สติช่วยเราได้อย่างไร และทำอย่างไรจึงจะมีสติอยู่เสมอ ?? ต้องมาทำความเข้าใจกับคำว่า “สติ” กันก่อน
อย่างที่ชาวพุทธทราบดีว่า “สติ” ก็คือ “รู้ทุกขณะจิตว่ากำลังทำอะไร” รู้ว่านั่ง นอน เดิน กิน วิ่ง ขุดดิน รดน้ำต้นไม้ หรืออ่านหนังสือ เซ็นเอกสาร ไม่ใช่รู้เฉยๆ แต่ใจลอยคิดไปเรื่องอื่น แต่สติ หมายถึง รู้ตัว และใจจดจ่อกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ตรงหน้า
เราทราบกันดีว่า เมื่อใจจดจ่อ ย่อมทำให้เกิดสมาธิในสิ่งที่กำลังทำ และปล่อยวางอารมณ์และความคิดที่มาสอดแทรก ทำให้ทำสิ่งนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ไม่ง่ายเลยที่มนุษย์อย่างเราจะมีสติรู้ตัวตลอดเวลา และปล่อยวางได้ เพราะแต่ละวัน ต้องพบเจอเรื่องราวมานับสิบนับร้อยเรื่องทั้งดีและไม่ดี เจอคนที่ถูกใจและไม่ถูกใจไม่เว้นแต่ละวัน ผจญกับปัญหาของคนในครอบครัว หัวหน้างาน เพื่อนที่ทำงาน หรือคนข้างบ้าน สะสมหมักหมมนานแรมปี จนหลายคนกลายเป็นผู้ป่วยจิตเวช
“สติบำบัด” จึงถูกพัฒนาขึ้นเมื่อ 4-5 ปีก่อน โดย น.พ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต และทีมงาน เรียกว่า Mindfulness based therapy and counselling อย่างที่เกริ่นนำไปในตอน#1
โปรแกรมนี้ผสมผสานการบำบัดโดยใช้จิตวิทยาแนวพุทธ และแนวทางการใช้สติบำบัดจากต่างประเทศ นำมาใช้กับผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งหลายโรงพยาบาล อาทิ โรงพยาบาลศรีธัญญาก็ใช้โปรแกรมนี้บำบัดผู้ป่วยจิตเวชต่อเนื่อง รวม 8 ครั้งในผู้ป่วย 1 ราย ซึ่งพบว่าได้ผลดีกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ทำให้อาการบางเบาลง และหายได้ในที่สุด
คุณหมอและทีมงาน จึงพัฒนาไปใช้ในหลายๆ เรื่อง อย่างที่ชาวพุทธ ทราบดีว่า “สติ” นั้นสำคัญเพียงใด นอกจากแก้ปัญหากับผู้ป่วยจิตเวชแล้ว ยังสามารถใช้แก้ปัญหาในหลายเรื่อง
โดยเฉพาะในองค์กรหลายแห่งที่มีคนมากหน้าหลายตา ต่างที่มา ทำงานอยู่ร่วมกัน และบางคนในองค์กรอาจเป็นจิตเวชโดยไม่มีใครรู้ แม้แต่เจ้าตัวเอง ดังนั้นหากคนในองค์กรใด ขาดสติ ย่อมนำมาซึ่งความขัดแย้ง เป็นอุปสรรคต่อการทำงานเป็นทีม และประสิทธิผลที่จะเกิดขึ้น
ความคิดสร้างสรรค์ไม่อาจเกิดขึ้นได้ท่ามกลางสงคราม เพราะการประชุมขององค์กรที่เต็มไปด้วยคู่กัด กลายเป็นเวทีของการระเบิดอารมณ์ใส่กัน และความขัดแย้งในองค์กรยังมีผลต่อการลาออกของพนักงานบ่อยๆ ด้วย
หลายองค์กรจึงสนใจนำโปรแกรม Mindfulness in Organization หรือ MIO ที่คุณหมอยงยุทธ์ และทีมงานพัฒนาขึ้น และได้ถูกนำไปทดสอบนำร่องหลายแห่ง โดยความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งไม่นานมานี้ได้จัดเวิร์คช็อปที่ห้องสมุด 100 ปี เสม พริ้งพวงแก้ว ภายในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง
มาดูขั้นตอนของ “โปรแกรม MIO” สาระ คือ บันได 3 ขั้นแห่งสติ ประกอบด้วย สติพื้นฐาน สติตามการใช้งานและสติปล่อยวาง
โปรแกรมให้เริ่มฝึกจาก “สติพื้นฐาน” ก่อน เหมือนการนั่งหลับตาทำสมาธิ ฝึกโดยให้รู้ลมหายใจเข้าออกของตัวเองอย่างแผ่วเบา ไม่บังคับและไม่เร่งลมหายใจ พร้อมเพ่งไปที่ปลายจมูก เป็นเวลา 1 นาที และทำสมาธิแบบลืมตา 1 นาที และให้ค่อยๆ เพิ่มเวลาขึ้น
การฝึกให้รู้ลมหายใจขณะหลับตา หรือการทำสมาธิ เป้าหมาย เพื่อหยุดความคิด ฝึกปล่อยวาง ส่วนการทำสมาธิขณะลืมตา ก็เพื่อให้รู้ลมหายใจ ไปพร้อมกับฝึกมีสติ สอดคล้องคนทั่วไปที่ต้องมีกิจกรรมต่างๆ ทำตลอดวัน จึงต้องฝึกให้มี “สติ” ในขณะทำทุกๆ กิจกรรม
อาจไม่ตลอดเวลาที่เราจะมีสติ จดจ่อกับกิจกรรมที่ทำ แต่อย่างน้อย ก็ทำให้รู้ว่าต้องมีสติกำกับทุกขณะ หากฝึกเป็นประจำ เมื่อใจลอย ผู้ฝึกก็จะดึงตนเองกลับมาจดจ่อกับกิจที่ทำได้เร็วขึ้น และหยุดอาการวอกแวก หรืออารมณ์ที่มาแทรกได้เร็วขึ้น
ระหว่างการทำสมาธิทั้งหลับตา และลืมตานั้น คุณหมอ ให้ตามดูร่างกายของเราตั้งแต่หัวจรดเท้า และจิตของเราว่า คิดเรื่องอะไร รู้สึกอะไร โกรธ เสียใจ หรือ กังวล เพื่อให้รู้ และค่อยๆ ปล่อยวางลง โดยให้คิดว่า “โกรธ เป็นอารมณ์ เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป” ฝึกจับความคิดอย่างนี้บ่อยๆ เราจะสามารถดึงตัวเองออกจากอารมณ์นั้น และมาอยู่ในสถานะผู้เฝ้าสังเกตการณ์ได้ในที่สุด
คุณหมอยงยุทธ แนะนำตามหลักวิทยาศาสตร์ ว่าหากฝึกสมาธิเป็นประจำทุกวัน วันละ 30 นาที เมื่อทำซ้ำๆ จะเกิดวงจรการเรียนรู้ของสมอง กลายเป็นความชำนาญ เมื่อเจอสถานการณ์ใดก็ตาม สติก็จะถูกเรียกขึ้นมาใช้ได้ทันที เจอทุกข์ ก็ทำให้เราปล่อยวางได้ง่ายขึ้น เหมือนนักว่ายน้ำที่ต้องซ้อมทุกวัน เพื่อลงแข่งขันเพียงครั้งเดียว ซ้อมให้บ่อยก็มีโอกาสชนะ “ความทุกข์” ได้เสมอ
และ โปรแกรมเรียก “สติ” ยังออกแบบให้ใช้ในการประชุมขององค์กรเพื่อให้เป็น “สติสนทนา” เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่สร้างสรรค์ ยุติคู่ขัดแย้งในห้องประชุม
วิธีการก็คือ ตั้งกติกา การทำสมาธิก่อนเข้าห้องประชุม 3-4 นาที และให้ “ฟังและพูด” โดยจับไปที่ลมหายใจของตัวเองเป็นหลัก ฝึกโดยจัดเวิร์คช็อปเล็กๆ จับคู่คน 2 คน และให้ผลัดกันเล่าเรื่องที่ยุ่งยากหรือขับข้องใจที่เกิดขึ้นในชีวิตอย่างมีสติ ส่วนคนฟัง ให้ฟังอย่างใส่ใจ ซักถามเท่าที่จำเป็น โดยมีระฆังแห่งสติดังเป็นจังหวะตลอดการประชุม จากนั้นนำมาแลกเปลี่ยนในห้องประชุมว่า ได้อะไรจากการฟังอย่างมีสติ
องค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ อาจตั้งกฎให้คนในองค์กรนั่งสมาธิหลับตา และลืมตาก่อนเริ่มงานในทุกๆวัน ฝึกความคิดบวก และวางกติกา “สติสนทนา” เมื่อคนในองค์กรคุ้นเคยกับการใช้ “สติ” นำ ก็จะรู้จักที่จะปล่อยวาง เจอใครทำให้โกรธ ก็จะรู้อารมณ์ตัวเอง ไม่ตามอารมณ์ ความโกรธก็ไม่ลุกลามบานปลาย คนในองค์กรสามัคคีกัน การทำงานก็มีประสิทธิภาพ
หากเป็นงานบริการประชาชน ผู้ให้บริการก็จะมีแต่ความยิ้มแย้มแจ่มใส หากอยู่บนท้องถนนก็จะเป็นคนที่คำนึงถึงการขับขี่อย่างปลอดภัย อยู่บ้านก็นำพาคนในครอบครัวให้มีแต่ความสุข นี่ล่ะ คือ ผลของการมีสติที่ทุกคนทำได้ และเห็นผลได้ด้วยตัวเอง
(ผู้สนใจโปรแกรมสามารถเข้าดูรายละเอียดได้ที่ www.thaimio.com)