เมื่อยักษ์ถ่านหินต้อง Transform ก่อนจะเหลือเพียงประวัติศาสตร์…

โดย | ก.ย. 26, 2021 | Health-Inspire, Health&Environment

เมื่อ 46 % ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก มาจากการเผาไหม้ “ถ่านหิน” ความท้าทายของเชื้อเพลิงฟอสซิลประเภทนี้ก็เลยเกิดมาเป็นระยะ และถูกกดดันหนักเป็นช่วงๆ ไป โดยเฉพาะเมื่อนานาประเทศพบภัยพิบัติร้ายแรงในตอนนี้ แล้วยังมาถูกจุดฉนวนการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of Parties: COP) ครั้งที่ 26 ที่จะมีขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักรเดือนพฤศจิกายน 2564 ประชุมคราวนี้ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมถ่านหินร้อนๆหนาวๆ

 

Climate Home News รายงานว่า Alok Sharma ประธาน COP 26 ของสหราชอาณาจักร ผู้นำการเทถ่านหินออกจากสารบบ เตรียมคำกล่าวสุนทรพจน์ไว้อย่างน่าจดจำว่า “ ถ้าเราจริงจังเกี่ยวกับ 1.5C กลาสโกว์จะต้องเป็น COP ที่ส่งถ่านหินไปสู่ประวัติศาสตร์ เรากำลังทำงานร่วมกับรัฐบาลโดยตรง และผ่านองค์กรระหว่างประเทศเพื่อยุติการจัดหาเงินทุนถ่านหินระหว่างประเทศ…และเพื่อกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ ละทิ้งพลังงานถ่านหิน โดยมี G7 เป็นผู้นำ” ง่ายๆ เลยว่า ประธาน COP26 ต้องการเรียกร้องให้ทุกประเทศทิ้งพลังงานถ่านหินซะ

 

ประเด็นร้อนอย่างนี้บริษัทไหนยังกำธุรกิจถ่านหินไว้อย่างออกหน้าออกตาคงต้องคิดใหม่อย่างจริงจัง บริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ซึ่งมีการลงทุนเหมืองถ่านหินไว้ทั่วโลก ก็ค่อยๆ ถอยร่นมาระยะหนึ่งละ โดย transform มาเป็นธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงาน ตั้งเป้าหมายจะแทนที่ธุรกิจถ่านหินให้ได้มากกว่า 50% ภายในปี 2568

 

กลยุทธ์นี้ถูกเรียกเก๋ไก๋ว่า Greener & Smarter โดยมี บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด (Banpu NEXT) เป็นหัวหอก ซึ่งจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูงต่างๆ อาทิ เทคโนโลยี AI บิ๊กดาต้า ระบบคลาวด์อัจฉริยะ มาเป็นตัวขับเคลื่อน

 

มาดูความเคลื่อนไหวของ Banpu NEXT ตามแผน 5 ปี (2564-2568) ซึ่งจะขับเคลื่อนใน 3 เรื่องประกอบด้วย

 

  1. ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูล (Data Driven) โดยจะออกแบบโซลูชันที่ตอบโจทย์การดำเนินงานและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจของลูกค้า รองรับเทรนด์การใช้พลังงานและพฤติกรรมผู้บริโภคในอนาคต

 

  1. เดินหน้าลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Investment) ศึกษาการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ที่มีโอกาสเติบโต โดยผนึกพันธมิตรทางธุรกิจ และสนับสนุนสตาร์ทอัพไทย

 

  1. ผลักดันธุรกิจให้เติบโตทุกโซลูชัน วางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) ไม่น้อยกว่า 20% ของกลุ่มบ้านปู โดยเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานสะอาด พัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเรือธงอย่าง ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน แบตเตอรี่ ซื้อขายไฟฟ้า อี-โมบิลิตี้ และพลังงานฉลาด ขึ้นชื่อว่ายักษ์ที่ลงทุนมาแล้วทั่วโลก ไม่ได้ทำตลาดแคบๆ แน่นอน จะขยายบริการไปทั่วยังภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

 

ตอนนี้ Banpu NEXT มีสัดส่วนรายได้ส่วนใหญ่ ราว 70% มาจากธุรกิจพลังงานหมุนเวียนใน ญี่ปุ่น จีน เวียดนาม ออสเตรเลีย และกำลังเข้าไปในสหรัฐ โดยภายในปี 2568 จะผลักดันพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ทั้งเอเชียแปซิฟิกไปให้ถึง 1,600 เมกะวัตต์ จากที่ผลิตอยู่ 824 เมกะวัตต์ ส่วนที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ลานจอดรถ และโซลาร์ลอยน้ำ ก็ทำแล้ว รวม 249 เมกะวัตต์

 

ธุรกิจแบตเตอรี่ (Energy Storage System) คีย์เวิร์ดของพลังงานหมุนเวียน และยานยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) จะทำให้ถึง 3 GWh และนำมาต่อยอดพัฒนาโซลูชันพลังงานอื่นๆ ไหนๆ ทำแล้วก็ต้องถึงผู้บริโภคปลายทาง โดยให้บริการธุรกิจอี-โมบิลิตี้ ครบวงจร ปัจจุบันมีจุดให้บริการ 1,000 จุด ทั่วกทม. มีรถไฟฟ้า หรือยานพาหนะไฟฟ้าที่ให้บริการแล้วราว 200 คัน ไม่นานมานี้ก็เปิดตัวเรือเดินไฟฟ้า ให้บริการที่เกาะภูเก็ต โดยจะเพิ่มจุดบริการไรด์ แชร์ริ่ง เป็น 50,000 จุด, คาร์แชร์ริ่ง เป็น 5,000 จุด และเพิ่มจำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมถึงเพิ่มเรือเดินไฟฟ้า อีกกว่า 100 ลำ

ธุรกิจ Energy Trading หรือธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า ตอนนี้บ้านปูทำอยู่ที่ ญี่ปุ่น 305 GWh ตามแผน 5 ปี จะขยายเป็น 1,000 GWh ไปยัง ออสเตรเลีย สหรัฐ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเตรียมขยายโปรเจกต์สมาร์ทซิตี้ และคอมมูนิตี้เพิ่มเป็น 9 โครงการ จากปัจจุบัน 5 โครงการ

 

อีกไม่นาน Banpu NEXT ก็จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ระดมทุนสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่พลังงานสะอาดมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อให้ภาพลักษณ์นักค้าถ่านหินค่อยๆ เลือนหายไป กลายเป็นนักค้าพลังงานสะอาด จะปรับภาพลักษณ์มาเป็นอย่างไรไม่สำคัญ ไปกว่าข้อเท็จจริงราคาถ่านหินขึ้นลง ยังคงมีผลต่อบ้านปูมากน้อยแค่ไหน?

#บ้านปู #Banpu