คุยกับอุ้ม…ในมุมนักเขียน (2)

โดย | ต.ค. 28, 2021 | Community, Heart-Inspire

“หนังสือคือหีบห่อของเรื่องราวและความคิด” … นิยามการใช้ชีวิต ณ เมืองพอร์ตแลนด์ของคุณอุ้ม ‘สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท’ เชื่อมร้อยความผูกพันระหว่างครอบครัว ไปยังสิ่งรอบตัวภายในบ้าน หนังสือนิทานถูกเก็บไว้ในกล่องแสนสวยสำหรับลูกสาวทั้งสอง ส่วนชั้นวางหนังสือของคุณอุ้มและสามีคืออีกหนึ่งพื้นที่สำหรับถ่ายเทความรัก

 

“บรรยากาศในบ้านของเราคือเต็มไปด้วยหนังสือ ลูกๆสนใจเมื่อไหร่ก็หยิบมาอ่านได้ แล้วระบบห้องสมุดของเมืองนี้ดีมากๆนะคะ อุ้มสามารถพาเค้าไปอ่านและยืมหนังสือภาพได้คราวละ 20-30 เล่ม เด็กๆจะรู้ว่าแม่ชอบอ่านและฟัง audio book ด้วย ส่วนพ่อฟัง podcast เหมือนเรากำลังสร้างบรรยากาศเรียนรู้และเปิดรับข้อมูลโดยไม่ได้บังคับหรือคิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำ…”

 

“เราทำเพราะเราสนใจ เราอยากรู้” คือวิธีการบ่มเพาะทัศนคติของการเป็นนักอ่านที่ดี มอบให้แก่ น้อง “เมตตา” และ “อนีคา” ส่วนหนึ่งเกิดจากดีเอ็นเอความเป็นนักเขียนของแม่

 

คุณอุ้ม เล่าว่า เธอเริ่มเขียนเรื่องสั้นมาตั้งแต่สมัยอยู่ชั้น ม.2 ปลูกฝังทักษะด้านตัวอักษรเรื่อยมาจนกระทั่งเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์บ้านอุ้ม ก็ทำพ็อคเก็ตบุ๊คและนิตยสาร เมื่อย้ายครอบครัวมาอยู่ที่เมืองพอร์ตแลนด์อย่างจริงจังก็ยังติดตามความเป็นไปในโลกหนังสือ ผ่าน Powell’s Book ร้านหนังสือท้องถิ่นที่ดังระดับโลกซึ่งทุกๆคนในเมืองรู้จักกันดี

 

“ทั้งที่เราสั่งซื้อหนังสือจาก Amazon ได้ แต่ Powell’s Book เป็นร้านท้องถิ่นอยู่แถวบ้าน เป็นร้านของเมือง ถ้าสั่งแล้วไปรับเองก็ไม่ต้องมีแพคเกจจิ้ง ไม่ต้องมีพลาสติก อุ้มและสามีชอบไปร้านหนังสืออยู่เสมอ เพราะรู้สึกว่ามันแตกต่างจากการซื้อจาก Amazon หรือจากเวปไซด์ต่างๆ อุ้มเชื่อว่ามีคนที่ชอบเช่นเดียวกันนี้ เพราะการได้เปิดอ่านแล้วพลิกดู เป็นความรู้สึกที่ดีมากๆ”

 

หนังสือเล่มล่าสุดที่คุณอุ้มหยิบมาอ่าน คือ Peril เขียนโดย Bob Woodward แต่เป็นหนังสือเสียงที่ไล่เรียงระหว่างบรรทัดให้เราฟังและสามารถทำอย่างอื่นไปด้วย อีกเล่มคือ Little Women นวนิยายคลาสิกที่ตั้งใจซื้อมาให้ลูกอ่านแต่สุดท้ายกลายเป็นคุณแม่ชอบ ขณะที่หนังสือของ Roald Dahl ซึ่งเธอกับลูกๆอ่านแทบทุกเล่ม เหมือนความสุขประจำบ้านที่ต้องมีติดไว้ในโลกใบเล็ก

 

แม้พอร์ตแลนด์จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ขณะนี้ร้านหนังสือเร่ิมกลับมาเปิดให้บริการแล้ว และกลุ่ม Book Club ผู้สูงวัยอย่างคุณป้าข้างบ้าน หรือแม้แต่คนใกล้ๆตัวก็คือเพื่อนคุณอุ้มเอง ก็ยังเปิดพื้นที่สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอยู่เสมอๆ ถึงเจอตัวกันไม่ได้ก็คุยผ่าน Zoom …นี่เองทำให้เธอเชื่อว่าหนังสือไม่มีวันตาย นิยายไม่มีวันหมดอายุขัย เพียงแค่แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยเท่านั้น

 

“สิ่งหนึ่งที่อุ้มรู้สึกว่าวรรณกรรมช่วยสร้างความคิดของเรามากกว่าความรู้เป็นชุดๆ แบบอยากรู้อะไรไปหาใน Google ที่มันเหมือนเป็นความคิดอีกชุดที่ไม่ใช่จินตนาการ แต่วรรณกรรมกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เราคิดตามให้เห็นภาพ เสร็จแล้วกลับมาวิเคราะห์ด้วยว่า เราเห็นเช่นเดียวกับเรื่องนี้มั้ย นี่คือการใช้สมองอีกแบบหนึ่ง”

อีกสิ่งนึงที่คุณอุ้มให้ความสำคัญก็คือเรื่องของอาหาร ใครที่ติดตามคอลัมน์ของเธอใน The Cloud จะทราบว่าคุณอุ้มเป็นผู้หญิงวัยกลางคนที่นิยมทานมังสวิรัติและไม่ขัดเรื่องที่ใครบอกว่าเธอเป็น Vegan แล้วจะมีไลฟ์สไตล์ที่ “อยู่ยาก” แต่จริงๆ คือตรงกันข้ามเลย เพราะที่พอร์ตแลนด์เป็นเมืองของคนทานมังสวิรัติ ผู้คนยุคใหม่ให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพกาย แล้วสองคือสุขภาพทางใจ นั่นคือการรักษาศีลธรรมและดูแลสิ่งแวดล้อมที่ดี

 

“การไม่ทานเนื้อสัตว์ช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมมหาศาลนะคะ เพราะทรัพยากรที่ใช้ไปในทางปศุสัตว์สูงมากกว่าการกินพืชโดยตรง แนวคิดของคนพอร์ตแลนด์คือมีความสนใจทางการเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นคนทานมังสวิรัติจึงมีมากและแทบจะทุกร้านล้วนมีเมนูแบบนี้ อุ้มเลยรู้สึกไม่อึดอัดเดือดร้อนเรื่องการหาร้านอาหารมังสวิรัติ”

 

โดยเฉพาะร้านอาหารไทยที่คุณอุ้มชอบมากๆ นั่นก็คือร้าน “กะทิ” เป็นครัวมังสวิรัติล้วนๆ ที่ดังมาก ผู้คนมากันแน่นตลอดเวลา “ใครไม่ได้กินมังสวิรัติก็แวะไปได้ค่ะเพราะอร่อยมาก”

 

ปัจจุบัน คุณอุ้มทานมังสวิรัติมาเกือบ 2 ปี แรกๆก็ต้องใช้ความพยายาม แต่พอถึงจุดหนึ่งก็ไม่ต้องพยายามเลย มันจะอยู่ในตัวเราแบบเป็นธรรมชาติ ในวัยที่เติบโตขึ้นคุณอุ้มบอกว่า ช่วยทำให้ตนเองมีความรู้และเข้าใจวิถีของมันอย่างลึกซึ้ง แตกต่างจากสมัยก่อนที่อายุ 20 ต้นๆ ปรากฎว่าทานมังสวิรัติอย่างไม่ถูกต้องทำให้มีปัญหาเรื่องสุขภาพ เช่น ผมร่วง เล็บฉีก เพราะร่างกายรับสารอาหารไม่เพียงพอ สุดท้ายก็ต้องเลิกกันไป 

 

“แต่เมื่อกลับมาทานมังสวิรัติอีกครั้ง ด้วยเหตุผลว่าไม่อยากฆ่าสัตว์แล้วเอาอะไรมาใส่ตัวเราเอง มันไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น เหตุผลนี้คือยั่งยืนกว่า ความเชื่อนี้แข็งแรงกว่า ทำให้เรามั่นคงในการทำสิ่งนั้น แล้วสามีอุ้มก็ทานมังสวิรัติด้วยสามารถช่วยสนับสนุนกันได้อย่างดี”

 

หากใครเคยติดตามหนังสือ Portland The City.The People. คนเมืองพอร์ตแลนด์ ของสำนักพิมพ์บ้านอุ้ม ย่อมทราบดีว่าเมือง Hip Hip แห่งนี้ได้ชื่อว่าสวรรค์ของนักชิม มีร้านอาหารนานาชาติ ทั้งแบบ Fine Dining และริมทางแบบ Cart หรือร้านอาหารเกิดใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยรสชาติมากมาย

 

คุณอุ้ม บอกว่า แม้พอร์ตแลนด์เป็นสวรรค์ของคนที่ชอบทานอาหาร แต่ก็ง่ายดายสำหรับคนที่เป็นวีแกนด้วยเช่นเดียวกัน เพราะวิถีชีวิตของคนที่นี่ไปซุปเปอร์มาร์เก็ตมีส่วนที่ขายมังสวิรัติหลากหลาย บางคนไม่ทานน้ำผึ้งด้วยซ้ำเพราะคิดว่าเป็นผลผลิตที่เกิดจากการทรมานหรือเอาเปรียบสัตว์นั่นเอง

 

“พอร์ตแลนด์มีอะไรให้เราเลือกใช้ชีวิตนะคะ วีแกนคือไม่บริโภคอะไรที่มาจากสัตว์เลย ก็คืออยู่ได้ค่ะ”

 

ด้วยความที่คุณอุ้มผูกพันในเรื่องของอาหาร เธอเคยออกหนังสือในช่วงที่อยู่เมืองไทย ปัจจุบันก็ยังมีความสนใจเปิดคลาสสอนการทำอาหารมังสวิรัติแบบไทยๆ ให้แก่ผู้ที่สนใจเรียนรู้ในอนาคตอีกด้วย 

 

… อาจพูดได้ว่า ถ้างานเขียนหนังสือก็คือสิ่งที่สะท้อนมุมองและความคิด ส่วนของการทำอาหารย่อมสะท้อนตัวตนและจิตใจอันแสนบริสุทธิ์ง่ายงามของผู้หญิงที่ชื่อ “สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท” ไว้อย่างชัดเจน

 

#อุ้มสิริยากร พุกกะเวส

#ร้านหนังสือ

#มังสวิรัติ

#วีแกน