ความสำเร็จของ Telemedicine ที่รพ.บ้านโป่ง สู้โควิด-19 …สู่การรักษาโรคเรื้อรังสังคมสูงวัย

โดย | ต.ค. 7, 2021 | Health-Inspire, Health&Environment

Telemedicine หรือ ระบบแพทย์ทางไกล คือแพลทฟอร์มใหม่ในการสื่อสาร ระหว่างบุคลากรสาธารณสุขกับคนไข้ผ่าน Video conference เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ให้แพทย์วินิจฉัย รักษา และป้องกันโรคได้ดียิ่งขึ้น
โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 กระตุ้นให้สถานพยาบาลตื่นตัว! หันมาใช้ Telemedicine เพราะตอบโจทย์สถานการณ์ ลดขั้นตอนการมาโรงพยาบาล ลดจำนวนผู้ป่วย ช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนไม่ต้องเดินทาง ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย 

โรงพยาบาลบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เป็นอีกหนึ่งโรงพยาบาลที่ได้นำ Telemedicine มาใช้ พญ.มนัญญา วรรณไพสิฐกุล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านโป่ง เล่าว่า โรงพยาบาลบ้านโป่งเป็นโรงพยาบาลขนาดกลาง 340 เตียง ซึ่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 ช่วงเดือนเมษายน 2564 การระบาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากหลักสิบเป็นหลักร้อย บางวันมีผู้ป่วยโควิดที่ต้องดูแล 300-400 คน ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถรองรับคนไข้ได้ทั้งหมด ต้องเปิดโรงพยาบาลสนาม 2 แห่ง รวม 400 เตียง ก็ยังไม่เพียงพออีก ต้องมีการรักษาแบบ Home Isolation รวมแล้วมีคนไข้ต่อวันเกือบ1000 คน ทำให้แพทย์ พยาบาล ไม่สามารถดูแลอย่างทั่วถึง 

ยกตัวอย่าง โรงพยาบาลสนามมีแพทย์ 1 คน และพยาบาล 4 คนต้องดูแลคนคนไข้ 400 คน นับเป็นภาระหนักมากจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุน จึงหารือกับโรงพยาบาลที่นำ Telemedicine มาใช้ นำไปสู่การประสานงานกับ บริษัท พรีซีชั่นไดเอทซ์ จำกัด (www.dietz.asia) ผู้พัฒนา Telemedicine ติดตั้งระบบการแพทย์ออนไลน์อย่างรวดเร็ว รองรับสถานการณ์แพร่ระบาด 
สำหรับ Telemedicine ของไดเอทซ์ นอกจากจะช่วยให้แพทย์ พยาบาลดูแลรักษาคนไข้แบบทางไกลแล้ว ยังครอบคลุมระบบจัดเก็บประวัติ โดยคนไข้จะกรอกข้อมูลบันทึกประจำวันของตนเอง อาทิ ค่าความดัน ค่าออกซิเจน อุณหภูมิร่างกาย อาการผิดปกติ โดยโรงพยาบาลจัดหาเครื่องมือและคำแนะนำการใช้ให้แก่ผู้ป่วย Home Isolation 
จากนั้น ข้อมูลคนไข้จะเข้าสู่ระบบจัดเก็บและประมวลผล พร้อมคัดแยกกลุ่มคนไข้ที่มีอาการน้อย ไปอยู่ใน “กลุ่มสีเขียว” ส่วนคนไข้ที่มีความผิดปกติปานกลางจะจัดอยู่ใน “กลุ่มสีเหลือง” และอาการหนัก “กลุ่มสีแดง”
 
“ระบบนี้ทำให้เรามีข้อมูลในการคัดกรองคนไข้ที่มีอาการผิดปกติขึ้นมาดูแลได้อย่างใกล้ชิด ประสานให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่เข้าไปดูแลได้รวดเร็ว จากนั้นปรึกษากับทีมแพทย์ของโรงพยาบาลบ้านโป่งผ่าน Telemedicine” 
ส่วนยาและเวชภัณฑ์นั้น กรณีคนไข้โควิด 19 ที่รักษาตัวที่บ้านจะได้รับการจัดยาครบตามจำนวนวันกักตัว ถ้ามีอาการเพิ่มเติม อาทิ ไอ มีเสมหะ โรงพยาบาลจะประสานกับ รพ.สต.ในพื้นที่ จัดยาให้หรือส่งยาให้ถึงบ้าน 
พญ.มนัญญา กล่าวอีกว่า การทำงานผ่านแพลทฟอร์ม Telemedicine ช่วยอำนวยความสะดวกหลายเรื่อง ลดภาระงานเจ้าหน้าที่ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์จัดเวลาดูแลคนไข้ได้อย่างทั่วถึง ลดความเสี่ยงสัมผัส และอนาคตจะขยายขอบข่ายงานไปดูแลคนไข้โรคเรื้อรังอื่นๆ รองรับสังคมสูงวัย เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิต เพื่ออำนวยความสะดวกคนไข้ที่เป็นผู้สูงอายุหรือคนพิการ ซึ่งเดินทางลำบาก ไม่ต้องมาโรงพยาบาลบ่อยๆ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับเขาด้วย 
 
“เราไม่รู้ว่าในอนาคตจะมีการแพร่ระบาดของโควิด 19 อีกหรือไม่ หรือจะมีโรคระบาดใหม่เกิดขึ้น และสังคมไทยมีผู้สูงอายุมากขึ้น ประกอบกับยุคสมัยเปลี่ยนไป เทคโนโลยีจึงมีบทบาทเข้ามาช่วยดูแลรักษาคนไข้ในอนาคต”  
ล่าสุดโรงพยาบาลบ้านโป่งได้ของบประมาณไปที่งบฯพัฒนาจังหวัดราชบุรี หากได้รับการจัดสรรงบฯดังกล่าวก็จะทำการนำร่องวางระบบ Telemedicine เต็มรูปแบบ  ระหว่างโรงพยาบาลบ้านโป่งกับ รพ.สต โดยจะนำร่อง 5 รพ.สต จากทั้งหมด 25 รพ.สต 
อย่างไรก็ตาม ระบบ Telemedicine จะได้ผลดีในการรักษาโรคอื่นๆ หรือไม่ อยู่ที่ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งบุคลากรของโรงพยาบาล และรพ.สต. ความร่วมมือของคนไข้และญาติ ความพร้อมของอุปกรณ์ในบ้าน การหมั่นดูแลตัวเอง เช่น วัดความดัน ตรวจน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเอง พร้อมบันทึกข้อมูลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ การรักษาผ่าน Telemedicine จึงสัมฤทธิ์ผล
ขณะเดียวกันภาครัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องจัดงบประมาณวางระบบโครงข่ายอินเตอร์เน็ตและบริการอย่างทั่วถึง ปัจจัยทั้งหมดจึงจะช่วยให้การดูแลรักษาผู้ป่วยผ่านระบบ Telemedicine มีประสิทธิภาพได้อย่างแท้จริง