[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Image_Widget”][/siteorigin_widget]
ภูมิภาพของนิวซีแลนด์ เหมือน Pop-up หนังสือเล่มหนา ที่องค์ประกอบต่างๆ ทยอยยกตัวขึ้นมาอวดโฉม ทีละรูปๆ จนกลายเป็นแกลเลอรี่ธรรมชาติขนาดใหญ่ มอบให้แก่โลกใบนี้

เส้นทาง The Southern Scenic Route ถนนเลียบชายหาดที่เต็มไปด้วยทัศนียภาพอันสวยงาม เลาะไปตามเนินทรายและป่าไม้ทางตอนใต้ปลายสุดของเกาะ รวมระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร  

การท่องเที่ยวหลักในแถบนี้คือต้องขับรถยนต์เท่านั้น ถ้าสตาร์ทออกจากควีนส์ทาวน์ส่วนใหญ่ก็จะมุ่งเป้าไปเมือง Invercargill ซึ่งห่างไปไม่ไกลนัก แต่สำหรับผมทริปนี้พอจะมีเวลาขับรถยาวๆ จึงปักหมุดหมายที่เมือง Dunedin ทางตะวันออกเฉียงใต้ 

จากทะเลสาบ Te Anau …การเข้าสู่ Southern Scenic Route ผมใช้ทางหลวงหมายเลข 6 ลงมาทางใต้สุดของเกาะประมาณ 200 กิโลเมตรก็จะผ่านเมือง Riverton เป็นแหล่งสถาปัตยกรรมชั้นดีที่มีเสน่ห์เย้ายวน ทางรถไฟสายเก่า ร้านอาหารและคาเฟ่มากมายเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวเรียงรายอยู่สองข้างทาง 

ในวันที่ฟ้าฝนโปรยปราย ทุกหลักไมล์ที่ผ่านในดินแดนนี้ กอปรไปด้วยดอกไม้ป่า ฟาร์มแกะ และฝูงกวางซึ่งเห็นจนเป็นเรื่องธรรมดา ถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของคนแถบถิ่นใต้ บรรยากาศแบบชนบทมีให้เห็นอยู่ทั่วไป บ้านเรือนผู้คนอิงแอบอยู่บนเนินเขา ชีวิตเงียบสงบถูกล้อมรอบด้วยทุ่งหญ้าเขียวขจีและสายลมเย็น 

บรรยากาศเมือง Riverton

South Scenic Route

Catlins เส้นทางธรรมชาติแห่งทะเลใต้

ป้ายบอกทางให้สัญญาณเราว่า สิ้นสุดทางหลวงบนแผ่นดินใหญ่กำลังแล่นเข้าสู่ Southern Scenic Route ซึ่งได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลนิวซีแลนด์อย่างเป็นทางการเมื่อปี 1985 หรือ 30 ปีที่ผ่านมา 

สองข้างทางคือหมู่บ้านคนเลี้ยงแกะริมทะเลที่อยู่รวมกันเป็นชุมชนเล็กๆ แกะบางตัวเพิ่งถูกตัดขนไปขาย บางตัวเดินเตาะแตะไม่กลัวหนาวเล็มหญ้าที่เปียกชื้นกินอย่างมีความสุข หลังฝนขาดเม็ดไปหมาดๆ 

ต้นไม้รูปทรงประหลาด อาจเป็นอนุสาวรีย์ทางนิเวศน์วิทยาก็ได้ เมื่อกิ่งก้านใบถูกสายลมแรงพัดจนเอนระนาบไปกับพื้นโลก กลายเป็นไอคอนของทิวทัศน์แถบนี้ที่นักท่องเที่ยวต้องหยุดแวะถ่ายรูป

พื้นที่ Heartland ของชายฝั่งทะเลใต้ ถูกเรียกขานว่า The Catlins ภูมิภาพเฉพาะตัวที่มีเพียงในเขตนี้เท่านั้น ทะเล ปลาวาฬ แมวน้ำ เพนกวิน ป่าฝน…ผู้คนอยู่กันแบบเบาบาง ท่ามกลางประวัติศาสตร์ฝังลึก ครั้งหนึ่งที่กัปตัน Edward Catlin แล่นเรือมาถึงเมื่อปี 1840 เขาขอซื้อชายหาดและแผ่นดินความยาว 80 กิโลเมตร มาจากหัวหน้าชนเผ่าเมารี Tuhawaki หลังลงนามในสัญญา กัปตัน Catlin ได้พัฒนาท่าเรือสำหรับการจับปลาวาฬและส่งไปขายทั่วพื้นที่ภาคใต้

แม้วันเวลาผ่านเลยมาเนิ่นนาน แต่ธรรมชาติที่นี่ยังรักษาสภาพเอาไว้ราวกับฟอสซิล หินทรายที่กลายเป็นสีดำสนิท ตัดกับหาดทรายสีทอง เทือกเขายกตัวทอดยาว ก่อรูป เกิด ดับ และปรับเปลี่ยนจากยุค Jurassic นับล้านปีถึงปัจจุบัน…Catlins ยังคงจิตวิญญาณเหล่านั้นไว้เสมอ

ฟังเสียงกู่ร้องของ Yellow-eyed penguins

จากเมือง Riverton เราขับมาประมาณชั่วโมงครึ่งก็มาถึง Curio Bay พักที่โฮมสเตย์ริมทะเลกว้างใหญ่ บ้านของสตรีชาวเกาะใต้แท้ๆ ซึ่งมีอาชีพทอผ้าห่มแบบ Quilting ลวดลายสวยงาม เธอมีห้องเวิร์คช้อปเล็กๆ ไว้สำหรับกิจกรรมเย็บปักถักร้อยประจำวันด้วย

บ้านติดหาดของเธอน่ารักมาก แม้จะมีห้องพักเพียงสองห้องแต่ก็มองเห็นผืนน้ำได้แบบพาโนรามา ฝูงนกนางนวลล้อเล่นกับคลื่นลมที่ซัดเข้าฝั่งฝนตั้งเค้ามาอีกแล้วและข่าวทางโทรทัศน์บอกว่านิวซีแลนด์กำลังเผชิญกับพายุในช่วง 2-3 วันนี้ 

ไฮไลต์สำคัญในการมา Curio Bay ก็คือการดูนกเพนกวินตาเหลืองที่ใกล้จะสูญพันธุ์หรือ Yellow-eyed penguins บ้านพักของเราห่างจากชายหาดที่เป็นแหล่งดูเพนกวินตามธรรมชาติไปประมาณ 2 กิโลเมตร คำแนะนำของเจ้าของบ้าน บอกว่าให้ไปถึงประมาณ 5 โมงเย็น จะเป็นช่วงที่พวกมันกำลังกลับมาจากหาอาหารในทะเล และเดินขึ้นฝั่งเพื่อนำอาหารกลับมารวงรัง แบ่งปันให้แก่ลูกน้อย

Yellow-eyed penguins เป็นพันธุ์เฉพาะที่มีเพียงในแถบถิ่นนี้ ในภาษาเมารีเรียกมันว่า Hoiho หมายความว่า เสียงตะโกนกู่ร้อง พวกมันขี้อายและไม่ชอบให้คนอยู่ใกล้ๆ คำแนะนำก็คือหากพบสัตว์ทะเลหายากชนิดนี้ให้อยู่ห่างอย่างน้อย 10 เมตร

ชายหาดที่เราเฝ้าดูเจ้าเพนกวินตาสีเหลืองนี้ มี Area เล็กๆ ไว้ให้ทุกคนได้ยืนรอช่วงเวลาสำคัญ ผมลงไปสัมผัสชายหาดที่มีโขดหินใหญ่น้อยเรียงรายกันเป็นแนวยาว 

เหนือไปบนฝั่งคือรังของเจ้านกเพนกวิน ที่มักสร้างอยู่ใต้ต้นไม้ใบหญ้าริมทะเล ถ้าไม่สังเกตดีๆ ก็คงไม่ทันเห็น เหมือนโพรงพักอาศัยไว้บังแดดฝนและกอดลูกน้อยให้ได้รับความอบอุ่น

ใกล้หกโมงเย็นแล้ว อากาศที่ Curio Bay หนาวจับใจ แต่เรายังไม่เห็นวี่แววเจ้าเพนกวินตาเหลืองขึ้นมาจากทะเล ผมเดินเลียบเลาะชายหาดสวนทางเข้ากับฝรั่งสาวคนหนึ่ง ที่กำลังจะกลับออกไปพอดี เธอบอกว่าพบสิ่งที่เรากำลังตามหา อยู่ไม่ไกลนี่เอง 

เพื่อนร่วมทางที่ผมไม่รู้จักกันมาก่อน 2-3 คนต่างรีบเดินบึ่งไปดูเพราะรู้ว่าช่วงเวลาที่จะได้เห็นเพนกวินมีเพียงแวบเดียวในทริปนี้และนั่นเอง! เจ้าเพนกวินตาเหลืองขนาดความสูงสัก 2-3 ฟุต เดินอาดๆ มายืนอยู่ตรงหน้า มันขึ้นจากชายหาดลัดเลาะโตรกหิน เพื่อกลับเข้าสู่รัง 

นับเป็นโมเมนต์ที่ยากจะลืมเลือนจริงๆ…

ทุกคนรักษาระยะห่างเพื่อไม่ให้เพนกวินตกใจ ผมไม่ประสงค์หยิบกล้องถ่ายรูปขึ้นมา เพราะต้องการบันทึกไว้ด้วยสายตาตนเอง จนถึงวินาทีที่มันจะกลับเข้าไปในรัง Yellow-eyed penguins ก็ส่งเสียงร้องดังก้องขึ้นมาหนึ่งครั้ง เหมือนจะบอกว่า ไปก่อนละนะ แล้วก็หายเข้าไป ปล่อยให้พวกเรายืนยิ้มน้อยๆ ภาคภูมิใจที่ได้เห็นสัตว์โลกที่เหลือไม่กี่ตัวในธรรมชาติ

ประหลาดจริงๆ ที่เพนกวินออกไปหาอาหารตั้งแต่เช้ามืด ว่ายออกไปไกลลิบแล้วกลับมาตรงเวลาทุกวัน มันมีสัญชาติญาณใช่มั้ยว่าตรงไหนคือบ้าน?

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมได้รับจาก Southern Scenic Route คือพบกับเพื่อนร่วมทางใหม่ๆ มากมาย พูดคุยกับผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ที่ขับรถยนต์กันมาทั้งแบบคู่รัก แฟมิลี่ที่ชอบการผจญภัย หรือแม้แต่สาวโสดตัวคนเดียวลุยๆ ก็ด้วยใจรักการท่องเที่ยว

เช้าวันกลับ เจ้าของโฮมสเตย์ถามว่าเราต้องการแวะทานข้าวหรือไม่จะนัดร้านอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นบ้านของคนท้องถิ่นนั่นเอง เนื่องจากเดือนเมษายนไม่ใช่ฤดูท่องเที่ยวยอดนิยม ร้านรวงจะปิดบริการเสียเป็นส่วนมาก ทุกคนควรนำอาหารติดรถมาเองส่วนหนึ่ง เพราะไม่ค่อยมีคอฟฟี่ชอปให้เลือกซื้อมากนัก 

บรรยากาศเมือง Curio Bay

Curio Bay

ที่พัก Curiobay

Cathedral Caves ศรัทธาแห่งการมีชีวิตรอด

เราโบกมือลา Curio Bay ด้วยความอบอุ่นประทับใจ ถ้ามีโอกาสก็ไม่ลังเลที่จะกลับมาอีก

หมุดหมายต่อมาของเรา ห่างออกไป 35 กิโลเมตรคืออีกหนึ่งไฮไลต์ของ Catlins … ถ้ำใหญ่ที่มีบันทึกประวัติศาสตร์ยาวนาน 

เมื่อขับรถออกมาจาก Curio Bay เส้นทางเริ่มลัดเลาะเข้าสู่เทือกเขาในเขตอุทยานแห่งชาติ Catlins Forrest Park เลียบเลาะ Chaslands Highway แล้วก็จะมาถึงจุดหมายคือ Cathedral Caves ตั้งอยู่บนชายหาด Waipati Beach อันเงียบสงบ

ถ้ำแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน เคยเป็นที่หลบลมฝนหนาวของนักเดินเรือชาวพื้นเมืองรุ่นบุกเบิกที่มาตกปลาล่าสัตว์ รวมถึงจับแมวน้ำหรือนกเพนกวินตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 15 หรือ 16 ​ซึ่งนักสำรวจได้ขุดพบแคมป์ของล่าสัตว์และพักพิงของชาวเมารีในพื้นที่แห่งนี้ โดยมีเศษโครงกระดูกมนุษย์รวมถึงฟอสซิลต่างๆ นอกจากนั้น บางคราวยังใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของนักเดินเรือสมัยก่อนด้วย อาจเป็นเพราะว่าปากประตูถ้ำแห่งนี้มองดูคล้ายๆ ประตูโบสถ์ของคริสตศาสนาก็เป็นได้

เจ้าหน้าที่อุทยานเตือนเราว่า การเดินลงไปถูกจำกัดด้วยเวลาน้ำขึ้นน้ำลง อนุญาตได้ไม่เกิน 1.30 ชั่วโมง และควรต้องกลับมาไม่เกินบ่ายโมงตรง เนื่องจากพยากรณ์อากาศระบุว่าน้ำทะเลหนุนสูงอาจจะปิดปากถ้ำเอาไว้ทั้งหมดให้จมอยู่ใต้บาดาล นั่นคือแหละความตื่นเต้น แต่ก็เป็นเรื่องปกติเพราะถ้าดูจากเว็บไซต์ www.cathedalcaves.co.nz ถือเป็นศูนย์กลางให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวระบุว่า ถ้ำจะเปิดบริการเฉพาะปลายเดือนตุลาคมถึงพฤษภาคมเท่านั้นและการเดินไปกลับใช้เวลา 1 ชั่วโมง คงจะต้องศึกษาตารางเวลาอย่างเคร่งครัด 

การเข้าไปสัมผัส Cathedral Caves ต้องเดินลงเขาไปประมาณ 1 กิโลเมตร เหมือนกำลังหลงเข้าสู่ป่ายุคก่อนคริสตกาล ต้นไม้เกือบทั้งหมดปกคลุมด้วยมอสเขียวท่ามกลางอากาศหนาวเย็นยะเยือกและชื้นฉ่ำด้วยละอองฝน นี่คือเขต The Catlins Coastal Rainforest Park 

Cathedral Caves เป็น 1 ใน 30 ถ้ำที่ยาวที่สุดในโลกใบนี้ โดยมีระยะทางรวม 199 เมตรภายในมีด้วยกันสองส่วนเชื่อมต่อกันด้วยความสูงของถ้ำถึง 30 เมตร ในทางธรณีวิทยาถือเป็นหินทรายที่กำเนิดมาตั้งแต่ยุค Jurassic หลายล้านปีก่อน 

บางครั้งนักท่องเที่ยวที่เข้าไปอาจพบกับแมวน้ำหรือเพนกวินที่หลงมาเจ้าหน้าที่แนะนำว่าอย่าเข้าไปรบกวน ปล่อยให้มันใช้ชีวิตตามธรรมชาติดีกว่า ผมเดินวนรอบๆ ชวนให้นึกถึงกัปตัน นักเดินเรือ นักล่าสัตว์และโจรสลัด ที่ต่างมาผ่านมาเพราะความเชื่อทางจิตวิญญาณ

สู่ Dunedin ชมสถาปัตยกรรมและธรรมชาติ

ก่อนออกจาก Cathedral Caves น้ำทะเลเริ่มสูงขึ้นประมาณตาตุ่มแล้ว จริงเหมือนดังที่เจ้าหน้าที่อุทยานบอกแต่แรก คือคลื่นซัดน้ำค่อยๆไหลมาราวกับประตูสวรรค์กำลังจะปิดลง ผมเดินจากไป…และวกกลับขึ้นไปบนอุทยานอีกครั้ง เมื่อถึงจุดจอดรถจะมีห้องน้ำไว้บริการนักท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่อุทยานดูเหมือนจะโล่งใจทีเดียวที่คนเอเชียอย่างพวกเรายังรอดปลอดภัยดี…นับเป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจครับ

ผมขับต่อไปจนถึง Kaka point และ Nugget Point Lighthouse จุดชมวิวประภาคารที่เป็นเสมือนแลนด์มาร์คของแถบนี้ ต้องขับรถขึ้นเขาและเดินต่ออีกไม่เกิน 10 นาที 

โดยประภาคารแห่งนี้รัฐบาลท้องถิ่นสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 1870 เพื่อใช้สังเกตการณ์เรือนอกชายฝั่ง ตั้งอยู่บน Otago Coast ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องของแมวน้ำ สิงโตทะเล ปลาโลมาและเพนกวิน ถ้าอยากชมบรรดาสัตว์หายากเหล่านี้จริงๆ ก็จะต้องเดินลัดเลาะลงไปยังชายหาด Roaring Bay ที่เชื่อมต่อกัน 

ย่านนี้ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่ได้รับความนิยมโดยเฉพาะในฤดูร้อน จึงมีรีสอร์ต บังกะโล และร้านอาหารให้เลือกมากมาย 

ผมมาถึงเมือง Dunedin ตอนค่ำๆ เมืองที่คราคร่ำด้วยผู้คนหลงใหลในการใช้ชีวิต ดื่มด่ำธรรมชาติ สุนทรียภาพ และปัญญาความรู้ ถือเป็นเมืองมหาวิทยาลัยมีร้านหนังสือมากมายให้เลือกสรร ผู้คนรักในสิทธิเสรีภาพและสวัสดิภาพของการมีชีวิตอยู่ ท่ามกลางโลกที่แปรเปลี่ยนไปทุกวินาที

สนุกสนานกับโรงงานช็อคโกแล็ต

เราออกสำรวจไลฟ์สไตล์ยามค่ำคืน แสงไฟบนท้องถนนที่เต็มไปด้วยรถรา ร้านอาหารเวสเทิร์นสไตล์ โบสถ์เก่าแก่ แหล่งช้อปปิ้ง แม้ย่าน The Octagon ไม่ใหญ่โตอลังการระดับโลกแต่เมืองรองอย่าง Dunedin ก็มีร้านค้าน่ารักๆ สถาปัตยกรรมที่สวยงามให้เดินแบบเพลินๆ แต่คงต้องใช้เวลาปรับตัวสักนิดครับ เพราะเพิ่งดื่มด่ำกับธรรมชาติแบบดิบๆ บนเส้นทาง Southern Scenic Route มาหมาดๆ

ตอนเช้าเรามีนัดตั้งแต่ 9.00 น. เพื่อไปทัวร์โรงงานช็อคโกแล็ต Cadbury World Experience ซึ่งตั้งอยู่บนถนน Cumberland ใจกลางเมืองที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของ Dunedin ไปเสียแล้ว ไกด์ประจำโรงงานแห่งนี้อารมณ์ดีเป็นพิเศษ มีรอยยิ้มให้กับผู้คนและทุกครอบครัวที่มาเยี่ยมเยือน

การทัวร์จะเริ่มจากเวิร์คช้อปขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบ ซึ่งต้องนำเข้าเมล็ดโกโก้จากต่างประเทศ การผสมนมเนยและน้ำตาล ไปจนถึงกระบวนการใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่คนคละเคล้าให้เข้ากัน ที่สำคัญอร่อยมากด้วยเพราะเราได้เดินไปชิมไปตลอดทาง 

โดยเฉพาะห้องสุดท้ายมีช็อคโกแล็ตที่ผลิตขึ้นทุกรสชาติของโรงงาน Cadbury ขายตามซุปเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ ทั่วนิวซีแลนด์ พร้อมส่งออกไปทั่วโลก นับเป็นความหวานและประสบการณ์ที่ดีมาก สำหรับใครที่พาเด็กๆ มาทริปนี้ก็พลาดไม่ได้เชียว

ก่อนกลับ บริเวณทางออกของ Cadbury World จะเป็นร้านจำหน่ายของที่ระลึกและคาเฟ่ให้ซื้อช็อคโกแล็ตร้อนๆ ขนมเค้ก และกาแฟอุ่นๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ติดไม้ติดมือกลับบ้าน 

ผมสังเกตเห็นนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มากับกรุ๊ปทัวร์ เหมาไปเป็นตระกร้าใหญ่ๆ เวลาพนักงานขายนำมาวางบนเชลท์ไม่ทันไร โอ..หมดซะแล้วผมเชื่อเลยล่ะว่าอาตี๋อาหมวยยุคนี้นี่ช่างรวยจริงๆ ชื่นชมๆ

ขอบคุณภาพบางส่วนและเพิ่มเติมรายละเอียดได้จาก www.catlins.org.nz  www.nzbirdsonline.org.nz และ www.maritimenz.govt.nz