[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Video_Widget”][/siteorigin_widget]

วัยเยาว์ของหลายคน คงหลงรักหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น ซึ่งไม่เพียงสร้างความสุข ความฝัน แต่ยังส่งผ่านแรงบันดาลใจมาถึงชีวิตปัจจุบัน เช่นเดียวกับเด็กสมัยนี้ก็มีโลกส่วนตัวที่พวกเขาสนุกสนานกับมันในเกมแอนิเมชั่นซึ่งเปลี่ยนผันจากโลกเสมือนในสมาร์ทโฟน มาสู่การแข่งขันแบบ E-Sport เต็มตัว

แม้ถูกตีความอย่าง จำกัด จากนักสังคมสงเคราะห์และสาธารณสุขศาสตร์ว่าอีสปอร์ตเป็นแค่การโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อใช้สื่อกระตุ้นความอยากของเด็กๆ โดยภาคธุรกิจหรือผู้ผลิตเกมอยู่เบื้องหลัง และมองว่านี่คือหายนะของสุขภาพจิตเยาวชนไทยอย่างรุนแรง

นักอุดมคติเหล่านี้เรียกร้องผู้มีอำนาจผ่านเวทีต่างๆ กดดันการกีฬาแห่งประเทศไทยให้ทบทวนหรือ ยกเลิก การรับรองอีสปอร์ตเป็นกีฬาซึ่งดำเนินมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2560 อ้างอิงข้อมูลจากการวิจัยที่ไปสำรวจเพียงด้านลบแล้วพบว่า การเสพติดเกม ของเด็กๆ สร้างปัญหาสุขภาวะและครอบครัว

ขณะที่ความเป็นจริงอีกด้านหนึ่ง ยังมีเด็กไทยอีกจำนวนนับล้านที่ไม่ได้อยู่ในผลการสำรวจ พวกเขาหลงใหลให้ความรักโลกแห่งจินตนาการ ชื่นชอบยุทธวิธีในการต่อสู้กับตัวละครต่างๆ ซึ่งเกมเมอร์ออกแบบมาอย่างน่าสนุกสนาน แน่นอน มันมีราคาที่ต้องจ่าย แต่ก็มีพัฒนาการด้านบวกท่ามกลางทัศนคติเชิงลบซึ่งผู้ใหญ่ยัดเยียดให้อยู่ในนั้นเช่นกัน

การตัดสินว่าอีสปอร์ตเลวร้ายของคนบางกลุ่ม เหมารวมว่าเกมออนไลน์ทำลายสุขภาพ จึงใช้ ไม้บรรทัดความคิด ที่ขาดสมดุล ไปจนถึง ความรู้สึกเชิงลบ เพียงด้านเดียว โดยไม่มองบริบทสังคมโลกสมัยใหม่ ไม่มองเจนเนอเรชั่นที่ต้องก้าวไปข้างหน้าในศตวรรษที่ 21 ยุคของการแข่งขันทางเทคโนโลยี ที่สำคัญคือผู้ใหญ่เหล่านั้นมองเกมด้วยสายตาที่คับแคบ

ทั้งที่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมยังมีพื้นที่ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และสร้างสรรค์งานอีกมาก อาทิ Visual Design การออกแบบตัวการ์ตูน กิจกรรม Cosplay Event ต่างๆ สร้างสรรค์เกมแนวใหม่ซึ่งสามารถทำให้ผู้เล่นสนุกได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงฆ่าฟันเสมอไป องค์ความรู้ในการบริหารจัดการธุรกิจอีสปอร์ต และวิทยาศาสตร์การกีฬาที่ยกระดับทักษะให้ผู้เล่นมีสุขภาพที่ดีได้ต่อไป

เปิดใจมองโอกาสเด็กไทยในโลกดิจิทัล

ผศ.ดร.กมล จิราพงษ์ คณบดีคณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม มองว่า เราควรพัฒนาอุตสาหกรรมนี้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยและให้เด็กเยาวชนใช้ดิจิทัลในทางที่ถูกต้องมากกว่า ซึ่งมหาวิทยาลัยศรีปทุมเปิดสอนเรื่องของศิลปะดิจิทัล กราฟิก แอนิเมชั่น สเปเชียลเอฟเฟกต์ และการสร้างสรรค์เกม

เรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จึงควรจัดระเบียบหาวิธีชักนำเด็กไปในทางที่ถูกต้อง ผู้ประกอบการก็จะคิดหาเกมเชิงบวกมากขึ้น ผมเชื่อว่าเรามาถูกทางแล้ว ประเทศไทยเหมาะที่จะทำเรื่องนี้ ยังมีอาชีพอีกมากที่เกี่ยวข้อง แต่อาจถูกดึงศักยภาพไว้ เพราะภาพลบของเด็กติดเกม

ผศ.ดร.กมล ยกตัวอย่าง สตีฟ จ็อบส์ ผู้คิดค้นสมาร์ทโฟนและผู้สร้างบริษัท Apple ก็ใช้นวัตกรรมในการเปิดมิติใหม่ๆ สร้างโอกาสจนทุกวันนี้กลายเป็นโลกใบใหม่ ประเทศไทยจึงควรนำสิ่งที่เป็นดิจิทัลอยู่ในอากาศ พัฒนาให้เกิดธุรกิจที่เป็นประโยชน์แก่โลกใบนี้

ผศ.ดร.กมล จิราพงษ์

คำถามคือ…ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย คนเล่นเกมในร้านเกม ก็ยังเล่นเหมือนเดิมใช่หรือไม่ แต่ถ้าเอาธุรกิจเกมมาวางไว้บนโต๊ะ ทำให้คนเล่นๆ อย่างมีเป้าหมาย หาวิธีฝึกฝนให้ถูกต้องและผู้ใหญ่ช่วยกันวางแผนให้เด็กมีอนาคต เพราะโลกเดินไปทางนี้หมดแล้ว ผู้ใหญ่ทุกคนก็ใช้ชีวิตอยู่ในโลกดิจิทัลทุกวัน ตั้งแต่ที่บ้านไปจนถึงที่ทำงานใช่หรือไม่

สิ่งแรกที่เราคุยกันคือ เกมคือธุรกิจ แต่ก็ยังมีสิ่งอื่นๆ ตามมาอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งหมดล้วนเดินไปสู่โลกของ Visual กันหมดแล้ว

ความสามารถเด็กไทยเทียบชั้นระดับโลก

นักบรรยายเกม ฉายา Xyclopz อย่าง ตรีภพ เที่ยงตรง อดีตทำงานเป็นวิศวกร ปัจจุบันเป็น Game Caster ที่ได้รับเชิญไปทั่วโลก กล่าวว่า อีสปอร์ตช่วยทักษะภาษาอังกฤษและบุคลิกภาพให้เขามากมายทีเดียว

“เมื่อก่อนทักษะพูดภาษาอังกฤษของผมไม่ดี แต่เมื่อจับพลัดจับผลูมาพากย์เกมในแมทช์แข่งขันที่ผมจัดขึ้นเอง จึงเริ่มจดจำและพัฒนามาเรื่อยๆ ผ่านมา 5 ปี ในฐานะนักพากย์เกม ผมได้อันดับ 9 ของโลก อันดับ 1 ของเอเซีย บริษัทเอกชนให้ความสนใจอีสปอร์ตเพราะช่วยสื่อสารกับเยาวชนได้ดีกว่า ปัจจุบัน ผมบินไปรอบโลกเพื่อตระเวนพากย์ในแมทช์การแข่งขันทั้งบราซิล แคนาดา สิงคโปร์”

Game Caster ชื่อดังยังอยากบอกน้องๆให้เข้าใจว่ายังมีทักษะอื่นๆ มากกว่าเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตอย่างเดียวนะครับ เช่น ต่อยอดอาชีพทางนิเทศศาสตร์หรือการเป็นพิธีกรได้อีกด้วย

หลายๆ สถาบันการศึกษาเริ่มยอมรับเกมและกีฬาที่ปรับจูนทัศนคติมาใกล้กันมากขึ้น ดังเช่นที่ ปฏิพัทธิ์ รัตน์อนากุล ประธาชมรมอีสปอร์ต โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กล่าวว่า ชมรมฯ เพิ่งจัดตั้งสำเร็จในปีนี้ โดยมีผู้สนใจมากกว่า 100 คน แต่รับเป็นสมาชิกได้แค่ 45 คน ปัจจุบันครูในโรงเรียนเข้าใจความสำคัญเรื่องนี้และได้ให้การสนับสนุนมากขึ้น

ตรีภพ เที่ยงตรง

ผู้ใหญ่เปิดใจรับฟังเสียงหัวใจของเด็กๆ บ้าง

ส่วน ภูรินุช บัญชาจารุรัตน์ ตัวแทนสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย  มองอีสปอร์ตในมุมที่น่าสนใจและใช้เหตุผลในการพิจารณา โดยอยากให้ทุกคนรับฟังความคิดทุกๆ ฝ่าย ทั้งหน่วยงาน แพทย์ นักวิชาการ รวมถึงเด็กเยาวชนที่เล่นเกมและไม่เล่นเกมด้วย 

สุดท้ายก็ควรเคารพความคิดของเด็ก โดยไม่ตัดสิน ไม่ชี้นำ ก็จะได้ทางออกดีๆ ในการปกป้องคุ้มครอง

อย่างไรก็ตาม ภูรินุช เชื่อว่า การรับรองว่าอีสปอร์ตเป็นกีฬา ก็ทำให้เด็กหรือผู้ใหญ่เข้าใจผิดไปว่าทุกอิเล็คทรอนิกส์เกมคืออีสปอร์ต มีโอกาสรับเนื้อหารุนแรงหรือใช้สื่อลามกได้

“ตรงนี้ถือเป็นวาทกรรมของการโฆษณาที่มีผลต่อเด็กซึ่งยังไม่มีวุฒิภาวะ อาจเกิดผลลบต่อสุขภาพ ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงควรร่วมมือกันไม่ผลักภาระให้ครอบครัวอย่างเดียว”

กกท.-นักวิชาการเชื่อประเทศไทยมาถูกทางแล้ว

ณัฐวุฒิ เรืองเวส รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทางคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทยได้พิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบด้าน เชิญหน่วยงานต่างๆ หารือผลกระทบก่อนตัดสินใจ เพราะการแข่งขันอีสปอร์ตในต่างประเทศเกิดขึ้นแล้วและมีองค์กรสากลให้การยอมรับ ดังนั้น ภารกิจของ กกท.คือสร้างนักกีฬาที่เป็นเลิศ ก้าวสู่มืออาชีพ และพัฒนาอุตสาหกรรม

“ถึงไม่ประกาศว่าอีสปอร์ตเป็นกีฬา ถามว่าเด็กก็ยังติดเกมอยู่ใช่หรือไม่ แต่ผู้ที่พัฒนาตัวเองเป็นนักกีฬา ตรงนี้คือโอกาส ถ้าเราเอาปัญหามาปิดกั้นอนาคตไว้จะตอบพวกเค้าอย่างไร หรือไปบล็อคอุตสาหกรรมก็คงไม่ถูกต้อง จึงควรแยกเหตุผลให้ออกจะเห็นภาพที่ชัดขึ้น

การประกาศรับรองมีข้อดีคือ กกท.ก็มีสิทธิเข้าไปร่วมดูแล สร้างวินัย ฝึกฝน ให้ความรู้อย่างเป็นระบบ หรือเมื่อรับรองแล้วถ้าเกิดผลกระทบมากก็อาจกลับมาทบทวนได้ หลังจากนี้สมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย ต้องกำหนดว่าเกมไหนคืออีสปอร์ตและแนวทางดูแลอย่างไร

ณัฐวุฒิ เรืองเวส

ผศ.ดร.ฉัตรชัย ฉัตรปุณญกุล

นักวิชาการสายกลางอย่าง ผศ.ดร.ฉัตรชัย ฉัตรปุณญกุล จากคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อีสปอร์ตยังมีจุดอ่อนเรื่องกิจกรรมทางด้านกายภาพ รวมถึงองค์กรควบคุมกฎระเบียบต่างๆ ไม่ชัดเจน

แต่ผมเห็นด้วยที่จะนำสิ่งเหล่านี้มาส่งเสริมให้ถูกต้อง เกมใดที่ส่งเสริมสมองจริงๆ ก็ควรพิจารณาให้ชัดเจน

จะเห็นได้ว่า หลายภาคส่วนข้างต้น ไม่ได้มองอีสปอร์ตและนักเล่นเกมออนไลน์ในแง่ลบ อย่างที่ถูกตีกรอบจากกลุ่มประชาสังคมและนักสาธารณสุขศาสตร์ ซึ่งวาดไว้อย่างน่าหวาดกลัว พวกเขาสะท้อนทัศนะต่อการเปิดพื้นที่ให้เด็กไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างสร้างสรรค์ ศิวิไลซ์ และเป็นสากล

….แต่แรงบันดาลใจเหล่านี้อาจหายวับ! ถ้าเด็กๆ ไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียง ดังนั้นทุกคนต้องลุกขึ้นมาช่วยกันปฏิเสธการถูกครอบงำเพียงด้านเดียวและปล่อยให้ใครพาเด็กๆ ถอยหลังกลับไปนับ 10 ปี

ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่เราจะยกระดับศักยภาพ และ จินตนาการของเด็กๆ ควรได้รับการปกป้อง มิใช่ให้ใครมาพรากความสวยงามเหล่านี้ไป