นโยบายปฏิรูปการศึกษาซึ่งรัฐบาลลุงตู่ทำมา 4 ปียังไม่ดังระเบิดเท่ากับผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ตัดสินใจทดลองให้นักเรียนชั้นมัธยมแต่งชุดไปรเวททุกวันอังคารแน่นอน มันสร้างความโกลาหลให้กับผู้ใหญ่สายอนุรักษ์นิยมในกระทรวงศึกษา แต่ก็เป็นความเบิกบานของผู้ปกครองหัวก้าวหน้าในประเทศไทยไม่ใช่หรือ…

โรงเรียนเอกชนเก่าแก่ แห่งแรกในประเทศไทย ก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ.2395 จนถึงปัจจุบัน มีอายุ 167 ปี ‘กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย’ หนึ่งในหมุดหมายสำคัญของพ่อแม่ผู้ปกครองรุ่นใหม่ ที่ต้องการให้บุตรหลานเรียนสายวิชาการเข้มๆ และกิจกรรมข้นๆ เรียกว่ากลมกล่อมกำลังดี

ปัจจุบันมี อาจารย์ศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ ผู้ที่นิยามได้ว่าเป็น ‘คนรุ่นใหม่’ เป็นไม้ผลัดใบ เพราะเมื่อแรกรับตำแหน่งอายุอานามเพียง 48 ปี ที่ผ่านมาเราอาจไม่ค่อยเห็นครูใหญ่ที่เติบโตมาจากสายดนตรี สายนักกิจกรรม แล้วนั่งในตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของโรงเรียนคริสต์เก่าแก่แห่งนี้มากนัก

ศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์

เมื่อดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนอย่างเป็นทางการ อ.ศุภกิจ สร้าง ‘เซอร์ไพร์ส’ ทันที ด้วยประกาศนโยบายว่ากรุงเทพคริสเตียนจะเป็นโรงเรียนแห่งแรกที่ส่ง ‘ดาวเทียม’ ซึ่งผลิตโดยฝีมือเยาวชนในรั้วม่วงทอง ขึ้นสู่อวกาศเป็นโรงเรียนแรกในประเทศไทยถือได้ว่าล้ำหน้ากว่าสถาบันการศึกษาอื่นๆ 

แน่นอน ปัจจัยหนึ่งคือมี ‘เงินถุงเงินถัง’ จากค่าเทอมและแป๊ะเจี๊ยะแรกเข้า งบประมาณก้อนใหญ่สามารถว่าจ้างเทนเนอร์จากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น มาช่วยสอนเด็กๆ ไม่นับค่าเช่าวงโคจร ค่าฐานปล่อยดาวเทียมนับดูแล้วก็ต้องมีหลักมากกว่าล้านบาท 

แต่ที่สำคัญกว่าตัวเงินนัก ก็คือ ‘วิสัยทัศน์’ ในการบริหารที่กล้าคิดกล้าทำ…เพราะจริงๆ ดาวเทียมเป็นเพียงเครื่องมือในการทะยานสู่เป้าหมาย ดึงดูดความสนใจ สื่อสารประชาสัมพันธ์ และการช่วงชิง ‘ธงนำ’ โรงเรียนมัธยมที่ล้ำในด้านเทคโนโลยี

เมื่อ อ.ศุภกิจ ขึ้นสู่ตำแหน่งใหม่ๆ ยังไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงเขามากนัก พูดง่ายๆ คือยังไม่ค่อยมีคนรู้จักยกย่อง ยกเว้น สมาคมนิสิตเก่าคณะมนุษยศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่มองเห็นความสามารถ ศักยภาพ และวิสัยทัศน์ของ อ.ศุภกิจ เป็นหน่วยงานเป็นองค์กรเพื่อสังคมแรกๆ ก็ว่าได้

โดยสมาคมนิสิตเก่าฯ ได้ประกาศมอบรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นทันทีเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2560 …. หลายคนอาจไม่ทราบว่า อ.ศุภกิจ เป็นอดีตนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาควิชาศิลปนิเทศ เอกดนตรีสากล เป็นนักกิจกรรมตัวยง เพื่อนร่วมรุ่นของอ.ศุภกิจ ซึ่งสังคมไทยน่าจะรู้จักกันดีก็คือ ‘ดำฟอร์เอฟเวอร์’  ซึ่งเป็นนักร้องที่โด่งดังมากในยุคนั้น 

อ.ศุภกิจในวันที่ยังสวมยูนิฟอร์มนิสิต เขาคือ นายกสโมสรนิสิตคณะมนุษยศาสตร์คนแรกของคณะฯ สะท้อนถึงบุคลิกความเป็นผู้นำของนักบริหารการศึกษาคนนี้ตั้งแต่ในวัยเยาว์

ในโอกาสที่ สมาคมนิสิตเก่าคณะมนุษยศาสตร์ฯ มอบรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นเมื่อสองปีก่อน อ.ศุภกิจ เคยบอกเล่าเรื่องราวชีวิตและแนวคิดของเขาเอาไว้อย่างน่าสนใจ….

“ความสำคัญของตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนเป็นเหมือนภาพกระจกสะท้อนของสถาบัน เป็นความคาดหวังของทุกคนในองค์กร คำว่ากรุงเทพคริสเตียนปัจจุบันไม่ใช่แค่นักเรียน ครู ผู้ปกครอง ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และเด็กที่กำลังจะเข้ามา โรงเรียนมีอายุร้อยกว่าปีแล้วจึงมีความคาดหวังของกลุ่มคนค่อนข้างมาก ด้วยความที่สถาบันเก่าแก่และข้อมูลหลายอย่างในปัจจุบัน บอกว่าเราไม่สามารถนั่งบนความภาคภูมิใจของชื่อเสียงในอดีตเพื่อให้ได้อยู่ระดับท้อปทรี ท้อปไฟว์ ท้อปเทนตลอดไป ปัจจุบันเราจึงเหมือนไม้ผลัดใบรุ่นใหม่ที่เข้ามา หลายสิ่งหลายอย่างนับเป็นความท้าทาย ทำอย่างไรให้ช่วงกราฟขึ้นขององค์กร ไม่ใช่กราฟตกในช่วงที่เราเป็นผู้อำนวยการ”

“…… ดังนั้น สิ่งที่เรากำลังทำอยู่คือหนึ่งรักษาสถานะไม่ให้โรงเรียนดรอปลงไป ขณะที่หลายๆ โรงเรียนที่อยู่ระดับเดียวกัน ดรอปลงไปด้วยหลายปัจจัย แต่กรุงเทพคริสเตียนเราต้องโกฟอร์เวิร์ด ความตั้งใจของผมคือคนรู้จักกรุงเทพคริสเตียนไม่ใช่แค่ในประเทศไทยแต่ต้องเวทีนานาชาติ เมื่อพูดถึงประเทศไทยต้องมี BCC อยู่ตรงนั้นด้วย เด็กเราจึงมุ่งเป้าเวทีโลก มีหลายอย่างที่เราจะพัฒนาหลักสูตรไม่ให้ด้อยไปกว่าระดับนานาชาติเรากำลังคิดภาพว่าเป็นโรงเรียนแรกของประเทศไทย ที่ส่งดาวเทียมขึ้นไปในอวกาศ”

สองปีผ่านไป อ.ศุภกิจ ทำอย่างที่ตั้งปณิธานไว้ว่าจะส่งดาวเทียมขึ้นสู่ท้องฟ้า ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าปี 2562 ทุกคนจะได้เห็นความก้าวหน้าตรงนี้ 

‘พี่ทอม’ ของน้องๆ ยังเป็นผอ.คนแรกที่มองการศึกษาผ่านสายตาของเด็กๆ มิใช่มองลอดแว่นของผู้ใหญ่ ด้วยการให้นักเรียนกรุงเทพคริสเตียนแต่ง ‘ชุดไปรเวท’ ได้สัปดาห์ละวัน จนสะเทือนเลื่อนลั่นกลายเป็นกระบวนการ ‘ปฏิวัติวัฒนธรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน’

โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนมีความเคลื่อนไหวอีกครั้ง ได้เชิญผู้ปกครองนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และ มัธยมศึกษาปีที่ 3 มาประชุมกันวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงถึงหลักสูตรการเรียนการสอนในก้าวต่อไป และแน่นอน นั่นคือการกล่อมเกลาไม่ให้ผู้ปกครองละทิ้งสถานศึกษาแห่งนี้ไปสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนชั้นนำแห่งอื่นๆ ซึ่งเป็นคู่แข่งตัวฉกาจ เช่น โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนสาธิตต่างๆ และโรงเรียนโยธินบูรณะ (ภาคภาษาอังกฤษ) เป็นต้น

โดย อ.ศุภกิจ ชี้แจงต่อผู้ปกครองที่มาในวันนั้นกว่า 300 คน โดยเฉพาะในเรื่องนโยบายการแต่งชุดไปรเวท โดยมองว่าหลังการทดลองพบว่าประสบความสำเร็จพอสมควร “มีคนเห็นด้วยกับเรามากแต่เหตุผลของผู้ไม่เห็นด้วย ก็มีหลักการที่โรงเรียนไม่รับฟัง ไม่ได้เช่นเดียวกัน”

ประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคม เสียงวิพากษ์วิจารณ์ ได้สร้างโอกาสดีที่ทำให้ทุกฝ่ายได้เห็นศักยภาพของโรงเรียน หลังจากนี้ อ.ศุภกิจ บอกว่า จะมีการปรึกษาหารือกันต่อไปว่าหลังจากนี้จะดำเนินการอย่างไร นำข้อมูลทั้งด้านการเรียน การวิจัย และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาประมวลผล

ในส่วนของเด็กประถม มีการประชุมกันแล้วเห็นว่ายังไม่พร้อมโดยเฉพาะในแง่ของความปลอดภัยส่วนบุคคล ทุกคนจึงคิดว่า “เอาไว้ก่อนดีกว่า วันนี้ขอเฉพาะเด็กมัธยมให้มั่นคง มีหลักการที่ดี ครูกำลังวิจัยอยู่ว่าจะเป็นอย่างไร แล้วอนาคตก็จะติดสินใจอีกครั้ง”

สำหรับแนวทางในปี 2562 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน จะใช้แนวคิดเรื่อง Happy Democracy หลังจากปีที่ผ่านมาใช้สโลแกนว่า School of Happiness โดยพยายามให้นักเรียนมีความเข้าใจคำว่า ‘สิทธิเสรีภาพ’ อย่างถูกต้องเหมาะสม เพราะปัจจุบันทุกคนรู้แต่ใช้สิทธิ แต่วิธีการใช้ที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร?

“โรงเรียนต้องการส่งเสริมให้เด็กกรุงเทพคริสเตียนมีความเป็นผู้นำใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อสังคมอย่างแท้จริง จะทำให้สิ่งดีๆ เกิดขึ้นได้ เราพยายามสอนเด็กให้รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างว่าสามารถพบได้ตามปกติไม่ควรปฏิเสธว่าความคิดต่างนั้นไม่ดี เพราะหลักการบางอย่างอาจตรงกันก็ได้ เราจึงเห็นควรเปิดโอกาสให้เด็กพัฒนาตรงนี้มากขึ้น”

ด้วยแนวคิด แนวทาง และการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง ทำให้โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ณ วันนี้ ถือเป็นสถาบันการศึกษาที่ร้อนแรงสุดแห่งปี เหมือนที่ อ.ศุภกิจ บอกว่า ตั้งแต่สื่อมวลชนโหมกระหน่ำนำเสนอข่าวเรื่องชุดไปรเวทออกไป ทำให้ทุกวันนี้มีผู้ปกครองมาสมัครเรียนในปีการศึกษา 2562 เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย

บอกได้เลยว่า…นี่อาจจุดประกายศักราชใหม่ของระบบการศึกษาไทย ที่สนับสนุนให้เด็กกล้า ‘คิดนอกกรอบ’ และมอบสิทธิเสรีภาพอย่างมีขอบเขตให้เรียนรู้…นั่นคือหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาที่ไม่ล้าหลังอย่างแท้จริง