[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Image_Widget”][/siteorigin_widget]

ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญใน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เกิดขึ้นแบบที่ไม่ปรากฎบ่อยนัก เมื่อชื่อของ บุญทักษ์ หวังเจริญอดีตซีอีโอธนาคารทหารไทย (TMB) ก้าวข้ามเข้ามาเป็นกรรมการ SCB

ปรากฎการณ์ ‘บุญทักษ์’ อุบัติขึ้นช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สร้างความประหลาดใจให้กับทุกฝ่าย เพราะเจ้าตัวเคยประกาศ รีไทร์ งานสถาบันการเงินไปแล้วหลังหมดวาระดำรงตำแหน่งใน TMB เมื่อปีก่อน 

แน่นอน เบื้องลึก ไม่ลับแต่ไม่ธรรมดา เพราะแว่วว่ามีคำร้องขอมาจากคนที่บุญทักษ์ปฏิเสธได้ยากยิ่ง ผู้ใหญ่ที่เขาเคารพนับถือ นั่นคือเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เจ้าของแนวคิด Make The Difference ไม่อาจทำอะไรที่แตกต่างไปกว่าการยอมรับ

การเข้ามาของอดีตซีอีโอธนาคารทหารไทย ส่งผลให้เกิดกระแสข่าวลือ คลื่นใต้น้ำ ระลอกใหญ่ ถูกปล่อยออกมาทางสื่อสารมวลชน นั่นคือการกดดันเก้าอี้ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัยประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์โดยตรง ซึ่งดร.วิชิตดำรงตำแหน่งนี้มาถึง 20 ปีแล้ว….จะถึงเวลาต้องผลัดใบหรือไม่!!

อย่างไรก็ตาม ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ออกมาปฏิเสธกระแสข่าวการลาออกของ ดร.วิชิต ในเวลาต่อมา ด้วยการทำหนังสือชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561

ย้อนไป สปอตไลต์ผู้บริหารและกรรมการใหม่ของ SCB ที่ชื่อ ‘บุญทักษ์ หวังเจริญ’ เขาคือคนที่ยกระดับสร้างความแตกต่างให้กับระบบสถาบันการเงินอย่างชัดเจน

เขาเข้ารับตำแหน่งซีอีโอธนาคารทหารไทยเมื่อปี 2551 โดยย้ายมาจากตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย ซึ่งแม้จะมีบทบาทมากมาย แต่ขณะนั้นการอยู่ต่อที่ K Bank ก็ต้องอาศัยร่มเงา อยู่ใต้ใบบุญ คุณปั้น บัณฑูร ล่ำซำ อยู่ดี 

ในฐานะนักบริหารมืออาชีพ บุญทักษ์ เลือกที่จะเดินบนเส้นทางของตัวเอง เดิมพันอนาคตบนเส้นด้าย เพราะขณะนั้นธนาคารทหารไทยตกอยู่ในภาวะขาดทุนสะสมนับ แสนล้านบาท

ขณะที่กระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลักในทหารไทยอยู่เดิม ก็มองแล้วว่าไปต่อไม่ไหว…ต้องหาพันธมิตรใหม่เข้ามาเพิ่มทุนและสู้กับการแข่งขันในตลาดการเงินที่รุนแรง จากการเปิดไลเซ่นส์ธนาคารพาณิชย์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทยยุค ...ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นผู้ว่าการฯ

ปัจจัยดังกล่าวนำมาสู่การเข้ามาร่วมถือหุ้นธนาคารทหารไทยโดย กลุ่ม ‘ING Bank’ จากเนเธอร์แลนด์เมื่อปี 2550 ตรงนี้ก็นับเป็น จุดเปลี่ยนหนึ่งที่ยกระดับศักยภาพและความแข็งแกร่งให้ธนาคารทหารไทยเพราะ ING มีความโดดเด่นในเรื่อง Retail Banking เป็นทุนเดิม

เมื่อบวกกับการมีผู้นำองค์กรในตำแหน่ง CEO อย่าง บุญทักษ์ ทำให้ คลิก เข้าหากัน ลูกค้าสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ทั้งภาพลักษณ์และผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ จากเดิมที่สังคมจะมองว่าเป็นธนาคารของทหารบ้าง ทำงานแบบราชการบ้าง

ทุกอย่างถูกรีโนเวทเมื่อ บุญทักษ์ เข้ามา เป้าหมายแรกๆ ที่เขาทำก็คือการรีแบรนด์ใหม่ เปลี่ยนชื่อเรียกขานจากธนาคารทหารไทย มาเป็น TMB เพื่อให้ได้รับการยอมรับระดับสากล

ระบบการให้บริการของ TMB ก็ดีขึ้นเป็นลำดับ ทันสมัยขึ้นโดยนำระบบไอทีมาใช้ มีสาขาและตู้เอทีเอ็มที่ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ เชื่อมโยงถึงลูกค้ารายย่อยมาใช้บริการสะดวกสบายกว่าเดิม

บุญทักษ์ ยังปรับโครงสร้างองค์กรให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง เปิดรับฟังความคิดเห็นทั้งจากภายในและภายนอก การเดินสายไปพบกับพนักงานสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อหลวมรวมพลังให้เกิดความเข้มแข็ง

ด้วยการเป็นคนที่กล้าเปลี่ยนแปลง ในช่วงที่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ทั่วๆ ไป ยังเป็น เสือนอนกินดอกเบี้ย ฟันกำไรจากค่าธรรมเนียม บุญทักษ์ประกาศแคมเปญ Make THE Difference  ฟรีค่าธรรมเนียมทางการเงิน มุ่งสู่เป้าหมายหลักคือขยายฐานลูกค้าให้เข้ามาสัมผัสประสบการณ์ใหม่ที่ TMB นำฐานตรงนี้มา ต่อยอด สู่ผลิตภณฑ์การเงินและการลงทุนด้านอื่นๆ ต่อไป ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จไม่น้อยทีเดียว

การสร้างความแตกต่างก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนแบงก์พาณิชย์ในประเทศไทย เผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ หลังไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาตัวเองมาตลอด 50 ปี

บุญทักษ์ ยังรับตำแหน่งทางสังคมคือ ประธานสมาคมธนาคารไทยเมื่อปี 2557-2559 เขาเริ่มวางแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะยาว 5 ปี นำผู้บริหารแบงก์พาณิชย์ประชุมร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมนำปัจจัยทุกอย่างมาวางตรงหน้าให้เห็นกันจะๆ ว่าถ้าไม่ปรับ ไม่เปลี่ยน ก็ลำบากแน่นอน

เขาเคยกล่าวไว้ ในการให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวไทยพับลิก้า เมื่อ 2 ปีก่อนเกี่ยวกับระบบ ดิจิทัล ที่เข้ามาแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ ทำให้สมการของเสือนอนกินไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป…และมันก็เป็นจริงที่สุดในวันนี้

ผมเชื่อว่าดิจิทัลมันมาเร็วมาก .. ดังนั้น องค์กร คนอาจจะบอกว่า โอ้ยอีกนาน แต่ผมว่ามันมาเร็ว ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ดี ต่างจากในสมัยก่อนหรือในปัจจุบันที่ผู้บริโภคต้องซื้ออะไรก็ตามที่เราสร้างให้ มันจะไม่เป็นแบบนั้นแล้ว เขาจะมีทางเลือกเยอะมาก ไม่ใช่แบงก์ ก็มีจะ FinTech หรืออะไรเข้ามา

TMB จึงเป็นสถาบันการเงินรายแรกๆ ของประเทศ ที่พัฒนา ระบบไอที อย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์แต่รวมถึงวัฒนธรรมองค์กร เพื่อนำไปสู่การให้บริการทางการเงินด้วยดิจิทัลและออนไลน์ที่ล้ำหน้ากว่าสถาบันการเงินอื่นๆ หนึ่งก้าว โดยไม่หวังพึ่งพาการเพิ่มสาขาให้บริการเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป เพราะมีต้นทุนสูงกว่ามาก

ถ้าคนย้ายไปใช้ดิจิทัลจริงๆสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นก็คือสาขาต้องปิดจำนวนหนึ่ง คนในสาขาเป็นแสนคนต้องเปลี่ยนจากทำธุรกรรมมาทำด้านให้คำแนะนำ การเปลี่ยนตรงนี้ยาก ATM ที่ลงทุนเยอะมากต้องโละทิ้ง คือมันมีความเจ็บปวดตรงนี้ จึงทำให้คนลังเล แต่จริงๆ ความเจ็บปวดตรงนี้ สำหรับผมมันง่ายต่อการจัดการ ตัวที่ยากกว่าคือวัฒนธรรมองค์กร ใครยังไม่เริ่มจะลำบากมากนี่คือแนวคิดของบุญทักษ์ ที่กล่าวไว้เมื่อ 2 ปีก่อน

ตลอด 10 ปีของบุญทักษ์ เขาสามารถทำให้ Retail Banking เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของธนาคาร TMB มาจนถึงวันนี้ ขณะที่สถาบันการเงินหลายแห่งทยอยประกาศ ยกเลิกค่าธรรมเนียมทางการเงิน ยกเลิกการกรอกเอกสารที่ยุ่งยาก เพิ่มระบบธรรมาภิบาลที่ดีขึ้น ทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์จากการแข่งขันและบริการใหม่ๆ ตามมา

แม้ TMB จะเปลี่ยน CEO จาก บุญทักษ์ หวังเจริญ มาเป็น ปิติ ตัณฑเกษม แล้ว แต่แนวคิด แนวทาง แรงบันดาลใจ และวิสัยทัศน์ ก็ยังคงถูกสานต่อตามที่เขาได้วางรากฐานเอาไว้

และ ณ วันนี้ วันที่บุญทักษ์ก้าวเข้ามาสู่ค่ายใหม่ ธนาคารไทยพาณิชย์เขาจะสามารถนำวิสัยทัศน์มาสร้างอนาคตให้กับธนาคารแห่งนี้หรือไม่ หรือจะมานั่งเก้าอี้ใหญ่…ก็ไม่มีใครกล้าทำนาย