ไม่ง้อน้ำมัน “ตุ๊ก ตุ๊ก ไฟฟ้า” มาแล้ว!!

โดย | ก.ย. 26, 2021 | Health-Inspire, Health&Environment

โควิด 19 อาจจะยังแพร่ระบาดอยู่ แต่เศรษฐกิจก็ต้องเดินหน้า อีกอย่างทางของยานยนต์แห่งอนาคต ก็ต้องยานยนต์ไฟฟ้านี่แหละ อนาคตสดใสแน่นอน รับกับภาวะที่ทั่วโลกพยายามช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บริษัทไทยๆ อย่างเราก็ต้องอินเทรนด์หน่อย โดยเฉพาะตุ๊ก ตุ๊ก สัญลักษณ์ของไทยที่ทั่วโลกรู้จัก นักท่องเที่ยวมาบ้านเราก็อยากมีประสบการณ์นั่งตุ๊ก ตุ๊ก ถ้าใช้ไฟฟ้าด้วยเฉียบเลย

 

บริษัท บางกอกชีทเม็ททัล จำกัด (มหาชน) หรือ BM เขาเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าแปรรูปผลิตภัณฑ์เหล็ก เห็นโอกาส ก็กระโดดตั้งโปรเจค “ตุ๊ก ตุ๊ก ไฟฟ้า” ทันที เตรียมเปิดตัว-รับคำสั่งซื้อแรก เดือนตุลาคม 2564 ธรรมดาที่ไหน !! มีทั้ง ตุ๊ก ตุ๊ก ไฟฟ้าที่เป็นรถนั่ง, รถบรรทุก และฟู้ดทรัค

 

ทำคนเดียวไม่สนุก ก็ต้องไปจับมือกับพันธมิตร เพื่อลดต้นทุนผลิต เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และกำลังการผลิต เบื้องต้นรองรับยอดขายได้ถึง 400 คัน ช่วงแรกจะผลิต 1 คันต่อวันก่อน แต่มีขีดความสามารถผลิตได้ 5 คันต่อวัน ส่วนราคาขายที่หลายคนอยากรู้ วางไว้ที่ 60,000 – 300,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดการใช้งานของลูกค้า

 

ธีรวัต อมรธาตรี กรรมการผู้จัดการ BM บอกว่าตอนนี้กำลังพัฒนาต่อยอดการผลิตรถตุ๊ก ตุ๊ก ไฟฟ้า หลากหลายโมเดลเลย ตอบโจทย์ตลาด อย่างกลุ่มโรงแรม, รีสอร์ท, ฟาร์ม และโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งกำลังต้องการจำนวนมาก เพราะว่า คล่องตัว, ประหยัด ดูแลรักษาง่าย ไม่มีมลพิษ ต้นทุนต่ำ ราคาจับต้องได้

 

ส่วนการขอป้ายทะเบียนเป็นรถสาธารณะส่วนบุคคล ก็ต้องรอหน่อย ราวๆ เดือนกันยายน 2564 จะเรียบร้อย แต่เขามั่นใจว่า พร้อมส่งมอบสินค้าได้ในช่วงสิ้นปี 2564 ตามแผน

 

หัวใจของยานยนต์ไฟฟ้า ก็คือ แบตเตอรี่ บริษัทฯ ก็เลยมีแผนหาพันธมิตรธุรกิจ ผลิตแบตเตอรี่ร่วมกัน ช่วยลดต้นทุนการนำเข้าแบตเตอรี่จากต่างประเทศ ซึ่งราคาสูง สุดท้ายราคารถตุ๊ก ตุ๊ก ไฟฟ้าก็จะลดลงได้อีกในอนาคต

 

ยอดขายที่ตั้งเป้าไว้ในปีแรกบริษัทฯ ประเมินว่า จะมียอดขายอยู่ 400 คันต่อปี ช่องทางการขาย ก็ผ่านโชว์รูม และตัวแทนขาย เป็นต้น เน้นตลาดในประเทศเป็นหลัก แต่หากสบช่องก็จะขยายไปตลาดต่างประเทศด้วย แต่จะเน้นรับจ้างผลิต (OEM) มากกว่า

 

ดูว่าบริษัทจะมั่นอกมั่นใจ เพราะจุดแข็งที่มีกระบวนการผลิตครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต และการทดสอบความแข็งแรงของรถ ส่วนแบตเตอรี่ก็นำเข้าแค่เซลล์ แล้วนำมาประกอบเองที่ไทย ทำให้ต้นทุนถูกลง ที่สำคัญดัดแปลงออกแบบได้ตามความต้องการของลูกค้า อย่างฟู้ดทรัคก็กำลังมาแรง แล้วก็มีบริการหลังการขายให้กับลูกค้า สามารถส่งรถไปซ่อมกับที่ตัวแทนศูนย์ซ่อมบำรุงที่เป็นพันธมิตร หลังโควิด 19 เราคงจะได้เห็นภาคธุรกิจกลับมาทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างคึกคัก ตอนนี้ก็ต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือลดการแพร่ระบาดให้ได้

#ยานยนต์ไฟฟ้า #foodtruck #รถขนส่ง #รถบรรทุก #รถขายอาหาร