ดูจากอะไรว่ามีผู้สูงวัยเต็มเมือง ก็ต้องดูจากสถิติของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ ปี 2559 พบว่าประเทศไทยมีผู้สูงอายุ อยู่ 9,934,309 คน คิดเป็น 15.07% ของประชากร ทั้งหมด 65,931,550 คน
กทม.ครองแชมป์คนแก่มากสุด
มีการจัดอันดับพื้นที่ทีมีผู้สูงอายุมากที่สุด อันดับที่ 1 หนีไม่พ้นกรุงเทพมหานคร นอกจากเป็นเมืองศิวิไลซ์เต็มไปด้วยแสงสีเสียงแล้ว ยังมีผู้สูงวัยเต็มเมืองด้วยเช่นกัน มีจำนวนผู้สูงอายุ จำนวน 936,865 คน คิดเป็น 16.47% ของประชากรในจังหวัด อันดับที่ 2 นครราชสีมา 400,496 คน คิดเป็น 15.22% อันดับที่ 3 เชียงใหม่ 284,497 คน คิดเป็น 16.39% อันดับที่ 4 ขอนแก่น 276,209 คน คิดเป็น 15.32% อันดับที่ 5 นครศรีธรรมราช 240,522 คน 15.47%
ไม่ใช่ไทยประเทศเดียว ประเทศอื่นๆก็มีผู้สูงอายุในสัดส่วนมากขึ้นเหมือนกัน ซึ่งทั่วโลกต่างใช้นิยามเดียวกัน ตามองค์การสหประชาชาติ (United Nations) ที่กำหนดว่า ผู้สูงอายุ คือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ประเทศไทยระบุใน พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาตรา 3 หมายถึง บุคคลซึ่งมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปและมีสัญชาติไทย แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ใช้อายุ 65 ปีขึ้นไปเป็นเกณฑ์
ส่วนการกำหนดว่าแต่ละประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัยเข้มข้นอย่างไร จัดไปตามกรอบที่สากลเข้าว่าไว้ 1.สังคมสูงวัย (Aged Society) หมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 10 % ของประชากรทั้งหมด หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 7% 2.สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) หมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 14% 3.สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) หมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 28% ของประชากรทั้งหมด หรือประชากรอายุ 65 ปีขึ้นมากกว่า 20% ถ้าจัดตามกรอบนี้เท่ากับไทยเป็น Aged Society แล้ว คาดการณ์ว่าจะไต่เข้าสู่ Complete Aged Societyในปี 2564 และขึ้นไปเป็น Super Aged Society ในปี 2574
คนแก่ 56% ของโลกอยู่ในเอเชีย
รายงานผู้สูงอายุของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุสถิติทั่วโลก ณ ปี 2558 มีผู้สูงอายุแล้วราว 901 คน จากประชากรโลก 7,349 ล้านคน หรือคิดเป็น 12% ของประชากรทั้งหมด ถือได้ว่าโลกของเรา เข้าสู่เกณฑ์สังคมสูงวัยแล้ว
ในทวีปยุโรปมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุด 24% อเมริกาเหนือ 21% โอเชียเนีย 17% แอฟริกา 5% และ เอเชีย 12% แม้จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเป็นอันดับ 4 แต่มีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก อยู่ที่ 508 ล้านคน คิดเป็น 56 % ของผู้สูงอายุทั้งโลก แคบมาดูภูมิภาคอาเซียนมีผู้สูงอายุ 59 ล้านคน คิดเป็น 9% ของประชากรทั้งหมด 633 ล้านคน สิงคโปร์ มีผู้สูงอายุมากที่สุด 18% รองลงมาเป็นไทยราว 15-16% และเวียดนาม 10%
เมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้วจะเป็นอย่างไร เพราะแน่นอนว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีปัญหาสุขภาพที่คนในครอบครัวและระบบสุขภาพต้องเข้ามาช่วยเหลือมากบ้างน้อยบ้างตามบริบทและฐานะ รวมถึงปัญหาที่ตามติดคือ เศรษฐกิจ เพราะบางท่านแก่ด้วยจนด้วยและบางท่านต้องเป็นที่พึ่งตลอดกาลให้ลูกหลาน
9% ของผู้สูงอายุอยู่ลำพัง
สำหรับปัญหาสุขภาพ ข้อมูลจาก สสส. ระบุว่า 10% ของผู้สูงอายุมีปัญหาการขึ้นลงบันได การกลั้นอุจจาระหรือ ปัสสาวะไม่ได้และมีปัญหาหกล้ม 24% ของผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป ต้องการคนดูแลซึ่ง 4% ของผู้สูงอายุกลุ่มนี้ ไม่สามารถหาคนดูแลได้ ข้อมูลในปี 2557 พบว่า ผู้สูงอายุต้องอยู่คนเดียว 9% และอยู่ลำพังกับคู่สมรส 19%
สำหรับข้อมูลรายได้ พบผู้สูงอายุมีรายได้หลักจากลูก 37% และมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนถึง 34% หรือมีรายได้ต่ำกว่า 2,647 บาท/คน/เดือน กลายเป็นว่าเวลานี้รายได้หลักของผู้สูงอายุจำนวนมาก มีเพียงเบี้ยยังชีพที่รัฐให้กับผู้สูงอายุทุกเดือน 600-1,000 บาทตามอายุ ซึ่งในปี 2558 มีผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพ 7.8 ล้านคน คิดเป็นเงิน 61,577 ล้านบาท
นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมืองที่มีคนแก่มากที่สุดในประเทศไทย ให้ข้อมูลในเรื่องนี้ไว้ว่า ความจริงแล้วน่าจะมีผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานครประมาณ 2 ล้านคน แต่มีรายชื่อทำกิจกรรมต่างๆ กับ กทม. ไม่เกิน 20,000 จึงมีผู้ตกหล่นอีกมาก ขณะเดียวกันเราก็พบสถานการณ์ที่ผู้สูงอายุต้องออกมาอยู่นอกบ้านในระหว่างวันที่ลูกหลานทำงาน ทั้งมาเองและลูกหลานพามา เช่น ตามห้างสรรพสินค้า หรือตามศูนย์ออกกำลังกายต่างๆ
กรุงเทพมหานครเห็นอย่างนี้แล้วต้องปรับตามไปด้วย เขาบอกว่าสิ่งแรกที่ปรับเปลี่ยนไปแล้วก็คือ ชื่อของศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร ที่ตั้งขึ้นตามเขตต่างๆ มาเป็นศูนย์สร้างสุขทุกวัย เพื่อเปลี่ยนการบริหารงานรองรับทุกวัย ให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่สามารถทำกิจกรรมที่หลากหลายในศูนย์แห่งนี้ได้ อาทิ แอร์โรบิค โยคะ ฟิตเนสและว่ายน้ำ เป็นต้น รวมถึงโครงการสร้างบ้านพักผู้สูงอายุบนพื้นที่ ๒๕ ไร่ย่านเขตประเวศ และกำลังหาแนวทางให้ผู้สุงเข้าถึงสิทธิต่างๆมากขึ้น
โจทย์ใหญ่ของประเทศในวันนี้ ไม่ใช่ขยายบ้านพักผู้สูงอายุ เพราะสุดท้ายคนที่จะเข้าถึงได้คงมีไม่กี่คน และอาจเข้าอิหรอบ “บ้านบางแค” ที่คนมีสตางค์เท่านั้นจึงมีสิทธิ แม้จะไม่ใช่เรื่องดีที่ผู้สูงอายุต้องออกมาอยู่นอกบ้าน แต่หากพูดถึงสิทธิแล้ว คนจนยากจะเข้าถึงสิทธิต่างๆที่พึงได้
วันนี้งานของรัฐบาลและเราทุกคนต้องช่วยกันผลักดัน คือ การออกแบบสังคมเพื่อสร้างสุขให้กับผู้สูงวัยอย่างแท้จริง ในฐานะผู้เคยทำคุณประโยชน์ให้บ้านเมืองมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป และในฐานะคนในครอบครัวของเรา
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หลายบ้านไม่ได้สร้างสุขให้ผู้สูงอายุมากพอ อาจความเห็นไม่ลงรอยกับลูกหลาน การทะเลาะเบาะแว้งตามประสาช่องว่างระหว่างวัยเกิดขึ้นได้เสมอ บ้านไหนปลูกฝังมาดี ผู้สูงอายุในบ้านก็รอดไป แต่อีกจำนวนมากไม่ได้เป็นอย่างนั้น บวกกับภาวะเศรษฐกิจด้วยแล้ว บ้านพร้อมแตกได้ทุกเมื่อ
ออกแบบสังคม”กรุณา”ผู้สูงวัย
“คุณภาพชีวิตของคนสูงวัย” นับล้านคนคือโจทย์ใหญ่ที่แท้จริง ไม่ได้จากการคนในครอบครัวเท่านั้น แต่หมายถึงคนในชุมชนช่วยกัน การเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ในชุมชนให้เขาได้ออกมาพบปะพูดคุยอย่างเอื้ออารีย์ต่อกันกับก๊วนของผู้สูงวัยด้วยกันหรือคนในชุมชน และจัดพื้นที่ออกกำลังกายในชุมชนเป็นประจำทุกเช้า เป็นต้น
รวมถึงทำให้ผู้สูงอายุที่ยากจนเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆในหมู่บ้านในต่างจังหวัด หรือคณะกรรมการชุมชน ในเขตกรุงเทพ ต้องสำรวจผู้สูงอายุในชุมชนก่อน เพื่อให้รู้จำนวน สถานะ และความต้องการ เพื่อประกบติด และดึงคนในชุมชนที่มีใจมาช่วยกันผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปพูดคุย ให้กำลังใจผู้สูงอายุ และให้กำลังใจลูกหลานที่ดูแลไปพร้อมกัน เพราะบางท่านเท่านี้ก็เพียงพอที่จะทำให้เขาอยู่ต่อไปอย่างมีคุณค่า
แต่สำหรับบางท่านมีปัญหาทางการ ”เงิน” การช่วยเหลือต้องเชื่อมโยงกัน เพื่อให้เขามีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น กลุ่มผู้สูงอายุที่มีเงินบำเหน็จบำนาญ มีการลงทุนกองทุนต่างๆไว้ล่วงหน้า อาจน่าหวงน้อยกว่าผุ้สูงอายุที่ “แก่ด้วยจนด้วย” ทั้งในเมืองและในชนบท กลไกการทำงานที่เข้ามารองรับได้ดีไม่ใช่การสงเคราะห์โดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ไม่มีวันจะเข้าถึงคนสูงอายุได้ทั้งหมด และไม่ยั่งยืน
ตอนนี้คงต้องเป็นบทบาทของรัฐเข้ามาสนับสนุนโครงการและงบประมาณอัดเข้าไปในชุมชน และการดึงภาคเอกชนที่ต้องการทำโครงการเพื่อสังคมเข้าสนับสนุน เช่น งานจิตอาสาในชุมชน หรือ การเปิดพื้นที่งานให้ผู้สูงอายุในองค์กร นอกจากให้เขามีรายได้แล้ว ยังทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีคุณค่าในสังคม หรือแม้แต่เปิดตลาดให้ผู้สูงอายุมาขายของ เพราะหลายท่านมีฝีมือไม่น้อย การสร้างอาชีพให้ผู้สูงอายุนอกจากสร้างคุณค่าให้เขาแล้ว ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้อีกด้วย เพราะอย่าลืมว่าเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่
ส่วนการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานต้องตามมาพรอมกันทั้งในบ้าน และพื้นที่สาธารณะ ที่ต้องปลอดภัยต่อผู้สูงอายุ โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะ อาทิ รถสาธารณะ เพื่อให้ผู้สูงวัยเดินทางไปไหนมาไหนได้เองตามสมควร เช่น รถเมล์ที่บันไดขึ้นลงเตี้ยพอให้ขึ้นลงสะดวก และจัดที่นั่งที่เอื้อต่อผู้สูงอายุ พร้อมเขียนป้ายให้ชัดเจน ที่สำคัญคนขับรถสาธารณะ โดยเฉพาะรถประจำทางต้องผ่านการอบรมปรับพฤติกรรมให้ยอมรับว่ามีผู้สูงวัยใช้บริการมากขึ้น การขับรถจึงต้องระมัดระวังมากขึ้นตามไปด้วย รวมถึงการออกแบบห้องน้ำสาธารณะให้สะดวกต่อผู้สูงอายุ ทั้งทางเดินเข้าออก และภายในห้องน้ำต้องไม่เสี่ยงต่อการลื่นหกล้ม เป็นต้น รวมไปถึงการออกแบบสถานที่ที่ผู้สูงอายุไปใช้บริการบ่อยๆ อาทิ โรงพยาบาล ที่ต้องปลอดภัยต่อผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน
มากไปกว่านั้น คนในครอบครัวและคนในสังคมต้องเรียนรู้ที่จะปรับการสื่อสารกับผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุจำนวนมากมีปัญหาเรื่อง การได้ยิน ทำให้ฟังอะไรๆได้ไม่ถนัด และสายตาที่ฝ้าฟาง รวมถึงอาการหลงลืม ดังนั้นงานบริการที่ต้องรองรับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะโรงพยาบาลก็ต้องปรับใจและปรับการสื่อสารกับพวกเขา เช่น เสียงดังฟังชัด อาจต้องทำใจให้เย็นเข้าไว้ เพราะบางท่านมาถามหลายรอบ และบางคนไม่มีลูกหลานมาด้วย
ผู้สูงอายุที่มีพลัง หรือ Active Aging จะเกิดได้ตามยุทธศาสตร์ชาติ คงต้องร่วมมือทุกภาคส่วนช่วยกัน ลำพังคนแก่เกาะกลุ่มกันแก้ปัญหาให้ตัวเองคงไม่พอ ต้องอาศัยวัยอื่นๆ มาช่วยกัน เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ทุกช่วงวัยอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนบนความ “กรุณา” ต่อกัน