Young Generation พลังแห่งคนรุ่นใหม่จิตอาสาโควิด-19

โดย | ก.ย. 5, 2021

 11 ของอาคารจามจุรีสแควร์ ที่ตั้งของ “พริบตา” คลินิกที่ให้บริการสุขภาพภายใต้สถาบันวิจัยและนวัตกรรมเอชไอวี ตอนนี้แปลงสภาพมาเป็นศูนย์กระจายยาและติดตามอาการของผู้ป่วยโควิด-19 หลังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดให้คลินิกเวชกรรมทั่วประเทศ เข้าร่วมโครงการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องอยู่บ้านตามระบบ Home Isolation รองรับผู้ป่วยที่เพิ่มกว่า 2 หมื่นคนต่อวัน

ที่นี้กลายเป็นศูนย์รวม “อาสาสมัคร” เภสัชกรและนิสิตนักศึกษาที่กำลังเรียนสาขาเภสัชศาสตร์ หมุนเวียนเข้าออกร่วมๆ 60-70 คน เพื่อทำหน้าที่สอบถามอาการ ประสานงาน และจัดชุดยาฟาวิพิราเวียร์ ส่งไปให้ถึงบ้านผู้ติดเชื้อ

“แป้งร่ำ” กฤติกา ศรีรุณ ชั้นปี 3 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม เล่าภารกิจจิตอาสาของเธอว่า ทำหน้าที่จัดยาตามใบสั่งของแพทย์เป็นหลัก และนำยาชุดนี้ส่งให้ไรเดอร์ นำไปส่งต่อให้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้าน ยาหลักๆที่ส่งไปคือยาฟาวิพิราเวียร์ และยารักษาตามอาการตามที่แพทย์สั่ง 

บางครั้งเธอยังช่วยโทรถามอาการผู้ป่วยที่ลงทะเบียนเข้ามาด้วย จากประสบการณ์พบว่า “กว่าจะมาถึงสายเรา ผู้ป่วยจะโทรหลายๆที่มาก่อนแต่ก็มักเงียบไป พอเราติดต่อกลับเขาก็จะดีใจมาก”

# เข้าใจบทบาทของวิชาชีพตัวเองอย่างลึกซึ้ง

มีเคสหนึ่งที่แป้งร่ำไม่เคยลืม เป็นคุณแม่ที่ดูแลลูก 5 ขวบที่ติดโควิด-19 ด้วยตัวเองมาตลอด 10 วัน หลังจากที่ติดต่อไปทุกที่ แต่ไม่มีหน่วยงานไหนติดต่อกลับ จนเธอต้องดูแลรักษาลูกด้วยตัวเอง แล้วลูกก็มีอาการดีขึ้น คุณแม่ปฏิเสธที่จะให้เราส่งยาให้ บอกว่า “ให้นำยาชุดนี้ไปให้คนอื่นที่เดือดร้อนมากกว่า” สะท้อนความเสียสละที่แป้งร่ำรู้สึกได้จากคุณแม่คนนี้ เพราะหากเป็นคนทั่วไปก็อาจรับไว้ก่อน

แป้งร่ำ มองสถานการณ์ผ่านสายตาของเธอว่า การดูแลผู้ป่วยโควิด-19 มีหลายระบบมาก ผู้ป่วยก็โทรติดต่อหมด แต่มักไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที “เมื่อมีหลายระบบทำให้ผู้ป่วยตกค้างมาก เพราะต่างคิดว่าหน่วยงานอื่นอาจช่วยแล้ว มาถึงเราเขาก็ป่วยมาหลายวันแล้ว หลายบ้านคนป่วยเป็นสิบคนเลยก็มี”

งานจิตอาสาครั้งนี้ทำให้แป้งร่ำได้เรียนรู้มากมาย อย่างที่นักศึกษาปี 3 อย่างเธอไม่มีทางจะรู้ได้ในห้องเรียน ช่วยให้เธออ่านใบสั่งยาเป็น จัดโดสยาเป็น เช็คคลังยาได้ และที่สำคัญทำให้เธอเห็นว่าวิชาชีพเภสัชกรไม่ได้แค่นั่งจัดยาในห้องอย่างที่เห็น แต่เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของระบบรักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ระบาด อาจไม่ได้เป็นด่านหน้าอย่างแพทย์พยาบาล เพราะ “แสงอาจส่องไม่ถึง” แต่ก็มีบทบาทพอๆกัน 

นับจากนี้เส้นทางวิชาชีพของแป้งร่ำย่อมชัดเจนมากขึ้น เธอบอกว่า “เมื่อจบแล้วจะเรียนรู้งานในโรงพยาบาล เพื่อให้มีความรู้ด้านยามากที่สุดเท่าที่จะทำได้”

# ภารกิจกดดันทำให้หัวใจยิ่งแกร่งกล้า

‘จิตอาสา’ อีกกลุ่มซึ่งไม่ได้เข้าไปที่พริบตาคลินิก แต่สมัครใจช่วยเหลือให้คำปรึกษาผู้ป่วยอยู่ที่บ้าน ผ่านระบบโทรศัพท์หรือไลน์ ก็ส่งผลลัพท์ดีต่อใจได้ไม่แพ้กัน

“ท็อป” ธีรเมธ วิกุล นักศึกษาปี 5 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม เขาทำหน้าที่สอบถามอาการผู้ป่วยที่ลงทะเบียนเข้ามา ก่อนส่งต่อไปสู่กระบวนการจัดยาและส่งต่อไรเดอร์นำยาให้ผู้ป่วยที่บ้าน ท็อปมาทำงานนี้จากการชักชวนของอาจารย์และแน่นอน เขาตอบตกลงทันที! เพราะเห็นคนเดือดร้อนเป็นหมื่นๆต่อวัน

“การเป็นอาสาสมัครไม่ได้กินเวลามาก ผมใช้เวลาสุดสัปดาห์ในช่วงเสาร์อาทิตย์ ซึ่งเวลานี้เคยหมดไปกับการดูหนังฟังเพลงหรือเล่นเกม”

ท็อปเล่าเคสที่ติดในใจเขา เป็นลุงป้าคู่หนึ่ง “ปลายสายที่ผมคุยเป็นป้าผู้หญิง บอกว่าลุงซึ่งเป็นสามีของแกอยู่บ้านเดียวกัน เพิ่งเสียไปก่อนที่เราจะโทรติดต่อไปเพียง 1 วัน ส่วนตัวป้าแกเองก็มีอาการทรุดหนัก เคสนี้ผมรู้สึกเสียใจ เพราะช่วยอะไรลุงไม่ได้”

แต่ละสายที่ท็อปโทรคุย แม้เสียงปลายสายจะดีใจที่มีคนช่วยเหลือ แต่ก็ทำให้ตัวเขา “กดดัน” ไปด้วย เพราะไม่สามารถ “รับปาก” ได้ว่ายาที่จัดให้จะมาถึงมือผู้ป่วยภายในกี่วัน และจะมีรถพยาบาลมารับเขาไปโรงพยาบาลหรือไม่ เพราะจุดนี้ทำหน้าที่สอบถามอาการ เพื่อส่งต่อให้คนจ่ายยาเท่านั้น “แต่ยังไงก็ตาม สิ่งที่ผมได้กลับมาทุกครั้งเลยก็คือน้ำเสียงที่มีความหวังของผู้ป่วย ที่อยากจะเล่าอาการและมีเราเป็นผู้รับฟัง”

จุดเปลี่ยนก็คือ “อนาคตวิชาชีพเภสัชกรของผมชัดเจนมากขึ้น” ท็อปบอกอย่างนั้น หลังจากที่ได้มาเป็นอาสาสมัคร ได้ฝึกทักษะของการสื่อสาร ซึ่งสามารถนำไปใช้กับวิชาชีพในอนาคต และรู้เลยว่าเราต้องหาความรู้เพิ่มขึ้นให้ความรู้เราแน่นพอ และสนใจข่าวสารเกี่ยวกับยาให้มากขึ้น เพื่อจะได้ช่วยคนได้มากขึ้น เพราะหากความรู้เราไม่พอก็ตอบข้อสงสัยของเขาไม่ได้ และเราก็ช่วยเขาไม่ได้มากอย่างที่ควรจะเป็น

“ผมจำวลีหนึ่งในช่วงการเรียนเภสัช ก็คือ เป็นวิชาชีพที่ปิดทองหลังพระ ผมเข้าใจมากขึ้นว่าเพราะอะไรถึงเป็นอย่างนั้น แต่ยังไงก็เป็นวิชาชีพที่ช่วยคนได้ ผมมาตกผลึกในความเป็นเภสัชกรจากที่มาทำงานจิตอาสานี้”

นน้ำใจจากนิสิตทันตแพทยศาสตร์ มศว.

คนรุ่นใหม่อีกหนึ่ง ที่ร่วมแชร์ประสบการณ์ดีๆ จากการรวมกลุ่มเพื่อนจิตอาสา ลุยลงพื้นที่ไปมอบถุงยังชีพและสิ่งของที่จำเป็นแก่ผู้ป่วยโควิด-19 ถึงมือ ถึงบ้านในชุมชนต่างๆ ทำไปด้วยหัวใจล้วนๆ 

“ฝน” เบญจมาภรณ์ รังษีภาณุรัตน์ นิสิตชั้นปี 6 คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เธอเริ่มจากเข้าร่วมโครงการอาสาสมัครกับรุ่นพี่ทันตแพทย์กลุ่ม D-Volunteers ช่วยดูแลผู้ป่วยโควิด โรงพยายาลธัญญารักษ์ จังหวัดปทุมธานี ฝนทำหน้าที่ส่งผลแล็ปทางไลน์ให้ผู้ติดเชื้อหรือประสานรับเรื่องความเดือดร้อนต่างๆ จากคนไข้ที่ลงทะเบียนกับสปสช.ซึ่งทยอยเข้ามาต่อเนื่อง 

การสัมผัสความเดือดร้อนของเพื่อนมนุษย์ ทำให้ “ฝน” มีแรงบันดาลใจแรงกล้า รวมตัวกับเพื่อนเป็นจิตอาสาช่วยเหลือนำข้าวของต่างๆที่จำเป็นหรือส่งถุงยังชีพไปให้แก่ผู้ป่วยเหล่านี้ที่ส่วนใหญ่กำลังสิ้นหวังในชีวิต ขาดงาน ขาดกำลังทรัพย์ ไม่สามารถออกจากบ้าน ไม่ได้รับความช่วยเหลือ และต้องรอรับยาจากสปสช. เป้าหมายคือทำให้พวกเขามีความหวังในการใช้ชีวิตอยู่ต่อไป “คนป่วยบางคนไม่ได้ต้องการเงิน แต่ขออาหารเพื่อประทังชีวิตตัวเองและภรรยา” 

# แคมเปญ ‘เราต้องอยู่’ ลงสู่พื้นที่ 100 จุด

ช่วงแรกๆ ฝนกับเพื่อนช่วยกันตามกำลังทรัพย์ของตัวเอง ออกค่าใช้จ่ายเองเท่าที่จะทำได้ แต่เมื่อมีผู้ต้องการความช่วยเหลือมากจึงเปิดรับบริจาคด้วย ภายหลังมีผู้ป่วยลอตใหม่มาอีก 300 คน ฝนจึงไปขอความช่วยเหลือจากพี่อีกท่านที่เค้ามีโครงการวาดรูปจำหน่ายเพื่อนำเงินมาสนับสนุนงานนี้ 

“ฝนทำแคมเปญกับเพื่อนๆ เรียกว่าโครงการ “เราต้องอยู่” ส่งถุงยังชีพไปช่วยผู้ป่วยที่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นอาหารแห้ง ยาสามัญประจำบ้าน จะลงพื้นที่ในกรุงเทพและปริมณฑล นนทบุรี โดยเฉพาะปทุมธานีจะมากหน่อยเพราะมีผู้ป่วยไปตรวจที่โรงพยาบาลธัญญารักษ์มาก เราไปจนถึงจังหวัดอยุธยาและนครปฐมก็มีค่ะ”

ล่าสุดถึงขณะนี้ ทีมของฝนได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ป่วยไปแล้วรวม 210 คน และเตรียมจะแจกจ่ายให้อีก 300 คน จนครบ 100 จุดในสัปดาห์หน้า ปัญหาใหญ่ก็คือถ้าเป็นชุมชนกทม.การเข้าออกซอยจะยากกว่าในพื้นที่รอบๆมาก

ประสบการณ์ที่ได้ถือว่า “ล้ำค่า” การเข้าพื้นที่ทำให้นิสิตทันตะที่กำลังจะจบไปเป็นทันตแพทย์อย่างฝน เห็นถึงสภาพแท้จริงของสังคมไทยที่เหลื่อมล้ำ ยังมีคนยากคนจนเข้าไม่ถึงระบบสุขภาพและคุณภาพชีวิตอีกมากมาย

“สิ่งที่ฝนทำในวันนี้จะช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในอนาคต เมื่อเราจบไปทำงานแล้วจะมีความเข้าใจคนไข้มากขึ้น เพราะเราไม่รู้หรอกว่าคนไข้เค้าต้องประสบปัญหาอะไรในชีวิตบ้าง จนกว่าจะได้ไปเห็นด้วยตาตัวเอง นี่จะเป็นสิ่งที่ตอกย้ำถึงทัศนคติในการทำงานให้แก่เรา”

อาสาสมัคร “คนรุ่นใหม่” ทั้ง 3 คน เป็นตัวอย่างแห่งความหวัง เป็นตัวแทนพลัง Young Generation การเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครกับเพื่อนๆ ต่างสถาบันและรุ่นพี่ ช่วยเหลือคนไทยให้ผ่านวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ ย่อมทำให้ทุกคนมองเห็นคุณค่าจากประสบการณ์และชีวิตจริง

จากห้องเรียนมุ่งสู่เส้นทางวิชาชีพที่พวกเขารัก….รักเพราะได้ช่วยเหลือผู้คน

 

#อาสาสมัครคนรุ่นใหม่

#จิตอาสาโควิค-19

#ยาฟาวิพิราเวียร์

#ถุงยังชีพ

#เภสัชกร