จะยุติการตั้งครรภ์หรือไม่ เมื่อแม่รู้ว่าลูกน้อยเป็นดาวน์ซินโดรม

โดย | ม.ค. 6, 2022 | Community, Heart-Inspire

‘ของขวัญ’ จากฟากฟ้าอาจกลายเป็น ‘ฝันสลาย’ เมื่อคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ระยะ 3-6 เดือนตรวจพบว่าลูกน้อยมีความเสี่ยงสูงเมื่อคลอดออกมาแล้วเขาหรือเธอจะมี ‘อาการดาวน์ซินโดรม’ ภาวะนี้ถูกตรวจพบมากขึ้น ถี่ขึ้น ในระบบสุขภาพ และกลายเป็นเรื่องกระทบกระเทือนหัวใจของคนเป็นแม่ทุกๆคน….ว่าจะตัดสินใจอย่างไร

เทคโนโลยีสมัยใหม่ สูติแพทย์อาศัยการตรวจเลือดเพื่อคัดกรองทารกดาวน์ได้ผลที่แม่นยำมากกว่า 90% หากพบความเสี่ยงสูงแล้วล่ะ คุณหมอก็จะให้คำแนะนำตรวจ ‘โครโมโซม’ ของเด็กในครรภ์อย่างละเอียดต่อไป ด้วยวิธีเจาะตรวจ ‘น้ำคร่ำ’ หรือตัดชิ้นเนื้อ ‘รก’ไปตรวจในห้องแล็ป

หลายกรณีที่ชัดเจน คุณหมอจะแนะนำทางเลือกให้ ‘ยุติการตั้งครรภ์’ ขณะยังสามารถทำได้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพ่อและแม่ว่าทำใจหรือพร้อมแค่ไหนถ้าลูกน้อยที่คลอดออกมาจะเป็นเด็กดาวน์ซินโดรม แน่นอนพวกเขาย่อมมีบุคลิกลักษณะ หน้าตา และสติปัญญา ผิดแผกแตกต่างไปจากเด็กทั่วไป แถมมีเรื่องความอับอายเวลาเข้าสังคมจะถูกมองว่าลูกของเราปัญญาอ่อนหรือเปล่า?

 

“ครูอ้วน” มยุรี สวัสดี ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเด็กพิเศษ จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า “คุณแม่จำนวนมากที่พบว่าลูกเป็นดาวน์ซินโดรมตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะให้เค้าคลอดออกมา ได้ลืมตาดูโลก ไม่ปล่อยเค้าไป ไม่ทิ้งเค้าไป เพราะเป็นเรื่องของความผูกพันระหว่างแม่กับลูก ความมีมนุษยธรรม จนถึงรู้สึกร่วมชะตากรรมซึ่งกันและกัน”

ปัจจุบันครูอ้วน เปิดโรงเรียนดูแลเด็กออทิสติกและดาวน์ซินโดรม ณ วัดอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี เธอจึงสัมผัสครอบครัวคนไทยที่ต้องเผชิญหน้ากับภาวะนี้มากขึ้น ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ต้องมีพี่เลี้ยงดูแลเป็นพิเศษหรือไม่สามารถเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาปกติ ครอบครัวใดไม่พร้อมก็จะมองว่าลูกคือภาระ และคุณแม่จำนวนมากเปลี่ยนสถานะเป็น ‘แม่เลี้ยงเดี่ยว’ เครียดหนักกับการรับมือจนเกิดภาวะโรคซึมเศร้า

“คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวต้องเลี้ยงดูลูกเด็กพิเศษ แล้วทำงานหาเงินไปด้วย บางคนปล่อยให้ยายย่าช่วยเลี้ยงดู ยิ่งในยุคโควิด-19 บางคนถูกให้ออกจากงาน กลับบ้านเจอลูกพิการ ผู้ปกครองจำนวนหนึ่งที่พบไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ ล้วนเผชิญกับภาวะซึมเศร้าคุณแม่ คุณยาย เครียด ดิ่งหนักจนบางคนถึงขนาดคิดฆ่าตัวตาย กลายเป็นปัญหาทางสังคม”

 

เด็กดาวน์ เกิดจากความผิดปกติทางโครโมโซมในเซลล์ไข่ของคุณแม่ตั้งแต่ช่วงปฏิสนธิ มักเกิดในสตรีอายุ 35 ปีขึ้นไปที่ตั้งครรภ์ตอนอายุมากแล้ว เด็กคลอดออกมาจะมีโครงสร้างใบหน้าที่เป็นเอกลักษณ์ มีพัฒนาการทางสมองเชื่องช้ากว่าปกติ หรือพิการทางสติปัญญาจนถึงภาวะ ‘ปัญญาอ่อน’ แต่ร่างกายพิการมากหรือน้อยแตกต่างกันไป ที่สำคัญก็คือเด็กดาวน์หลายคนอายุสั้นเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

 

The HUMANs มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคุณแม่ที่รู้ว่าลูกตัวเองเป็น ดาวน์ซินโดรม ในขณะตั้งครรภ์อ่อนๆ…แม่แอม (นามสมมุติ) เล่าให้เราฟังว่า ขณะตั้งท้องเป็นช่วงอายุ 40 ปี​ ตอนนั้นมีลูกทั้งหมด​ 3 คน​แล้ว แต่เนื่องจากไม่ได้ทำหมันใช้วิธีคุมกำเนิดตามธรรมชาติจึงมีการผิดพลาด​ขึ้น​ ระหว่างการตั้งครรภ์ช่วงแรกก็พบ ความผิดปกติ แล้ว แต่ไม่ได้เอะใจอะไร

“เราสงสัยว่าตนเองจะมีน้องหรือเปล่าไปซื้อชุดตรวจครรภ์มาเช็คเอง เมื่อชัวร์แล้วจึงไปพบสูติแพทย์ตรวจเสร็จคุณหมอบอกว่า ท้องนะแต่น่าจะแท้งแล้วเพราะเลือดเต็มเลย​เมื่ออัลตร้าซาว​ด์ก็ไม่มีเด็กอยู่แล้วจะขูดมดลูก​ออก​ แต่สามีบอกอย่าเพิ่งเลยขอไปตรวจอีกโรงพยาบาลนึงให้แน่ใจก่อน​ เมื่อไปเช็ค ​Second opinion ก็พบถุงไข่แดงจริงๆ แต่หมอท่านที่สองบอกว่ามองไม่เห็นไข่แดง​ อาจจะยังอยู่​หรือหลุดไปแล้วก็ได้​ จึงรอดูสัก 1 สัปดาห์​ กินยากันแท้ง เมื่อครบกำหนด​ก็ไปตรวจ​อีกคราวนี้เจอไข่แดงในถุง​ คุณหมอมั่นใจ ​100% ว่าเขายังอยู่”

แม่แอม เล่าต่อว่า ช่วงนั้นหมอก็นัดตามระยะ​และเช็คสุขภาพครรภ์ไปเรื่อยๆ​ เจาะเลือด, อัลตร้าซาว​ด์​ เมื่อผลตรวจเลือดออกมาหมอก็ให้พยาบาลโทรมาหาให้ไปพบด่วน!​ เพราะทราบว่าผลตรวจเลือด​มีค่าความผิดปกติ เด็กเสี่ยงเป็นดาวน์สูงมาก ​ซึ่งปกติในผู้หญิงอายุมากกว่า 35 ปีมีโอกาส 1 ต่อ 250​ แต่ยิ่งอายุมากกว่า 40 ปี ความเสี่ยงยิ่งสูงขึ้น​ ส่วนของแอมคุณหมอบอกว่าความเสี่ยง 1 ต่อ 25​ ซึ่งมีโอกาสเป็นดาวน์ซินโดรมสูง​มาก​ 

“เมื่อตรวจเลือดและเจาะน้ำคร่ำแล้ว รู้ว่าลูกเราเป็นดาวน์ซินโดรมแน่นอน ก็ใจไม่ดีค่ะ คุณหมอบอกว่าเขามีโรคร่วมหลายอย่าง เช่น ไทรอยด์ ลมชัก หัวใจ แต่ส่วนตัวลึกๆ ในใจคิดว่าถึงลูกจะเป็นดาวน์อย่างไรก็จะไม่ยอมเอาออกหรอกค่ะ​ ครอบครัว​เรานับถือ​ศาสนา​พุทธ​และปฏิบัติ​ธรรมทุกคน…เราไม่กล้าทำอะไรเขาแน่นอน จึงตัดสินใจเอาลูกไว้ไม่ขอยุติการตั้งครรภ์”

เมื่อน้องคลอดออกมา ครอบครัวของแอมทั้งพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ทุกๆ คนในบ้านก็หลงรักและพร้อมใจกันปวารณาตัวเองว่า พวกเราจะเลี้ยงดูเค้าให้ดีที่สุด คิดว่านี่อาจจะเป็นกรรมเก่าที่เราเคยสร้างกันไว้ก็ต้องแก้ไขด้วยด้วยทัศนคติที่ดี คิดดี ทำดี ปฏิบัติดี 

“การตัดสินใจว่าจะรักษาลูกที่เป็นดาวน์ซินโดรมไว้หรือไม่ ขึ้นกับครอบครัวที่มอบชีวิตให้เค้าเกิดมาว่าจะมีความพร้อมเลี้ยงดูแค่ไหน สำหรับแอมแล้วตอนนี้น้องอายุเกือบ 10 ขวบแล้ว ยังพูดไม่ได้ชัดเจน พูดได้แค่คำว่า ปะป๊าๆ แต่ทุกคนก็หลงรักเค้านะคะ เพราะขี้อ้อนมาก ชอบจุ๊บพ่อแม่และพี่เลี้ยง เรายืนยันว่าจะดูแลเค้าให้ดีที่สุดเพราะจะอย่างไรเค้าก็เป็นลูกของเราค่ะ”

 

อีกท่านหนึ่งที่เลือกให้น้องดาวน์คลอดออกมาดูโลก “คุณแม่เกตุ” ปัจจุบันลูกของเธอเติบโตจนอยู่ในช่วงวัยรุ่นอายุ 17 ปีแล้ว แต่ก็สามารถใช้ชีวิตปกติได้แม้ว่าจะยากลำบากบ้างก็ตาม 

น้องเป็นดาวน์แต่ก็หน้าตาปกตินะคะ ขึ้นกับว่าลูกเราจะเป็นมากน้อยแค่ไหน เค้าก็คนเหมือนกันแค่มีลักษณะพิเศษบางอย่างที่จะมองออกว่า มีภาวะดาวน์ซินโดรม ทุกวันนี้น้องจะมีปัญหาเรื่องลำไส้ผิดปกติไปบ้าง ทานอะไรผิดไปมากๆก็ท้องเสีย แต่ก็ไม่ท้อแท้นะคะเฝ้ามองพัฒนาการเค้าเรื่อยๆ ดูแลเอาใจใส่อย่างดี เพราะน้องเค้าเป็นของขวัญอันล้ำค่าในชีวิต”

ถามว่าแล้วชีวิตของคุณแม่เป็นอย่างไร? เกตุบอกว่า ภาระก็หนักมากขึ้น เพราะลูกจะมีพัฒนาการช้ากว่าเด็กอื่นๆ และก็มีความเสี่ยงเรื่องโรคที่อาจจะติดตัวมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เช่น โรคมะเร็ง ไทรอยด์ เบาหวาน  ลมชัก ก็ต้องตรวจสุขภาพและไปพบแพทย์บ่อยครั้งเพื่อหาแนวทางการรักษา รวมถึงเรื่องการศึกษาของน้องที่ต้องอาศัยโรงเรียนที่มีความเข้าใจและมีโปรแกรมที่รองรับด้วย เช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ครอบครัวที่มีเด็กดาวน์จึงต้องมีความพร้อมมากกว่าปกติ

“สิ่งสำคัญคือคุณแม่ต้องมีพลังใจในตัวเองมากๆ นะคะ อย่างตัวเกตุเอง ณ ขณะนี้เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวด้วย เพราะสามีจากไปแล้วค่ะและคุณย่าก็เป็นมะเร็งเม็ดเลือด ไม่สามารถช่วยเหลือเราได้เต็มที่ สุดท้ายจึงต้องทุ่มเทเวลาและสละชีวิตส่วนตัวของเราเพื่อดูแลเค้าให้ดีที่สุด”

 

ในเชิงการแพทย์ รศ.พญ.สายฝน ชวาลไพบูลย์ ภาควิชาสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แนะนำว่า การตรวจโครโมโซมของทารกเป็นวิธีหนึ่งที่นิยมใช้กัน โดยการเจาะตรวจน้ำคร่ำขณะอายุครรภ์ 17-20 สัปดาห์ ทำให้ทราบว่าทารกมีโครโมโซมผิดปกติหรือไม่ แต่การเจาะตรวจน้ำคร่ำมีอัตราเสี่ยงต่อการแท้งบุตรประมาณ 1 ใน 350 ราย ดังนั้นสูติแพทย์จึงแนะนำการเจาะตรวจน้ำคร่ำในคุณแม่ที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้น เช่น คุณแม่อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป , คุณแม่ที่คลอดลูกคนก่อนเป็นทารกดาวน์ หรือคุณแม่ที่ทำการตรวจคัดกรองเลือดแล้วได้ผลบวก เป็นต้น 

แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบัน ยังมีวิธีการตรวจคัดกรองทารกดาวน์ด้วยการตรวจสารชีวเคมีใน ‘เลือด’ ของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสแรกร่วมกับการตรวจอัลตร้าซาวด์ วัดความหนาของผิวหนังบริเวณต้นคอทารกในครรภ์ เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถตรวจคัดกรองทารกดาวน์ได้ถึง 85-90% สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเสี่ยงต่อการแท้งบุตร ค่าใช้จ่ายไม่สูง และมีประโยชน์ในการวางแผนในการตรวจวินิจฉัยและดูแลทารกที่ต่อไป แต่วิธีนี้สามารถทำได้เฉพาะในช่วงอายุครรภ์ 10 -14 สัปดาห์เท่านั้น 

รศ.พญ.สายฝน แนะนำอีกว่า คุณแม่ควรรีบไปฝากครรภ์กับสูติแพทย์ทันทีที่เริ่มตั้งครรภ์ เพื่อรับการตรวจคัดกรองในช่วงดังกล่าว   และหากผลการตรวจเป็น ‘บวก’ จะได้รับคำแนะนำในการตรวจวินิจฉัยต่อไป “ปัจจุบันการตรวจดังกล่าวเป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งทำการตรวจในสตรีตั้งครรภ์ทุกรายที่มาฝากครรภ์แล้ว”

ขอขอบคุณประสบการณ์ของคุณครู คุณแม่ และคุณหมอ ที่มอบให้กับครอบครัวอื่นๆที่กำลังคิดจะมีลูกน้อย สามารถเตรียมตัวเตรียมใจไว้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะสิ่งที่เราเลือกวันนี้ล้วนผูกพันกับอนาคตและคุณภาพชีวิตที่ดีของเด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง…