ผมใช้ทางหลวงหมายเลข 6 เพื่อเข้าสู่เมือง Hokitika แหล่งพักผ่อนที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น a cool little town เมืองเล็กๆ ไม่จอแจ แต่ผู้คนจะแวะมาพักตากอากาศ ทานอาหาร หย่อนใจกับชายหาดเพื่อขับรถไปต่อยังจุดหมายปลายทางอื่นๆ
แน่นอน เรามาที่นี่เพราะเป็นจุดพักของทริปและเป็นเกตเวย์ไปที่เมือง Greymouth ประตูผ่านสู่อุทยาน Punakaiki Pancake Rocks อันเลื่องชื่อระดับโลก สตอรี่ของชั้นหินที่มีอายุอานามกว่า 30 ล้านปีบนพื้นโลก
Hokitika ไม่ทำให้ผิดหวังจริงๆเพราะเมืองเก่าเต็มไปด้วยคาเฟ่ดีๆ ร้านอาหารที่อร่อยสุดๆ โดยเฉพาะ Fish and Ship ต้องต่อคิวซื้อ แถมยังเป็นแหล่งรวมช้อปขายงานอาร์ท แหล่งแกะสลักหยก และงานเพนท์สวยๆ บนก้อนหินน่าสะสม
ทักทายนกมากมายที่ชายหาด
เราสามารถเดินเที่ยวรอบๆ เมือง Hokitika ได้เลย เพราะเป็นชุมชนขนาดกะทัดรัดแต่ประวัติยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ เคยเจริญรุ่งเรืองด้านการค้าขายและเมืองแร่ แต่ปัจจุบันมีท่องเที่ยวเป็นจุดขาย สร้างรายได้สำคัญ เพราะตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างไคร์สเชิร์ชที่ขับรถเพียง 3 ชั่วโมง แล้วขึ้นเหนือเชื่อมไป Pancake Rocks ก็ได้ หรือลงใต้มาธารน้ำแข็ง Franz Glacier ก็ดี
ผมแวะทานอาหารกลางวันที่ริมทะเล ในวันที่คลื่นแรงจัดจนเห็นทิวขาวๆ ของฟองฟู่ตัดกับสีฟ้าเข้ม
จุดแลนด์มาร์กของ Hokitika มีป้ายเก๋ๆ ทำด้วยไม้กลมกลืนอิงแอบกับธรรมชาติรอบๆ ตัว เพื่อบอกว่าคุณมาถึงแล้วนะ โซนนี้ยาวไปหลายร้อยเมตรเป็นเหมือนสถานที่ให้ผู้คนมาปิกนิก ใครมีอาหารก็ถือมานั่งทานได้มีโต๊ะเก้าอี้และห้องน้ำที่ทางท้องถิ่นเตรียมไว้ให้ผู้มาเยือน
นกทะเลหลากหลายสายพันธุ์คอยต้อนรับผู้คน เด็กฝรั่งวิ่งเล่นไล่จับกันอย่างสนุกสนาน
…อัลบาทรอสตัวหนึ่งบินวนมาใกล้ๆ รถของเราที่กำลังแล่นอยู่ช้าๆ เห็นปีกสีขาวนวลสยายกว้าง สายตาของมันมองออกไปยังท้องทะเลไกลอาจอยากกลับไปฝั่งทะเลใต้เพื่อพบครอบครัว หรือแค่มาบอกเล่าถึงเรื่องราวของบ้านที่จากมาไกลก็ไม่รู้นะ
สัมผัสหินที่ธรรมชาติแกะสลักนานนับล้านปี
Pancake Rocks อยู่ห่างจากเมือง Greymouth ไปอีกประมาณ 40 นาที นับเป็นมรดกทางธรรมชาติที่เกิดจากการสะสมตัวของหินทรายหลอมรวมกับลมชายฝั่งทะเลที่ซัดสาด กลายเป็นการวาดลวดลายโดยกาลเวลามานับพัน นับหมื่นปี ผ่านเหตุการณ์แผ่นดินไหว การยกตัวขึ้นลงของเปลือกโลกสลับกันเป็นชั้นหินสูงต่ำคล้ายๆ แพนเค้กที่เรียงตัวกันสูงขึ้นไปอย่างแข็งแกร่ง เถื่อนถ้ำหน้าผาเหนือขึ้นไปจรดถึงใต้น้ำ สวยงามแปลกตาจริงๆ
พื้นที่อนุรักษ์แห่งนี้มีทางเดินให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมได้อย่างสะดวกพร้อมป้ายบอกทางและคำอธิบายบริเวณจุดชมวิวที่สำคัญๆ
บางจุดที่เป็นไอคอนหลักจะสังเกตเห็นตากล้องมืออาชีพมาตั้งกล้องรอแสงธรรมชาติและหวังว่าจะมีบรรดานกบินผ่านมา จะเป็นตัวประกอบภาพชั้นยอดที่ทำให้ชั้นอุทยานหินเหล่านั้นสวยงาม แปลกตา และมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น
ถ้าต้องการมา Pancake Rocks แนะนำให้มาช่วงบ่ายแก่ๆ หรือเย็นๆ เพราะแสงตะวันจะไม่แรงมาก เมื่อส่องลงมาที่หินเหล่านี้จะดูละเอียดอ่อน เหมือนจิตรกรได้ระบายสีอย่างนุ่มนวล แต่หากจะพักค้างที่เมืองเล็กๆ ชื่อ Punakaiki ก็มีที่พักบริการแบบโฮมสเตย์ คาเฟ่ ร้านอาหาร และแกลเลอรี่ให้อยู่สบายๆ ขี่ม้าริมชายหาด ไปเที่ยวถ้ำ และพายเรือแคนูก็ได้
เส้นทางใกล้ๆ ที่ไม่อยากให้พลาดคือถนนเลียบชายหาดเมือง Greymouth เกลียวคลื่นแรงที่พัดสู่หาดกลายเป็นฟองละเมียดของน้ำทะเล ช่วงพระอาทิตย์ที่กำลังตกดิน ยอแสงลงมาจนมองเห็นเป็นสีชมพูเรื่อๆ ทั่วไปหมด
ทางกลับจาก Pancake Rocks มีจุดชมวิวหลายแห่งบนถนนที่เรียกว่า Coast Road ให้นักท่องเที่ยวเลือกแวะจอดเพื่อถ่ายภาพเป็นของขวัญแห่งชีวิต ยามสนธยาของมหาสมุทรบนแผ่นดินสุดขอบโลกใบนี้…ช่างสวยงามจริงหนอ
ภูมิภาพแห่งเส้นทางสุดสายตา Arthur Pass
เมื่อวันสุดท้ายของการเดินทางมาถึง หลักไมล์บอกระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตรแล้ว แต่แลนด์สเคปที่สำคัญ หลักไมล์สุดท้าย ได้แก่ถนนซึ่งผมต้องบอกว่าอย่าพลาดด้วยประการทั้งปวง…Arthur Pass
ทางสายนี้ทอดยาวกว่า 153 กิโลเมตร เชื่อมต่อชายฝั่งทะเลตะวันออกสู่มหาสมุทรตะวันตกมาตั้งแต่ต้นของศตวรรษที่ 20 เริ่มต้นจากการออกสำรวจตามความต้องการของบรรดานักขุดทอง ที่มุ่งแสวงหาวิธีเดินทางผ่านป่าเขาลำเนาไพรซึ่งเต็มไปด้วยเทือกเขาสูงแห่งแอลป์ขวางกั้น
ภายหลังประสบความสำเร็จกลายเป็นถนนหลวงและอุทยานแห่งชาติแล้ว รัฐบาลนิวซีแลนด์ยังมีการตัดทางรถไฟสาย TranzAlpine แล่นจากเมือง Christchurch ไปถึงเมือง Greymouth เป็นเส้นทางชมทิวทัศน์ที่สะดวกสบายและสวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ระยะทางประมาณ 223 กิโลเมตร คุณจะเห็นทิวทัศน์ของ Arthur Pass แบบพาโนรามาได้เต็มตากว่า 5 ชั่วโมง
การขับรถบนถนนสาย Arthur Pass ควรเติมน้ำมันมาให้เต็มถังเพราะส่วนใหญ่จะขึ้นเขาสูง ผ่านป่าสนดงดิบแบบดึกดำบรรพ์ทุ่งราบและลำธารที่สามารถมองออกไปสู่ภูมิภาพอันไพศาลฟาร์มแกะแสนน่ารัก และมี Arthur’s Pass National Park Visitor Centre คอยแนะนำเส้นทางท่องเที่ยวทุกรูปแบบตั้งอยู่ด้วย
การเช็คอินภาพสวยๆ มีจุดให้นักเดินทางลงไปแวะถ่ายรูปจำนวนมากนับสิบแห่ง โดยเฉพาะในช่วงที่เป็นฤดูใบไม้ร่วงทัศนียภาพก็จะสวยงามแปลกตาด้วยใบไม้เปลี่ยนสีหลายเฉด ส่วนฤดูหนาวบน Arthur Pass ก็จะเป็นอีกแห่งหนึ่งที่คนนิวซีแลนด์นิยมมาเล่นสกีและหิมะ
Castle Hill เป็นจุดหนึ่งที่ตื่นตาตื่นใจที่สุด เพราะหินขนาดยักษ์รูปทรงแปลก ตั้งอยู่กลางทุ่งหญ้าสีเขียวระบัดใบสลับแซมด้วยสีเทาจากความหนาวยะเยือก เราสามารถเดินเท้าเข้าไปชมได้แบบใกล้ๆ หรือจะถ่ายภาพแบบพาโนรามาก็คุ้มค่าที่จะเสียเวลาตรงนี้ ก่อนที่จะลงจาก Arthur Pass เพื่อเข้าสู่เมืองหลวงฝั่งใต้ Christchurch นั่นเอง
ตลอด 12 วันของการเดินทางบนเกาะใต้ ผ่านเมืองใหญ่ที่มีทุกอย่างและเส้นทางเล็กๆ ที่ต้องถามตัวเองว่า เราอยู่แห่งใดบนโลกใบนี้ ผมขับลัดเลาะทางเลียบชายฝั่ง Catlins ปลายสุดของแผ่นดิน ได้ตื่นตาตื่นใจราวกับนักสำรวจเมื่องสองร้อยปีก่อนมาเห็นสรวงสวรรค์เป็นครั้งแรก
การได้ซึมซับกับวิถีชีวิตคนท้องถิ่นซึ่งหาไม่ได้จากที่ไหน บางส่วนส่งผ่านแรงบันดาลใจยิ่งใหญ่ในจิตนาการแห่งภูเขาสูง แม่น้ำ ลำธาร น้ำแข็งและป่าดึกดำบรรพ์ ธรรมชาติอันบริสุทธิ์และสมบูรณ์แบบของนิวซีแลนด์ เก็บเป็น เมโมรี ไว้ในสายตา และประมวลทุกอย่างเอาไว้ในหัวใจ
เจ้าเพนกวินตาสีเหลือง หนอนเรืองแสง ฝูงแกะ แมวน้ำ และนกอัลบาทรอส….พวกเขาเหล่านั้นยังคงมีชีวิตชีวา คอยกวักมือเรียกพวกเราให้แวะมาทักทายกันอยู่เสมอๆ
เส้นทางการท่องเที่ยว สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ทาง https://www.newzealand.com/us/destinations/