สิ่งที่น่าสะพรึงกลัวมากที่สุดใน The United States Holocaust Memorial Museum ก็คือภาพถ่ายเมื่อนายทหารอเมริกันมาถึงค่ายกักกันชาวยิว เขามองเห็นผู้ที่ยังมีชีวิตรอดสภาพผอมโซเหลือแต่กระดูกแห้งเหี่ยว ขณะที่จิตวิญญาณเมื่อมองผ่านดวงตา….ก็น่าจะสูญสลายไปหมดสิ้น
พิพิธภัณฑ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่ 2 ณ กรุงวอชิงตันดีซี หรือ The United States Holocaust Memorial Museum ได้รับการยกย่องเป็นแหล่งรวมเรื่องราวและบทเรียนของการเข่นฆ่ามวลมนุษยชาติโดยนาซีเยอรมันที่แหลมคมมากสุดทั้งในแง่ของเอกสารหลักฐาน เสื้อผ้า รองเท้า วิกผม สะสมรูปเหตุการณ์จริงๆ ภาพนิ่ง ฟุตเทจ และสถานที่จำลอง ‘ห้องรมแก๊ซพิษ’ ที่สุดสะเทือนใจ
“พิพิธภัณฑ์นี้ไม่มีคำตอบ แต่ตั้งคำถามกับเราทุกคน”
“This Museum is not an answer. It is a question.”
การเดินทางไปพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ไม่มีอะไรลึกลับซับซ้อนครับ เพราะอยู่ใกล้ๆ กับ The National Mall หรือลงรถไฟใต้ดินก็ใช้สถานี Smithsonian แล้วเดินมาตามถนนสายที่ 14 ทางเดียวกับที่เราจะไปดูดอกซากุระรอบๆ Tidal Basin ซึ่งเป็นที่ตั้งของ Jafferson Memorial นั่นเอง
โดยมิวเซียมเปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่ 10.00 น. เป็นต้นไปจนถึง 17.30 น. ยกเว้นในฤดูใบไม้ผลิซึ่งก็คือฤดูท่องเที่ยว ช่วงประมาณปลายเดือนมีนาคม-กลางเดือนมิถุนายน ขยายเวลาเข้าชมได้ถึง 18.30 น.
หากใครเดินทางไปในช่วงเดือนมีนาคม-สิงหาคมเช่นเดียวกับผม ก็ควรจองบัตรเข้าชมล่วงหน้าทางออนไลน์ ถือเป็นวิธีที่ดีสุดครับ เพราะคือช่วง ‘พีค’ ของเค้า โดยระบุเวลาและรอบที่ต้องการไปเข้าชมด้วย
ส่วนเดือนอื่นๆ ที่นอกเหนือจากนี้ ในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการอย่าง www.ushmm.org ระบุว่าสามารถต่อคิวมารับบัตรได้บริเวณด้านหน้าของมิวเซียม หรือถ้าไม่ต้องการชมนิทรรศการถาวรที่จัดแสดงชั้นบนของพิพิธภัณฑ์ ทุกคนก็สามารถเข้าชมบริเวณโถงชั้นล่างอาคารได้ฟรี
แล้วก็ไม่น่าเชื่ออีกเช่นกันครับ ณ วันที่ผมไปนั้นมีผู้มาชมพิพิธภัณฑ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันมากมาย ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น-วัยหนุ่มสาวชาวอเมริกันและต่างชาติ พวกเขาสนใจในประวัติศาสตร์เมื่อ 70-80 ปีที่ผ่านมาอย่างใจเต้นรัว
“มันเกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นมันอาจจะเกิดขึ้นอีกและสามารถเกิดขึ้นได้ทุกๆ ที่”
“It happened.Therefore it can happen again.And it can happen everywhere.”
Primo Levi …นักเขียนผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กล่าวไว้ในไกด์บุ๊คของมิวเซียมแห่งนี้
โดยทุกวันพุธและพฤหัสในช่วงฤดูใบไม้ผลิ เจ้าหน้าที่จะนำผู้รอดชีวิตชาวยิว ตัวจริง เสียงจริง จากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ มาแชร์เรื่องราวให้ทุกคนได้สัมผัสชีวิตจริงสุดโหดร้ายของพวกเขา ซึ่งผมดูแล้วท่านน่าจะอายุราวๆ 90 ปี แต่ยังแข็งแรงแม้จะต้องนั่งรถเข็นแล้วก็ตาม
มิวเซียมจัด Metting ให้คนสองวัยได้พบกันเป็นคอนเนอร์พิเศษที่บริเวณชั้น 1 ใกล้ๆ กับโต๊ะ Information Center ซึ่งปรากฎว่าได้รับความสนใจจากผู้คนรุมล้อมมากมาย สอบถามถึงบรรยากาศชีวิตในค่ายกักกันอันรันทด ยิงคำถามกันแบบอุตลุตจนแทบตอบไม่ทันทีเดียว
ปลุกกระแสความเกลียดชังทางเชื้อชาติ
เมื่อได้เวลาที่รอคอย เจ้าหน้าที่จะพาพวกเราขึ้นลิฟต์ไปทีละรอบๆ ละ 30-40 คน จริงๆ ก็ไม่ได้สูงอะไรเท่าไหร่เลยครับ ไปแค่ชั้น 4 ของอาคารนั่นเอง แต่มิวเซียมเค้าจำลองบรรยากาศพิเศษภายในลิฟต์ให้รู้สึกแออัดยัดเยียดคล้ายๆ กับพาหนะหรือตู้รถไฟที่ชาวยิวถูกขนส่งไปยังค่ายกักกันประเทศต่างๆ หลังทหารเยอรมันจับกุมตัวมาจากชาติยุโรปที่นาซีเข้าไปยึดครองได้สำเร็จ เช่น โปแลนด์ เนเธอร์แลนด์ นี่คือวิธีอินโทรที่น่าสนใจมากใช่มั้ยครับ
พอเปิดประตูลิฟต์ออกมาแล้ว ก็เข้าสู่โหมด ‘จุดเริ่มต้น’ ของนิทรรศการมีชีวิตเป็นการ ถอดปริศนา? หาคำตอบว่าทำไมจึงเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยทำให้แกลเลอรี่มีไดเมนชั่น ไม่ใช่แค่คอนเทนท์แต่รวมถึงวิธีเร้าอารมณ์ ด้วยการสร้างทางเดินแคบๆ ผู้ชมต้องเบียดเสียดกันชมในบางจุด เหมือนเส้นทางของชาวยิวอพยพก่อนจะเดินไปสู่หายนะ
นิทรรศการมีฟุตเทจเก่าๆ ซึ่งหาชมได้ยาก ภาพโพรพากานดาของผู้นำเผด็จการนิยมอย่าง ‘ฮิตเลอร์’ สะท้อนว่าตัวเขามีวิธีคิดอย่างไร ทำไมต้องเป็นชาวยิว ยุทธการปลุกใจทหารและประชาชน จนเครื่องหมาย ‘สวัสดิกะ’ กลายเป็นสัญลักษณ์ทางจิตใจอันฮึกเหิม และวิธีให้ความเคารพ แบบ ‘ไฮ ฮิตเลอร์’ ที่ถูกสถาปนาขึ้น ทั้งหมดทั้งมวลล้วนมีหลักฐานภาพและเสียง ไล่เรียงเหตุการณ์จริงๆ ในประวัติศาสตร์ได้อย่างน่าสนใจ
มหาสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือ World War 2 เปิดฉากขึ้นในปี 1939 นำโดยจอมเผด็จการแห่งนาซีเยอรมัน ร่วมกับพันธมิตรสำคัญในเอเชียคือญี่ปุ่นและอิตาลีในยุโรป เป้าหมายหนึ่งที่ฮิตเลอร์ปลูกฝังความเกลียดชังก็คือ ‘ชาวยิว’ ในเยอรมัน ไม่ใช่ชาติพันธุ์ ‘อารยัน’ ซึ่งมีความสูงส่งเหนือชาติพันธุ์อื่นๆ ชาวยิวจึงต้องถูกกำจัดให้หมดไป โดยเริ่มจากกดขี่ด้วยมาตรการทางสังคม กฎหมาย และสุดท้ายคือการสังหาร
ทั้งที่จริงๆ แล้ว มีชาวยิวอาศัยและทำงานอยู่ในเยอรมันเพียง 5 แสนคน หรือคิดเป็น 1% ของประชากรเท่านั้น ชาวยิวจำนวนมากคิดว่าครอบครัวตัวเองเป็นชาวเยอรมันไปแล้ว จึงไม่ย้ายออกไป เพราะไม่คิดว่าวิกฤตการณ์ในวันนั้นจะเกิดขึ้นจริงได้
การแบ่งแยกชนชั้น จุดประกายจากปี 1933 เมื่อฮิตเลอร์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเยอรมัน และสถาปนาอาณาจักรรัฐนาซีขึ้น เขาประกาศไม่รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวยิว ปฏิเสธความปลอดภัยของผู้เห็นต่างทางการเมือง กลุ่มรักร่วมเพศ และพยานพระยะโฮวา Jehovah’s Witnesses ซึ่งเป็นอีกความเชื่อทางศานาคริสต์ ซึ่งนับถือพระเจ้าคนละองค์ ไม่ยอมรับในพระเยซูและศาสนจักร
กระทั่งสงครามโลกเริ่มต้นหลังฮิตเลอร์บุกยึดครองโปแลนด์ในปี 1939 และเคลื่อนทหารสู่หลายประเทศในยุโรป มีการสร้างค่ายกักกันสำหรับคนไม่ใช่อารยัน หรือ Warsaw Ghettos มีชาวยิวถูกเคลื่อนย้ายเข้ามาใช้แรงงานทาส อดอยาก และเกิดโรคระบาดในค่าย มีผู้เสียชีวิตลงจำนวนมาก พวกที่เหลืออยู่ก็จะถูกทยอยส่งไปยังค่ายกักกันอื่นๆ ซึ่งสภาพไม่แตกต่างกัน จนกระทั่งชาวยิวมีการลุกฮือขึ้นมาต่อสู้กับทหารนาซีเยอรมัน แต่จุดจบก็คือความตายและเผา Ghettos ที่ใหญ่สุดในยุโรปแห่งนี้ลง
พร้อมๆ กันนั้น มีการปรับกระบวนยุทธ์ใหม่ของฮิตเลอร์ คือการสร้างค่ายกักกันอีกหลายแห่งในยุโรปโดยเฉพาะในโปแลนด์ ดังชื่อค่ายที่รู้จักกันดีนามว่า Auschwitz (1940-1945) และเพิ่มมือสังหารด้วยการยิงเป้า ใช้ยาพิษ รวมถึงใช้วิธีรมแก๊สพิษเพื่อจะได้สามารถฆ่าชาวยิวได้ครั้งละมากๆ โดยไม่สิ้นเปลืองยุทโธปกรณ์ โดยมีชาวยิวตายที่ค่ายนี้มากถึง 1 ล้านคน
สหรัฐอเมริกาผู้ตื่นจากภวังค์
ระยะแรกดูเหมือนพญาอินทรีแห่งสหรัฐไม่มีปฏิกิริยา รัฐบาลยังหลับใหลต่อเสียงกัมปนาถ ปล่อยให้ฮิตเลอร์ขยายอำนาจออกไปเรื่อยๆ แต่เริ่มมีข่าวลือออกมาทางสื่อมวลชนมะกัน ถึงแผนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของฮิตเลอร์ กระนั้นรัฐบาลอเมริกาก็ใช้เวลาเช็คข่าวนี้ว่าจริงหรือไม่ ใครจะบ้าอำนาจชาติพันธุ์ได้ถึงขนาดนี้ ประกอบกับภาวะดังกล่าวการเมืองภายในสหรัฐเองก็ระส่ำระสาย จากเศรษฐกิจไม่ดีนัก
เมื่อภัยอันตรายยังไม่มาถึงตัว ความกลัวก็ไม่บังเกิด กระทั่งเหตุการณ์ช็อคโลกเมื่อกองทัพญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ลฮาเบอร์ที่ฮาวายในเดือนธันวาคม 1941 ปลุกพญาอินทรีจากสภาพงัวเงียให้ลุกขึ้นมากางปีกแสดงแสนยานุภาพ ประธานาธิบดีแฟรงคลิน รูสเวลล์ ประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ทันที ด้วยการร่วมกับพันธมิตร ส่งทหารไปยังแผ่นดินยุโรป อาฟริกา และเอเชีย หนึ่งในปฏิบัติการที่สำคัญคือช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมสงคราม จนเมื่อสงครามโลกยุติในปี 1945
“When Allied troops entered the concentration camps, they discovered piles of corpses, bones, and human ashes—testimony to Nazi mass murder. Soldiers also found thousands of survivors—Jews and non-Jews—suffering from starvation and disease”
“เมื่อทหารอเมริกันเคลื่อนไปสู่แคมป์ชาวยิว แล้วพบกองศพจำนวนมากและเถ้าถ่านของมนุษย์ เป็นการแสดงหลักฐานการฆาตรกรรมของนาซีเยอรมัน ขณะเดียวกันทหารก็พบผู้รอดชีวิตหลายพันคนทั้งชาวยิวและไม่ใช่ชาวยิว ล้วนบาดเจ็บ ป่วยไข้ด้วยโรคระบาดและอดอาหาร”
รัฐบาลสหรัฐมีส่วนร่วมช่วยเหลือและรับผู้อพยพชาวยิวได้ถึง 800,000 คน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติตั้งแต่ปี 1945-1952 มีการตรากฎหมายพิเศษจากสภาคองเกรส เพิ่มโควตาการรับชาวยิวสู่อ้อมอกดินแดนแห่งเสรีภาพ กระนั้นก็ตาม ดูเหมือนว่าการเยียวยา ไม่สมดุล กับความสูญเสียมหาศาล เพราะมีชาวยิวผู้บริสุทธิ์ทั่วยุโรปต้องสังเวยชีวิตด้วยความโหดร้ายครั้งนี้ไปแล้วถึง 6 ล้านคน จากจำนวนทั้งหมด 9 ล้านคน
ภาพชีวิตชาวยิวสุขสม–ขมขื่น
นิทรรศการได้เชื่อมร้อยเหตุการณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน นับตั้งแต่ความรุ่งเรืองของฮิตเลอร์ ผู้ปลุกกระแสความเกลียดชัง วิธีทารุณกรรมอันโหดร้าย ผู้นำประเทศที่ร่วมมือก่ออาชญากรรม และบุคคลต่างๆ ที่ช่วยเหลือชาวยิวด้วยมนุษยธรรม จนถึงจุดจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งกินเวลายาวนาน 6 ปี ทำให้ความจริงอันน่าตื่นตระหนกถูกเปิดเผยออกสู่สายตาชาวโลก
บริเวณชั้น 4 เป็นนิทรรศการที่แสดงให้เห็นถึง ‘แรงดลใจ’ ทำให้ฮิตเลอร์และคนเยอรมันภูมิใจในความเป็นชนชาติของตัวเองและเกลียดชังชนชั้นที่ต่ำกว่าโดยถือว่ายิวคือ “enemies of the state.”
ไฮไลต์สำคัญอยู่ที่ชั้น 3 คือช่วงเวลาแห่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ระหว่างปี 1940-1945 การสร้างค่ายกักกันชาวยิวซึ่งก็คือสลัมดีๆ นี่เอง โดยมิวเซียมมีการสร้างสรรค์แอเรียแห่งความตาย ตู้รถไฟที่ไม่ได้บรรทุกสินค้า แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์
รวมถึงนิทรรศการ…รองเท้าของชาวยิว นับพันคู่ที่ถูกถอดไว้ ก่อนจะเดินเข้าไปในโรงบ่มก๊าซพิษ เจ้าของรองเท้าเหล่านั้นอาจมีทั้งเด็ก ผู้หญิง ครอบครัว และคนแก่ ทุกคนต่างถูกพิพากษาด้วย ‘ความเชื่อ’ มิใช่ ‘ความผิดบาป’
รายชื่อชาวยิว ‘เหยื่อ’ ของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ได้รับการหวนรำลึกถึงด้วยการจารึกชื่อเอาไว้ทั่วอาณาบริเวณชั้น 2 ของมิวเซียม ทั้งบนฝาผนัง บนแผ่นกระจก และมีห้อง Hall of Remembrance ที่ให้ผู้เข้ามาเยือน ‘จุดเทียน’ ระลึกถึงเพื่อนมนุษย์อีกด้วย
ภาพถ่ายใบหน้า วันเวลาแห่งความสุข ความเศร้า และความสูญเสียจำนวนนับพันนับหมื่น ถูกถ่ายทอดให้เห็นอดีตอัน สุขสมและขมขื่น เตือนทุกคนให้รับรู้ว่าความเกลียดชังสามารถทำลายเพื่อนร่วมโลกได้มากมายถึงเพียงนี้เชียวหรือ และหวังว่าความสะเทือนใจเหล่านี้จะส่งผลต่อแนวคิดเรื่อง ‘สิทธิความเป็นมนุษย์’ ยกระดับโลกในปัจจุบันให้ดีกว่าที่ผ่านมา
“The Museum is a living memorial to the Holocaust, inspiring citizens and leaders worldwide to confront hatred and prevent genocide.
“พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ทำให้ความทรงจำของความโหดร้ายจากการสังหารหมู่ดำรงอยู่ต่อไป ส่งผ่านแรงบันดาลใจให้แก่ประชาชนและผู้นำทั่วโลกที่จะต้องกล้าเผชิญหน้าและปกป้องพลเมืองจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เช่นนี้”
The United States Holocaust Memorial Museum นำทุกสิ่งที่เหลืออยู่เหล่านี้มาจัดแสดงไว้ โน้มน้าวทิ่มแทงส่วนลึกของผู้ชม…ไปจนถึงแก่นแกนแห่งจิตวิญญาณ