ปรากฏการณ์เครือข่ายเภสัชกรชนบทกว่า 400 คน กรีฑาทัพอาสาสมัครเสริมแกร่งให้แก่ทีมบุคลากรทางการแพทย์พื้นที่เมืองใหญ่ กทม. ปริมณฑล และทั่วประเทศ เติมเต็มการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวที่สมัครใจรักษาแบบ Home Isolation ให้ได้รับยา ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ป้องกันเชื้อไวรัสลงปอด ตัดวงจรการเสียชีวิตตั้งแต่ต้นทาง  

เภสัชกรอาสาสมัครเหล่านี้มาจากภาครัฐ ภาคเอกชน ร้านขายยา ข้าราชการเกษียณ แม้แต่นิสิตนักศึกษาสานพลังเครือข่ายองค์กรไม่แสวงหากำไรร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มอนิเตอร์ข้อมูลผู้รักษาตัวเองที่บ้านแจ้งขอความช่วยเหลือด่วนผ่านระบบ Digital Phamacy ล่าสุดมีผู้ป่วยกว่า 2,000-3,000 คนแล้วที่ได้รับยาเร็วขึ้นทันต่อเส้นยาแดงแห่งชีวิต

Real-Inspire สัมภาษณ์พิเศษ ภก.สุภนัย ประเสริฐสุข ประธานชมรมเภสัชชนบท ผู้มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการระดม จิตอาสา ด้านเภสัชกรรมครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ได้อย่างโดดเด่นเช่นเดียวกับรุ่นพี่ๆ ทั้งแพทย์ พยาบาล อาสาสมัครต่างๆ ที่ล้วนเสียสละเวลาส่วนตัว ฐานะส่วนตัว เพื่อช่วยเหลือสังคมให้พ้นวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน โดยเฉพาะพื้นที่สีแดง เช่น กทม. และปริมณฑล แข่งกับเวลาซึ่งเรามีผู้เสียชีวิตทุกชั่วโมง

บทบาทของชมรมเภสัชชนบทต่อสถานการณ์โควิด-19

ชมรมเภสัชชนบทผ่านการทำงานมามาก เราทำเพื่อประชาชนอะไรที่ทำเพื่อประชาชนอะไรที่ยืนเคียงข้างประชาชน เราเลือกทำสิ่งนั้นเป็นสิ่งแรก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องยาและสุขภาพ

สถานการณ์ตอนนี้ชมรมฯได้ดำเนินการหลายอย่าง ทั้งช่วยประสานเรื่องยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) การโทรติดตามผล เราเสมือนเป็น โซ่กลางระหว่างผู้ Register ในระบบ สปสช. ให้กับผู้ป่วยเยอะมาก เราเป็นหนึ่งในอาสาสมัครที่เข้าไปช่วยเหลือ โดยใช้จุดแข็งการเป็นวิชาชีพ

เภสัชกร เข้าไปติดตามด้วยว่าผู้ป่วยได้รับยาหรือยัง หากยังไม่ได้รับยาก็จะประสานให้ เมื่อได้รับแล้วก็ประสานงานจนเสร็จ 14 วัน จนหายหรือใช้ยาอย่างถูกต้องหรือไม่ เมื่อได้ฟาวิพิราเวียร์แล้วทานอย่างไร เช่น บางครอบครัวติดโควิดกัน 5 คน แต่ได้ยามาแค่ 3 คน ไม่เป็นไรเดี๋ยวเราช่วยบริหารให้และเราจะพยายามเติมเข้าไปในระบบเพื่อช่วยครอบครัวนี้ให้ได้ พอครบ 10-14 วัน เมื่อหายปุ๊บเราก็ช่วยดูแลเคสใหม่ต่อไป

ส่วนมากจะเป็นกลุ่มผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว หรือเขียวไปเหลือง ถ้ายังไม่สามารถลงทะเบียน หรือเข้าในระบบ Home Isolation ได้ หรือเป็นชาวต่างชาติ เช่น เมียนมา เราก็ช่วยประสานสปสช.ให้ บางคนเราก็ช่วยคีย์ข้อมูลเข้าระบบและติดตามยารักษาให้ แต่ก็ไม่ได้ทำได้สำเร็จทุกเคสนะครับ เพราะต้องใช้เวลาเหมือนกัน แต่เมื่อคุยแล้วเราเข้าใจกันมากขึ้น เราเข้าใจเจ้าหน้าที่ต้นทางระบบสาธารณสุขด้วย ว่าเค้ามีข้อจำกัดอะไรบ้าง หน้างานคนจะเยอะมาก คนอารมณ์ร้อน คนไข้ก็รอยา

วิธีการทำงานของอาสาสมัครชมรมเภสัชชนบท

เราใช้สื่อเทคโนโลยีง่ายๆ เช่น เพจ Facebook ไลน์ และมีเครือข่ายที่มาทำงานกับเราอย่างเหนียวแน่น เครือข่ายเภสัช นพย. (การพัฒนาผู้นำเครือข่ายในการเฝ้าระวังและจัดการปัญหาระบบยา) หลายร้อยชีวิตทั่วประเทศ​เป็นกลุ่มแรกๆที่เริ่มทำก่อน เราเปิดกว้าง ส่วนที่เหลือสนใจก็แจ้งชื่อมาทาง Inbox กว่า 300 เกือบ 400 คนแล้ว แต่ก็ต้องทำข้อมูลหลังบ้านด้วย แจกจ่ายชื่อผู้ขอความช่วยเหลือไป การคัดกรองอาสาสมัครก็มีส่วนสำคัญ ต้องถูกเทรนนิ่งว่าจะอธิบายผู้ป่วยอย่างไร มีตั้งแต่นักศึกษาเภสัชปีหนึ่งจนถึงรุ่นพี่เภสัชกรที่เกษียณอายุแล้ว เภสัชกรที่มีใบอนุญาตอยู่เมืองไทยยังไม่ขาดและต่ออายุแต่ไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศก็มีครับ

กระบวนการงานของเราส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องการโทรประสานงาน ใช้ไลน์ Face to Face อาสาสมัครกลุ่มเราไม่สะดวกในการทำในพื้นที่ เช่นในกทม. เพราะเราเป็นเภสัชอยู่ในระบบ อยู่ร้านยา อยู่ในรพ.ส่วนใหญ่ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งอาจจะทำงานในไซด์ได้โดยตรง เพราะอยู่ในกทม.อยู่แล้วก็จะมาช่วยในไซด์ได้ ไซด์ของเราก็จะมีในชุมชนต่างๆ ศูนย์บริการสุขภาพ หมู่บ้าน บางคนก็ไปช่วยสวอป ไปพูดคุยให้คำแนะนำ เช่น การจะไปลงทะเบียนกับสปสช.หรือที่หน่วยบริการ

มีน้องๆ นิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วย

ใช่ครับ น้องนักศึกษาอาสาสมัครจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยสยาม มหาวิทยาลัยศิลปากร ฯลฯ บางคนแจ้งชื่อมาขอเป็นอาสาสมัครจากเชียงใหม่ พะเยา บางคนบอกพี่ๆ หนูอยู่แค่ปี 1 เท่านั้นจะช่วยได้หรือไม่ ซึ่งเราไม่มีปัญหาพร้อมจะเทรนและให้ใช้ระบบ Telephamacy โทรเข้ามาคุยกัน น้องๆ นักศึกษาปีหนึ่งจะมีพี่เภสัชช่วยเหลือ เค้าจะโทรหาผู้ป่วยในกทม. ถ้าติดขัดตรงไหนก็จะรับไปถามรุ่นพี่ให้ ทางชมรมฯ ไม่มีค่าโทรให้ด้วย ทุกคนอาสาและออกค่าใช้จ่ายกันเอง บางคนคุยกันจนคุ้นเคยกลายเป็นเภสัชกรประจำบ้านเค้าเลยก็มี บางคนได้รับยาแล้วรีบโทรมาหาเภสัชเลย แต่บางคนก็คอยไม่ไหวเสียชีวิตไปก่อน เราก็ขอแสดงความเสียใจด้วยจริงๆ

กระบวนการนี้ถือเป็นการยกระดับสู่ Digital Phamacy ได้หรือไม่

ยังหรอกครับ แต่เป็นส่วนหนึ่ง เราดึงมาใช้เช่นการโทร การใช้ไลน์ทั้งหลาย การ Face หากันอะไรอย่างนี้ คือเราต้องมองอย่างนี้ว่าคนไทยที่ป่วยโควิดเวลานี้ มีตั้งแต่คนใช้เทคโนโลยีไม่เป็นเลยอายุ 70-80 ปี คนต่างชาติ แรงงานข้ามชาติ ไปจนถึงคนที่มีการศึกษาพวกนี้เข้าถึงเทคโนโลยีได้ไม่ยาก แต่เชื่อมั้ยว่าโควิดจะทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน บางคนเป็นดอคเตอร์ก็ยังไลน์มาหาเราว่ายังไม่ได้ยา เราก็ยินดีประสานให้เพราะเป็นผู้ป่วยเท่ากัน แรงงานชาวเมียนมา ดอคเตอร์ก็มีญาติพี่น้องติดเหมือนกัน ก็ไม่ได้ยาเหมือนกัน แล้วดิจิทัลฟาร์มาซีช่วยลดความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ ต่อให้คุณเป็นผู้มีอำนาจหรือผู้ใช้แรงงาน ผมเชื่อว่าเราก็เป็นหนึ่งทางเลือกในการช่วยให้คุณเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกันให้ได้มากที่สุด

ในชมรมประเมินว่าได้ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อไปแล้วกี่เคส

ที่ติดต่อเข้ามามากกว่า 2,000 บวกๆ น่าจะถึง 3,000 เคส แต่ก็ต้องใช้เวลาในการติดตามต่อไปด้วย บางคนไม่หาย บางคนหายต้องกินยาต่อไป ตอนนี้ทางทีมงานกับน้องๆ ก็รันไป มีทีมที่มอนิเตอร์ต่อ ตอนนี้เราพยายามกระชับเข้ามา เพราะบางคนบอกว่าถ้าติดต่อมาหาเราแล้วได้ยาแน่นอน ผมต้องบอกว่าไม่ใช่อย่างนั้น เราไม่ได้มียาเลย เราแค่ประสานให้ เพราะว่าจุดที่มียาอยู่ในรพ.ทั้งนั้น แหละครับ เพียงแต่เราชี้จุดว่าสถานะคนนี้อาการเป็นอย่างไร ที่เหลืออยู่ที่การตัดสินใจของแพทย์ว่าจะสั่งยาอย่างไร แล้วไรเดอร์ก็จะส่งยาไปที่บ้านก็เป็นกลุ่มอาสาสมัครรับส่งจากแพทย์และสปสช.ไปส่งให้ที่บ้าน หลักๆ เลยเราประสานฟาวิพิราเวียร์ เพราะกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวหลักสำคัญคือ คุณต้องได้ฟาวิพิราเวียร์เพื่อป้องกันเชื้อลงปอด คนเป็นอาสาสมัครต้องพร้อมทำงานตลอด ดึกดื่น ต้องพร้อม เพราะบางครั้งได้ยามาต้องรีบส่งแต่เช้า ส่วนต่างจังหวัดเรามี อสม.เป็นกลไก แต่ในกทม.ทำอย่างนั้นไม่ได้ ซึ่งอสม.ทำได้ดีมากและต่างจังหวัดแม้ขลุกขลักบ้างแต่ระบบโครงสร้างดี มีความชัดเจน แต่ในกทม.ล่มสลาย กรุงเทพชั้นยอดในระบบการแพทย์ตติยภูมิ แต่ระบบไพรมารีแคร์ทั้งหลายมีปัญหามาก เราก็เลยระดมทีมเภสัชมากอบกู้กรุงเทพ

ล่าสุด ชมรมฯออกแถลงการณ์ถึงภาครัฐให้เร่งผลิตยาฟาวิพิราเวียร์

ใช่ครับ เพราะเรามองเห็นแล้วว่าถ้าสถานการณ์โควิดเป็นแบบนี้ จะมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเป็นวันละ 20,000 คน ซึ่งที่ผ่านมาเราปฏิบัติการเรื่องยาจะเห็นว่าสังคมต้องการอะไร ขาดยาอะไรบ้าง เราก็ช่วยออกแถลงการณ์ ออกจดหมายเปิดผนึก เริ่มตั้งแต่ให้ฟาวิพิราเวียร์ปลดจากสิทธิบัตร การขับเคลื่อนเรื่องวัคซีนทางเลือก วัคซีนสำหรับเด็กต้องรีบหาแล้ว ล่าสุด คือจดหมายเปิดผนึกเรื่องเพิ่มกำลังการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์เป็น 30 ล้านเม็ดต่อเดือน เพราะเห็นแล้วว่าแพทย์และพยาบาลในชนบทยาตึงมือ ไม่เพียงพอ ไม่ทันใช้ เราคอยประสานรวมเสียงของคนตัวเล็กตัวน้อยในระดับชุมชน โรงพยาบาลชุมชนแล้วสะท้อนออกไปถึงผู้กำหนดนโยบาย เพราะส่วนใหญ่พวกเราเป็นพี่น้องเภสัชกร พี่น้องแพทย์ ส่วนใหญ่เราอยู่ต่างจังหวัดกัน แต่ผู้ที่ทำงานอยู่ในเมืองในกทม.ก็ร่วมสะท้อนมาได้เช่นกัน

ปัญหาที่แท้จริงของยาฟาวิพิราเวียร์คืออะไร

ปัญหาที่แท้จริงคือยาฟาวิพิราเวียร์ได้รับการปลดล็อคสิทธิบัตรแล้วก็จริง แต่ยังผลิตไม่ได้ เพราะหนึ่งมันยังติด patent (สิทธิบัตร) เพราะบริษัท ฟูจิฟิล์ม โทยามะ ยังยื่นเรื่องสิทธิบัตร โอเคอันนั้นเด่วค่อยไปรอดูกัน แต่ในกระบวนการผลิต ณ ตอนนี้ เวลาองค์การอาหารและยา (อย.) จะอนุญาตให้ผลิตได้ มันจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่ามีรุ่นทดลองก่อนอย่างน้อย 3 รุ่น กระบวนการเหล่านี้กินเวลาเป็นเดือน ตอนนี้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ยังไปไม่ถึงจุดนั้น เราก็เสนอไปนะครับบอกว่า อย.อนุญาตให้อภ.ผลิต 3 รุ่น ออกขายได้เลยจะร่นเวลาผลิตได้อย่างน้อยครึ่งเดือน มาดูเวลาตอนนี้ก็ต้นสิงหาคมแล้ว ดูไทม์ไลน์เดือนนี้จะมียอดผู้ติดเชื้อโควิดสูงสุด แล้วตอนนี้ผู้ป่วยแตะ 20,000 คนแล้ว สองหมื่นคูณ 50 เม็ด ง่ายๆเลยอย่างต่ำ 1 ล้านเม็ดต่อวัน ศักยภาพกำลังผลิตของอภ.ผลิตได้แค่เดือนละ 20 ล้านเม็ดนะครับ แต่เราบอกว่าเราต้องการวันละ 1 ล้านเม็ด รวม 30 วัน ก็คือ 30 ล้านเม็ดเป็นอย่างน้อย

เราก็ตั้งคำถามว่าอภ.ทำได้หรือไม่ ถ้าทำได้จะทำอย่างไร ต่อให้ขยายไซส์ผลิตมากขึ้นจะทำอย่างไร เพราะอภ.ก็ต้องผลิตยาอื่นด้วยเช่นยารักษาผู้ป่วย HIV แล้วผู้ป่วย HIV จะทำอย่างไร เพราะฉะนั้นต้องมีวิธีการบริหาร โรงงานเภสัชกรรมทหารทุกวันนี้เค้าก็ผลิตยาได้ คุณก็ให้สูตรการผลิตเค้าไป ใช้กำลังของทหารนี้แหละดูแลผู้ป่วยในกรุงเทพและเป็นที่กระจายยา ทำไมไม่ใช้เราก็งง เราพยายามชี้เป้าให้ ส่วนโรงงานยาที่เป็นภาคอุตสาหกรรมก็ให้ร่วมผลิตใช้ทั่วประเทศยกเว้นกรุงเทพมหานคร โดยที่อภ.ก็ทำเรื่องระบบโลจิสติกส์ในภาพรวมไป ผู้ผลิตก็ผลิตพร้อมกันไปด้วย คือถ้าผลิตกันจริงๆ ผมเชื่อว่าเรามียาใช้ล้นเหลือครับ อันนี้คือ คานดีด ที่สำคัญเลย

ประเด็นสำคัญคือเราอยากให้ลดขั้นตอนให้เร็วขึ้น

ใช่ครับ คือเราประเมินกันนะครับว่า ต่อให้ลดขั้นตอนก็ยังมีการประกันคุณภาพยา หัวใจสำคัญคือการประกันคุณภาพยา ต่อให้ยาลอตนั้นหรือมีลอตหนึ่งหลุดไปโดยไม่มีคุณภาพ เราก็มีกระบวนการที่เป็นดับเบิลเช็คได้อยู่ เพราะฉะนั้นเรามองว่าก็ยังปลอดภัยอยู่นะครับ อภ.ก็อาจจะไม่ถูกใจนะที่เราบอกว่าลัดขั้นตอนหรือลดขั้นตอน เพียงเราอยากจะบอกว่าให้ทำควบคู่กันไปแบบดับเบิลเช็ค แล้วที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหาถึงขนาดนี้ ซึ่งยาตัวนี้ก็ไม่ได้มีความซับซ้อนในการผลิตอะไรเลย

โรงงานผลิตยาภาคเอกชนที่สามารถช่วยอภ.ผลิตได้มีประมาณกี่แห่ง

คิดว่าโรงงานเอกชนมีเกิน 20 แห่ง และได้ GMP ด้วย ผลิตได้สบาย เราประเมินว่า 1 ล้านเม็ดต่อวันเป็นขั้นต่ำ จริงๆอาจจะมากกว่านี้ด้วยซ้ำเพราะผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นไปอีก และยังมีคนป่วยในระบบอีก ส่วนนั้นสธ.เค้าจะมอบให้ในระบบอยู่แล้ว แต่ส่วนนี้พูดง่ายๆ คือต้อนรับน้องใหม่ (ผู้ป่วยสีเขียว) เราป้องกันกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวไม่ให้ไปเป็นสีเหลืองคือเชื้อลงปอด นิวโมเนียแล้ว ถ้าเราดูแลรักษาเค้าให้ดีตามแนวทางรักษาใหม่แล้วนะครับ แพทย์ปรับให้มาใช้ยาเร็วขึ้นในกลุ่มสีเขียวใช้เลยทันที ยกตัวอย่างสมมุติว่าตอนนี้สีเขียวมีอยู่ 3 หมื่นรายแล้วยาหมดล่ะ สีเขียวเหล่านี้ก็ขยับมาเป็นสีเหลือง แต่ถ้าได้ยาก็ลดภาระในส่วนนี้ไป รวมถึงลดภาระออกซิเจนทั้งหลาย เตียงทั้งหลาย แล้วตอนนี้ในต่างจังหวัด คุณทำศูนย์พักคอย ทำ Comunity Isolation ทำระบบรองรับแล้วไม่มียาก็จบนะ

ในต่างประเทศเค้าให้ยาฟาวิพิราเวียร์เลยหรือไม่

เค้าแจกเลยครับ ยามีใช้เหลือเฟือ แล้วเค้ามีตัวดีกว่านี้ ที่เรากำลังจะทำคือ เรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) บ้านเราก็มีใช้นะครับ อย่างในโรงพยาบาลสนามก็ใช้ เพราะตัวนี้มันถูกชี้ว่าเป็นยารักษาโควิดโดยตรงเลย แต่มันติดสิทธิบัตรอยู่ เรากำลังคิดว่าจะขอทำ CL หรือเปล่า ต้องคุยกันในเชิงวิชาการอีกสักพักหนึ่งว่าพอจะเป็นไปได้มั้ย ถือว่ามีทางเลือก ในต่างประเทศใช้กันรักษาโควิดโดยตรง คิดว่าอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์น่าจะทราบ แต่ถ้าเงียบก็แสดงว่าข้อมูลทางวิชาการนี่ยังไม่เหมาะที่จะทำข้อเสนอ CL ไป ก่อนเสนอ CL เราต้องดูผลกระทบเรื่องอื่นๆ ด้วย

ปัจจุบันผู้ป่วย Home Isolation ได้ยากันครบหรือขาดแคลนมากแค่ไหน

กรณีเรื่องยาฟาวิพิราเวียร์ก็เป็นปัญหาหลักอย่างหนึ่ง ส่วนมากถ้ายาส่งให้จากหน่วยบริการจะให้มาครบคอร์สเลย 50 เม็ด แต่ถ้าในครอบครัวบางคนได้ บางคนไม่ได้ เราก็จะบริหารยาว่ากินคนละกี่เม็ดแล้วเราก็จะประสานเพิ่มกับสปสช.หรือให้กินฟ้าทะลายโจรช่วยเสริมไปก่อน แต่ตอนนี้มีปัญหามากก็คือยาทุกตัวมีปัญหากับตับ เพราะตับมีหน้าที่ทำลายยา ถ้าเรากินแบบโหมกระน่ำ เช่น กินกระชายขาวหรือกินฟ้าทะลายโจรมากๆ จนฟังก์ชั่นตับทำงานหนักเกินไป มาถึงวันที่เราจำเป็นต้องกินฟาวิพิราเวียร์ ฟังก์ชั่นตับจะไม่สามารทำลายยาได้เต็มที่ เภสัชก็จะแนะนำให้กินเท่าที่จำเป็น เพราะไม่มียาที่ป้องกันการติดโควิดได้นะครับ เราก็ส่งเสียงรณรงค์ว่ากินพวกฟ้าทะลายโจร กระชาย ให้พอเหมาะสมและระมัดระวังด้วยเพราะมันมีข้อจำกัดอยู่ เพราะถ้าวันนึงถ้าเราต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์จริงๆ ตับเรามันต้องไปทำลายหมด พูดง่ายๆ คือเก็บตับไว้ตอนต้องกินยาจำเป็นต้องใช้ดีกว่าหรือไม่ ถ้าเรายังแข็งแรงอยู่ก็อย่าเพิ่งดีกว่า ส่วนมากถ้าเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว เค้าก็จะเริ่มให้กินฟ้าทะลายโจรอันนั้นถ้าผล Antigen Test Kit (ATK) เป็นบวกแล้ว

อีกประเด็นที่เราเสนอก็คือตัว Test kit ย้อนไปจำตอนที่เรามีภาพผู้ป่วยนอนแล้วรอข้างถนนได้มั้ย เราคุยกันมานานแล้ว พอเห็นภาพนี้วันรุ่งขึ้นเราออกจดหมายเปิดผนึกเลยว่าควรให้ประชาชนได้ใช้ ทางชมรมแพทย์ชนบทก็เร่งประเด็นนี้และต่อมากระทรวงสาธารณสุขและศบค.ก็เร่งเปิดให้ประชาชนใช้ได้ เดี๋ยวระบบอื่นๆก็ตามมา เช่น Home Isolation Comunity Isolation เรื่องการทิ้งขยะติดเชื้อ ผมเชื่อว่าสอนคนไทยสิครับ อย่าคิดว่าความรู้ต้องอยู่กับแพทย์ เภสัชกรเท่านั้น สอนให้เค้ารู้ เดี๋ยวเค้าจะพัฒนาตัวเองได้ ติดขัดตรงไหนก็แก้ไขให้เค้า ไม่ใช่ทุกอย่างเก็บไว้กับตัวเอง เก็บไว้กับสธ.อย่างเดียว แล้วก็ยาฟาวิพิราเวียร์ต่อไปคนเข้าถึงด้วยตัวเองได้ แต่ตอนนี้ยังมีเกณฑ์อะไรหลายๆอย่าง เช่น ปัญหาเรื่องกลัวการดื้อยา อาจจะมีผลกระทบตามมา ซึ่งส่วนตัวผมก็เห็นด้วย แต่ประเด็นคือให้เข้าถึงได้ง่าย

ตอนนี้เราต้องเรียนรู้ที่อยู่กับโรคโควิดนี้ การมี ATK คือหัวใจสำคัญเลย ถ้าติดก็เข้าระบบดูแลตัวเองที่บ้าน ยาจึงเป็นเรื่องสำคัญ ยาจัดส่งมาจากสปสช.เลย ทั้งเจลแอลกอฮอล์ พร้อมมาตรการอื่นๆด้วย รัฐบาลอาจช่วยเหลือค่าใช้จ่ายช่วงกักตัวให้เค้าอยู่ได้ 14 วัน โดยเชื้อไม่ลงปอด ถ้าเป็นอย่างนี้ระบบก็เดินต่อไปได้

ถ้ากลุ่มเภสัชไม่ส่งสัญญาณออกมาก็จะไม่เกิดการแก้ไข

ผมก็อยู่ในระบบราชการ แต่บางประเด็นคนอยู่หน้างานเค้าอาจจะมองไม่เห็น ผมไม่อยากให้ฝ่ายการเมืองมองเราเป็นปฏิปักษ์ แต่อยากให้นำความเห็นเราเอาไปปรับใช้ เรามีทีมวิชาการเก็บข้อมูลก่อนจะนำเสนออะไรออกไป อย่างในต่างประเทศถือเป็นเรื่องปกติ

รัฐบาล ศบค. ต้องมองแล้วว่าเราจะอยู่กับโควิดได้อย่างไร โดยใช้ชีวิตได้ปกติ คนทำมาหากินได้ ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน แต่ยังไม่เห็นรัฐบาล ศบค.บอกว่าเราจะอยู่กับมันได้อย่างไร คิดแต่วันต่อวันว่าวัคซีนจะมีหรือไม่ แล้วก็ย่อยลงมาในจังหวัด ผมดูก็ไม่ต่างกับภาพใหญ่ของประเทศที่คนยังไม่ถูกสอนว่าจะอยู่กับมันอย่างไร โอเคเราถูกสอนให้ล้างมือ แต่คนที่เปิดร้านอาหารล่ะเค้าจะทำอย่างไร ATK นี่แหละทำให้เค้าอยู่ได้ แต่ถ้าได้ค่าแรงแค่วันละสามร้อยบาท แต่ ATK ราคาชุดละ 350 บาท อยากให้หน่วยงานวิจัยทำเองไดัเหลือราคาสัก 30 บาท 50 บาทได้หรือไม่ เพื่อแจกจ่ายให้คนไทย คนไทยอาจมีโควตาซื้อร้านขายยาได้คนละหนึ่งเคส แล้วเปิดร้านค้า ร้านอาหารได้ รัฐบาลก็ต้อง ขอแรงคนไทย ถ้าเค้ารู้ว่าร้านค้ายังเปิดได้ รถเช่า ธุรกิจท่องเที่ยวจะเปิดได้ จะทำให้ต่างประเทศ นักท่องเที่ยวก็ได้ทราบว่าเรามีมาตรการแบบนี้นะ ถ้าติดโควิดกักตัวก็มีมาตรการดูแลจัดแบบนี้ เค้าก็กล้ามา

สิ่งที่เป็นบทเรียนในสถานการณ์ที่ผ่านมาของชมรมเภสัชชนบท

คือในสภาวะวิกฤต เรียกว่าวิกฤตหนักที่สุดในช่วงชีวิตพวกเรา เราจะเห็นว่าคนที่อยากมาช่วยเยอะมาก ทุกคนยินดี มองว่าถ้าตัวเองพร้อมที่จะทำอะไรได้ พร้อมจะสละแรงกายแรงใจ ค่าใช้จ่ายเล็กๆน้อยๆก็ยินดีที่จะทำ ซึ่งตรงนี้เราถือว่าเป็นเรื่อง เซอร์ไพร์ส สำหรับชมรมเองมากไม่คิดว่าคนจะสนใจขนาดนี้ มันกำลังสะท้อนให้เห็นว่า ถ้าเราชี้ให้มันถูกจุด มีทิศทางนโยบายที่มันชัดเจน คนส่วนใหญ่ของสังคมพร้อมที่จะขยับกันอย่างพร้อมเพรียง เพราะทุกคนเห็นแล้วว่าสภาพสังคมของเรามันมาถึงตรงจุดไหนแล้ว เค้าพร้อมทำอะไรได้ พร้อมทำ เสียสละอะไรได้เล็กๆน้อยๆเค้าก็พร้อมทำ ยิ่งคนที่มีเค้าก็พร้อมเสียสละมาก นี่คือสิ่งสำคัญ แต่เค้าอยากเห็นว่าโซลูชั่นภาพรวมของปัญหามันจะไปถึงไหน จะทำอะไร จะช่วยอะไรได้บ้าง ผมคิดว่าตรงนี้มันสะท้อนไปถึงภาพใหญ่ของประเทศเช่นเดียวกัน โรดแมป เหมือนที่ผมบอกไปตอนต้นว่า เราจะอยู่กับโควิดได้อย่างไร ซึ่งหลายส่วนก็พูดแล้วว่าเราจะอยู่กับโควิดได้อย่างไร ถ้าศบค.ชัดเจน สธ.ชัดเจน รัฐบาลชัดเจน การท่องเที่ยวซึ่งเป็นหัวใจหลักของประเทศ เค้าก็พร้อมขยับใช่มั้ยครับ ถ้าเศรษฐกิจ ร้านค้าอะไรที่เคยเป็นจุดแข็งของพวกเรา เค้าก็พร้อมจะลงทุน พร้อมที่จะเจ็บตัวอีกครั้ง ไม่งั้นก็คงตายกันหมดแล้ว อะไรที่เป็นเงินเก็บก้อนสุดท้ายแล้วเค้ามองว่าอันนี้มันจะช่วยทำให้เค้ากลับฟื้นมาได้ ผมว่าเค้าพร้อมนะ แต่คุณต้องมั่นใจนะรัฐบาลคุณต้องทำจริงนะ

เสียงสะท้อนจาก ภก.สุภนัย ประเสริฐสุข ประธานชมรมเภสัชชนบท คือ เสียงแห่งความหวัง ว่าคนไทยจะไม่ทิ้งกันยามทุกข์ยาก อย่างน้อยๆ ยังมีอาสาสมัครเภสัชกรกลุ่มหนึ่ง ที่ทุกคนอาจมีที่มาที่ไปต่างกัน แต่เป้าหมายเดียวกันคือพร้อมเสียสละ ไม่ย่อท้อ ไม่ยอมแพ้ เพื่อให้ทุกคนผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน