ที่จริงแล้วฉันเป็น LGBT

อัตลักษณ์ทางเพศในโลกของคนรุ่นใหม่ ถูกตีความหมายในเรื่องของสิทธิเสรีภาพ ไม่แตกต่างจากการนับถือศาสนา ถึงเวลาที่เราควรเริ่มต้นทำความรู้จัก “ตัวตน” ของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBT เข้าใจถึงวิถีชีวิตของ “เธอและเขา” ก่อนที่เราจะตั้งคำถามในสิ่งที่กำลังเป็นไป?
ศุภรัตน์ แก้วคงดี “ต่าย” อายุ 23 เธอเพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยได้ไม่นาน ทว่าการค้นพบอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองนั้นชัดเจนมาระยะหนึ่งแล้ว “ถามว่าเราเป็นจุดไหนใน LGBT ตอนนี้ก็ตอบได้เลย หนูรู้สึกว่าตัวเองเป็น “ไบเซ็กชวล” แต่ก็ยังไม่รู้อีกนะคะว่าตอนอายุ 24 25 หรือ 30 ปี จะนิยามตัวเองเป็นอะไร แค่อยากบอกว่านี่ก็คือ sexual identity ค่ะ ไม่ใช่ gender เพราะ gender หนูก็เป็นเพศหญิง แต่อัตลักษณ์ทางเพศเปลี่ยนไปได้ตามความคิดและสังคมที่เราอยู่ไปเรื่อยๆ”
ต่าย เล่าย้อนเวลากลับไปให้ฟังว่า ช่วงอยู่ชั้น ม.ต้น และ ม.ปลาย ยังคบแฟนผู้ชายตามปกติ แต่การเป็นโรงเรียนรูปแบบ “สหศึกษา” นั้นย่อมมีรุ่นน้องกรี๊ดรุ่นพี่เป็นธรรมดา กระทั่งเมื่อมาอยู่ในโลกมหาวิทยาลัยพื้นที่ความคิดจึงเปิดกว้างมากขึ้น
“แรกๆเรายังไม่รู้ตัวว่าชอบผู้หญิง จนกระทั่งมีน้องคนนึงเข้ามาสนิทด้วย ความสัมพันธ์เริ่มก่อตัว หนูเริ่มสับสนว่าเรารู้สึกอะไรอยู่นะ เพราะก่อนหน้านี้เคยรู้สึกดีๆกับผู้ชายมาตลอด เราใช้เวลาเคลียร์ตัวเองนานเหมือนกันนะคะ สับสน แล้วก็พบว่าการคบกับผู้หญิง มันไม่ได้ต่างจากเวลาเราชอบผู้ชายนี่หว่า จริงๆ เรารู้สึกแบบนี้กับผู้หญิงได้นะ และด้วยความที่มีเพื่อนกลุ่มเดียวกันเป็นทอม เป็นเกย์ จึงรู้สึกว่าสังคมรอบข้างก็ไม่ได้กดดันอะไร ถ้าเราเปลี่ยนไปชอบอีกเพศหนึ่ง”
บรรยากาศมหาวิทยาลัยที่เปิดกว้างเอื้อเฟื้อต่อการที่ทำให้คนรุ่นใหม่กล้าแสดงออกทางความคิดและตัวตนมากๆ สามารถ “ทดลอง”ความรักในรูปแบบที่เป็นตัวของตัวเองได้ดีกว่า ต่ายบอกว่า การเรียนระดับมหาวิทยาลัยปี 2 มีวุฒิภาวะมากขึ้น พัฒนาการความสัมพันธ์ย่อมจะลึกซึ้งกว่าเด็กมัธยม แต่ความรักหรือความรู้สึกภายในจิตใจ ไม่ว่าผู้ชายหรือผู้หญิงทุกอย่างมันคล้ายคลึงกัน
ในระหว่างที่สับสนตัวเองตอนแรกๆ ต่ายไม่กล้าบอกใคร กลัวเหมือนกัน ได้แแต่เลียบๆเคียงๆ ถามเพื่อนสนิทที่เค้าเห็นเรากับน้องผู้หญิงเริ่มมีรอยยิ้มให้กันแล้ว “เพื่อนจะบอกว่า เออกูรู้ตั้งนานแล้วว่ามึงชอบกัน นั่นแสดงว่าเพื่อนก็ไม่ได้รังเกียจเรานะ”
ยุคก่อนหน้าความรักระหว่างเพศหญิงด้วยกันมักจะถูกจำแนกแยกแยะว่า คนหนึ่งเป็น “ทอม” อีกคนเป็น “ดี้” แต่ในกลุ่ม LGBT ไม่มองอย่างนั้นอีกต่อไป…
“มันไม่ใช่เรื่องระหว่างทอมกับดี้หรือใครเป็นใครที่ชัดเจน น้องเค้าก็ไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็นทอม แค่มีความห้าวหรือชอบตัดผมสั้น แล้วก็ไม่ชอบถ้าใครเรียกเค้าเป็นทอม เพราะไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น เมื่อน้องเค้ามาจีบเราก่อน ต่ายเองก็ไม่ใช่ดี้ ไม่เคยคิดจะชอบผู้หญิงด้วยกัน แต่ความสัมพันธ์ก่อตัวขึ้นมาเอง เป็นเรื่องความรู้สึกมันอธิบายไม่ถูก พอลองคบผู้หญิงด้วยกันแล้ว รู้สึกมีมุมที่ Connect กันได้มากกว่าผู้ชาย มองน้องเค้าน่ารักดีและด้วยวิธีปฏิบัติต่อเราต่างๆ แล้ว สรุปคืออยู่ด้วยแล้วเราสบายใจ”
การค้นพบอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองนำไปสู่แรงบันดาลใจในการทำวิทยานิพนธ์ช่วงปี 4 ต่ายเลือกที่จะสะท้อนแง่มุมของ LGBT กลุ่มหญิงรักหญิง ด้วยการสัมภาษณ์จำนวน 100 คน พบว่าส่วนใหญ่จะมีปัญหาในการบอกตัวตนกับครอบครัวทั้งสิ้น เพราะพ่อแม่จะคนรุ่น Baby Boomer ซึ่งมีกรอบในการดำเนินชีวิตค่อนข้างเคร่งครัด “ทุกคนกังวลว่าครอบครัวจะยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศของคนรุ่นใหม่ไม่ได้”
สำหรับต่ายเองเธอก็เกรงใจเรื่องครอบครัวซึ่งมีอาชีพรับราชการว่าจะโอเคหรือไม่? จึงขอใช้เวลาในการบ่มเพาะความรู้สึกและทนุถนอมความเข้าใจของคนในบ้านก่อน เพื่อตกผลึกในความเปลี่ยนแปลงนี้อีกสักระยะหนึ่ง แต่กระนั้นเธอเชื่อว่าสำหรับคุณแม่ซึ่งเป็นสตรีเพศเหมือนกัน น่าจะกล้าเปิดใจได้มากกว่า โดยเฉพาะเมื่อตัวเองสามารถพิสูจน์ว่า สร้างความมั่นคงในชีวิตได้ระดับหนึ่ง แสดงให้ครอบครัวเธอเห็นว่า “ต่ายดูแลตัวเองได้อย่างดี” ไม่ว่าเพศสภาพจะเป็นอย่างไร จะเป็น LGBT หรือไม่ก็ตาม
“…ต่ายคิดว่าตอนแรก ถ้าเราบอกไปที่บ้าน เค้าอาจจะงงๆนิดหน่อย แต่เชื่อว่าสุดท้ายก็จะเข้าใจในความเป็นตัวเรา ต่ายจะเลือกเองให้ชัดเจนก่อนแล้วค่อยบอกครอบครัว”
สำหรับอนาคตนั้น ต่ายยังไม่อยากมองไปไกลถึงเรื่องการแต่งงานว่าจะมีหรือไม่ เพราะเพิ่งเรียนจบแล้วคิดว่า “โครงสร้างทางสังคมไทย” ยังไม่พร้อมรับกับการมีชีวิตคู่ของคนเพศเดียวกัน
“สิทธิของ LGBT ในเรื่องการแต่งงานหรือความสัมพันธ์กันทางกฎหมายเป็นสิ่งที่ควรจะได้รับเหมือนคู่ชายหญิงทั่วไป เป็นสิทธิเท่าเทียมกัน แต่ขณะนี้ประเทศเรายังไม่มีกฎหมายรองรับ ทั้งที่ถือเป็นเรื่องจำเป็นมากๆ”
ในอีกมุมมองหนึ่งของ LGBT ผู้ชาย อย่าง “ศุภกฤต มูลคา” หรือ “โฟร์โมสต์” ปัจจุบันมีอาชีพเป็นดีเจประจำร้านอาหารย่านถนนพระอาทิตย์ “เขา” บอกว่า เริ่มรู้ตัวเองว่าเป็น LGBT ในช่วงที่เรียนชั้นม.4 จากที่เคยมีแฟนเป็นผู้หญิงเหมือนวัยรุ่นทั่วไป วันหนึ่งเริ่มมีความรู้สึกชอบรุ่นพี่ที่เป็นผู้ชาย
“ตอนแรกๆ ผมไม่เข้าใจว่ามันเป็นความชอบแบบไหน ชอบแบบชื่นชมหรือเปล่า หลังๆ ไม่ใช่ชื่นชมแล้ว แต่ดูเป็นเชิงแบบอยากมีความสัมพันธ์ด้วย หลังจากนั้นมาก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าสรุปแล้วเราชอบอะไร?
… ช่วงนั้นผมมีแฟนเป็นผู้หญิงด้วยแต่พอเลิกรากันไป ผมก็ตัดสินใจลองคบผู้ชายดู เราก็โอเค รู้สึกดีกับมัน พอช่วง ม.5 ผมก็เริ่มตอบตัวเองได้ชัดว่าเป็น “ไบเซ็กชวล” คือการได้อยู่ทั้งสองเพศ”
โฟร์โมสต์ บอกว่า เขาคบกับรุ่นพี่ผู้ชายคนนั้นนานกว่า 10 เดือน ความรู้สึกมันชัดเจนมากๆ เดินจับมือกันได้ เปิดอกพูดคุยกันในทุกเรื่องได้อย่างสบายใจ เพราะในบางเรื่องที่ไม่สะดวกหากจะสนทนากับผู้หญิง แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องเลิกรากับแฟนคนนี้ไปด้วยเหตุผลหลักที่ว่า “เขาคบซ้อน และ มีโลกหลายใบ”
ยุคก่อนเมื่อเพศชายรักชาย สังคมมักจะตีตราว่า คนนึงเป็น “เกย์คิง” อีกคนจะต้องเป็น “เกย์ควีน” แต่ในนิยามของ LGBT ไม่ได้จำแนกแบบนี้ ไม่ได้มองแบบมี “แพทเทิร์น” หรือรูปแบบที่ตายตัว “เมื่อพูดคุยทำความรู้จักกันแล้วว่าเค้าเป็นอย่างไร เราเป็นอย่างไร เรื่องรสนิยมทางเพศ Top หรือ Bottom รุกหรือรับ คงต้องปรับกันไปตามธรรมชาติ”
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในมุมมองของ โฟร์โมสต์ ก็คือ ความสัมพันธ์ที่ดีงาม ไม่จำเป็นต้องถูกกำหนดด้วยเพศสภาพเสมอ คนสองคนอยู่ด้วยกันเป็นแฟนกันได้อยู่ที่ความเข้าใจกัน รักกันมากกว่า เพราะตลอดช่วงเวลาหลายปีที่รู้ตัวเองว่าเป็น LGBT เขามีแฟนทั้งหมด 4 คน เป็นผู้หญิง 2 คน และผู้ชาย 2 คน
“การได้รู้ตัวเองว่าเป็นไบเซ็กชวลเป็นเรื่องที่น่าพอใจ แต่มักมีปัญหาหนึ่งซึ่งไม่รู้คนอื่นเป็นหรือเปล่า คือบางทีเราอยากไปจีบผู้ชาย เค้าก็ไม่เข้าใจว่าเราเป็นชายแท้ พอไปจีบผู้หญิงเค้าก็บอกไอ้เชี่ยนี่เป็นเกย์นี่นา..นั่นคือการเป็นไบเซ็กชวล มักจะถูกผู้คนตั้งคำถามถึงความไม่มั่นใจในตัวเอง ว่าคุณชอบเพศอะไรแน่ คำตอบของผมก็คือ มันเป็นความลื่นไหลในเพศสภาพมากกว่า”
สิ่งที่โฟร์โมสต์อยากบอกทุกคน คือในโลกยุคใหม่เราไม่สามารถให้ใครนำเอา “กรอบของตัวเอง” ไปครอบใส่ผู้อื่นได้ มุมมองความเป็นทางตรง หรือ straight คิดว่า man คู่กับ woman หรือ man ต้องคู่กับ man อย่างนี้เขาเห็นว่าใครคิดเช่นนี้ “กรอบเค้าเล็กกว่าเรา กรอบเค้าอาจจะเป็นสี่เหลี่ยม กรอบเราเป็นวงกลม ทรงกระบอกก็ได้”
“…ผมชอบพูดบ่อยๆ คำว่าเรื่องเพศนั้นเป็นเรื่องที่ลื่นไหล มันอาจจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่แน่นะอีก 5-10 ปีข้างหน้า ผมอาจจะไม่ได้เป็นไบเซ็กชวลแล้วก็ได้ อาจจะเป็นอะไรที่กำหนดขึ้นมาเอง เป็นเพศใหม่ขึ้นมา”
ทรรศนะของ โฟร์โมสต์ มองว่า ตอนนี้ LGBT ได้รับการจำแนกเป็นเกือบ 21 ตัวอักษร (ประเภท) แล้ว ยังมี LGBT Plus อีก ถือว่าเพศสภาพมันลื่นไหลเต็มที่ แต่หลายคนยังไม่พยายามทำความเข้าใจ จึงขอบอกว่าไม่ต้องเข้าใจทั้งหมดก็ได้ แค่เข้าใจใน “วงชีวิต” ของเราแค่ตรงนั้นก็พอ
“ผมคิดว่าสังคม LGBT เปิดกว้างมาก แต่ห่วง Generation Gap เพราะผมยังรู้สึกว่าเค้ายังพูดกันโดยขาดความเข้าใจว่า มันเกิดอะไรขึ้น? ตอนนี้มีเพศอะไรบ้าง? เอาแต่ตั้งคำถามว่าทำไมๆๆ ทำไมเลือกเป็นเกย์? ทำไมเลือกเป็นไบ? ทำไมเลือกเป็นทรานส์? บางทีเค้าเข้าใจระดับผิวเผินแล้วไม่อยากเข้าใจต่อ เช่น เข้าใจว่าเกย์ชอบผู้ชาย กะเทยชอบผู้ชายอยากแต่งหญิง ซึ่งเอาจริงๆ มันมีหลากหลายมากกว่านั้นเยอะครับ”
ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่พร้อมมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเรื่องเสรีภาพทางเพศ ทั้งโฟร์โมสต์ และ ต่าย ล้วนเชื่อว่า ในประเทศไทยนั้นมีคนที่เป็น LGBT มานานแล้ว และคิดเรื่องนี้กันมานานแต่สภาวะสังคมยังไม่ open เพียงพอ เช่น การสมรสที่เท่าเทียมกันแต่ฝันที่เป็นจริงยังไม่เกิดขึ้น จนกระทั่ง….
“เมื่อมาถึงคนรุ่นนี้ซึ่งเติบโตมาพร้อมๆ กับระบบการศึกษาที่เปิดกว้างและกระแสโซเชียลมีเดียจากต่างประเทศ ทำให้เมื่อพวกเขาจบการศึกษาและก้าวสู่วัยทำงาน สังคมไทยจึงได้เห็นพลังขับเคลื่อนที่ชัดเจนมากขึ้น”
ขณะที่บทสรุปของต่ายก็คือ “ค่านิยมในยุคนั้น สำหรับคนยุคนี้อาจไม่ได้คิดอย่างนั้นอีกต่อไป LGBT ควรจะมีพื้นที่เหมือนทุกคนนะคะ เพราะทุกคนก็เป็นคนเหมือนกัน เพียงแค่พวกเราไม่ได้ชอบตามที่สังคมวางไว้เท่านั้นเอง”
คำถามขณะนี้ จึงถูกย้อนกลับไปสู่สังคมไทยว่า ถึงเวลาที่จะเข้าใจและยอมรับวิถีแห่งเพศสภาพซึ่งแปรเปลี่ยนและเปิดกว้างอย่างกลุ่ม LGBT ได้หรือยัง?