ทีมแนะแนวด้านจิตใจ ของ มศว

โดย | ต.ค. 28, 2021 | Community, Heart-Inspire

วัยรุ่นเป็นช่วงชีวิตที่สำคัญ เพราะต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน จากเด็กน้อยมัธยมสู่รั้วมหาวิทยาลัย ทำให้เขาต้องปรับตัวจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป หากเด็กมีพื้นฐานครอบครัวที่แข็งแกร่ง มีครอบครัวคอยประคับประคอง ความเครียดและวิตกกังวลก็เบาบางลง ตรงข้ามกับเด็กที่ต้องดิ้นรนด้วยตัวเองลำพัง ที่การก้าวให้พ้นเป็นเรื่องยากลำบาก
.
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าในวัยรุ่น ปัญหาสุขภาพจิต เป็นสาเหตุสำคัญในการสร้างความเจ็บป่วย ทุพพลภาพ และการฆ่าตัวตายจัดเป็นสาเหตุลำดับ 3 ของการเสียชีวิตของประชากรวัย 15-19 ปี และยังพบว่า จำนวนการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นกว่า 90% เกิดในประเทศรายได้ขั้นกลางและขั้นต่ำ 
.
Real inspire ได้มีโอกาสพูดคุยกับ 2 นักจิตวิทยาจากรั้วมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เพื่อคลี่ปัญหาของวัยรุ่นในรั้ว มศว เพื่อเป็นแบบเรียน ให้เราทุกคนได้เข้าใจสถานการณ์ของวัยรุ่นที่อยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะในฐานะลูกหลาน เพื่อนฝูง หรือครูบาอาจารย์ และช่วยกันป้องกันแก้ไขได้ทันท่วงที
.
พี่ขวัญทิพย์ ปทุมธนรักษ์ และพี่ศุภวรรณ ตัณฑิกุล นักจิตวิทยาการปรึกษา 2 คน แม่งานหลักของมศว ผลัดกันบอกเล่าประสบการณ์ตรงจากการให้คำปรึกษาวัยรุ่นอย่างนิสิตใน มศว โดยระบุว่ามี 5 ปัญหาใหญ่ที่เด็กต้องเผชิญหน้า ประกอบด้วย 
.
1. ปัญหาการเรียน 2. ปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดจากอะไร เช่น นอนไม่หลับ ซึมเศร้า เครียด หรือร้องไห้ไม่มีสาเหตุ แพนิค เป็นต้น 3. ปัญหาครอบครัว 4. ปัญหาการปรับตัว และ 5. ปัญหาจากเพื่อนและคนรัก ซึ่งต้นตอของแต่ละปัญหาแตกต่างกันไป 
.
โดยแต่ละปีจะมีนิสิตมาขอคำปรึกษาราว 70-80 คน ปัญหาที่พบมากอันดับหนึ่งอย่างปัญหาการเรียน มาจากเด็ก ไม่ได้เรียนตรงสาย หรือคาดหวังผลการเรียนไว้สูง ทั้งตัวนิสิตเองและผู้ปกครอง หรือบางเคสก็มาจากงานในวิชาต่างๆ เยอะเกินไปสำหรับเขาก็มี
.
ส่วนปัญหาสุขภาพจิต แบบหาสาเหตุไม่ได้ มักจะแสดงออกมา ในลักษณะทำอะไรช้าลง หรือเคยแต่งหน้าทำผม กลายเป็นคนไม่ดูแลตัวเอง บางทีก็ออกมาทางปวดหัวปวดท้อง ร้องไห้ไม่มีสาเหตุ นอนไม่หลับต่อเนื่องยาวนาน เป็นต้น
.
ปัญหาครอบครัว มาจากความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวที่มีหลายๆ Generation อยู่ด้วยกัน มักมาจากความขัดแย้ง หรือความรุนแรงในครอบครัว เช่น พ่อแม่แยกทางกัน พ่อมีเมียน้อย พ่อแม่ทะเลาะกัน พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน ความคาดหวังของพ่อแม่ในเรื่องการเรียนของลูก พ่อแม่เปรียบเทียบลูกตัวเองกับลูกคนอื่น มีการตำหนิลูกบ่อยๆ ซึ่งเป็นการบั่นทอนเด็ก และหลายครอบครัวลูกเรียนตามที่พ่อแม่เลือกให้ ทำให้เด็กกดดัน บางกรณีเด็กก็กดดันตัวเองในเรื่องการเรียนด้วย
.
ส่วนปัญหาการเรียน ล่าสุดมากับการระบาดของโควิด 19 คือ การเรียนออนไลน์ ซึ่งผู้ปกครองมักจะไม่เข้าใจว่า ทำไมลูกอยู่หน้าจอทั้งวัน คิดว่าลูกไม่ทำอะไร ไม่ช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน ประกอบกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของเด็กในการเรียนที่มากขึ้น ทำให้ผู้ปกครองไม่เข้าใจ
.
ด้านปัญหาการปรับตัว โดยเฉพาะกับนิสิตปี 1 ที่ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตจากเด็กมัธยมปลาย มาเป็นเด็กมหาวิทยาลัย ซึ่งมีอิสระมากขึ้น และต้องมาใช้ชีวิตรวมกันในหอพัก เป็นต้น หรือในระหว่างทางของการเรียนมหาวิทยาลัยก็มีการเปลี่ยนแปลง ที่เด็กต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน เช่น จากเรียนคอร์สเวิร์คเป็นการทำวิจัย หรือการฝึกงาน เป็นต้น
.
ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนและคนรัก ที่เป็นปัญหาสำหรับเด็กพอๆ กัน เช่น เพื่อนไม่เข้าใจ หรือกรณีมีการทำงานเป็นกลุ่ม และต้องแบ่งงานกันทำ บางคนต้องทำงานมาก บางคนทำงานน้อย ส่วนปัญหาความสัมพันธ์กับคนรัก ก็เป็นกรณีทั่วไป คือ การทะเลาะ หรือเลิกกับแฟน เป็นต้น
.
สำหรับมศว เราให้ความสำคัญกับจิตใจของนิสิต และวางกลไกการช่วยเหลือไว้อย่างจริงจัง โดยเราพยายามให้เด็กเข้าถึงเราในฐานะนักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยให้มากที่สุด และไว้วางใจที่จะมาปรึกษา และก็ถือเป็นความโชคดีอย่างหนึ่งที่ยุคสมัยนี้ มีหน่วยงานต่างๆ ตื่นตัวเรื่องปัญหาสุขภาพจิตของเยาวชนมากขึ้น ประกอบกับเด็กก็เปิดใจมากขึ้นที่จะมองหาคนช่วยเหลือ 
.
แม้จะทำเต็มที่แล้วแต่พี่ขวัญทิพย์ และพี่ศุภวรรณ ประเมินว่า เข้าไม่ถึงเด็กมากพอ และเด็กอาจจะไม่ไว้ใจเรา แต่ไว้วางใจเพื่อนรุ่นเดียวกันมากกว่า จึงมีโครงการเพื่อนช่วยเพื่อนเมื่อหลายปีก่อน โดยให้นิสิตปี 1 เข้ามาเป็นจิตอาสา มาเป็นเครือข่ายการทำงานของเรา ซึ่งแต่ละปีมีนิสิต สมัครมาเป็นจิตอาสาจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดกว่า 300 คน และบรรดาอาจารย์ ก็มาสมัครเป็นจิตอาสา อีกกว่า 80 คน กระจายไปตามคณะต่างๆ โดยจะมีการอบรมทุกๆ ปี และทำกิจกรรมเรื่องสุขภาพต่างๆ เป็นประจำ 
.
เป้าหมายเพื่อให้นิสิตนึกถึงเสมอว่ามีคนรับฟังเขา และสามารถให้คำปรึกษาเขาได้ โดยจะเน้นให้จิตอาสาที่เป็นเครือข่ายแทรกซึม และส่งต่อนิสิตที่ประสบปัญหามาที่เรา เพราะการช่วยเหลือเรื่องจิตใจเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ เพราะบางกรณีเด็กๆ ด้วยกันพบว่าเพื่อนมีปัญหา แต่ก็ไม่รู้จะช่วยเพื่อนอย่างไร หรือบางกรณีให้คำปรึกษากันเองแล้วก็ดำดิ่งไปทั้งกลุ่มก็มี เพราะคนให้คำปรึกษาไปแบกปัญหาของเพื่อนไว้ 
.
สำหรับเราเองในกรณีที่จะต้องส่งต่อเด็ก ก็จะมีเครือข่ายของโรงพยาบาลในบริเวณใกล้ๆ มหาวิทยาลัยที่มีจิตแพทย์ประจำอยู่ เพื่อให้การดูแลเด็กต่อไป
.
อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่เฉพาะในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น พี่ขวัญทิพย์ และพี่ศุภวรรณ ฝากให้ทุกคนรอบตัวเด็ก สังเกตสัญญาณอันตราย เป็นสัญญาณบอกถึงภาวะซึมเศร้า ซึ่งมีด้วยกัน 7 ข้อ ประกอบด้วย
.
1. กินมากเกินไปหรือน้อยเกินไป 2. นอนมากเกินไปหรือน้อยเกินไป 3. มีความคิดลบ รู้สึกตัวเองไม่มีคุณค่า 4. ไม่อยากเจอใคร อยากอยู่คนเดียว 5. ประสิทธิภาพในการทำกิจวัตรประจำวันลดลง 6. มีความคิดไม่อยากอยู่บนโลกใบนี้ อยากฆ่าตัวตายเกิดขึ้นมา 7. เบื่อสิ่งที่เคยอยากทำ หรือชอบทำ อาทิ เคยดูซีรีย์ แล้วมีความสุข ก็เลิกดู เป็นต้น หากเป็น 5 ใน 7 ข้อ มีแนวโน้มซึมเศร้า แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นกับแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นหรือไม่ เพราะบางครั้งภาวะต่างๆ ก็อาจเป็นเพียงความเครียดชั่วเวลาหนึ่งเท่านั้น
.
สำหรับบนโลกโซเชียล มีสัญญาณที่เราสังเกตได้อีกอย่าง ก็คือ คนนั้นอาจจะโพสต์ข้อความที่เข้าข่าย อาทิ ถ้าฉันหายไป… ไม่มีใครเข้าใจ… เป็นต้น หรือเปลี่ยนโปรไฟล์จากการ์ตูนหรือภาพสวยๆ เป็นภาพดำมืด เป็นต้น แต่ทั้งนี้เราไม่สามารถบอกได้ว่าสัญญาณแบบนี้แปลว่าเป็นโรคซึมเศร้าทุกกรณี เราต้องหลีกเลี่ยงการตีตรากัน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยเท่านั้น
.
พี่ขวัญทิพย์ และพี่ศุภวรรณ อยากจะฝากถึงสถาบันครอบครัว ว่าสถาบันนี้ ใกล้ชิดเด็กมากที่สุด โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครอง อยากให้ฟังเสียงของเด็ก ซึ่งเป็นคนๆ หนึ่งให้มากขึ้น ฟังว่าเขาต้องการอะไร และพูดคุยอย่างเปิดใจกันในครอบครัว การที่เด็กคิดไม่เหมือน หรือทำอะไรที่ไม่ถูกจริตพ่อแม่ ไม่ได้แปลว่า “ผิด” และเด็กแต่ละคนก็แตกต่างกันไป ขอให้ยอมรับในสิ่งที่เขาเลือก ยุคสมัยนี้ไม่ได้แปลว่าเด็กต้องจบปริญญา เด็กๆ หลายคนประกอบอาชีพ มีรายได้สูงขณะที่กำลังเรียนหนังสือด้วยซ้ำไป ดังนั้นผู้ปกครองต้องนิยามคำว่า “ประสบความสำเร็จ” เสียใหม่
.
สิ่งที่พี่ขวัญทิพย์ และพี่ศุภวรรณ เล่าให้เราฟังนั้น ช่วยสร้างความตระหนักให้ทุกคนช่วยกัน ประคับประคองวัยรุ่น ให้มีกายและจิตที่เข้มแข็ง พร้อมเผชิญหน้ากับอุปสรรคจากชีวิตในโลกกว้าง และแข็งแกร่งพอที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติ ในการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต
#มศว

#นักศึกษา

#โรคซึมเศร้า

#จิตเวช