ท่ามกลางความบ้าคลั่งของอารยธรรมไซเบอร์ ที่แสดงความคิดเห็นกันอย่างขาดความรับผิดชอบ เกินเลยคำว่าตรวจสอบไปไกลลิบ ราวกับว่าเราอยู่ใน ‘ระบอบประชาธิปไตยที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ’..มันเกิดขึ้นได้อย่างไรและเมื่อไหร่สังคมไทยจะเติบโตอย่างแท้จริง??
ยุทธศาสตร์การเลือกตั้งครั้งนี้ ที่ทุกพรรคขาดไม่ได้เลยก็คือการหาเสียงใน ‘สนามออนไลน์’ ซึ่งเป็นพื้นที่เสรีเปิดกว้าง ใครจะปล่อยข่าวลวงข่าวจริง ข่าวหาเสียงและทำลายชื่อเสียงฝ่ายตรงข้าม ก็ทำได้สบายๆ นำทางมาสู่กระบวนการจัดตั้ง “กองกำลังไซเบอร์” ขึ้นในทุกๆ องคาพยพทางการเมือง ก่อนวันพิพากษา 24 มีนาคม 2562
ขณะที่สื่อมวลชนกระแสหลัก ซึ่งเคย ‘เลือกข้าง’ กันไปแล้วแบบห้ามยังไงก็ไม่ฟัง ตั้งแต่ยุคทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ เสื้อแดง-เสื้อเหลือง ทั้งหมดยังคงเปย์ฝ่ายของตัวเองไม่เปลี่ยน…แต่ที่น่าแปลกคือสื่อสมัยใหม่ ‘สำนักข่าวออนไลน์’ ทั้งหลาย ‘ความหวัง’ ของคนหนุ่มสาวที่อยากเห็นความเป็นกลาง ก็กลับใช้แนวทางหรือพฤติการณ์ไม่แตกต่างกับสื่อหลัก…นั่นคือเลือกเชียร์พรรคที่ตนเองสนับสนุนอย่างออกหน้าออกตาและกดหัวอีกฝ่ายให้จมธรณี
ดังนั้นจะเห็นว่า ถ้าพรรคการเมืองใดไม่มีสำนักข่าวออนไลน์ค่ายใหญ่ๆ ให้การสนับสนุนจุนเจือล่ะก็ พวกเขาก็ต้อง ‘หลังพิงฝา’ สร้างสำนักข่าวออนไลน์ของตัวเองขึ้นมาลับๆ แบบอยู่ ‘เบื้องหลัง’ เพื่อเชื่อมต่อการทำงานกับหน้าฉาก หรือไม่ก็ใช้เงินซื้อโฆษณากันไปตามแต่งบประมาณในกระเป๋าจะเอื้ออำนวย
ส่วนพรรคการเมืองใดที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลมากหน่อย หรือมีพลพรรคพวกตัวเอง ‘ฝังตัว’ ในโลกไซเบอร์เยอะกว่า ก็จะถือว่าได้เปรียบเพราะถือว่าอยู่ ‘บนดิน’ สามารถปลุกปั่นกระแสทั้งในเว็บไซต์ เพจ FB และทวิตเตอร์ หัวหมู่ทะลวงฟันผ่านแฮชแท็คต่างๆ ดาหน้าถล่มฝ่ายตรงข้ามได้อย่างเมามัน
เรียกว่าสนามออนไลน์ไล่ถล่มกันดุเดือดแบบใครดีใครอยู่….
คนที่ถูกรุมกินโต๊ะในโลกโซเชียลมีเดียมากที่สุด ก็ดูเหมือนจะเป็น ‘พรรคพลังประชารัฐ’ (พปชร.) ที่สนับสนุนลุงตู่เป็นนายกรัฐมนตรี ถูกมองว่าสนับสนุนการสืบทอดอำนาจเผด็จการ และพลพรรคที่ดูจะไปได้สวยที่สุดในโลกไซเบอร์ เพราะมีฐานเสียงเป็นคนรุ่นใหม่ผู้รักประชาธิปไตยโดยเฉพาะใน ‘ทวิตเตอร์’ ก็คือพรรคอนาคตใหม่และเพื่อไทย
ลึกๆ แล้ว พปชร. จึงถูกโดดเดี่ยวเหมือนหมาจนตรอก เพราะประชาธิปัตย์ก็บอกว่าไม่เอา ภูมิใจไทยก็ไม่อยากปฏิสัมพันธ์ด้วย แต่มีธงความได้เปรียบตรงถือ ‘คบเพลิงอาญาสิทธิ์’ จากการเป็นรัฐบาลคสช. สามารถใช้ไฟจากสปอตไลต์ทางอำนาจ ส่องจุดนั้นจุดนี้ได้หมดหรือจะแอบสร้าง Sky Net เอาไว้ใต้พรมก็ไม่มีใครรู้
นี่เอง ถือเป็น ‘จุดกำเนิด’ กองกำลังไซเบอร์ของพรรคพลังประชารัฐ โดยมีจุดเปลี่ยนอยู่ที่การเปลี่ยนตัวโฆษกรัฐบาลจาก พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด ขุนพลคู่ใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็น ‘บี’ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตขุนพลพรรคประชาธิปัตย์และกปปส. ที่ย้ายค่ายมาอยู่กับพลังประชารัฐ ด้วยตำแหน่งสำคัญคือเป็นปากเสียงและวางยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ให้รัฐบาลลุงตู่เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561
การมาของ พุทธิพงษ์ เกิดจากการชักนำของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและผู้ก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ ตอนนั้นยังไม่มีใครคิดว่านี่จะเป็นการปูทางไปสู่การสร้างแคมเปญพีอาร์เชิงกว้างและเชิงลึก ที่ผลักดันให้พปชร.สู้ศึกจนชนะเสียงป็อบปูลาร์โหวต เฉียดๆ 8 ล้านคะแนนทั่วประเทศ ถล่มพรรคคู่แข่งสำคัญคือเพื่อไทยจนทลายหงายเก๋ง แต่ก็อาจไม่พอที่จะหยุดการจุดประกายก่อกำเนิดพรรคอนาคตใหม่ได้เช่นกัน
ยุทธวิธีการต่อสู้ของพลังประชารัฐที่ถูกมองว่าเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมใหม่นั้น…ไม่ธรรมดา อาศัยแรงส่งของนโยบายรัฐบาลที่โดนใจประชาชนอย่างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึง ‘สปก.ทองคำ’ เจาะฐานเสียงในต่างจังหวัด สองคือใช้ความนิยมส่วนตัวของลุงตู่และความเกลียดกลัวระบอบทักษิณจะกลับมา เจาะฐานเสียงในหัวเมืองใหญ่ๆ
ยุทธวิธีถัดมา คือมีการตั้ง ‘ขุนพลไซเบอร์’ ขึ้นโดยระดมเครือข่ายจากยอดฝีมือที่เชื่อใจกัน มั่นใจกัน ศรัทธากัน เป็นแกนประมาณ 10-20 คน ทั้งหมดล้วนเป็นนักรบนิรนามผู้เคยฝากฝีมือการปลุกปั้นยอดไลค์รัวๆ ไว้ในสื่อออนไลน์ สื่อโซเชียล และสื่อกระแสหลักมาแล้ว ลิงค์เชื่อมต่อการทำงานเป็นทีมกับสื่อของพรรคพลังประชารัฐโดยตรง ลงตัวและไร้ร่องรอย
แคมเปญต่างๆ ไล่เรียงกันมาตั้งแต่เพจลุงตู่ Official ที่แตกลูกแตกหลานไปมากมาย ทั้งสู้ ทั้งสอย ทั้งถอย ทั้งถีบ พลิกมุมต่อกรได้อย่างแยบยลและเชี่ยวชาญในสนามโซเชียลมีเดีย บวกกับการที่พรรคพลังประชารัฐได้คนรุ่นใหม่เข้ามาเสริมทีมมากมายเช่น มาดามเดียร์ ฯลฯ ก็เป็นแรงขับเคลื่อนให้การเลื่อนไหลในโลกไซเบอร์ไม่ได้มีตัวเอกแค่ลุงตู่คนเดียวโดดๆ แต่เพิ่มตัวเล่นได้มากขึ้น เจาะฐานเสียงได้หลากหลาย
ในส่วนของโลกไซเบอร์ที่สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่และเพื่อไทย ก็ใช้ยุทธวิธีโจมตีใน ‘ทวิตเตอร์’ เป็นหลัก เพราะเป็นสนามรบที่คนรุ่นใหม่และคนชั้นกลางฟีเวอร์ นิยมเข้าไปเล่นกันมากที่สุด ส่วนเฟสบุ๊กถูกมองว่าเป็นพื้นที่ของคนชราไปแล้ว ไม่มันส์ จึงจะเห็นแฮชแทคทวิตว่า #ฟ้ารักพ่อ #ยุบให้ตายก็ไม่เลือกลุง #จับปากกาฆ่าเผด็จการ ไปกระทั่งล่าสุด #โกงเลือกตั้ง ถูกผลักดันจนติดเทรนด์ทวิตนับแสนครั้ง นับตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งจนถึงวันนี้
มายาภาพนี้ ทำให้หลายคนประเมินว่าโอกาสที่พลังประชารัฐจะพ่ายแพ้ต่อกระแสโลกใหม่ที่เกิดขึ้นมีสูงมากทีเดียว
แต่ความมันส์อยู่ที่การ ‘พลิกเกม’ โค้งสุดท้าย เมื่อทีมขุนพลไซเบอร์ของพลังประชารัฐตัดสินใจเสนอแก้เกมด้วยการ ‘เปลี่ยนลุค’ ลุงตู่ให้ดูสบายๆ แล้วเข้าสู่สนามการส่ง ‘Line’ อีกระบบโซเชียลมีเดียที่ปริมาณผู้ใช้ในประเทศไทยถึง 42 ล้านคน กระจายอยู่ทุกช่วงอายุ สูงมากเมื่อเทียบกับยอดผู้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตของบ้านเราทั้งหมด 45 ล้านคน
ขณะที่ทวิตเตอร์ในประเทศไทยมียอดผู้ใช้เฉียดๆ 20 ล้านคน ส่วนใหญ่คือคนรุ่นใหม่และวัยทำงานอายุ 16-34 ปี แต่ความนิยมเล่นก็สูงขึ้นทุกปีเช่นกัน
กล่าวได้ว่า ‘สองก๊ก สองค่าย’ ต่างหาเสียงกันคนละจุดมุ่งหมาย คนละสนาม สู้กับคนละยุทธวิธี บี้กันอย่างเมามันเพื่อให้แต่ละเจเนอเรชั่นเลือกข้าง ด้วยวาทกรรมต่างๆ นาๆ ข่าวจริงบ้าง แก้ข่าวบ้าง เอาเรื่องเก่าๆ มาจุดพลุบ้าง ตามแต่จะปรารถนากันไป
แต่สุดท้ายดูเหมือนว่าฝ่ายพลังประชารัฐจะเป็นผู้ชนะในเกมนี้ โดยเฉพาะการใช้หมัดเด็ดที่เข้าอกเข้าใจคนไทยที่เล่นไลน์ คือการใช้ภาพน่ารักๆ ของลุงตู่มาทักทายคนไทยตอนเช้าๆ เช่น “สวัสดีวันจันทร์ ขอให้จันทร์โอชา” “สวัสดีวันเสาร์ เราจะทำตามสัญญา” หรือ “อรุณสวัสดิ์เช้าวันพุธ” แล้วก็มีภาพ พล.อ.ประยุทธ์ ขยับไทด์ในเชิ้ตขาว
จากไลน์ของเพื่อนคนหนึ่ง ค่อยๆ ทยอยส่งกันเป็นกลุ่มๆ กลายเป็นเครือข่ายในเมือง สู่หัวเมือง สู่พ่อค้าแม่ขายในต่างจังหวัด สู่ครูประชาบาล ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ไปจนถึงต่างประเทศ นับเป็นการหาเสียงที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนไทยในภาพรวมมากกว่า แตกต่างจากทวิตเตอร์ที่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มปัญญาชนและคนเจอเนเรชั่นใหม่ที่อาจมีสัดส่วนที่น้อยกว่าเท่าตัว
นั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไมกระแสทวิตแรงเหลือหลาย แต่ผลคะแนนที่ออกมากลับไม่เป็นไปอย่างที่คิดไว้ เมื่อพรรคพลังประชารัฐได้รับคะแนนดิบมากที่สุด แต่จำนวนส.ส.เขตน้อยกว่าเพื่อไทย นำมาสู่ความ ‘หัวฟัดหัวเหวี่ยง’ ของคนรุ่นใหม่และคนชั้นกลางจำนวนมากที่รู้สึกว่าตัวเองพลาดหวัง พวกเขา ‘ตีอกชกตัว’ เพราะถูกตอกย้ำมาตลอดว่าต้องเอาชนะเผด็จการให้ได้ โดยหลงลืมถึงเจตนารมณ์ของระบอบประชาธิปไตย ลืมเป้าหมายที่เคยอยากให้มีการเลือกตั้งเพื่อรีสตาร์ทประเทศไทย และควรเคารพทุกๆ เสียงของคนไทย เพราะชีวิตเรา แม้จะยากดีมีจนอย่างไรล้วนมีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมกัน
ทวิตเตอร์ที่ว่าแน่ๆ จึงพ่ายแพ้ต่อสติ๊กเกอร์ ‘สวัสดีวันจันทร์’ ด้วยประการฉะนี้ ที่สำคัญคืออย่าให้จิตวิญญาณประชาธิปไตยต้องดับสูญไปด้วย โดยใช้อารมณ์บ่มเพาะความเกลียดชัง เหยียดหยามคนที่เห็นต่าง ทำลายหลักการที่เคยตอกย้ำเอาไว้ตลอดมาและอย่าให้ใครมาบอกว่านี่คือ ‘ประชาธิปไตยที่ไร้วุฒิภาวะ’