว่า 38 แห่ง และมีพื้นที่ให้เช่าประมาณ 1 หมื่นห้อง แต่การขาดข้อมูลที่ดีและความไม่สะดวกในการประสานงานต่างๆ ทำให้นักศึกษาผู้หญิงบางคน ต้องตัดใจเช่าหอพักที่ไกลออกไป สุ่มเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยในชีวิตและการเดินทาง
“เพจ Horhere เป็นโมเดลธุรกิจที่ตอบโจทย์เรื่องการเป็นตัวกลางประสานระหว่างหอพักกับผู้เช่า โดยจะเริ่มต้นจากหอพักบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อน หากประสบความสำเร็จก็จะประชุมร่วมกับทีมงานเพื่อพัฒนาต่อไป”
ที่ผ่านมา โปรเจกต์ Horhere ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ที่ให้ทุนสตาร์ทอัพคนรุ่นใหม่มาพัฒนาธุรกิจตามความฝันของอนัญชนาและเพื่อนๆ
ปัจจุบันมีผู้ติดตามเพจ Horhere แล้วมากกว่า 500 คน ในอนาคตมีแผนพัฒนาไปสู่แอปพลิเคชันและเว็บไซต์ที่สมบูรณ์แบบต่อไป
มุ่งมั่นเพื่อไปสู่เป้าหมายที่วางไว้
ขณะที่ “เต้” จิรายุ กล่าวว่า กว่าจะมาเป็นเพจ Horhere ในวันนี้ ทีมงานต้องระดมสมองเพื่อ Pitch ไอเดียในเวที “สตาร์ทอัพไทยแลนด์ลีก” จัดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อมาได้รับความสนใจและได้รับทุนสนับสนุนจากธนาคารออมสิน แต่นั่นเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น อาจยังไม่เพียงพอเพื่อทำแอปพลิเคชันตามเป้าหมายที่ฝันไว้
“แผนของเราคือเป็นตัวกลางระหว่างนักศึกษากับเจ้าของหอพัก ซึ่งส่วนใหญ่เคยทำธุรกิจแบบออฟไลน์ ด้วยการนำอินเทอร์เน็ตมาช่วยเหมือนแอร์บีแอนด์บี (Airbnb) หลังจากเปิดเพจระยะหนึ่งเราสามารถปิดดีลได้แล้วบางส่วน ขณะนี้กำลังเพิ่มฐานลูกค้าและทำคอนเทนท์ในเพจให้มากขึ้น ถ้าทำสำเร็จเราคิดว่าจะขยายไปสู่หอพักในโซนมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในอนาคต”
อีกหนึ่งโครงการสตาร์ทอัพที่เป็นความภูมิใจของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยู่ระหว่างการทำแบบจำลองและเก็บข้อมูล (Prototype) ก็คือการพัฒนาแอปพลิเคชันโอทอปไทยสู่ประเทศจีน… ‘Dà Tài’ หรือออกเสียงว่า ‘ต้าไท่’ แปลว่า ไทยใหญ่ โดยมี ‘โบ’ กมลพร วีระวุฒิวงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และ ‘ซัมบี้’ นัฐชยา เชี่ยวชาญ นักศึกษาชั้นปี 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก
นำโอทอปไทยก้าวไปสู่แดนมังกร
กมลพร เล่าไอเดียให้ฟังว่า แอปพลิเคชัน Dà Tài เริ่มจากการเห็นโอกาสที่คนจีนเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากและสนใจซื้อสินค้าไทยแต่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งผลิตจริงๆ หรือขาดข้อมูลในการตัดสินใจ จึงริเริ่มออกแบบแอปพลิเคชัน Dà Tài และลงพื้นที่สำรวจแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อเก็บข้อมูลความต้องการของผู้ซื้อสินค้าชาวจีน โดยเฉพาะกลุ่มแบกเป้หรือแบ็คแพ็ค รวมถึงการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการโอทอปในประเทศด้วย
“ในช่วงแรกสินค้าที่จะอยู่ในแอปพลิเคชันนี้คือกลุ่มที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวจีนต้องซื้อกลับไป เริ่มจาก 500 รายการหลักๆ เพื่อกระตุ้นยอดขายให้ผู้ประกอบการที่ร่วมกับเรามีรายได้และกำลังใจที่จะพัฒนาต่อไป”
สำหรับการส่งมอบสินค้าจะพยายามให้ถึงมือผู้รับภายใน 1 วัน ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนยังอยู่ในเมืองไทย หรืออย่างน้อยมีบริการส่งให้ที่สนามบินเพื่อความสะดวกในการนำกลับไปเป็นของขวัญแก่คนที่บ้าน
สตาร์ทอัพไม่จำกัดความคิดฝัน
ด้าน นัฐชยา กล่าวเสริมว่า ส่วนตัวแล้วเป็นเด็กต่างจังหวัด เกิดที่พะเยาจึงเห็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว เป็นภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น แต่ปัญหาก็คือคนภายนอกยังไม่รู้จัก ขาดช่องทางการตลาด และไม่สามารถสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอให้ชาวบ้านอยู่ได้ตลอดทั้งปี
“เป้าหมายของเราคือสร้างพื้นที่การขายสินค้าโอทอปที่มีความน่าเชื่อถือ และได้รับการยอมรับเป็นแบรนด์ที่มีคุณภาพ เบื้องต้นจะเน้นจำหน่ายในประเทศก่อน เพราะถ้าขายในต่างประเทศก็มีคู่แข่งสำคัญคือ อาลีบาบาและอเมซอน”
หลังจากสำรวจความต้องการของตลาดแล้ว ทีมสตาร์ทอัพนำโดยโบและซัมบี้ก็จะเริ่มออกแบบทางเทคนิคเพื่อพัฒนาแอปพลิเคชัน Dà Tài ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีโครงการบ่มเพาะธุรกิจ การสร้างพื้นที่ Co-working Space ถือว่าเป็นประโยชน์ในการแชร์ความคิดกับทีมงานและผลักดันให้ทุกคนกล้าที่จะก้าวออกไปหาความสำเร็จ
“ตรงนี้เป็นความฝันของเรา เพราะเชื่อว่ามนุษย์ไม่มีข้อจำกัด แม้จะเรียนคณะนิติศาสตร์แต่ก็สนใจเรียนรู้ในด้านธุรกิจ ฝึกฝนตัวเองผ่านการเข้าคอร์สด้านการตลาด คิดว่าทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ออกสู่สายตาชาวโลกได้ ตรงนี้เป็นเสน่ห์ของสตาร์ทอัพคือไม่จำกัดความคิดของคน อยากให้อะไรเกิดขึ้นก็ศึกษา ทำมันอย่างเต็มที่ให้ตอบโจทย์ไอเดียที่เราคิดไว้”
ธรรมศาสตร์หล่อหลอมธุรกิจคนรุ่นใหม่
ศาสตราจารย์ ดร.อาณัติ ลีมัคเดช ผู้อำนวยการศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้างนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมให้เกิดสตาร์ทอัพในหลากหลายโครงการ อาทิ การพัฒนา Thammasat Creative Space (TCS) บนพื้นที่กว่า 1,500 ตารางเมตร ที่ชั้น 1 หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพื่อให้นักศึกษาจากทุกคณะได้มานั่งทำงานแลกเปลี่ยนความรู้กันในบรรยากาศที่สร้างสรรค์เกิด โมเดลธุรกิจใหม่ๆ
การร่วมกับพันธมิตรอย่างธนาคารกรุงเทพในการส่งเสริม Startup จากภายนอก สามารถใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อพัฒนาธุรกิจได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลดีกับการพัฒนาความรู้ของนักศึกษาและอาจารย์ด้วย
แรงขับเคลื่อนของกลุ่ม TU Startup นับเป็นอีกพลังบริสุทธิ์ในการพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปลี่ยนผ่านสู่อนาคต โดยที่ดินสอ ‘โดม’ สัญลักษณ์ที่อยู่ในหัวใจมายาวนานกว่า 84 ปี ยังคงโดดเด่นเช่นเดิม…แต่เพิ่มเติมคือพลังของนักศึกษารุ่นใหม่และ Inspiration ทางธุรกิจ ที่กำลังนำพวกเขาก้าวไปข้างหน้าในโลกดิจิทัล