[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Image_Widget”][/siteorigin_widget]
การปรับเปลี่ยนทัศนคติเรื่องความตายในสังคมไทย ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แม้จะมี มาตรา ๑๒ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ให้สิทธิ ผู้ป่วยระยะสุดท้าย เขียนหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาเพียงเพื่อยื้อต่อลมหายใจ แต่ในความเป็นจริงเรื่องนี้ยังมีหลายๆ ปัจจัยมาฉุดรั้ง อาทิ ค่านิยมเก่าๆ ความรัก ความกตัญญูบุพการี หรือแม้แต่จรรยาบรรณแพทย์ก็ไม่ยินดีถ้าจะต้องปล่อยคนไข้เสียชีวิต ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูหลักการทาง “ศาสนา” ถือเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่จะช่วยโน้มน้าวให้ผู้คนเห็นว่า การมีสุขภาวะที่ดีใน โมเมนต์สุดท้ายปลายทาง ของชีวิตคนเรานั้น ทำได้! โดยไม่ขัดหลักศีลธรรมอันดีงามไม่ว่าพุทธ คริสต์ หรืออิสลาม

เสียงสะท้อนของผู้นำจาก ๓ ศาสนา งานสัมมนา การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง สิทธิการตายดีตาม ...สุขภาพแห่งชาติ ประเด็นจริยธรรมและมิติทางศาสนาณ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา จังหวัดที่มีความหลากหลายในการนับถือศาสนามานับหลายร้อยปี..ชี้ชัด

ทุกฝ่ายล้วนมีความเห็นสอดคล้องกันว่าหลักการตายดี ตายอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่มีสายระโยงระยาง หรือผู้ป่วยจะกลับมารักษาตัวที่บ้านท่ามกลางลูกๆ หลานๆ พร้อมหน้าพร้อมตาแล้วจากไปอย่างไร้ความเจ็บปวดนั้น ไม่ผิดวิถีทางศาสนาใดๆ

ศาสนาอิสลามชีวิตเป็นของพระเจ้า

ถ้าผู้ป่วยหรือญาติ ไม่ปรารถนาจะรักษาแบบยื้อชีวิต ไม่เอาการใส่เครื่องช่วยหายใจ เจาะคอ ปั๊มหัวใจแรงๆ ก็สามารถทำได้แล้วและแพทย์ก็ควรให้ความเคารพในการตัดสินใจนี้ เช่นเดียวกัน…

“การทำหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาในวาระสุดท้ายไม่ยื้อชีวิต ผู้นับถือศาสนาอิสลามสามารถทำได้ ไม่ขัดหลักศาสนาที่เชื่อว่า ชีวิตเป็นหรือตายมาจากพระเจ้า ไม่เกี่ยวกับออกซิเจนหรือเครื่องช่วยหายใจ ส่วนการรักษาแบบประคับประคองนำผู้ป่วยมาดูแลต่อที่บ้าน ก็ไม่มีปัญหาเช่นกัน” อาจารย์โอปอล์ จันทนิตย์ ครูสอนศาสนาประจำมัสยิดอิสลามวัฒนา พระนครศรีอยุธยากล่าวไว้

ศาสนาอิสลามมีหลักปฏิบัติตน ๕ ประการคือ การปฏิญาณตน การละหมาด การถือศีลอด การบริจาคทาน และการไปทำฮัจญ์ให้ได้ใกล้ชิดกับพระเจ้า “ทางโรงพยาบาลจึงควรถามผู้ป่วยระยะสุดท้ายว่าต้องการให้ช่วยอะไรทางศาสนาบ้าง เขาก็จะมีความรู้สึกที่ดี”

คริสต์พุทธคำตอบสุดท้ายไม่ต่าง

ด้านผู้นำศาสนาคริสต์ในพื้นที่ อาจารย์ศิวชาติ แสงทอง กล่าวทำนองเดียวกันว่า การรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าโอกาสรอดมีน้อยหรือแทบหมดแล้ว สามารถถอดอุปกรณ์ต่างๆ ที่ระโยงระยางออก เพื่อกลับไปสู่การรักษาแบบปกติได้ ขอเพียงอย่าเร่งรัดความตาย เช่น ฉีดยาให้ผู้ป่วยเสียชีวิตก่อนกำหนดเรียกว่า การุณยฆาตอย่างนี้หลักศาสนาคริสต์ทำไม่ได้

“เมื่อระยะสุดท้ายมาถึง ป่วยหนัก จนพูดไม่รู้เรื่องแล้ว อยากให้พวกเราตอบสนองทางจิตวิญญาณตามที่ผู้ป่วยเค้าต้องการ ถือเป็นการให้ความรักต่อกันแม้ต่างศาสนา”

ขณะที่ พระครูอนุกูลศาสนกิจ เจ้าคณะอำเภอพระนครศรีอยุธยา ในฐานะพระชั้นผู้ใหญ่ที่ได้รับการนิมนต์มาสวดที่โรงพยาบาลจนกระทั่งผู้ป่วยหมดสัญญาณชีพอยู่บ่อยครั้ง และพระครูยังได้รับเชิญไปเทศนาที่บ้านกรณี ผู้ป่วยขอกลับไปรักษาแบบประคับประคอง

“หลักศาสนาพุทธคือให้พระนำทาง อ้อนวอนพระพุทธเจ้าให้นำจิตผู้ที่จากไปได้รับแต่สิ่งดีๆ เพราะเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดาของโลกนี้ ญาติที่ยังอยู่ก็ควรจะต้องมีสติ ลดความเศร้าเสียใจด้วย”

พระครูอนุกูลศาสนกิจมีความเห็นว่า การถอดเครื่องช่วยหายใจไม่ใช่ บาป แต่เป็น บุญและการให้ยา มอร์ฟีน ระงับปวดของแพทย์ พยาบาล ที่ทำตามความรู้และจรรยาบรรณนั้น…ก็ถือว่าทำถูกต้องแล้ว

“ถ้าอยู่โรงพยาบาลไปก็รักษาไม่ได้ โบราณท่านบอกว่าไปตายที่เดิมเถอะ กลับไปตายที่บ้าน บางคนเห็นหน้าลูกหลานอยู่ต่อได้อีกตั้งนานก็มี ทั้งๆ ที่หมอคิดว่า 1-2 วัน ก็จะจากไปแล้ว ยังยิ้มได้พูดได้อีก ก็มีมาก”

สื่อสารระหว่างกันสำคัญที่สุด

.ดร.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร คลินิกกุมารชีวาภิบาล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอีกผู้หนึ่งที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยระยะสุดท้ายทั้งเด็ก ผู้ใหญ่และผู้สูงวัยโดยเฉพาะในกรณีผู้ป่วยมะเร็ง เมื่อถึงสุดท้ายปลายทางคุณหมอก็มักจะแนะนำให้หันกลับมาสร้างคุณภาพชีวิต ด้วยการรักษาแบบประคับประคอง

ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ กล่าวว่า เวลาผู้ป่วยจะเสียชีวิตเช่นจากโรคมะเร็งก็จะลุกลามไป ๓ ส่วน คือ สมอง ปอด ตับ โดยจะไม่รู้สึกตัวแล้ว จึงไม่สามารถทำ Living Will ได้ ดังนั้นเราไม่ควรรอไปถึงวันนั้น สามารถทำหนังสือแสดงเจตนา ตั้งแต่ทราบว่าเป็นมะเร็งก็จะดีที่สุด

“ในฐานะแพทย์ควรมีวิธีการสื่อสารและเทคนิคการพูดที่ดี เชิญครอบครัวทุกคนมานั่งคุยแบบ Family Metting ปรับความเข้าใจเพื่อให้ทุกฝ่ายเคารพความตั้งใจของผู้ป่วย จากนั้นจึงพิจารณาว่าถ้าคุณแม่ต้องอยู่นานขึ้นแบบทุกข์ทรมาน ใส่ท่อหรือมีสายระโยงระยางแล้วจะเป็นชีวิตที่ดีหรือไม่?”

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยมีผู้สูงวัยและผู้ป่วยโรคเรื้อรังในระยะสุดท้ายจำนวนมาก ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เคารพต่อสิทธิของผู้ป่วย ดังนั้นมาตรา ๑๒ จึงเป็นประเด็นท้าทายในการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ครั้งสำคัญของสังคมไทยและวิชาชีพด้านสาธารณสุข

เมื่อรู้ว่าผู้ป่วยรักษาไม่ได้แล้ว ยื้อต่อไปยิ่งเพิ่มความทุกข์ทรมานให้นานเท่านั้น โรงพยาบาลสามารถทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น และสร้างดุลยภาพในการรักษา ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเปิดโอกาสแก่คนอื่นๆ ที่อาจจะอยู่รอดได้ต่อไป

“สช.ส่งเสริมให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ปรับปรุงนโยบายสาธารณะ พัฒนาการดูแลแบบประคับประคองอย่างมีคุณภาพ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดให้มีแพทย์ชุมชน หมอครอบครัว บทบาทจึงไม่ได้อยู่แค่ในโรงพยาบาล”

หากแนวทางทั้งหมดนี้เดินหน้าพร้อมๆ กันได้ เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลง ค่านิยมทางสังคม ศาสนา และสาธารณสุข ก็จะทำให้การตายดี ตายอย่างมีสุขภาวะ พัฒนาได้ต่อไปในอนาคต