[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Image_Widget”][/siteorigin_widget]
ป้าขอถุงซ้อน พี่ขอถุงอีกใบ หลายคนคงได้ยินจนชินหูตามจุดแคชเชียร์ของซุปเปอร์สโตร์ แต่เสียงเล็กของหลายๆคนแบบนี้ ใครจะรู้ว่า แค่ขอถุงพลาสติกใบเดียว จะเป็นสาเหตุสำคัญให้ท้องทะเลสีครามของไทยเป็น ทะเลสีดำ หรือ “ทะเลขยะ” ที่เต็มไปด้วยถุงพลาสติกลอยละล่องอวดศักดาในวันทะเลโลก 8 มิถุนายน ที่มาบรรจบอีกวาระ 

ภาพคนนำถุงผ้ามาใส่ของหายไป จากที่หักโหมรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติก หันมาใช้ถุงผ้ากันเมื่อราวปี 2552 คำถามคือ เกิดอะไรขึ้น กับเหล่าคนรักโลก เพราเหตุใดการลดใช้ถุงพลาสติกที่ทุกคนร่วมมือกันได้ง่ายๆ กลับเป็นมาตรการที่ไม่จีรัง 

ผู้เขียนย้อนกลับมามองตัวเอง ส่วนหนึ่งของคนที่เพิ่มขยะให้กับโลกเช่นเดียวกัน กระแสการใช้ถุงผ้าไว้ใส่ของ หรือจ่ายตลาดไปได้แคบๆในไทยน่าจะมาจาก 1.พฤติกรรมผู้บริโภค เพราะคนส่วนใหญ่ซื้อของใช้กันเดือนละหนหรือสองหน จำนวนของจึงมากโข หาถุงผ้าขนาดพอเหมาะพกติดตัวไว้ใส่ของจำนวนมากคงยากอยู่ 2.ซื้อของแล้วใส่ถุงพลาสติกห่อหุ้มเรียบร้อย ดูจะทำให้หลายคนสบายใจได้ว่าจะไม่ถูกเพ่งเล็งว่าขโมยของในห้าง 3.เราต้องการถุงพลาสติกไว้ใส่ขยะ หรือใส่ของจิปาถะที่บ้าน และ 4.เมื่อการรักโลกของเรายังเป็นแบบผิวเผิน “ความเคยชิน” ก็เลยถูกสอดแทรกเสมอ ทำให้ลืมที่จะบอกปัดไม่เอาถุงพลาสติก…เมื่อถุงพลาสติกถูกใช้อย่างไม่ลดละตลอดมา สิ่งที่ตามมาก็คือ เรากลายเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยขยะถุงพลาสติก!!!

80% เป็นขยะถุงพลาสติก

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่าในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมามีขยะ พลาสติกเกิดขึ้นประมาณ 12% ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน มีการนำขยะพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์เฉลี่ยประมาณปีละ 0.5 ล้านตัน ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน และส่วนใหญ่ 80% หรือ 1.2 ล้านตันเป็นเศษขยะถุงพลาสติก ถุงร้อน ถุงเย็นบรรจุอาหาร ถุงหูหิ้ว เป็นต้น แม้พลาสติกจะมีอายุยาวก็จริง แต่กลับมีอายุการใช้งานสั้นมาก มักถูกทิ้งรวมอยู่ในขยะมูลฝอยชุมชน ที่ถูกนำไปฝังกลบปะปนขยะทั่วไป ซึ่งเจ้าถุงพลาสติกเหล่านี้ถูกใช้เพียงเสี้ยววินาที แต่ซากของมันกลับอยู่กับเราชั่วลูกชั่วหลาน  เพราะใช้เวลาย่อยสลายนับร้อยปี 

นอกจากนี้ถุงพลาสติกยังถูกทิ้งกระจัดกระจาย ลอยไปตามลมตามน้ำ ตกตามท่อระบายน้ำ เป็นสาเหตุให้ท่อระบายน้ำอุดตัน ยามฝนตกอย่างนี้ น้ำก็เลยระบายไม่ทันด้วยเหตุฉะนี้ และบางส่วนไหลเรื่อยไปสู่ท้องทะเลไทย แหวกหลายพริ้วไหวหลากสีสันปะปนปลาการ์ตูน 

ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่งบอกเราถึงภาพรวมของขยะพลาสติกว่า เมื่อปี 2559 ขยะในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งประเทศไทยมีทั้งหมดประมาณ 2.83 ล้านตัน จำนวน 339,600 ตัน เป็นขยะพลาสติก และ 15% เป็นขยะที่ยังไม่มีการจัดการที่ ถูกต้อง โดยขยะพลาสติก 51,000 ตัน ถูกปล่อยลงสู่พื้นที่ชายฝั่ง เมื่อบวกกับการไม่มีระบบการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพจึงกลายเป็น “ขยะทะเล 

กรมทรัพยากรทะเลฯ ได้ทำโครงการศึกษาปริมาณขยะใน 5 ปากแม่น้ำอ่าวไทยตอนบน ในปี 2558-2560 พบขยะทะเลลอยน้ำช่วงน้ำลงรวม 79,427 ชิ้น คิดเป็น 1,308 กก. และช่วงน้ำขึ้นรวม 55,824 ชิ้น คิดเป็น 737 กก. แสดงให้เห็นถึงบริเวณปากแม่น้ำเป็นทางออกของมวลขยะส่วนหนึ่งลงสู่ทะเล ซึ่งย่อมส่งผลกระทบกับทรัพยากรและ ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ประเทศไทยมีขยะในทะเลมากเป็นอันดับ 6 ของโลก มีการปล่อยขยะลงสู่ท้องทะเล ถึงกว่า 1 ล้านตันต่อปี ส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก ที่ผ่านมามีเต่าทะเลกว่า 100 ตัวต้องตายลงเพราะกินขยะพลาสติก ผลตามมาก็คือการเพิ่มขึ้นของจำนวนแมงกะพรุนในหลายพื้นที่ เพราะเต่าทะเลซึ่งเป็นสัตว์เพียงไม่กี่ชนิดที่กินแมงกะพรุนเป็นอาหารลดจำนวนลงจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทะเลฯ ย้ำถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง

ไมโครพลาสติกฟุ้งกระจายในทะเล

นอกจากถุงพลาสติก และขยะมูลฝอยอื่นๆ ที่เห็นๆ เป็นๆ ในทะเลไทยแล้ว ปัจจุบันท้องทะเลไทยยังเต็มไปด้วย พลาสติกขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ที่เรียกว่า ไมโครพลาสติก ซึ่งผลิตขึ้นมาใช้ในอุตสาหกรรมและในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง อาทิ ยาสีฟัน สครับหน้า ยากันแดด โฟม อาบน้ำและผงซักฟอก และ “ไมโครพลาสติก” ยังเกิดจากการย่อยสลายหรือแตกตัวของพลาสติกขนาดใหญ่ เมื่อได้รับอิทธิพลจากแสงอุลตราไวโอเล็ตและอุณหภูมิที่สูงจากดวงอาทิตย์ เกิดปฏิกิริยาทางเคมีกับออกซิเจน เกิดการเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของพลาสติกและแตกตัวขึ้น

โดยเวลานี้พบการแพร่กระจายของไมโครพลาสติกทุกพื้นที่ในทะเลและมหาสมุทร รวมถึงตามชายหาดและตะกอนดิน พบในทะเลอันดามันและยังเจอไมโครพลาสติกในสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเลลึกที่มีความลึกมาก 10 กิโลเมตรด้วย และแน่นอนว่าไมโครพลาสติกส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของแพลงตอน สัตว์บางชนิด รวมทั้งมีผลกระทบที่อาจเกิดกับมนุษย์ที่เป็นผู้บริโภคอาหารและผลิตภัณฑ์จากทะเล

ไม่เฉพาะท้องทะเลไทยเท่านั้นที่เกิดปัญหา ไมโครพลาสติกยังกระจายว่อนไปถึงมหาสมุทรแอนตาร์กติกที่เราคิดว่าควรจะเป็นมหาสมุทรที่บริสุทธิ์ ปราศจากการรบกวนใดๆใน การสำรวจทางวิทยาศาสตร์ของกรีนพีซ ผ่านการเก็บตัวอย่างน้ำ หิมะ รวมถึงการดำน้ำสำรวจระบบนิเวศทางทะเลในบริเวณก้นมหาสมุทรแอนตาร์กติก

ใครจะเชื่อว่าตัวอย่างน้ำทะเล 7 ใน 8 ตัวอย่างพบไมโครพลาสติก จำพวกไมโครไฟเบอร์ซึ่งมีส่วนประกอบของไมโครพลาสติกอย่างน้อยหนึ่งส่วนต่อตัวอย่างน้ำ 1 ลิตรและอีก 9 ตัวอย่างเก็บโดยใช้ ตาข่ายลากเพื่อการสำรวจใต้น้ำ (manta trawl) และการวิเคราะห์หาไมโครพลาสติก พบเศษชิ้นส่วนไมโครพลาสติกใน 2 ตัวอย่างน้ำ และ 7 ใน 9 ตัวอย่างหิมะที่เก็บพบร่องรอยของวัตถุเคมีที่ย่อยสลายไม่ได้ จำพวกโพลีฟลูโอริเนท อัลคาเลท หรือ PFAS ที่ใช้อย่างแพร่หลายในกระบวนการผลิตเชิงอุตสาหกรรม และผลิตภัณฑ์อุปโภค

3R แบบเอาจริง คือทางรอดเดียว 

ทางแก้ปัญหาขยะก็หนีไม่พ้น 3R เพราะยังไงเราก็ต้องลดการใช้ (Reduce) ที่แหล่งกำเนิดการใช้ซ้ำ (Reuse) ให้มากที่สุด และการนำมาแปรรูปใช้ใหม่ (Recycle) อยู่ที่ว่าจะทำได้จริงจังและทำอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่เท่านั้น เวลานี้ไม่ต้องพูดกันเรื่องแผน เพราะเรามีแผนจัดการขยะวางกองเต็มโต๊ะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ที่การลงมือปฏิบัติเสียทีด้วยสองมือของเราทุกคน  

หากไม่เช่นนั้น ปัญหาขยะของประเทศ เห็นแต่เส้นทางเดินไปสู่วิกฤติ จากปริมาณขยะตกค้างสะสมปีละนับล้านตันไปเรื่อยๆ ขณะที่พื้นที่ฝังกลบก็หายากขึ้นทุกวัน และแต่ละวันขยะยังปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม 

การทำโครงการจัดเก็บขยะตกค้างในระบบนิเวศทางทะเลของกรมทรัพยากรทะเลฯในเวลานี้ นับว่าช่วยให้ปริมาณขยะในทะเลหายไป แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ  ต้นเหตุ หรือแหล่งกำเนิดของพลาสติก หรือผู้ผลิตต้องเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการขับเคลื่อนกระบวนท่าใหญ่หลายละลอกจากฝั่งผู้ประกอบการ เช่น ร่วมกันเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม 2,600 ล้านชิ้นต่อปี หรือคิดเป็นน้ำหนัก 520 ตันต่อปี 

ล่าสุดเครือข่ายภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาชิกองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และกรุงเทพมหานคร ร่วมมือทำโครงการจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน โดยมุ่งปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีที่ช่วยให้ใช้พลาสติกในการผลิตน้อยลง หรือนำกลับมาใช้ซ้ำและรีไซเคิลได้มากขึ้น โดยมี เป้าหมายร่วมกันที่จะลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยลงไม่ต่ำกว่า 50% ภายในปี 2570

เท่านี้ไม่พอ หน่วยงานรัฐเองต้องสนับสนุนด้วยมาตรการต่างๆ ให้เอกชนเดินไปสู่เป้าหมายลดการใช้พลาสติก เพื่อให้คนทำดี กับคนทำไม่ดีได้รับผลที่แตกต่างกันโดยใช้กลไกทางภาษี เป็นขวัญและกำลังใจในการทำความดี และส่งเสริมการลงทุนให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่จนถึงรายเล็กให้มีนวัตกรรมที่เกิดจากการนำขยะพลาสติกมาใช้ประโยชน์ พร้อมกับการตั้งธงให้ไทยเป็นประเทศที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวรักษ์โลก พร้อมปฎิเสธและมีมาตรการลงดาบอย่างจริงจังกับนักท่องเที่ยวประเภท “ผลาญทรัพยากร 

ขณะที่ประชาชนทั่วไปก็ต้องมีส่วนอย่างสำคัญ โดยนับจากนี้ต้องตั้งหลักที่จะรักทะเลไทย และรักโลกใบนี้ ใบที่เราใช้พึ่งพาอาศัยอย่างจริงจัง  ด้วยการปรับพฤติกรรมจาก “เอา” มาเป็น “ไม่เอาถุงพลาสติก” และต้องใส่ใจในข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ของเรา เพื่อลดปริมาณการใช้พลาสติกลงให้ใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น  

เพื่อให้วาฬนำร่องครีบสั้นที่เกยตื้นและตายลงที่ปากคลองนาทับ จังหวัดสงขลาเมื่อวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมาจากพิษจากถุงพลาสติกกว่า 8 กิโลกรัมในกระเพาะจะเป็นวาฬตัวสุดท้ายที่ต้องประสบชะตากรรมเช่นนี้ และเพื่อให้ท้องทะเลไทยและทะเลทั่วโลกกลับมาสีครามใสสะอาด กลับมาสีครามใสสะอาดอีกครา

ภาพประกอบจาก : กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง