[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Image_Widget”][/siteorigin_widget]
ความนิยมในวรรณกรรมเยาวชนคนรุ่นใหม่อย่างมายาจอมคาถาของนักเขียนที่ใช้นามปากกาว่า V.Rondell กลายเป็นกระแสที่จุดพลุให้นิยายสไตล์แฟนตาซีของคนไทยกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง 

ฉากที่อลังการเนื้อเรื่องสนุกสนานสีสันของตัวละครแปลกตาและบรรยากาศที่เหนือจริงผสมผสานจินตนาการกันได้อย่างลงตัว

ในโลก โซเชียลมีเดีย มีผู้ติดตามผลงานของ V.Rondell จำนวนมาก ขณะที่ในโลกของความเป็นจริง นักเขียนผู้นี้มีนามว่า วีรยา กาญจโนภาศ หญิงสาวผู้เปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน ชวนนักอ่านก้าวสู่ อาณาจักรแห่งเวทมนต์และความฝัน ทั้งในรูปแบบของนวนิยาย แล้วก็หนังสือการ์ตูนที่นำเรื่องในตำนาน มาสู่ความรู้ สอดแทรกด้วยลายเส้นและสีสันสวยงาม

“ส่วนตัวแล้วชอบหนังสือสำหรับเด็กมากค่ะ เป็นหนอนหนังสือตัวยง ครอบครัวก็สนับสนุนให้เราอ่าน ตอนเด็กๆ คุณพ่อคุณแม่ชอบพาไปร้านหนังสือ นั่งอ่านตรงนั้นเลย เพราะดีใจที่มีหนังสือรอบตัวไปหมด อ่านทั้งนิทานและสารคดี มีความสุขที่ได้เข้าไปอยู่ในโลกใหม่ พอเติบโตขึ้น ก็เริ่มคิดว่า แล้วถ้าเนื้อเรื่องเป็นอีกแบบนึงล่ะ…ช่วงที่เรียนประถมก็เลยเริ่มเขียนนิทาน แล้วก็ทำต่อเนื่องมาเรื่อยๆ มาจริงจังกับการเขียนนิยายในช่วงมัธยมและมหาวิทยาลัย ควบคู่ไปกับการวาดรูป”

วีรยาเลือกเส้นทางที่ตัวเองใฝ่ฝัน นั่นคือการศึกษาด้านวรรณกรรมเยาวชนเป็นเวลา 4 ปีใน คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กรุงเทพมหานคร เรียนจบด้วยดีกรีเกียรตินิยมอันดับ 1 เมื่อปี 2554 จากนั้นเดินทางไปศึกษาต่อ Master of Fine Arts Degree at Savannah College of Art and Design เมือง Savannah รัฐ Georgia ประเทศสหรัฐอเมริกา สาขา Sequential Art ซึ่งมีการเรียนการสอน เรื่องวาดภาพการ์ตูนโดยเฉพาะ

“ในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย วีก็เขียนนิยายมาตลอด อย่างเรื่องมายาจอมคาถา พอเขียนเสร็จปุ๊บ ก็อัพขึ้นเว็บไซต์เด็กดีดอทคอม และส่ง สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์ ก็รอนานหลายเดือนเลย เพราะมีนักเขียนส่งนวนิยายไปให้สำนักพิมพ์พิจารณานับร้อยเรื่อง หลังจากนั้นบรรณาธิการก็จะติดต่อมาว่า ต้นฉบับของเราได้รับคัดเลือกให้ตีพิมพ์นะ เมื่อมีโอกาสได้เห็นดีไซน์หน้าปก ก็รู้สึกว่าสวยดี แต่ตอนที่พิมพ์เป็นรูปเล่มแล้ว วีไม่ได้เห็นหนังสือตัวเองหรอก เพราะต้องเดินทางไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา”

พลอตเรื่องที่วีรยาเขียนขึ้นส่วนใหญ่ได้มาด้วยการ ควบแน่นความคิด จากหลายๆ แหล่ง แล้วก็แรงบันดาลใจอีกส่วนหนึ่ง เกิดจากเกมออนไลน์ด้วย เช่น แร็คนาร็อค ประกอบกับวรรณกรรมเยาวชนอย่าง แฮรี่พอตเตอร์ ส่วนพลอตในงานเขียนเรื่องอื่นๆ เช่นเรื่อง Mermaid Rhapsody บทเพลงสุดท้ายของนางเงือก ได้แรงบันดาลใจจากเรื่อง ลิตเติล เมอร์เมด กับวรรณกรรมประเภท โจรสลัด หรือการผจญภัยต่างๆ

เจ้าของนามปากกา V.Rondell มองว่า นิยายสไตล์วรรณกรรมแฟนตาซีในขณะนี้ ผสมผสานความเป็นตะวันตกและตะวันออกเข้าไว้ด้วยกัน จากเดิมที่วรรณกรรมสำหรับเด็กในประเทศไทย จะผสานแนบแน่นกับวิถีชีวิตของสังคมไทย แต่การเข้าถึงเด็กๆ สมัยนี้ คิดว่าเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เด็กบางคนยังไม่รู้จักวรรณคดีไทยด้วยซ้ำ ดังนั้น วรรณกรรมเยาวชนแฟนตาซี จึงถือเป็นสะพานเชื่อมระหว่างกลางที่เด็กๆ รู้จัก เข้าถึงได้ และ กลายเป็นวัฒนธรรมเฉพาะสายมากขึ้น

“ขณะนี้มีอินเตอร์เน็ตที่เยาวชนสามารถเข้าถึงสื่อตะวันตกได้มากขึ้น แต่คุณค่าของวรรณกรรมคงไม่ได้อยู่ที่ว่าจะมาจากแหล่งไหนหรือจะเขียนรูปแบบใด แต่อยู่ที่ว่าเด็กๆ จะนำไปใช้ให้ได้ประโยชน์อย่างไรมากกว่า เราจึงไม่ควรจำกัดว่างานเขียนที่เสพนั้นจะเป็นของชนชาติไหน”

ปัจจุบัน นอกจากนิยายชุดมายาจอมคาถาและบทเพลงสุดท้ายของนางเงือกแล้ว วีรยายังร่วมเขียนนิยายไลท์โนเวล (หนังสือขนาดเล็ก) ชุด M.House จ้างมาป๋าจัดให้ เล่ม 4, ไรเซลกับพัสดุหมายเลข 117 และร่วมเขียนนิยายชุดรวมเรื่องสั้น Riva Estella ตลาดนัดดวงดาว, นิยายชุด I am the Ex-Demon King ผมน่ะหรือคืออดีตจอมมาร 

การ์ตูนความรู้ชุด ตำนานเทพจีน เล่ม 1-3 ของสำนักพิมพ์ เพอลังอิ (ประเทศไทย) และอื่นๆ อีกมากมาย ที่แฟนๆ V.Rondell คงไม่พลาด

ความนิยมใน นิยายสไตล์แฟนตาซี มีตั้งแต่เด็กๆ ชั้นประถม ไปจนถึงมหาวิทยาลัย และที่น่าแปลกใจคือ มีคุณป้า คุณยาย ที่เคยซื้อหนังสือของวีรยาไปให้หลานๆ สุดท้ายนำมาอ่านเองด้วย จนกลายเป็นแฟนตัวยงเลยทีเดียว

บรรยากาศแจกลายเซ็นให้แฟนคลับที่ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ หลายๆ ครั้ง สะท้อนความสำเร็จของเธอ แม้จะไม่ใช่ตลาดวงกว้างเหมือนพวกนิยายที่ถูกนำมาสร้างเป็นละคร แต่ก็ได้รับความชื่นชอบ ชื่นชม มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่กด Like ให้เลย

สนุกมากๆ ค่ะ จากอดีตที่เคยเห็นนักเขียนที่เราชื่นชอบ ยืนแจกลายเซ็น แล้วเราก็ไปต่อคิวยาว รู้สึกว่าทำไมเค้าเท่ห์จังเลย พอมาวันนึงที่เราต้องมายืนเองแล้ว ก็รู้สึกภูมิใจ พร้อมได้รับกำลังใจจากแฟนๆ อีก วีก็อยากพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้นไปค่ะ”

ส่วนการนำนิยายไปทำเป็นละครฉายทางโทรทัศน์นั้น วีรยาบอกว่าในอนาคตมีความเป็นไปได้ เพราะเทคนิคการทำ แอนิเมชั่น สมัยนี้มีความก้าวหน้ามากแล้ว แต่ถ้าทำเป็นละครจริงๆ คงต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก เพราะฉากที่อยู่ในเนื้อเรื่องเป็นฉากในจินตนาการ ดังนั้น อาจจะยาก ในการหาผู้จัดที่กล้าลงทุนมหาศาลขนาดนั้น

“สุดท้ายก็อยากฝากให้น้องๆ คนรุ่นใหม่ ที่ใฝ่ฝันจะเป็นนักเขียนสไตล์แฟนตาซี ต้องเรียนรู้วรรณกรรมหลายรูปแบบ ทั้งวรรณคดีและสารคดี รวมถึงออกเดินทางเพื่อหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ แล้วนำมาสร้างสรรค์ร้อยเรียงเป็นเนื้อเรื่องที่น่าสนใจ ไม่นานก็จะประสบความสำเร็จค่ะ”

เวทย์มนต์ที่ถูกเสกออกมาจากตัวหนังสือของ V.Rondell สร้างความประทับใจ น่าหลงใหล เหมือนมี มนตรา บางอย่าง เชื้อเชิญให้นักอ่านรุ่นใหม่ๆ หลุดเข้าไปใน โลกแห่งจินตนาการ จึงถือเป็นแสงแห่งความหวังของวงการนักเขียน ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นแน่นอน