โควิดแพร่ผ่านอากาศ! (Airborne) แต่อากาศแบบไหนกัน บทความนี้มีคำตอบ
วันที่ 1 กันยายน ที่จะถึงนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 ประกาศ ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ อาทิ การเปิดห้างสรรพสินค้า สามารถนั่งรับประทานอาหารภายในร้านได้แล้วแต่แบบมีเงื่อนไข การเปิดสถานศึกษา เป็นต้น ในขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อต่อวันยังคงสูงเกินวันละ 1 หมื่นราย และตัวเลขผู้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ฉีดได้เพียง ~10% ของประชากร
สถานการณ์นี้น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่าการแพร่ระบาดของโควิด 19 จะเป็นไปในทิศทางใด เมื่อวัคซีนยังอยู่ในขั้นพยายามกระจายให้ทั่วถึงประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ส่วนยอดผู้ติดเชื้อแม้ลดลง แต่ยังทรงๆ อยู่ที่หลักหมื่น มองไปมองมา ผ่านมาปีกว่าๆ แล้ว องค์ความรู้ในการรณรงค์ส่วนใหญ่ยังติดอยู่ที่ ล้างมือ เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร ใส่หน้ากากให้ถูกต้อง ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น ฯลฯ
ขณะที่มีองค์ความรู้อีกมาก และเป็นประโยชน์ในการใช้ชีวิตหลังคลายล็อกดาวน์ด้วย ไม่ให้การระบาดซ้ำๆ ซากๆ เราก็เลยพามารู้จักกลุ่มหนึ่ง ที่เชื่อว่าหากทุกคนรู้จักวิธีการควบคุมโรคที่มีรายละเอียดมากกว่านั้น และได้ผลด้วย จะช่วยป้องกัน ทั้งลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ ถึงไม่ 100% แต่สำคัญจริงๆ
การก่อตัวของ Zero Covid
การรณรงค์ของภาคประชาชน เพื่อเอาชนะการแพร่ระบาดของโควิด 19 เกิดขึ้นในระดับโลก เพื่อส่งเสียงร้องไปยังรัฐบาลของแต่ละประเทศ ให้ผลักดันมาตรการเข้มข้นที่ได้ผล เพื่อทำให้โควิด 19 หายไปจากโลกใบนี้ “จริง”
แคมเปญนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 2563 ในสหราชอาณาจักร จากนั้นก็กระจายตัวอย่างรวดเร็วในหลายๆ ประเทศผ่านการทำงานเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนข้อมูลงานวิจัย และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการเอาชนะโควิด 19
ด้วยมีความเชื่อร่วมกันว่า โควิด 19 สามารถ เป็น “ศูนย์” ได้เหมือนกับที่มนุษย์หยุดยั้งโรคโปลิโอ และ ไข้ทรพิษ พวกเขาปฏิเสธหนทางที่จะอยู่ร่วมกับโรคนี้ อย่างที่หลายคนปักใจว่ามันจะไม่หายไป แต่จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เพราะผลกระทบจากการเป็นโควิด 19 ต่อสภาพร่างกายในระยะยาว โดยเฉพาะปอด หนักหน่วงเกินกว่าที่จะยอมรับเจ้าโรคนี้ให้อยู่ร่วมกับโรคใบนี้ได้
ประเทศไทยเองก็มีคนจำนวนหนึ่งเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ และตั้งกลุ่ม Zero Covid Thailand ขึ้น ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลายอาชีพมากกว่า 50 ชีวิต รวมตัวกันรณรงค์ โดยมีงานวิจัยต่างประเทศรองรับ ซึ่งผ่านการแลกเปลี่ยนกับ Zero Covid ที่ทยอยตั้งขึ้นในประเทศต่างๆ ทำให้การขับเคลื่อนของกลุ่มได้รับความสนใจอย่างรวดเร็ว
ประเด็นรณรงค์
การปักธงของกลุ่ม Zero Covid Thailand พุ่งตรงไปที่ 4 ข้อความจริงที่คนไทยต้องรู้ และ 3 ข้อปฏิบัติที่ต้องทำ ประกอบด้วย
4 ข้อความจริง
- โควิด แพร่กระจายผ่านอากาศ (Airborne) เป็นหลัก
- กว่า 99% ของผู้ติดเชื้อ ติดจากการสูดหายใจรับละอองลอยไวรัสในอากาศ ที่ส่วนใหญ่มาจากผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ
- หน้ากากอนามัยอนามัยทั่วไป ไม่สามารถป้องกันได้เพียงพอ ต้องใช้คุณภาพเทียบเท่า หรือดีกว่า N 95 เท่านั้น เพื่อป้องกันละอองลอยไวรัสในอากาศ
- หากการคลายล็อกดาวน์ 1 กันยายน 2564 ทำให้โควิดระบาดรอบใหม่ มาตรการล็อกดาวน์ก็ต้องกลับมาใช้อีก แต่ต้องเป็นไปอย่างเข้มงวดและจริงจังแบบ 100% มีบทลงโทษชัดเจนเหมือนอย่างอู่ฮั่น พร้อมกับการเยียวยาผลกระทบให้กับภาคธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะร้านอาหาร และร้านค้า อย่างชัดเจน
ส่วน 3 วิธีปฏิบัติให้สอดคล้องกัน ก็คือ
* ต้องใช้หน้ากากคุณภาพดีกว่า หรือเทียบเท่า N95
* ระบายอากาศในพื้นที่ให้ดีที่สุด
* ทำความสะอาดพื้นผิวด้วยสบู่ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
รองรับด้วยรายงานของ WHO
การระบายอากาศเป็นประเด็นการรณรงค์หลักของกลุ่ม รองรับด้วยรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ออกข้อแนะนำแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการระบายอากาศ เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ภายหลังได้จัดตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญภายใต้ชื่อ Environmental and Engineering Control Expert Advisory Panel (ECAP) สำหรับโรคโควิด 19 ซึ่งมาจากผู้เชี่ยวชาญสหวิชาชีพ อาทิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ วิศวกร สถาปนิก ผู้เชี่ยวชาญด้าน Aerobiology และด้านสิ่งแวดล้อม
บทสรุปของ WHO ระบุชัดว่า การระบายอากาศ คือการทำให้มีอากาศสะอาดไหลเวียนเข้ามาภายในอาคาร ในขณะที่มีการถ่ายเทอากาศภายในออกไป ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อรักษาหรือพัฒนาคุณภาพอากาศ การระบายอากาศสามารถทำได้โดยวิธีธรรมชาติ (เช่น การเปิดหน้าต่าง) หรือโดยการติดตั้งระบบระบายอากาศ
การแพร่กระจายของโรคโควิด 19 เกิดขึ้นบ่อยครั้งเมื่อผู้ติดเชื้ออยู่ใกล้ชิด หรือมีการสัมผัสโดยตรงกับผู้อื่น ความเสี่ยงของการแพร่กระจายไวรัสจะสูงขึ้น เมื่ออยู่ในพื้นที่แออัด หรือมีการระบายอากาศไม่ดี ซึ่งผู้คนใช้เวลาร่วมกันเป็นเวลานาน และต้องอยู่ใกล้ชิดกัน การเพิ่มการไหลเวียนอากาศภายในอาคารสามารถลดความเสี่ยงที่เชื้อไวรัสจะแพร่กระจายภายในอาคารได้
โดยเบื้องต้น WHO แนะนำว่า เมื่ออยู่ภายในห้องร่วมกันกับผู้อื่น ควรเปิดหน้าต่างหรือประตูทุกครั้งที่ทำได้ ตัวอย่างเช่น พยายามให้ลมพัดเข้าทางหน้าต่างด้านหนึ่งและพัดผ่านห้องไปออกทางหน้าต่างอีกด้านหนึ่ง โดย WHO ยังทำงานใกล้ชิดกับเครือข่ายองค์กรอื่นๆ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงแนวทางปฏิบัติ ออกมาเป็นแผนที่นำทาง เพื่อพัฒนาการระบายอากาศ
#Zercovidthailand #โควิด #แพร่ผ่านอากาศ #Airborne #การติดเชื้อ #แพร่ระบาด #วัคซีน #ล็อคดาวน์ #ร้านอา
อานุภาพของละอองลอยจากผู้ติดเชื้อ
ม.ล.รังษิธร ภาณุพันธุ์ หรือ โก้ แกนนำกลุ่ม Zero Covid Thailand เล่าถึงปฏิบัติการรณรงค์ของกลุ่มว่า เรารณรงค์ให้ตระหนักถึงเจ้าอนุภาคขนาดจิ๋วอย่างละอองลอย (Aerosol) จากคนติดเชื้อโควิด เพราะเป็นภัยร้ายแรงมากกว่าที่หลายคนคาดการณ์ เป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดแบบคลัสเตอร์ได้ ดังนั้นทุกคนจะมองข้ามเรื่องมาตรการการระบายอากาศไปไม่ได้เลย
เขา อธิบายว่า ละอองฝอย (Droplet) ต่างจากละอองลอย ละอองฝอย มาจากสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจ เช่น ละอองน้ำมูก น้ำลาย น้ำมูก จากการไอ จาม พูดคุย ตะโกน ร้องเพลง มีอนุภาคขนาดใหญ่ โดยทั่วไปมากกว่า 100 ไมครอน จะฟุ้งไปไกลได้ราว 1-2 เมตร และจะตกลงสู่พื้น
ขณะที่ละอองลอย มีอนุภาคขนาดเล็กกว่า มีเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 100 ไมครอน แค่ผู้ติดเชื้อหายใจ ไม่ต้องไอ หรือจาม ก็เกิดละอองลอยได้ หากอากาศปิด และไม่ถ่ายเทสามารถลอยตลบอบอวลได้ไกลได้ถึง 10 เมตร และยังสามารถลอยสะสมในอากาศได้หลายชั่วโมง
สำหรับฤทธิ์ของละอองลอยขนาดที่ต่ำกว่า 100 ไมครอน หายใจรับเข้ามาได้ ขนาดต่ำกว่า 10-15 ไมครอน เข้าสู่ทรวงอก และหากต่ำกว่า 2.5-5 ไมครอน เข้าสู่ปอด
ดังนั้นกรณีมีคนติดเชื้อโควิดอยู่ในห้องนั้น ซึ่งแน่นอนยังไม่รู้ตัวว่าเป็นโควิดเข้าแล้ว เพราะส่วนใหญ่ไม่ค่อยแสดงอาการ แล้วเราไปอยู่ในห้องเดียวกับเขา ก็สามารถรับเชื้อโควิดจากละอองลอยได้ เหมือนกับคนสูบบุหรี่ ที่ควันจะลอยไปได้ไกลอย่างไรก็อย่างนั้น โดยเฉพาะในสถานที่ปิด หรือไปสูบในรถกลิ่นบุหรี่ก็จะอยู่ได้นานเป็นวัน เหมือนกับละอองลอยจากการหายใจของผู้ติดเชื้อ
ส่วนจะรับเชื้อจากละอองลอยมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับเราอยู่ใกล้ไกลผู้ติดเชื้อแค่ไหน สภาพของห้องเป็นอย่างไร ทั้งขนาดห้อง ความสูงต่ำของเพดาน จำนวนคนในห้องนั้น และประสิทธิภาพในการระบายอากาศ และปัจจัยการใส่หน้ากาก
โก้ ย้ำว่าละอองลอยมีอนุภาพร้ายแรงว่าละอองฝอย แต่ที่ผ่านมาเราไปให้ความสำคัญกับละอองฝอยที่ตกสู่พื้นผิวสัมผัส และให้ไปทำความสะอาดพื้นผิว แต่เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับมาตรการระบายอากาศ เพื่อลดละอองลอยที่ยังลอยอบอวลอยู่
“ผู้ที่ติดเชื้อ ไม่ต้องไอหรือจาม เมื่อเราอยู่ในห้องเดียวกับเขา หากเป็นอากาศปิด เช่น ในห้องแอร์ที่มีระบบการระบายอากาศไม่ดี หรือกลางแจ้งแต่แออัด เราก็มีความเสี่ยงอย่างมากที่จะรับละอองลอยที่มีเชื้อโควิดได้ทั้งสิ้น ซึ่งมาจากการหายใจของผู้ติดเชื้อ เพราะละอองลอยจะลอยในอากาศอยู่อย่างนั้นได้หลายชั่วโมง เรามีโอกาสรับละอองลอยจากผู้ติดเชื้อได้เมื่อไหร่ก็ได้ หากเป็นโควิด สายพันธุ์ดุ อย่างเดลต้าด้วยแล้ว ความเสี่ยงก็มากขึ้น และมากขึ้นไปอีกหากใส่หน้ากากที่ไม่มีคุณภาพ หรือใส่ไม่ถูกวิธี เช่น ไว้ใต้คาง หรือใส่แบบหลวมๆ ไม่กระชับ ไม่งั้นก็จะเหมือนเรากำลังรบกับฆ่าศึก ถือแต่ดาบ แต่ไม่ถือโล่”
โก้ ขยายความถึงการใส่หน้ากากว่า ย้ำว่า ในภาวะที่เรากำลังเผชิญหน้ากับสายพันธุ์ดุอย่างเดลต้า และการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นได้ในอนาคตอีก เราจึงต้องเร่งให้มีการรณรงค์มาตรการระบายอากาศ คู่กับการใส่หน้ากากที่มีประสิทธิภาพต้องไม่ต่ำกว่า หรือเทียบเท่า N95 ซึ่งกลุ่มกำลังทำการศึกษาวิจัยร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อหาวัสดุที่ถูกลง แต่มีประสิทธิภาพมาผลิตเป็น N95 เพื่อให้คนไทยเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
ใส่ใจการระบายอากาศ
สิ่งที่กลุ่ม Zero Covid Thailand กำลังรณรงค์นั้น จึงมุ่งไปที่ประเด็น การให้ประชาชนหันมาใส่ใจสภาพแวดล้อมในบ้านเรือน รวมถึงผู้ประกอบการเจ้าของอาคารและโรงงาน ให้เปิดโล่งให้อากาศถ่ายเทให้มากที่สุด เขาบอกว่าตอนนี้มีคนเห็นประเด็นนี้มากขึ้น ล่าสุดกรมอนามัย และกรมควบคุมโรค ก็ได้ออกข้อแนะนำการระบายอากาศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 ถือว่าการรณรงค์ของกลุ่มที่ผ่านมา เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว
บางร้านค้าเราก็เห็นว่า เขาให้ความสนใจและความสำคัญเรื่องนี้ และพยายามระบายอากาศในร้าน เช่น ร้านขายยา หรือร้านก๋วยเตี๋ยวบางแห่ง ที่ใช้วิธีปิดแอร์ เปิดประตูหน้าต่างๆ เปิดพัดลม ให้มีการระบายอากาศ ทำให้อากาศเก่ามีทางออกไป แล้วมีอากาศใหม่เข้ามาแทนที่ ซึ่งเป็นวิธีการระบายอากาศที่ดี
ยิ่งกรณีที่รัฐประกาศคลายล็อกดาวน์ 1 กันยายน 2564 ทุกๆ ห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้า ร้านอาหาร ยิ่งต้องหันมาอธิบายในเรื่องการระบายอากาศให้มากขึ้น ไม่เช่นนั้นก็จะเปิดปิดๆ อยู่อย่างนี้ เพราะการระบาดกลับมาอีก และหากเราดูมาตรการคลายล็อกดาวน์ 1 กันยายน 2564 ในส่วนของร้านอาหาร มีการกำหนดแนวทาง คือ
“ให้ร้านที่อยู่นอกอาคาร หรือในอาคาร แต่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ โล่ง อากาศถ่ายเทดี ให้นั่งรับประทานได้ 75% ส่วนร้านอาหารที่เป็นห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ ให้นั่งรับประทานได้ 50%”
โก้ บอกว่า กำหนดแนวทางออกมาอย่างเดียวไม่พอ คนไม่เข้าใจ รัฐควรอธิบายว่า ทำไมเป็นตัวเลข 75% ทำไม 50% เพื่อให้คนเข้าใจ และเห็นความสำคัญ เรื่องการแพร่กระจายเชื้อโควิด 19 ผ่านอากาศให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องออกมาตรการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อผ่านอากาศออกมาให้ชัดเจน เช่น ระบบการระบายอากาศในอาคารต้องทำอย่างไร เหมือนในต่างประเทศ อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย
ในส่วนของกลุ่ม Zero Covid Thailand ก็จะช่วยกันออกไปให้ความรู้ความเข้าใจ ร้านอาหารต่างๆ ในช่วง 1-5 กันยายนนี้ เพื่อให้ระบายอากาศในร้านได้ดีขึ้น โดยเฉพาะร้านที่มีอากาศที่เป็นห้องแอร์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดซ้ำ
ฉีดวัคซีนอย่างเดียวไม่ช่วย
สำหรับการเร่งฉีดวัคซีนที่รัฐบาลกำลังทำอยู่นั้น ช่วยได้หรือไม่ “โม” ม.ล.รังษิอาภา ภาณุพันธุ์ อีกคนทำงานของกลุ่ม Zero Covid Thailand เห็นว่า การเร่งฉีดวัคซีน ถ้าไม่ให้ความสำคัญมาตรการอื่นๆ อย่างการระบายอากาศด้วย ไม่ใช้หน้ากากมีประสิทธิภาพด้วย ก็เสี่ยงติดโควิด 19 ได้อยู่ดี เพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่า การฉีดวัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อโควิด
การตรวจหาเชื้อโควิดด้วยตัวเอง โม ระบุว่าเป็นมาตรการที่เรารณรงค์มาด้วย ซึ่งล่าสุด รัฐก็มีโครงการแจกชุดตรวจแบบ Antigen Test Kit (ATK) ผ่านทางจมูก แต่เราต้องการให้แจกชุดตรวจด้วยตัวเองแบบผ่านทางน้ำลาย (Antigen Rapid Test Saliva) ซึ่งทำได้ง่ายกว่า เพื่อให้ประชาชนตรวจได้บ่อยขึ้น ซึ่งรัฐต้องจัดเป็นสวัสดิการฟรีให้ประชาชนอย่างทั่วถึง หรืออย่างน้อยต้องทำให้ชุดตรวจราคาถูกที่สุด ยกตัวอย่างในเยอรมันราคาเพียง 30 กว่าบาทต่อชุดเท่านั้น ขณะที่บ้านเราขายชุดตรวจตามร้านขายยาต่างๆ มีราคากว่า 400 บาทต่อชุด
เรารณรงค์เรื่องนี้ เพราะก็เพื่อให้ทุกคนสามารถตรวจหาเชื้อโควิด 19 ได้บ่อยๆ ก่อนต้องออกนอกบ้านหรือพบปะใคร หากพบเชื้อจะได้กักตัวได้ทัน ป้องกันให้แต่ละคนไม่เป็นผู้แพร่เชื้อโรค ยิ่งคลายล็อคดาวน์ด้วยแล้ว หลายคนก็รู้ว่าทุกคนเสี่ยงทุกครั้งที่ออกจากบ้าน
มาถึงบรรทัดนี้ หากเราติดตามการทำงานของ กลุ่ม Zero Covid Thailand ยังคงเดินหน้าทำกิจกรรมสร้างความรู้ความเข้าใจไม่หยุด เผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดีย และสื่อหลัก เพื่อให้ประชาชนเข้าใจง่ายๆ ด้วยเพราะเชื่อว่ามาตรการรณรงค์ จะช่วยหยุดยั้งโควิด 19 ให้เหลือ “ศูนย์” ได้แน่นอน แต่กลับกันหากมองข้ามไป สถานการณ์ของไทยไม่มีวันดีขึ้นได้ เพราะอย่าลืมว่าโควิด 19 อาจกลายพันธุ์ และรุนแรงขึ้นได้เสมอ
(*สัมภาษณ์ ณ วันที่ 20 สิงหาคม 2564 / เพิ่มเติมข้อมูล ณ วันที่ 29 สิงหาคม 2564)
#Zerocovidthailand #โควิด #แพร่ผ่านอากาศ #Airborne #การติดเชื้อ #แพร่ระบาด #วัคซีน #ล็อคดาวน์ #ร้านอาหาร #กลายพันธุ์