จังหวัดชัยนาท

จังหวัดชัยนาท

คุณยายช้อง จบศรี วัย 91 ปี ในฐานะผู้อนุรักษ์ผ้าทอโบราณในชุมชนกุดจอก หรือที่เรียกว่า “ลาวครั่ง” สืบสานตำนานมานับร้อยปี โดยบ้านของคุณยายซ้องเป็นหนึ่งในแหล่งเรียนรู้ของชุมชนเก่าแห่งนี้

การก่อเกิดของ ชุมชนบ้านกุดจอก จังหวัดชัยนาท เหมือนนิยายที่เพิ่งถูกเล่าขาน ตำนานที่เพิ่งถูกค้นพบ

ทั้งๆที่เรื่องเล่าต่างๆมีมานานนับศตวรรษ….

ด้ายสีแดงและเครื่องทอผ้าโบราณกำลังสานถักเป็นผ้าลวดลายสวยงามมาแต่รุ่นปู่รุ่นย่าเรียกว่าลาย ลาวครั่ง … คุณยายช้อง จบศรี วัย 91 ปี เล่าให้ฟังว่า บรรพบุรุษของคนชุมชนแห่งนี้ อพยพมาจากประเทศลาวตั้งแต่ปลายสมัยกรุงธนบุรี ถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

คนลาวเผ่าต่างๆ หลบภัยสงครามบ้างหนีภัยธรรมชาติโรคร้ายหรือความอดอยากแร้นแค้นบ้างแต่คราวที่มากสุดคือเมื่ออาณาจักรล้านช้างล่มเป็นเหตุให้หลายชนเผ่าถูกกวาดต้อนมาอยู่ภาคกลางของไทย

หนึ่งในนั้นคือลาวครั่งที่เป็นคนลาวมาจากเมืองหลวงพระบาง คุณยายช้อง ย้อนความหลัง

เริ่มตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านเขากระจัว จ.กาญจนบุรีปัจจุบัน คือ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรีถอยร่นมาถึงริมบึงที่มีดอกจอกขึ้นอยู่เต็มพรึ่ดไปหมดซึ่งภาษาลาวครั่งเรียก บึง ว่า กุด จึงเป็นที่มาของคำว่าบ้านกุดจอกในปัจจุบัน ตั้งอยู่ ต.กุดจอก อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท นั่นเอง

ชุมชนชาวลาวครั่งในประเทศไทยเหลืออยู่ 200 กว่าหลังคาเรือน คงเอกลักษณ์โดดเด่นในประเพณีวัฒนธรรมของตนเองอย่างเหนียวแน่น อาทิ การบายศรีสู่ขวัญ ต้อนรับผู้มาเยี่ยมมาเยือน ภาษาพูดท้องถิ่น ดนตรีพื้นเมือง และอาหารที่มีอัตลักษณ์ สำคัญที่สุดคือ ภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านการทอ ผ้าซิ่นตีนจก ด้วยลวดลายไม่เหมือนใครมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล ใช้ด้ายสีแดงที่ย้อมจากครั่งตามธรรมชาติ …มาสู่เครื่องแต่งกาย ที่สะท้อนความละเอียดอ่อนของการใช้ชีวิต

คุณยายช้องเป็นหนึ่งในครูผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้การทอผ้าให้แก่คนรุ่นหลังบอกว่าผ้าแต่ละผืนจะใช้เวลาทอตั้งแต่หนึ่งเดือนขึ้นไปทุกวันนี้มีผู้คนในจังหวัดชัยนาทนักท่องเที่ยวนักเดินทางมาเยี่ยมชมและสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก

โดยครั้งหลังสุดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ได้ชักชวนผู้คนที่สนใจ ลงพื้นที่เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ณ ชุมชนลาวครั่ง จังหวัดชัยนาท แห่งนี้

จังหวัดชัยนาท

ปัจจุบัน ต.กุดจอก มีชาวไทยเชื้อสายลาวครั่งอาศัย 200 กว่าหลังคาเรือน และมี “วัดศรีสโมสร” เป็นศูนย์กลางทางจิตใจ โดยวันแรม 2 ค่ำเดือน 4 ของทุกปี ทางวัดจะจัดงานปิดทองหลวงพ่อเดิม ที่ประดิษฐานอยู่ภายใน

จังหวัดชัยนาท

ภาษาลาวครั่งที่ติดอยู่บนกำแพงภายในอุโบสถ

ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ ผู้จัดการสำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสัมมาชีพชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กล่าวว่า การพัฒนาท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นหนึ่งในเป้าหมายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและพัฒนารายได้อย่างยั่งยืน โดยพอช.ได้เชิญหน่วยงานต่างๆ ที่มีบทบาทในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนและเชื่อมโยงตลาด จาก 62 ตำบล ใน 15 จังหวัดภาคกลาง ภาคตะวันตก มาศึกษาดูงานที่ ต.กุดจอก และเชื่อมต่อไปยัง ต.เนินขาม อ.เนินขาม จ.ชัยนาท ซึ่งห่างกันประมาณไม่ถึงชั่วโมง

อัตลักษณ์ทั้งสองชุมชนล้วนมี วิถีทางวัฒนธรรม คล้ายๆ กัน โดยเฉพาะเรื่องของการทอผ้า ที่ชุมชนบ้านกุดจอก เรียกว่า ลาวครั่ง แต่ในส่วนของชุมชนเนินขามจะเรียกว่า ลาวเวียง 

สำหรับพื้นที่ ชุมชนบ้านเนินขาม เป็นกลุ่มชาวบ้านอพยพมาจากกรุงเวียงจันทร์ ประเทศลาว ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เอกลักษณ์ของผู้คนที่นี่ จะใส่ เสื้อจกหม้อ ที่ศิลปะการทอและลวดลายสวยงามไม่แพ้กัน

แม้ทุกวันนี้ชุมชนบ้านเนินขามจะเปลี่ยนแปลงไปมากอัตลักษณ์ท้องถิ่นแบบลาวเวียงเริ่มสูญหายคนที่ผ่านไปมาไม่มีทางทราบได้เลยว่าพื้นที่แห่งนี้คือแหล่งอารยธรรมโบราณที่สำคัญ

ผู้นำชุมชนบ้านเนินขามจึงมีความคิดที่จะกลับไปยังรากเหง้าเริ่มต้นจากการช่วยกันปลูกต้นมะขามและสร้างจุดเด่นของชุมชนไม่ว่าจะเป็นการใส่ เสื้อจกหม้อ ผ้าขาวม้า 5 สี การทอผ้าซิ่นตีนจก อาหารพื้นเมือง และรักษาประเพณีโบราณ

“ผมคิดว่าเราสามารถเชื่อมแหล่งท่องเที่ยวสองชุมชนเรียกว่าเส้นทางสาย อารยธรรมการทอผ้า ซึ่งสืบทอดกันมาแต่โบราณ แบบลาวครั่ง และลาวเวียง มีชาวต่างชาติสนใจมากพอควร แต่ยังต้องบริหารจัดการเพิ่มเติม เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น แม่น้ำ อาหาร เพื่อชวนคนมาเที่ยวชัยนาทได้นาน 2-3 วัน”

ชวพล พันธุมรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท มองว่า ชุมชนบ้านกุดจอก และเนิมขาม มีจุดขายในเรื่องการของทอผ้าโบราณ วัฒนธรรมประเพณี และธรรมชาติ แต่จะทำอย่างไรให้ทุกคนรู้ว่าจังหวัดชัยนาทมีของดี จึงต้องมีการสื่อสารรูปแบบต่างๆ ออกไปทั้งในและต่างประเทศ เช่น การนำเสนอผ่าน Youtube

“เรามุ่งเน้นการท่องเที่ยวที่เป็นวิถีชุมชนอยากชวนมาสัมผัสชีวิต Slow Life จังหวัดชัยนาท มาขี่จักรยานเรื่อยๆ ชื่นชมธรรมชาติรอบๆ ตัว”

ก่อนอำลาเราได้เห็นทิวทัศน์ของท้องทุ่งนา ที่เต็มไปด้วยข้าวกำลังจะออกรวง เด็กๆ ขี่จักรยานกลับบ้านเป็นทิวแถว

หนึ่งในความรู้สึกที่ผู้มาเยือนจังหวัดชัยนาทอยากถ่ายทอดให้คนที่ยังไม่เคยมาสัมผัสได้ซึมซับเรื่องราวดีๆแบบนี้สักครั้ง

ชุมชนโบราณทั้งสองแห่ง ชวนให้เราทิ้งสัมภาระไว้เบื้องหน้า แล้วย้อนเวลากลับไปรำลึกถึงความสวยงามแห่งอดีต….

จังหวัดชัยนาท

ชาวบ้านเนินขาม ขึ้นชื่อเรื่องสาวงาม มีอัตลักษณ์ในการสวมใส่เสื้อผ้าทอมือ และพูดภาษาถิ่นลาวเวียง โดยชุมชนมีการอนุรักษ์ลายผ้าดั้งเดิมไว้ได้อย่างยาวนาน