พิพิธภัณฑ์สื่อสารมวลชน หรือ NEWSEUM นำเสนอสุดยอดเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกไว้โดยช่างภาพระดับโลก โมเมนต์ที่เปี่ยมด้วยมนต์ขลัง สร้างแรงบันดาลใจและได้รับการการันตีโดย คณะกรรมการสถาบัน Pictures of the Year International หรือ POYi ก่อตั้งโดยมหาวิทยาลัยมิสซูรี่ที่มอบรางวัลอันทรงเกียรตินี้ นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1944 หรือกว่า 7 ทศวรรษที่ผ่านมา
อาคาร 7 ชั้นและสถาปัตยกรรมอันทันสมัยตั้งตระหง่านบนถนนเพนซิลวาเนีย กึ่งกลางระหว่าง The Capitol รัฐสภา และ White House ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐ…NEWSEUM เปิดให้บริการเมื่อปี 2008 นี่คือพิพิธภัณฑ์ที่อัดแน่นด้วยพลังแห่งศิลปะการเล่าเรื่องราวทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม นำเสนอมุมมองผ่านการทำงานของสื่อมวลชนทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และดิจิทัล สะท้อนให้สังคมได้เห็นคุณค่าของความเหนื่อยยาก กว่าจะได้ข่าวหรือภาพดีๆ สักชิ้น ตีพิมพ์ออกมา บางครั้งคราก็ต้องแลกด้วยเลือด ชีวิตและน้ำตา
รายละเอียดของนิทรรศการ คือความเคลื่อนไหวจากทั่วทุกมุมโลกซึ่งมีศูนย์กลางหลักอยู่ในสหรัฐอเมริกา แม้จะถูกกล่าวหาว่าเอียงข้าง สร้างตัวเองให้เป็นฮีโร่ แต่ต้องยอมรับว่าสหรัฐคือ ‘ตักศิลา’ แห่งวงการสื่อสารมวลชน ความก้าวล้ำทางเทคโนโลยี การปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย รูปแบบนำเสนอที่โดดเด่น ต้นตำรับ ‘ปรัชญา’ การทำงานรับใช้สังคม และสำนักงานใหญ่ซึ่งมีเครือข่ายใยแมงมุมทุกทวีป ไม่ว่าจะเป็น นสพ. Washington Post, CNN, NewYork Times, Times Magazine, Voice of America, ABC News, NBC News และ Bloomberg ฯลฯ
องค์กรสื่อระดับโลกรวมพลังสร้างพิพิธภัณฑ์
ไม่อยากเชื่อเลยครับว่า NEWSEUM จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวซึ่งทุกคนปักหมุดแล้วว่า ‘สุดแนว’ ได้รับความนิยมล้นหลามจากผู้มาเยือนกรุงวอชิงตันดีซี เมื่อรวมระยะเวลาเปิดดำเนินการ 10 ปี มีผู้มาชมกว่า 7 ล้านคน แต่เนื่องจาก NEWSEUM ริเริ่มโดยความร่วมมือของภาคเอกชน มูลนิธิต่างๆ สำนักข่าวใหญ่ๆ ซึ่งมีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน จนถึงบริษัท Time Warner และ Hewlett-Packard มีเสาหลักผู้รับผิดชอบโดยตรง ก็คือ สถาบัน ‘Freedom Forum’ องค์กรการกุศลไม่แสวงหากำไร แต่มุ่งส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและอุทิศการทำงานครั้งนี้ “Free Press, Free Speech and Free Spirit for All People” ดังนั้นการเข้าชมจึงต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 24.95 ดอลลาร์ต่อคน
หากเรามาเที่ยวกับบริษัททัวร์ส่วนมาก ก็มักจะไม่ค่อยอยู่ในโปรแกรมนักเพราะถือเป็นความสนใจเฉพาะกลุ่ม แต่ผมคิดว่ามันช่างคุ้มค่ากับการเสียเวลากว่า 3 ชั่วโมงไปกับการเสพสรรพสาระผ่าน Fact News ทุกๆ ชั้นจึงมี ‘ธีม’ ที่นำเราย้อนสำรวจ ‘โมเมนต์แห่งชีวิต’ บุคคลยิ่งใหญ่ระดับตำนาน ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมโลก ซึ่งตราอยู่ในความทรงจำตลอดกาล
ยกตัวอย่างเหตุการณ์ การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน ซึ่งเคยแบ่งแยกโลกคอมนิวนิสต์และประชาธิปไตย ระหว่างเยอรมันตะวันออกและเยอรมันตะวันตก การเปิดม่านเหล็กด้วยนโยบาย ‘กลาสนอสต์’ (Glasnost) และ ‘เปเรสทรอยก้า’ (Perestroika) ของอดีตสหภาพโซเวียต เหตุการณ์ระเบิดครั้งใหญ่ที่เมืองโอคลาโฮมา สังหารหมู่ชีวิตประชาชนและเด็กๆ ไปถึง 168 คน บาดเจ็บอีก 680 คน ในปี 1995 ซึ่งต่อมาถูกเรียกขานว่า OKBOMB!
ตื่นตาตื่นใจกับเฮลิคอปเตอร์ถ่ายทอดสด
เมื่อก้าวเข้าไปภายใน NEWSEUM บริเวณโถงใหญ่ของ Atrium Floor เราตื่นตาตื่นใจกับดาวเทียมเพื่อการสื่อสารดวงแรก ATS-1 ของนาซาที่ลอยขึ้นไปเหนืออวกาศ ช่วยให้เพลง ‘All You Need is LOVE’ ของเดอะบีเทิล ดังเป็นพลุแตก หลังการออกอากาศสดๆ จากห้องบันทึกเสียง ณ กรุงลอนดอนในปี 1967 ผ่านสถานีโทรทัศน์สู่จอทีวีเป็นครั้งแรก และเฮลิคอปเตอร์ ‘JetRanger’ ที่สำนักข่าวชั้นนำลงทุนซื้อมาใช้ในยุคที่โดรนยังไม่แพร่หลายเช่นปัจจุบัน เป็นเครื่องมือถ่ายทอดสดให้ผู้ชมได้เห็นเหตุการณ์สำคัญหลายต่อหลายครั้ง
Orientation Theaters โรงหนังแบบมินิขนาดความจุประมาณ 50 คน นำเราไปพบกับสารคดี ‘What ’s News?’ เพื่ออธิบายเควสชั่นที่ว่า ทำไมข่าวจึงเชื่อมโยงกับผู้คนทั่วโลกและเชื่อมต่อเจเนอเรชั่นต่อเจเนอเรชั่น ได้อย่างแนบแน่น สะท้อนทั้งเรื่องของ สงครามและสันติภาพ รักและความเกลียดชัง ความเป็นและความตาย วิทยาการและความล้าหลัง สิทธิพลเมืองและการกดขี่ ทั้งหมดมีแสดงไว้ใน NEWSEUM แห่งนี้
อลังการภาพข่าวเหตุการณ์สำคัญแห่งยุค
ใกล้ๆ กับมินิเธียเตอร์ มีนิทรรศการที่น่าสนใจมากในช่วงที่ผมไปเดือนเมษายน ทาง NEWSEUM จัดแสดงโชว์ ‘รูปถ่ายแห่งปี : ในโอกาสครบ 75 ปีของภาพข่าวที่ดีที่สุดในโลก’ (Pictures of the Year: 75 Years of the World’s Best Photography) ซึ่งสถาบัน Freedom Forum แห่งนี้มีการเก็บภาพข่าวประวัติศาสตร์สำคัญๆ ไว้กว่า 40,000 ภาพ ทั้งของผู้ที่ได้รับรางวัลและของผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลจากนานาชาติ เรื่อยมานับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 วิวัฒนาการมาจนถึงโลกทุกวันนี้
ผมเลยถือเป็นโอกาสดีสุดๆ แบบลืมไม่ลงทีเดียวเพราะส่วนตัวก็เคยอยู่ในอาชีพผู้สื่อข่าวเป็นเวลาถึง 15 ปี และสองคือเราได้ยลโฉมฝีมือช่างภาพระดับพระกาฬ ซึ่งนิทรรศการนี้เรียงลำดับให้เราเห็นชอตต่างๆ ตามช่วงเวลาในหน้าประวัติศาสตร์ และทาง NEWSEUM ยังมีหนังสั้นจากการสัมภาษณ์เจ้าของผลงานอีกด้วย อีเวนท์นี้จะมีไปจนถึงเดือนมกราคม 2019 เท่านั้น
และเช่นเดียวกันครับ อีกหนึ่งห้องที่ขาดไม่ได้ก็คือ Pulitzer Prize Photographs ที่นำภาพข่าวชนะรางวัลพูลิตเซอร์ นับตั้งแต่ ค.ศ.1942 โดย มิลตัน บรูคส์ ช่างภาพของหนังสือพิมพ์ The Detroit News ได้รับเป็นคนแรก ผมคิดว่าหลายๆ ภาพในนั้นเราคงเคยได้เห็นมาอย่างคุ้นตา เช่น ‘Terror of War’ หรือ ‘Napalm Girl’ โดยช่างภาพสำนักข่าว AP ผู้มีนามว่า Nick Ut ถ่ายทอดความรู้สึกเด็กน้อยชาวเวียดนาม ที่วิ่งด้วยร่างเปลือยเปล่าร้องไห้ไปตามถนน ในเหตุการณ์ทิ้งระเบิดนาปาล์มของสหรัฐเมื่อปี ค.ศ.1972
และภาพของผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองนามว่า บารัค โอบามา ณ วันที่เค้าเป็นเพียงผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตเมื่อค.ศ.2008 โดย Damon Winter ช่างภาพ The NewYork Times จับจังหวะการปราศรัยในแคมเปญหาเสียงครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ท่ามกลางพายุฝนอันหนาวเหน็บและผู้คนนับหมื่นแสน “เขามองดูเข้มแข็งและกำลังแสดงความท้าทาย” Damon Winter บอกด้วยว่า “แล้วหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น บารัค โอบามา กลายเป็นนักการเมืองเชื้อสายอาฟริกัน-อเมริกันคนแรกในประวัติศาสตร์ ที่ก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ”
Front Page เรือไททานิคถึงเหตุการณ์ 9/11
แน่นอนพิพิธภัณฑ์ยังได้อุทิศพื้นที่ขนาดใหญ่ สำหรับ ‘9/11 Gallery’ เหตุการณ์ก่อการร้ายที่ระทึกขวัญมากที่สุดในโลก นั่นคือการใช้เครื่องบินถล่มตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 มีหนังสือพิมพ์กว่า 200 เล่ม ที่ผลิต ‘ฉบับพิเศษ’ ออกมา เพื่อนำเสนอเนื้อหาเหตุการณ์นี้โดยเฉพาะ หนึ่งในนั้นคือ The NewYork Times ที่ขายหมด 400,000 เล่มภายในเวลาอันรวดเร็ว และภาพที่ตีพิมพ์หน้าแรกนั้นได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ด้วยเช่นเดียวกัน
ความสำเร็จประการหนึ่งของ NEWSEUM ที่ผมไม่ค่อยเห็นบ่อยนักในเมืองไทย ก็คือความร่วมมือของสำนักข่าวใหญ่ยักษ์ระดับโลกที่อุทิศจิตวิญญาณและทรัพยากรข่าวอันทรงคุณค่า มาแบ่งปัน นำเสนอ และจัดแสดงให้กับสาธารณชนได้รับรู้อย่างได้เป็นเนื้อเดียวกัน
ห้อง NEWS HISTORY GALLERY สะท้อนเรื่องราวตลอด 500 ปีของหน้าข่าวกว่า 30,000 ชิ้น เริ่มจากกระดานข่าว ใบปลิว หนังสือพิมพ์ นิตยสาร การถ่ายทอดเสียงวิทยุ ห้องส่งโทรทัศน์ และระบบอินเตอร์เน็ต มีการนำฟุตเทจทีวีที่ล้วนหาชมได้ยากยิ่ง รวมถึงหน้าปกหนังสือพิมพ์ Chicago Daily Tribune ในปีค.ศ. 1948 ซึ่งพาดหัวตัวเบ้อเริ่มว่า ‘โทมัส เดวีย์ เอาชนะ เฮนรี ทรูแมน’ ในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งความจริงปรากฎความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่สุดในวงการสื่อสารมวลชน เพราะผลการเลือกตั้งออกมาตรงกันข้าม
หรือแม้กระทั่งหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ The NewYork Herald ในวันอันมืดมิดที่ ‘เรือไททานิค’ จมลงก้นมหาสมุทรและมีผู้เสียชีวิตถึง 1,800 คน ไปจนถึงเครื่องพิมพ์ดีดยี่ห้อ CORONA ที่ ‘เออร์นี่ ไพลด์’ นักข่าวสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้นำอุปกรณ์ชิ้นนี้ติดตัวไป ท่ามกลางเสียงปืนกลและการทิ้งระเบิดในยุโรปและมหาสมุทรแปซิฟิค เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวกลับมาให้ประชาชนได้รับรู้
พิพิธภัณฑ์บันทึกไว้ว่า ผู้คนทั่วโลกนิยมอ่านหนังสือพิมพ์ประมาณ 1,000 ล้านคน แต่มีแนวโน้มจะลดลงไปทุกปีเนื่องจากนิวมีเดียเข้ามาแทนที่ โดยคนจีนยังเป็นชาติที่นิยมอ่านหนังสือพิมพ์มากที่สุด ราวๆ 100 ล้านคน ผู้มาเยี่ยมชมจะได้พบการจัดแสดง Daily Front Pages การนำเอาหน้า 1 หนังสือพิมพ์ทุกฉบับจากทั่วโลกกว่า 80 เล่ม มาวางแผงแบบวันต่อวัน ทำให้เรารู้ว่าวันนี้ นสพ.ในแดนมังกรพาดหัวข่าวเรื่องอะไร แล้วในฝรั่งเศสล่ะ สนใจเรื่องเดียวกันหรือไม่ เทียบกันแบบคอลัมน์ต่อคอลัมน์ หัวต่อหัว ภาพต่อภาพ ลีลาการจัดหน้ากระดาษที่สวยงามแตกต่างกัน
ในหนังสือ Official Guide ของพิพิธภัณฑ์ระบุไว้ว่า หนังสือพิมพ์เหล่านี้ถูกส่งมาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศออสเตรเลียกว่า 800 เล่ม รวมถึงจากอีก 50 รัฐของสหรัฐอเมริกา ตอนประมาณตี 2 ก่อนเจ้าหน้าที่ของ NEWSEUM จะคัดเลือกมาดีสเพลย์บนบอร์ดนิทรรศการในตอนเช้าตรู่
จัดอันดับเสรีภาพสื่อ 193 ประเทศทั่วโลก
แม้เจตนารมณ์ในการสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จะสูงส่งคุณค่าสักเพียงใด แต่ในสถาบัน Freedom Forum ยังเชื่อว่า “ประชาชนส่วนใหญ่ของโลกใบนี้ ยังอาศัยอยู่ในประเทศที่ขาดเสรีภาพของสื่อมวลชน” และเพื่ออธิบายความจริงนี้ให้ชัดเจนมากขึ้น พิพิธภัณฑ์ NEWSEUM จึงได้แสดงแผนที่ขนาดใหญ่บนผนังห้อง ‘World News Gallery’ โดยแบ่งสถานการณ์สื่อของโลกนี้เป็น 3 สี ได้แก่ พื้นที่สีเขียว = Free สีเหลือง=Partly Free และสีแดง = Not Free
สะท้อนความยากลำบากในการทำงานของนักสื่อสารมวลชน 193 ประเทศ บ่งบอกถึงความเป็นประชาธิปไตย อุปสรรคทางกฎหมาย การขาดสิทธิในการพูด อ่าน เขียน และเผยแพร่ข้อเท็จจริงสู่ประชาชนในประเทศเหล่านั้น ว่ามีได้มากน้อยเพียงใด ปรากฎว่าทวีปเอเชียส่วนใหญ่ยังอยู่ในโซนสีแดง ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย
“Let the people know the facts, and the country will be safe” Abraham Lincoln
“ให้ประชาชนรับรู้ข้อเท็จจริง, แล้วประเทศชาติจะปลอดภัย” อับราฮัม ลินคอล์นกล่าวไว้…น่าจะเป็นบทสรุปของคำว่าสิทธิเสรีภาพได้อย่างดีที่สุด