ในวันหนึ่ง เราได้มีโอกาสพบกับบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับงานอนุรักษ์ป่า จึงได้นำสถิติสำคัญมาบอกเล่าเก้าสิบ เพื่อกระตุ้นเตือนให้เห็นถึงสถานการณ์ป่าไม้ไทยที่ และเห็นถึง ”การเปลี่ยนแปลง” อย่างมีนัยสำคัญ ด้วยความพยายามของทุกภาคส่วน การละทิ้งตัวตน มาบูรณาการทำงานร่วมกัน ทำให้ป่าของเรามีโอกาสกลับคืนจากที่ไม่มีความหวังมานาน
ข้อมูลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ทำให้เห็นว่าปี พ.ศ. 2516 ประเทศไทยมีป่า 138.57 ล้านไร่ หรือประมาณ 43.21 % ของพื้นที่ประเทศ ปัจจุบันเหลืออยู่ 102.4 ล้านไร่ หรือประมาณ 32% ของพื้นที่ประเทศ พื้นที่ป่าที่ลดลงสอดคล้องกับสถิติคดีของกระทรวงฯ ที่พบว่าในช่วง 5 ปี (2557- 2561) มีคดีบุกรุกป่า 23,340 คดี คดีป่าไม้ 27,177 คดี และคดีสัตว์ป่า 2,216 คดี
สถิตินี้ไม่เป็นที่แปลกใจสำหรับ ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร แต่สิ่งที่เขาเป็นห่วง คือ ป่าในความดูแลของกรมป่าไม้ ซึ่งเขาอธิบายว่า เป็นเพราะกลไกดูแลป่าน้อยเกินไป ทั้งคน วิธีการ และงบประมาณ เนื่องจากอดีตพื้นที่หน่วยป้องกันรักษาป่า ในสังกัดกรมป่าไม้ มีไว้สำหรับตรวจสอบเรื่องสัมปทาน และดูแลไม้ที่ตัดออกมา
แต่เมื่อปรับมาทำภารกิจดูแลป่า ขณะเดียวกันพื้นที่นั้นๆก็มีทั้งประชาชนอยู่โดยรอบ ทั้งอยู่มาก่อน และอพยพมาอยู่หลังยุคสัมปทาน เมื่อหน่วยงานรัฐไม่เข้มงวดด้วยแล้ว อนุญาตให้คนใช้ประโยชน์พอสมควรมาตลอด ประกอบกับเจ้าหน้าที่ดูแลไม่ทั่วถึง
“ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐพยายามแก้ปัญหา โดยรักษาป่าผืนใหญ่ไว้ ด้วยการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือวนอุทยาน ส่วนพื้นที่ที่เป็นป่าในความดูแลของกรมป่าไม้ได้แต่ตั้งรับ พร้อมถูกบุกรุกทำลายได้ตลอดเวลาโดยไม่มีการป้องกัน ทั้งยังผูกขาดการดูแลไว้ที่ “เจ้าหน้าที่” ต่อไป เป็นสาเหตุใหญ่ให้พื้นที่ป่าลดลงในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา”
กรมป่าไม้–มูลนิธิสืบฯเพิ่มประสิทธิภาพดูแลป่า
ศศิน เล่าต่อว่า สถานการณ์ที่เป็นมานับสิบปีจนมาถึง ปี 2551 กรมป่าไม้ยุคนั้น จึงเริ่มให้มีชุมชนเข้ามาช่วยดูแลป่าที่อยู่กระจัดกระจายให้เป็นโครงการ “ป่าชุมชน” ขณะเดียวกันก็เริ่มมองการปรับปรุงโครงสร้างดูแลป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมป่าไม้ แต่ยังไม่เป็นรูปธรรมจนล่าสุดเมื่อปี 2559 กรมป่าไม้จึงได้จับมือกับมูลนิธิสืบฯ ทำ“โครงการพัฒนาบริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในผืนป่าตะวันตก” เป็นโครงการนำร่องก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่นๆทั่วประเทศ
“หลักการทำงานร่วมกันในครั้งนี้ คือ ปรับฐานข้อมูลให้ตรงกัน ชัดเจน และ พัฒนาศักยภาพของบุคลากร โดยมองชุมชนเป็นศูนย์กลางในการทำงาน คุณสมบัติของเจ้าหน้าที่ที่จึงต้องสามารถสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการดูแลป่า”
ตามนโยบายแล้ว ป่าผืนเล็กๆที่อยู่กระจายทั่วไป ต้องถูกประกาศเป็นป่าชุมชน ส่วนพื้นที่ที่ถูกบุกรุกในลุ่มน้ำชั้น 3, 4 ,5 กรมป่าไม้จะพัฒนาเป็นสวนป่าเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์ ส่วนป่าที่ยังสมบูรณ์ไม่มีชุมชนใช้ประโยชน์ และอยู่ติดเขตอุทยานแห่งชาติ มีแนวทางผนวกให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชรับไปดูแล
“คอนเซปต์นี้ อาจไม่ได้ช่วยให้ป่า หรือสัตว์ป่าเพิ่ม เพราะพื้นที่ในความดูแลของกรมป่าไม้ไม่ได้อยู่ในสภาพป่าแล้ว สัตว์ป่าไม่สามารถอยู่อาศัยได้ในสภาพป่าแบบนี้ แต่เป็นการรักษาต้นน้ำ และแหล่งอาหารรอบบ้านของชาวบ้านที่อยู่ใกล้ป่า เพื่อให้คนไม่ไปรบกวนบริเวณที่มีสภาพป่าหรือสัตว์ป่าอยู่อาศัย”
ดึงชุมชนมีส่วนร่วมสู่พื้นที่ป่า 40%
ประเทศไทยต้องมีพื้นที่ป่าไม้ 40% ของพื้นประเทศ หรือ 129.20 ล้านไร่ จากป่าอนุรักษ์ 25% และป่าเศรษฐกิจ 15% เป็นยุทธศาสตร์ชาติด้านป่าไม้ของประเทศที่ถูกวางในรัฐบาลนี้ อันมาจากการทำงานร่วมกันของ 2 หน่วยงาน กรมอุทยานฯมีหน้าที่รักษาป่าผืนใหญ่ที่เหลือ 21-22% เมื่อรวมกับพื้นที่ที่กรมป่าไม้ทะยอยส่งมอบป่าสมบูรณ์ให้อีก 3% เป็น 25% ส่วนกรมป่าไม้มีภารกิจเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจที่มีอยู่ปัจจุบัน 4-5% ให้เป็น 15% ด้วยการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจทั้งในพื้นที่ของกรมป่าไม้ และพื้นที่เอกชน
“การทำงานที่เปลี่ยนไปเท่านั้น จึงจะทำให้นโยบายป่าไม้แห่งชาตินี้สำเร็จ” อรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ ให้มุมมองกับเราในฐานะเจ้าหน้าที่ที่มีภารกิจโดยตรง เขาปักธงว่า ต้องให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหาจึงจะรักษาป่าได้ เพื่อ “ให้คนอยู่กับป่าอย่างสมดุล และยั่งยืน”
ที่ผ่านมารองอธิบดีกรมป่าไม้ยอมรับว่านโยบายรัฐบาลผ่อนปรนจนเกิดปัญหาและคาราคาซังมาจนถึงปัจจุบันแต่หลังจากนี้ต้องเดินหน้าไปสู่ 5 เป้าหมายก็คือ 1.รักษาพื้นที่ป่าที่เหลือ 2.ป่าที่ถูกรุกต้องถูกนำกลับคืนมาให้ได้ภายใต้มาตรา 66 ของคำสั่งคสช. 3.คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน 4.งานบริการประชาชนที่มีประสิทธิภาพ และ 5.การส่งเสริมป่าปลูก
ทั้ง 5 เป้าหมายจะทำได้ นายอรรถพล มุ่งไปที่การแก้ปัญหาประชาชนที่อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์จากป่า โดยหาแนวทางไม่กระทบกับป่า และควบคุมไม่ให้มีการขยายหรือบุกรุกป่าเพิ่ม วิธีการสำคัญ คือ การนำเทคโนโลยีมาช่วยปลดล็อกข้อจำกัด ทั้งในเรื่องอัตรากำลังและงบประมาณ พร้อมกับให้ประชาชนเป็นพลังช่วยดูแลป่า หากทำได้นี่คือ “ความสำเร็จสูงสุดในการดูแลป่า”
อรรถพล บอกอย่างมาดมั่น โดยยกให้เป็นบทบาทของหัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ต้องเป็นกลไกขับเคลื่อนการทำงาน ภารกิจสำคัญนี้ทำให้คนที่จะเป็นหัวหน้าหน่วยฯต้องเปลี่ยน เขาวางคุณสมบัติไว้ว่า ในคนๆเดียวต้องเป็นทั้งผู้มีความรู้รอบด้านโดยเฉพาะข้อกฎหมาย กล้าบังคับใช้กฎหมาย ขณะเดียวกันก็เป็นนักประสานสิบทิศ เข้าถึงและเป็นที่ยอมรับของประชาชน
ด้านโครงสร้างการทำงานก็ต้องเปลี่ยนสอดรับกันด้วย โดยกรมป่าไม้กำลังจัดตั้ง ”ศูนย์ป้องกัน และพัฒนาป่าไม้ระดับอำเภอ” เพื่อเป็นเวทีบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน ไปพร้อมกับการทำงานภายใต้กลยุทธ์ 3 เกาะ อันประกอบด้วย เกาะติดพื้นที่ เกาะติดประชาชน และเกาะติดกลุ่มขบวนการ
เจ้าหน้าที่หันหาชาวบ้านจับมือพิทักษ์ป่า
แนวทางของอรรถพล ไม่ได้เป็นแค่ฝันที่เลื่อนลอย แต่มีต้นแบบเกิดขึ้นแล้วที่อำเภอแม่กะสี ซึ่งมีการทำงานของหน่วยป้องกันฯอันเป็นตัวอย่างของพื้นที่อื่นๆ ที่เปลี่ยนแปลงจนเกิดผลสำเร็จ จากความตั้งใจของ เธียรวิชญ์ มูสิกะวงศ์ หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่นว.1 (แม่กะสี) จังหวัดนครสวรรค์ ที่ตั้งคำถามกับตัวเองในวันหนึ่งว่า เจ้าหน้าที่เพียงหยิบมือ จะดูแลป่า 44,251 ไร่อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร ไม่เพียงแค่คิดเท่านั้น เขาได้เริ่มทำแผนที่บริหารจัดการในปี 2555 เพื่อปักหมุดให้รู้ว่าป่าอยู่ตรงไหน มีเขตปฏิรูปที่ดิน และพื้นที่ที่ไม่ใช่สภาพป่าเท่าใด จากนั้นสิ่งที่จะต้องทำ พร้อมกับพิกัดก็จะชัดเจนขึ้น โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น โปรแกรม Arc GIS และ SMART PATROL
“เดิมหน้าที่หลักของเรา เน้นปราบปราม แต่ปราบเท่าไหร่ก็ไม่หมด เพราะไม่มีความเข้าใจกับชาวบ้าน เริ่มต้นจึงล้างแนวคิดบุคลากรของเราก่อน ให้เลิกคิดว่า ”ป่าเป็นกู” ก็ใช้เวลาไป 2 ปี เรื่องหลักที่ทำ คือ การร่วมลาดตระเวนกับชาวบ้าน ภายใต้แนวคิด “ไปด้วยกัน ไปได้ไกล ไปด้วยใจ ไปได้นาน”
“3 เส้า” เป็นกลไกที่หัวหน้าหน่วยฯคนนี้หยิบมาใช้ อันประกอบด้วย รัฐ ชุมชน เอกชน กลยุทธ์ของเขาอยู่ที่การปรับหน้าหิน ลบเหลี่ยมให้ 3 เส้าเท่าๆกัน และจัดวางอยู่ในตำแหน่งเหมาะสม เพื่อให้หุงหาอาหารได้ เปรียบเทียบก็คือ การทำให้ทั้ง 3 ภาคส่วนอยู่ในระดับเดียวกันไม่สูงต่ำ ไม่มีใครเหนือกว่าต่ำกว่า การทำงานที่แม่กะสีจึงราบรื่น
อีกภารกิจที่หน่วยฯนี้ดำเนินการไปพร้อมกัน คือการส่งเสริมจิตสำนึกดูแลป่ากับคนในพื้นที่ อาทิ ค่ายเยาวชนรักษ์ป่า เพื่อปลูกฝังคนรุ่นใหม่ให้อนุรักษ์ป่าไม้ การร่วมกันปลูกป่ากับชาวบ้าน การเปลี่ยนแปลงความคิดและการทำงานใหม่ ทำให้วันนี้ป่าในความดูแลของหน่วยฯแม่กะสี เป็นพื้นที่ที่มีการบุกรุกป่าลดลง ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้านลดลงเช่นเดียวกัน ป่าที่กลับคืนมาเป็นบทพิสูจน์ความสำเร็จ
ประชาชนร่วมมือดูแลป่า
เมื่อตั้งใจและร่วมมือปัญหาต่างๆที่ว่ายากย่อมคลี่คลาย แม้แต่กาญจนบุรี พื้นที่ผืนป่ากว้างใหญ่ล่อตาล่อใจผู้ลักลอบทำลายป่าและล่าสัตว์ป่าไม่เว้นแต่ละวัน เต้นยิ้ว วชิรพันธ์วิชาญ เครือข่ายภาคประชาชน จากบ้านยางโทน ต.ศรีมงคล อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เล่าเรื่องราวว่า ในเขตกาญจนบุรี นอกจากผืนป่าอนุรักษ์แล้ว ยังมีป่าชุมชนอีกถึง 185 ป่า ขณะที่เจ้าหน้าที่มีน้อย บางพื้นที่ไม่มีงบประมาณ หลายป่าถูกปล่อยปละละเลย ประชาชนจึงต้องเข้ามาช่วยเป็นหูเป็นตา และแนวร่วมดูแลป่า
และตอนนี้ที่ไทรโยคหมู่บ้านในเขตติดต่อกันยังรวมตัวเป็นกลุ่มอนุรักษ์ร่วมกันดูแลป่าในพื้นที่ เฝ้าระวัง และออกลาดตระเวนเอง โดยมีกฎของหมู่บ้านเป็นแนวทางในการทำงาน หากหากินจากป่าเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน หรือตัดต้นไม้ได้ตามที่กำหนดนำมาใช้ในครัวเรือนสามารถทำได้ แต่หากพบเห็นการตัดไม้ทำลายป่าแหกกฎหมู่บ้านที่วางไว้ บรรดาเหล่าอาสาสมัครจะรวมกลุ่มกัน เพื่อเข้าไปตรวจสอบทันที และดำเนินการเป็นขั้นตอน พบเห็นครั้งแรก ตักเตือน ครั้งที่ 2 ให้ลงบันทึก และครั้งที่ 3 แจ้งจับ
“ตอนแรกเราคิดว่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้มีเงินเดือนกิน ควรเป็นหน้าที่ของเขาที่จะต้องดูแลป่า เราเป็นเพียงชาวไร่ชาวนา คิดอย่างนี้ป่ากลับหดไปทุกวันๆ เลยมาคิดใหม่ว่าป่าเป็นทรัพย์ของแผ่นดิน ทุกคนเป็นเจ้าของ ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของกรมป่าไม้เท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ต้องช่วยกันดูแล”
ปัจจุบันชาวบ้านที่บ้านบางโทนยังเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงให้กับบ้านหินงาม ต.ลุมจุ่ม ในเขตติดต่อกันปลุกพลังดูแลป่าไปด้วยกัน ผู้ใหญ่ สมชัย ท่าผา ผู้ใหญ่บ้านหินงาม ต.ลุมจุ่ม อ.ไทรโยค เล่าว่า อดีตที่นี่มีการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าทุกวันไม่แพ้พื้นที่อื่น เป็นคนในหมู่บ้านทำเองบ้าง คนต่างหมู่บ้านบ้าง จึงไปจับมือกับบ้านยางโทนทำเรื่องป้องกันและส่งเสริมงานอนุรักษ์ป่า และทำเพิ่มเติมในเรื่องกิจกรรมกับเด็ก เพื่อให้เด็กรู้จักต้นไม้ รู้จักคุณประโยชน์จากต้นไม้ และให้เขาเพาะกล้าไม้ขายให้คนที่มาศึกษาดูงานด้วย
“เราพยายามสื่อสารกับเด็กรุ่นใหม่ที่จะต้องมาสานต่อภารกิจจากเราที่แก่ลงไปทุกวัน ให้เขาเห็นว่าป่าให้ประโยชน์กับชีวิตเพียงใด ให้ทั้งคุณค่าและรายได้เลี้ยงปากท้อง การที่เขาได้เงินจากป่าแบบนี้จะทำให้เกิดความเป็นเจ้าของ และร่วมสืบทอดการอนุรักษ์ต่อจากรุ่นสู่รุ่น”
การเห็นชุมชนมีตัวมีตน มีศักยภาพ และมีหัวใจรักป่าไม่แพ้กัน เมื่อบวกกับความตั้งใจของเจ้าหน้าที่ และความร่วมมือขององค์กรภาคประชาสังคม ทำให้โมเดลการแก้ปัญหาป่าไม้ที่มีประสิทธิภาพกำลังขยายผลไปยังพื้นที่อื่นนอกจากไทรโยค อาทิ น่าน เพชรบูรณ์ และเชียงราย ที่มีการตั้งฐานฟื้นฟูป่าต้นน้ำ โดยนำประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม บวกด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเสมอหน้า ป่าที่ถูกบุกรุกก็ทะยอยถูกยึดคืน ป่าที่มีปัญหากับชาวบ้านถูกตั้งโต๊ะเจรจาหาทางออกอย่างจริงจัง และจับมือกับชาวบ้านปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดิน ลดการทำเกษตรเชิงเดี่ยว และช่วยกันปลูกป่าเพิ่ม เขาหัวโล้นที่ทำท่าว่าจะไม่มีความหวังใน 3 พื้นที่ดังกล่าวก็กลับมาเขียวขจีได้ ความขัดแย้งก็เปลี่ยนเป็นสันติสุขในที่สุดขอเพียงเรา ”เปลี่ยน”