สตาร์ทอัพ

PHOTO : Lam Thuy Vo/NPR

ผมเชื่อว่า เรามีโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในเมียนมายุคใหม่ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว การโอนจ่ายเงิน และธุรกิจที่ต้องการความเป็นสากลมากขึ้น

ไม่ว่าจะเรียกเขาเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่หรือกลุ่ม สตาร์ทอัพ แห่งเมียนมา ก็ตาม…ต้องบอกว่านามของ เน ออง’ (Nay Aung) เจ้าของเว็บไซต์ oway.com.mm คือโมเดลต้นแบบที่เชื่อมต่อเทคโนโลยี เข้ากับวิถีวัฒนธรรมแห่งตลาดเกิดใหม่ ซึ่งร้อนแรงที่สุดในอาเซียน ได้อย่างลงตัว

ในวัย 30 ต้นๆ เน ออง คือแรงบันดาลใจสำหรับคน Genaration 4.0 ได้ยึดถือเป็นแบบอย่าง และก้าวตามเส้นทางการดำเนินชีวิต

หลังเรียนจบ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด แคลิฟอร์เนีย และ ลอนดอน สกูล ออฟ อิโคโนมิค ในปี 2012 เน ออง กลับมาบ้านเกิดด้วยความฝัน หลังรัฐบาลทหารพม่า ส่งสัญญาณไฟเขียวเปิดประเทศ ต้อนรับการลงทุนใหม่ๆ ก่อนจะมีการเลือกตั้งทั่วไป เข้าสู่โหมดประชาธิปไตยเต็มใบ

เน ออง ก้าวสู่มาตุภูมิพร้อมตั้งบริษัทท่องเที่ยวผ่านเว็บไซต์ชื่อ oway.com.mm สำหรับจองโรงแรม ที่พัก ไฟลท์บิน และทริปดีๆ โดยใช้ร้านกาแฟเล็กๆ ในเมืองหลวงเป็นสถานที่ทำงาน เสมือนบ้านหลังที่สอง ด้วยเหตุผลเดียวคือมี อินเตอร์เน็ต ทำงานได้รวดเร็วที่สุด

สตาร์ทอัพ

PHOTO : Lam Thuy Vo/NPR

ปัจจุบัน oway มีลูกค้ามากกว่า 5,000 รายจากต่างประเทศโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากยุโรปสหรัฐและแม้แต่ชาวเมียนมาเองเพราะสามารถเชื่อมโยงโรงแรม 500 แห่งซึ่งเป็นที่พักขนาดเล็กกลางใหญ่และสายการบินในประเทศอีกมากมาย

เมียนมาหรือพม่า ที่คนไทยเรียกขาน เต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวท้องถิ่นและอารยธรรมโบราณ ตั้งแต่เมืองหลวงเก่าคือกรุงย่างกุ้ง ซึ่งมีมหาเจดีย์ชเวดากอง เป็นศูนย์รวมจิตใจ ไปจนถึงอาณาจักร มัณฑเลย์และพุกาม เมืองมรดกโลกของยูเนสโก

สตาร์ทอัพ

https://oway.com.mm

สตาร์ทอัพ

https://oway.com.mm

 “ผมเชื่อว่า เรามีโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในเมียนมายุคใหม่ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว การโอนจ่ายเงิน และธุรกิจที่ต้องการความเป็นสากลมากขึ้น

ความสำเร็จของ เน อองส่งผลให้ oway.com.mm เป็นเอเย่นต์ด้านการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเมียนมา

จากนั้น การต่อยอด ทางธุรกิจเริ่มขึ้นอีกครั้ง ด้วยแนวคิดที่เห็นการจราจรสุดวุ่นวายในย่างกุ้ง ไม่สะดวกสบายสำหรับนักท่องเที่ยว นักเดินทาง นักลงทุนจากต่างชาติ รวมถึงการที่เมียนมา มี คนชั้นกลาง เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัว

เน อองจึงริเริ่มก่อตั้ง Oway Ride แอปพลิเคชัน ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางและนักท่องเที่ยว จนถูกเรียกขานว่าเป็น UBER แห่งเมียนมา เพื่อให้ผู้คนสามารถเรียกใช้บริการแท็กซี่สะดวกขึ้น

สตาร์ทอัพ

Photo: Chan Son / The Irrawaddy

สตาร์ทอัพ

ปัจจุบัน Oway Ride มีแท็กซี่ในสังกัดราว 4,000 คัน เน อองตั้งเป้าภายใน 2 ปีจะเพิ่มจำนวนคนขับแท็กซี่ให้ได้ 25,000 คน และจะขยายบริการไปยังเมืองอื่น ได้แก่ มัณฑเลย์ และกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงแห่งใหม่อีกด้วย

เช่นเดียวกับในต่างประเทศหรือแม้แต่ประเทศไทยของเราเองที่ระบบแท็กซี่ออนไลน์ได้รับความนิยมอย่างสูง Oway Ride มียอดดาวน์โหลดบนสมาร์ทโฟนราว 1.5 แสนเครื่อง และในอนาคต เน ออง ต้องการนำแอปพลิเคชันนี้ ผสานเข้ากับบริการท่องเที่ยวที่บริษัทดำเนินอยู่

จากแนวคิด สู่แนวทางการทำธุรกิจได้จริงๆ ทำให้ เน ออง ได้รับข้อเสนอดีๆ มากมาย เช่น ปี 2016 เวิลด์แบงก์ ได้เสนอเงินกู้ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้เขาขยายธุรกิจ เพราะคิดว่านี่คือตัวอย่างของการพัฒนา ที่ต่อยอดระบบโครงสร้างพื้นฐาน ยกระดับเมียนมาเข้าสู่ตลาดสากล แก้ปัญหาความยากจน และไม่หวนกลับไปสู่วังวนของระบอบเดิมอีก

นอกจาก Oway Ride แล้วยังมีบริการอื่นๆในระบบดิจิตอล อาทิ บริการชำระค่าบริการและให้บริการทางการเงินรายใหญ่ ซึ่งร่วมทุนกับ Yoma Bank แห่งเมียนมา, ระบบมอนิเตอร์การจราจรทางจีพีเอส ร่วมทุนกับบริษัทเทเลนอร์แห่งนอร์เวย์,  B’smart Telematics Myanmar Star ticket ระบบสำรองบัตรรถโดยสารทางไกล รวมทั้ง Shwe Property คลังข้อมูลดิจิตอลเกี่ยวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และ Mysquar แอปพลิเคชันช่วยสนทนา ในภาษาเมียนมาเป็นต้น

ทุกๆวัน เน ออง ยังไม่หยุดเรียนรู้เกี่ยวกับระบบเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาธุรกิจออนไลน์ของเขาต่อไป มีการเชิญโปรแกรมเมอร์ชั้นนำมาช่วยแนะนำและปรับปรุงวางระบบไอทีอยู่เสมอๆ อย่างไม่หยุดนิ่ง

Story ของเขาถูกตีพิมพ์ในนิตยสารหลายเล่ม สิ่งพิมพ์หลายฉบับ ทั้งหมดล้วนเปี่ยมไปด้วยมนต์เสน่ห์ และถูกเล่าออกมาราวกับเทพนิยายแห่งโลกสมัยใหม่

นับจากที่นั่งเล็กๆในร้านกาแฟวันนั้นสู่โลกธุรกิจกว้างไกลในนาม oway ณ วันนี้ นี่คือภารกิจ โมเดิร์น เมียนมาของชายที่ชื่อ เน ออง อย่างแท้จริง