7 เมษายน 2562…. มองนาฬิกาบอกเวลา 2 ทุ่ม กองทัพนักอ่านเริ่มบางตา เสียงเซ็งแซ่ของพ่อค้าแม่ค้าที่ร้องเรียกดึงความสนใจลูกค้า เปลี่ยนทะยอยเป็นเสียงตอกเคาะ ดึงเทป ปิดกล่องจัดเก็บหนังสือ สัญญาณเตือนว่าใกล้จบงานหนังสือ ที่ดำเนินมากว่า 10 วัน เป็นภาพและเสียงคุ้นที่เกิดประจำทุกปีปีละ 2 ครั้ง
หากแต่ครั้งนี้….ความรู้สึกหวิว แอบใจหายกว่าทุกครั้ง เพราะงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 47 ถือเป็นงานหนังสือครั้งสุดท้ายที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่นับเป็นสถานที่จัดงานหนังสือที่ยาวนานที่สุด ผ่านร้อนผ่านหนาวอยู่คู่กันมากว่า 20 ปี
งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2515 โดยสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศเป็นผู้ดำเนินการจัด ณ สังคีตศาลา โรงละครแห่งชาติพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ และหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงต้นเดือนเมษายน ณ สถานที่ดังกล่าว
กระทั่งงานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ 6 ในปี 2520 ได้ย้ายสถานการจัดงานไปที่เวทีลีลาส สวนลุมพินี โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศเป็นผู้ดำเนินการจัดงานอย่างเต็มตัว และเป็นครั้งแรกที่สมเด็จพระเทพฯ ทรงเสด็จมาเปิดงาน
หลังจากนั้นงานสัปดาห์หนังสือได้ย้ายสถานที่การจัดงานไปหลายแห่งตามความเหมาะสม อาทิ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนหอวัง
และระหว่างงานครั้งที่ 14 – 28 ระหว่างปี 2528 – 2543 งานสัปดาห์หนังสือได้ย้ายไปจัดที่ คุรุสภา ถนนลูกหลวง กระทรวงศึกษาธิการ สลับกับบริเวณท้องสนามหลวง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรงละครแห่งชาติ และหอสมุดแห่งชาติ
ซึ่งในช่วงระหว่างเวลานั้นเอง สมาคมฯ ได้ริเริ่มการจัดงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติครั้งแรกในปี 2539 ที่ศูนย์สรรพสินค้าแฟชั่น ไอร์แลนด์ และในปี 2541 งานมหกรรมหนังสือแห่งชาติครั้ง 3 ได้ย้ายมาจัดงานที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เป็นครั้งแรก
ต่อมาในปี 2544 งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 29 ถูกย้ายจากคุรุสภา มาจัดที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นับจากนั้นทั้งงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ และมหกรรมหนังสือก็ถูกจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมฯ ปีละ 2 ครั้ง ถึงวันนี้ระยะทางของงานหนังสือที่อยู่คู่กับศูนย์ประชุมฯ รวมกว่า 20ปี
คุณยุวดี ศิลปดีเลิศกุล แห่งสำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร และร้านหนังสือบูรพาสาสน์ ของบริษัท บริษัท บูรพาสาส์น(1991) จำกัด หนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เล่าว่า สมาคมเริ่มก่อตั้งมาราวปี 2502 โดยการชักชวนของ ม.ล.มานิจ (ม.ล.มานิจ ชุมสาย เจ้าหน้าที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ) วัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันสนับสนุนให้วงการหนังสือเติบโต ซึ่งขณะนั้นก็มีร้านหนังสือที่เป็นสมาชิกเพียงไม่กี่ราย อาทิ แพร่พิทยา สุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์รวมสาสน์ ผดุงศึกษา ศิลป์ประภาคาร รวมตัวกันไปออกร้านจัดงานหนังสือแถวพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ และย้ายไปจัดในสถานที่ต่างๆ ทั้งสวนลุมพินี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หอวัง คุรุสภา
สมัยก่อนถือเป็นยุคเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมหนังสือ ทุกครั้งที่จัดงานยอดขายดีมาก วันละไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท ทำให้นอกจากร้านค้าเดิมที่เติบโตขยายกิจการขึ้นเรื่อยๆ ก็มีสำนักพิมพ์ ผู้จัดจำหน่ายหนังสือใหม่ๆเข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่มมากขึ้น ทำให้ขนาดของสถานที่จัดงานเดิมเริ่มมีข้อจำกัด พื้นที่ไม่รองรับกับการขยายตัวของร้านค้า
“แต่ก่อนงานหนังสือแค่เป็นเต้นท์ชั่วคราวกางอยู่นอกอาคาร บางวันอากาศร้อนมาก สงสารทั้งคนขาย และลูกค้าที่มาเลือกหนังสือ หรือเวลาฝนตกสาดมาในร้านก็ต้องวิ่งคุมผ้าใบปิดกันอุตลุด สมาคมฯจึงมองหา และเลือกสถานที่จัดงานแห่งใหม่ที่อยู่ภายในอาคาร เพื่อแก้ปัญหาข้างต้น ซึ่งศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ถือเป็นสถานที่ที่ตอบโจทย์ได้เกือบทั้งหมด ทั้งอาคาร ขนาดพื้นที่รองรับร้านค้าได้จำนวนมาก เป็นสัดส่วน เดินทางสะดวก”
บรรยากาศของการจัดงานที่ศูนย์ประชุมฯในระยะแรก ไม่ต่างจากสถานที่ต่างๆ ที่เคยจัดงาน ฝูงชนนักอ่านแน่นขนัดเกือบทุกวัน เดินเบียดเสียดกันเข้าร้านเพื่อซื้อหาหนังสือ ให้สมใจอยากกับการรอคอยงานที่เวียนมา 6 เดือนครั้ง แต่ละร้านยอดขายดีมาก มาระยะหลังปัจจัยต่างๆ ที่มาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการอ่านหนังสือ ทำให้ความคึกคักของานหนังสือเริ่มลดลง คนมางานกันน้อยลง ยอดขายก็ตกลงกว่าแต่ก่อนพอสมควร
ผู้ค้าทุกคนก็หวังว่าการย้ายไปจัดงานที่เมืองทองธานี สถานที่แห่งใหม่ ลูกค้านักอ่านเดิมๆ จะตามไป และลูกค้าใหม่ๆ ในย่านนั้นที่ไม่เคยไปงานหนังสือจะได้มีโอกาสได้มาเดินสัมผัสบรรยากาศงานหนังสือให้คึกคักดังภาพเดิมๆ ในอดีต
ด้านคุณณัฐธิคุณ คล้ายแจ้งเจ้าของร้านหนังสือเก่า “คุ้มอักษร” เล่าถึงการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของร้านค้าในงานหนังสือ ว่า ตนไม่ได้ทำร้านหนังสือตั้งแต่แรก เป็นคนทำงานออฟฟิต มีเวลาว่างก็ตระเวนซื้อหนังสือตามร้าน ตามงานต่างๆ สะสมหนังสือเก่า หนังสือหายาก ช่วงวันหยุดก็ไปเปิดท้ายขายหนังสือตามสถานที่ต่างๆ เป็นรายได้เสริม แต่จากรายได้เสริม เริ่มกลายเป็นรายได้หลัก จึงเริ่มออกมาทำร้านหนังสือเต็มตัว และสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมฯ เพื่อที่จะได้สิทธิ์ในการออกร้านในหนังสือ
“ช่วงเวลานั้นใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะได้เข้ามาเปิดร้านในงานหนังสือ เนื่องจากคุณสมบัติของร้านที่จะมาเปิดต้องเป็นสำนักพิมพ์ หรือตัวแทนจัดจำหน่ายเท่านั้น ร้านค้าย่อยเล็กๆ ยังเข้ามาไม่ได้ แต่ก็ถือเป็นความโชคดีมีช่วงที่มีการจัดโซนหนังสือเก่า เปิดโอกาสให้ร้านค้าหนังสือเก่าเข้ามาเปิดร้านในงานได้”
คุณณัฐธิคุณ ยังบอกเล่าถึงบรรยากาศงานหนังสือว่า ร้านคุ้มอักษรเข้ามาช่วงยุคกลางของศูนย์ประชุม ซึ่งงานหนังสือยังคงมีความคึกคัก ช่วงเช้าของทุกวันก่อนงานเปิดจะเห็นฝูงชนนักอ่านมายืนรอกันแน่นอยู่หน้าประตู มีความกระหายที่จะซื้อหาหนังสือมาอ่านให้สมใจรอคอย ร้านค้าต้องเบียดฝูงชนเพื่อนขนส่งเข้ามาเติมในร้าน แม้จะเป็นความยากลำบาก แต่จำนวนคนนั้นสร้างกำลังใจได้มากกว่า และไม่เพียงแค่ค้าขาย พวกเรายังสนุกกับการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับลูกค้าด้วย
นอกจากนั้น คุณณัฐธิคุณ ได้ทิ้งท้ายให้มุมองของการเปลี่ยนแปลงธุรกิจหนังสือว่า ในอดีตหนังสือเป็นปัจจัยสำคัญของการเรียนรู้ ธุรกิจหนังสือจึงรุ่งเรืองมาก ประกอบกับเรามีดาราที่เป็นขวัญใจของผู้คนเป็นตัวอย่างของการอ่านหนังสือ แต่ปัจจุบันนอกจากเทคโนโลยีจะมาเปลี่ยนพฤติกรรมการอ่านน้อยลงแล้ว ประเทศไทยยังไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนที่จะส่งเสริมการอ่านหนังสือ ดารา ผู้มีอิทธิพลทางสังคมก็ไม่ได้ให้สำคัญหรือนำเสนอตัวเองเป็นนักอ่านเหมือนแต่ก่อน ดังนั้นหากต้องการให้ธุรกิจหนังสือกลับมารุ่งเรือง ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน นำประสบการณ์อดีตที่มีประโยชน์มาสานต่อด้วยเทคโนโลยีความทันสมัยในปัจจุบันทำนุบำรุงให้หนังสือที่ถือเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ได้เติบโตต่อไป
คุณค่าของหนังสือมีหลายสิ่งทั้งให้ความรู้ ความคิด เพลิดเพลิน บรรเทิงใจ นั่นเป็นคำกล่าวของ คุณกนกวรรณ อารยิตานันท์ หรือพี่หน่อย วัย 53 ที่หลงไหลรักการอ่านอย่างมาก อ่านหนังสือทุกประเภท ความรู้ นิยาย วรรณกรรมไทย นิยายแปล
“เรามาเดินงานหนังสือตั้งแต่ครั้งแรกที่จัดศูนย์ประชุม และมาทุกครั้ง แต่ละครั้งแบกหนังสือกลับบ้านจนปวดหลัง คนเยอะเดินเบียดก้าวเดินได้ทีละนิดจนปวดขา แต่มีความสุขในการเลือกซื้อหาหนังสือ เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของงาน ที่คนมักพูดว่าถ้าไม่ได้มาเบียดคน ถือว่ามาไม่ถึงงานหนังสือ แต่ช่วงหลังเดินสบายขึ้น
นอกจากคนมางานน้อยลง หลายสำนักพิมพ์ปิดกิจการลง หนังสือใหม่ที่น่าสนใจออกมาน้อย ซึ่งก็เป็นที่น่าเสียดายเมื่อเทียบกับอดีตแต่ละครั้งที่มีงานหนังสือจะมีหนังสือดีๆ ออกมาใหม่ให้นักอ่านได้ซื้อหาเยอะมาก”
เสน่ห์ของงานหนังสือที่อยู่คู่กับคนไทยมาเกือบ 6 ทศวรรษ เสน่ห์ของการจัดงานในแต่ละสถานที่ การเปลี่ยนแปลงที่ต้องประลองกำลังกับกำแพงความคุ้นชิน มักจะถูกเกริ่นบ่นต่อต้านทุกครั้ง “เมืองทองธานี” สถานที่ใหม่ของงานหนังสือที่จะมีขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ เปิดใจรับสิ่งใหม่ สร้างเสน่ห์ความทรงจำ บรรยากาศใหม่ๆ ของงานหนังสือ อาจจะเป็นช่วงสั้นๆ 3 ปี หลังจากนั้นเราหวังว่าคงได้กลับมาศูนย์ประชุมฯ อีกครั้งหลังการปรับปรุงซ่อมบำรุงเสร็จ