Digital Pharmacy อนาคตระบบสุขภาพไทยในวิกฤตโควิด-19
โควิด-19 เป็น ‘จุดเปลี่ยน’ และ ‘ตัวเร่ง’ สำคัญทำให้บริการสุขภาพทั้งระบบ ไม่ว่าการแพทย์ เภสัชกร และธุรกิจร้านขายยา ก้าวสู่โลกดิจิทัลเร็วขึ้น คุณธีระ กนกกาญจนรัตน์ CEO บริษัท อรินแคร์ จำกัด ผู้นำธุรกิจ Start up และ Health Tech แถวหน้ามาร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ “Digital Pharmacy อนาคตระบบสุขภาพไทยในวิกฤตโควิด-19”
Real Inspire : ภาพรวม ธุรกิจร้านขายยา ล่าสุด เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างครับ
คุณธีระ : ในเชิงบทบาทของธุรกิจร้านขายยาต่อสังคมไทยไม่ได้เปลี่ยน ร้านยาชุมชนเป็นเหมือนเสาหลักที่ทำให้คนในชุมชนเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ดีขึ้น โดยเฉพาะธรรมชาติคนไทย ปกติถ้าเจ็บป่วยขึ้นมา ไม่ใช่อุบัติเหตุหรือเป็นอะไรมาก เราก็จะไปร้านขายยาก่อน ตรงนี้ทำให้คนเข้าถึงยาและสาธารณสุขมากขึ้น แต่ประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ถ้ามองในภาพอุตสาหกรรมและธุรกิจจะมีการเปลี่ยน โดยเฉพาะเรื่องของ Demographic (ปัจจัยด้านประชากร) มากกว่าเพราะมีเรื่องของโมเดิร์นเทรดเข้ามา ขณะเดียวกันประชาชนทุกคนตระหนักเรื่องสุขภาพมากขึ้น มีช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น ทีนี้อุตสาหกรรมร้านยาในประเทศไทยโตเฉลี่ย (Steady) นะครับ ปีละประมาณ 5-7% มาเรื่อยๆ แต่ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่โควิด-19 มาเปลี่ยนภาพหลายๆ อย่างไปนิดนึง กลายเป็นว่า คนให้ความสำคัญกับร้านขายยามากขึ้น หรือระบบสาธารณสุขที่เราคิดว่าทั่วถึงแล้ว แต่กลายเป็นว่าในช่วงวิกฤตคนเริ่มมองหา ทุกคนเริ่มคัดกรองกันแล้วว่า สิ่งที่เค้าเห็นในโซเชียลมีเดียหรือสื่อต่างๆ เห็นข้อมูลมากขึ้นจริงแต่กลับมองว่าร้านขายยามีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ในการสนับสนุนข้อมูลข้อเท็จจริง ดังนั้น 2 ปีที่ผ่านมา ปมคิดว่าตลาดร้านยาน่าจะเติบโตมากกว่าเดิม หลังโควิดน่าจะมีผู้เล่นเข้ามา มากกว่าเดิม
Real Inspire : กล่าวได้ว่า โควิด-19 เป็นจุดเปลี่ยนระบบเภสัชกรรมในประเทศไทย
คุณธีระ : มีส่วนแน่นอนทั้งในเชิงการให้บริการและการปฏิบัติงานของเภสัชกรชุมชนด้วย อย่างอรินแคร์เรามุ่งมั่นทำ E-Pharmacy นำดิจิทัลไปผสมผสานการทำงานเภสัชกรมากที่สุด แต่ไหนแต่ไรมา ในระบบสาธารณสุข เมื่อไรก็ตามที่เรานำเอาเทคโนโลยีไปสอดแทรกก็จะมีความท้าทายพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมาย เรื่องของความละเอียดอ่อนของการให้บริการกับคนไข้ รวมถึงว่าเรื่องกระบวนการต่างๆ ที่เราจะได้เห็นว่า แม้เทคโนฯจะก้าวไกลไปถึงไหนแต่การให้บริการทางการแพทย์ส่วนใหญ่ ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามนั้น ก่อนโควิดสิ่งที่เราช่วยทางเภสัชกรในเรื่องกระบวนการทำงาน ทุกอย่างทำบนกระดาษหมดเลย ไม่ได้มีตัวเร่งครับ ต้องเปลี่ยนต้อง Transform พอโควิดมาปั๊บ ทุกอย่างเดินขึ้นได้รวดเร็ว กลายเป็นว่าเมื่อก่อนที่ทำงานแบบ Paper-based คงไม่ได้แล้วต้องมีดิจิทัลเข้ามาช่วย หรือแม้แต่ช่วงการระบาด เรื่อง TeleHealth ก็มีส่วน การที่จะไปพบแพทย์หรือโรงพยาบาลเพื่อรักษา ก็มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ หลายๆรพ.ก็นำ Telemedicine หรือ TeleHealth เข้ามาใช้ ซึ่งตอนแรกร้านยาอาจจะเป็นกลุ่มสุดท้ายเลยมั้ง แม้แต่ตอนนี้ร้านยา เค้าก็ยังไม่ได้รับการพูดถึงเลยว่าพวกเขาเป็นบุคลากรด่านหน้าที่ต้องเจอคนไข้ ผมเปรียบเทียบอย่างนี้ว่า เมื่อสองปีที่ผ่านมาจะเป็น Step คือมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เวิร์คโฟลว์ หลังจากโควิดสองปีที่ผ่านมา ร้านยาก็ได้นำระบบ Telemedicine หรือ TeleHealth มาให้บริการคนไข้ได้มากขึ้น
l Inspire : มองความพร้อมของระบบ Digital Phamacy ในประเทศไทยอย่างไร
คุณธีระ : ตรงนี้ยังมีช่องว่าง (Room) ให้พัฒนาอีกเยอะ มีหลายส่วนที่ยังไม่พร้อม แต่ถ้าเรามองเรื่องความกระชั้นชิด สถานการณ์โควิด ผมคิดว่าหลายๆที่ปรับตัวได้เร็ว ถ้าเราวางแผนพัฒนาระยะยาว ปัจจุบัน ณ วันนี้ เราควรมีความพร้อมในภาพรวม
Real Inspire : สิ่งที่ภาครัฐ หรือ องค์กรวิชาชีพ ควรสนับสนุนให้เกิด Digital Pharmacy
คุณธีระ : ในส่วนนี้เป็นอย่างหนึ่งที่อรินแคร์ ทั้งองค์กรของเราเลย พยายามช่วยผลักดันคือตั้งแต่ก่อนโควิดแล้ว ตั้งแต่เราเริ่มทำ เราพยายามผลักดันให้เห็นว่า เภสัชกรชุมชนหรือร้านยาเป็น Core อย่างหนึ่งเป็นเสาหลักของระบบสาธารณสุขของเมืองไทย แล้วบทบาทที่เค้าได้รับ จริงๆแล้วเรายัง Under อยู่ ควรมีบทบาทมากกว่านี้ ผมขอยกตัวอย่าง อย่างปีที่แล้วตอนที่โควิดระบาดใหม่ๆ เรามีปัญหาเรื่องหน้ากาก ทำอย่างไรให้ประชาชนได้มีหน้ากากป้องกันทั่วถึง เราได้เห็นกลไกชัดเจนมากในต่างประเทศทำเหมือนกันเลยครับให้ร้านยาเป็นจุดในการกระจาย เพราะร้านยาในแต่ละที่จะเข้าถึงชุมชนได้ดีกว่า รู้จักผู้คนในชุมชน ให้ความรู้ได้ดีกว่าด้วย แต่เราเห็นเวลาทำงานของหน่วยงานต่างๆ มักจะมองข้ามจุดนี้ไป ทั้งที่บทบาทมันชัดเจนอยู่แล้วในต่างประเทศยกตัวอย่าง ไต้หวัน นะครับ ชัดเจนมากเค้าใช้การกระจายหน้ากาก เค้า Track ได้เลยในชุมชนโดยผ่านเภสัชกรร้านยา แต่ในเมืองไทยไม่เกิดขึ้น ประชาชนเข้าไม่ถึง ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการของที่ภาครัฐสนับสนุนให้ หรือในช่วงนี้แม้แต่อเมริกาหรือแคนาดา เวลาจะรับวัคซีนกลายเป็นว่าร้านยาในชุมชนเป็นตัวหลัก เป็นจุดเลย รวมทั้งโพไวด์ในเรื่องการให้ความรู้ครับ รวมถึงเป็นจุดฉีดที่ร้านยาได้ อย่างที่เห็นในคลิปที่นายกรัฐมนตรีแคนาดาก็ไปฉีดวัคซีนที่ร้านยา ซึ่งจริงๆแล้วถ้าเรา Run กันอย่างนี้ เรามีร้านยาในประเทศไทย 2 หมื่นร้าน สองเท่าของเซเว่นอิเลฟเว่น มันทั่วถึงมาก ถ้าเราได้ดึงเค้าทำบทบาทตรงนี้ บทบาทของเภสัชกรให้เด่นชัดขึ้น ระบบสาธารณสุขของเมืองไทยมันจะเข้าถึงได้ง่ายกว่านี้เยอะ แต่กลับกันในตอนนี้ผมจะบอกเลยว่า เราพูดถึงบุคลากรหน้าด่านใช่มั้ยครับ แต่เภสัชกรร้านยาที่เจอคนไข้ที่เป็นโควิดทุกวันเนี่ย ยังไม่ได้รับการถูกพูดถึงเลย ยังไม่แม้แต่ได้รับวัคซีนให้เค้าเลย เค้าต้องป้องกันตัวกันเอง แต่เวลามีปัญหาต้องการยาชุมชนก็พึ่งร้านยาตลอด อันนี้เป็นความเสี่ยงสูงมาก ตรงนี้เป็นอย่างหนึ่งที่เรียกว่าเป็นพันธกิจของอรินแคร์คือการช่วยผลักดันบทบาทของเภสัชกรครับ
Real Inspire : Digital Pharmacy จะทำให้ระบบเข้าถึงร้านยาแบบเดิมๆ เช่น ระบบเซลล์หายไปหรือไม่
คุณธีระ : ไม่หายไปนะครับ แต่เราช่วยให้การทำงานเหล่านี้ครอบคลุมมีประสิทธิภาพมากขึ้น เดิมผู้แทนยาหรือเซลล์ เค้าไม่เหมือนเซลล์แมนทั่วไปที่ไปขาย แต่ยังสร้างคุณค่าในเรื่องความรู้ ความช่วยเหลือต่างๆ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีหลายอย่างก้าวไปข้างหน้า ก็สามารถมีเครื่องมือบางอย่างช่วยลดต้นทุน มีประสิทธิภาพมากขึ้น เหมือนกับที่ถามกันมากว่า ปัจจุบันเรามี อีคอมเมิร์ซ แล้ว ระบบรีเทลยังจำเป็นอยู่มั้ย ก็ฉันใดฉันนั้นเลยครับ แต่เดิมเรามีเน็ตเวิร์คตัวแทนจากบริษัทยาที่เค้าอยู่กับร้านยาอยู่แล้ว แต่พอมีเครื่องมือมาช่วย ทำให้ลดระยะเวลาขั้นตอนและมีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ
Real Inspire : ปัจจุบันมีการจำหน่ายยาทางระบบ E-Commerce
คุณธีระ : หลายๆ คนถามว่ายาเข้าออนไลน์ได้หรือไม่ ผมเรียนว่ายาปกติและตามกฎหมายมีหลายคลาสมีหลายประเภทอยู่ ยาประเภทที่พื้นฐานที่สุดคือยาสามัญประจำบ้าน อันนี้เราสามารถขายอีคอมเมิร์ซได้เพราะจัดอยู่ในกลุ่มหมวดหมู่ของยาสามัญประจำบ้าน แต่พอถึงเป็นยาขั้นกว่า ยาอันตราย ยาครอบคลุมพิเศษ หรือยาบางชนิดเป็นยาที่ต้องจ่ายโดยแพทย์ ยาที่มีส่วนประกอบของสารเสพติดอะไรพวกนี้ครับ ตามกฎหมายไม่สามารถที่จะออกสู่ Public ได้เลย ต้องมีการขายในสถานที่ๆได้รับอนุญาตเท่านั้น หรือแม้แต่การโฆษณา ก็ทำผ่านสื่อที่ Public ไม่ได้ต้องขออนุญาตก่อน เพราะฉะนั้นถ้าเราไปเห็นยาที่ขายอยู่บนออนไลน์ ต้องถามก่อนว่าหนึ่งเป็นยาประเภทไหน ถ้าเป็นยาพารา หรือยาลูกอม หรือวิตามินบางอย่าง อันนี้สามารถขายได้ แต่นอกเหนือจากนั้นอาจจะเข้าข่ายผิดกฎหมายครับ
Real Inspire : ตอนนี้เค้าบอกกันว่า แม้แต่ ยาฟาวิพิราเวียร์ ยังมีแอบขายกันทางออนไลน์
คุณธีระ : (หัวเราะ) ผมอาจจะต้องบอกว่า ผมเชื่อว่ามีนะ ตอบร้อยเปอร์เซนต์ไม่ได้ว่ามีหรือไม่มี แต่เชื่อว่าอาจจำหน่ายแบบผิดกฎหมายทางโซเชียลบ้าง หลุดออกมา หรือ หิ้วเข้ามาไม่ได้ผ่านระบบอย่างถูกต้อง ฟาวิพิราเวียร์เป็นยาพิเศษของผู้ป่วยโควิดต้องมีการกำกับดูแลการใช้ เพราะผลข้างเคียงก็มีเหมือนกัน ต้องดูตามประกาศกฎหมายของอย.ด้วย
Real Inspire : ร้านขายยา ยุคใหม่อีก 5 ปีข้างหน้าจะพลิกโฉมไปอย่างไร
คุณธีระ : ที่ผมมองก่อนโควิดกับหลังโควิด กับ ณ ตอนนี้ คำตอบคือจะไม่แตกต่างกัน แต่ด้วยโควิดเข้ามาผมเชื่อว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า บทบาทเภสัชกรจะมีมากขึ้นในฐานะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายในชุมชน อย่างที่ทราบดีว่าพอโควิดเข้ามา มีหลายคนที่พยายามจะอาศัยสถานการณ์ตรงนี้ เช่นการให้ข้อมูลที่ผิดพลาด มียาบางตัวที่ไม่ควรจะทานมาก อะไรอย่างนี้ แต่พอเป็นเภสัชกรหรือบุคคลากรทางการแพทย์ออกมาให้ข้อมูล ก็ย่อมจะมีน้ำหนักมากกว่า อย่างช่วงนี้ก็ยิ่งทำให้บทบาทโดดเด่นและเน้นชัดยิ่งขึ้น และผมคิดว่าจะยิ่งมากกว่านี้อีก เพราะในวิกฤตครั้งนี้ เภสัชกรได้มีการปรับตัว นำเอาเครื่องมือดิจิทัลหรือโซเชียลมาใช้มากขึ้น “ผมเชื่อว่าใน 5 ปีข้างหน้ากลุ่มเภสัชกรชุมชนเหล่านี้ ทั้งร้านยาหรือเภสัชกรที่ให้บริการในชุมชน ผมคิดว่ามีโอกาสที่ให้เค้าเติบโตอีกเยอะ และมีความสำคัญมากขึ้น”
ติดตามอ่านต่อ ในตอนที่ 2 ของ real inspire สัมภาษณ์พิเศษ คุณธีระ กนกกาญจนรัตน์ CEO บริษัท อรินแคร์ จำกัด ในหัวข้อ “#Start up ผู้นำร้านยา 3,000 แห่ง ก้าวสู่มิติใหม่ Digital Pharmacy”
#โควิด-19
#ร้านยาชุมชน
#เภสัชชุมชน
#Digital Pharmacy
#Startup
#อรินแคร์