คนไทยป่วยเป็นโรคStroke พุ่ง 3 แสน/ปี คร่าชีวิต-พิการถาวร อายุน้อยแค่ 25 ก็เป็นได้!

โดย | ก.ย. 18, 2021 | Health-Inspire

หากพบตนเองหรือคนรอบข้างมีอาการ “พูดลำบาก” – “ปากตก” – “ยกไม่ขึ้น” อย่าชะล่าใจให้รีบไปหาหมอทันทีเพราะ “โรคหลอดเลือดสมอง” หรือ สโตรค เป็นสาเหตุของความพิการและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ในประเทศไทยแต่ละปีจะพบผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 2-3.5 แสนคน ในจำนวนนี้เสียชีวิตมากถึง 3-5 หมื่นราย ถือเป็นโรคที่คร่าชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 และก่อให้เกิดความพิการถาวร โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ

ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า โรคหลอดเลือดสมอง (สโตรค) คือภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้เกิดอาการชาที่ใบหน้า ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขน ขา ข้างใดข้างหนึ่ง อ่อนแอ เคลื่อนไหวไม่ได้หรือเคลื่อนไหวลำบาก

ในทางการแพทย์ สโตรค แบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามลักษณะการเกิดโรค คือ 1. เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (ischemic stroke) เรียกว่า “โรคสมองตีบตัน” พบได้ประมาณ ร้อยละ  80 สาเหตุของหลอดเลือดสมองตีบ อาจเกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ มีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพในการลำเลียงเลือดลดลง ส่วนการอุดตันมักเกิดจากลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในบริเวณอื่น ไหลไปตามกระแสเลือดจนไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง หรืออาจเกิดจากมีลิ่มเลือดก่อตัวในหลอดเลือดสมอง และขยายขนาดใหญ่ขึ้นจนอุดตันหลอดเลือดสมอง

และ 2. เกิดจากหลอดเลือดสมองแตก (hemorrhagic stroke) เรียกว่า “โรคหลอดเลือดสมองแตก” พบได้ประมาณ ร้อยละ 20 จากหลอดเลือดที่มีความเปราะบางร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้บริเวณที่เปราะบางนั้นโป่งพองและแตกออก หรืออาจเกิดจากหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่นจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดปริแตกได้ง่าย ซึ่งอันตรายมากเนื่องจากทำให้ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองลดลงอย่างฉับพลัน และทำให้เกิดเลือดออกในสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วได้

“หาหมอเร็ว” เพิ่มโอกาสรอดชีวิต ลดความเสี่ยงพิการ-ฟื้นตัวเร็ว

ปัจจุบันแม้การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง จะมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่การส่งตัวผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างรวดเร็ว จะเพิ่มโอกาสรอดชีวิต ลดความเสี่ยงความพิการถาวร และยังส่งผลต่ออัตราการฟื้นตัวของผู้ป่วยอีกด้วย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยอายุน้อย

โดยในผู้ป่วยโรคสมองตีบตันนั้น หลังเกิดอาการควรเข้าสู่กระบวนการรักษาภายใน 4.30 ชม. แพทย์จะทำการรักษาโดยให้ยาสลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ หรือใช้สายสวนหลอดเลือดเพื่อลากลิ่มเลือดที่อุดตันออก ให้เลือดไหลไปเลี้ยงสมองได้เร็วที่สุด ทำให้สมองที่ยังไม่ตายฟื้นกลับมาทำงานได้ ขณะที่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแตก จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาให้เร็วที่สุด เพื่อให้แพทย์ทำการรักษาโดยการผ่าตัด แต่เนื่องจากข้อจำกัดของการผ่าตัดที่สามารถทำได้เฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและอุปกรณ์ที่ครบครัน กรณีนี้การรักษาแบบเครือข่ายและการมีระบบส่งต่อที่ดี ถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

สัญญาณที่บ่งบอกอาการของโรคหลอดเลือดสมอง เราใช้หลักการ F.A.S.T คือเมื่อพบว่าใบหน้าอ่อนแรง หน้าเบี้ยว สับสน พูดลำบาก และพูดไม่ชัด หรือมีอาการพูดลำบาก ปากตก ยกไม่ขึ้น ควรไปโรงพยาบาลทันที จะสามารถช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ และเสียชีวิตลงได้

“แม้อาการโรคหลอดเลือดสมองมักจะเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน แต่ทุกคนสามารถสังเกตความผิดปกติของร่างกายได้ตามหลักการ F.A.S.T คือ F = Face ชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้า ทำให้หน้าเบี้ยวไปข้างใดข้างหนึ่ง, A = Arm อาการแขนขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง, S=Speech ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดลำบาก, T= Time เวลาที่ต้องรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดทันที หรือจำง่ายๆ หากมีอาการพูดลำบาก ปากตก ยกไม่ขึ้น ให้รีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ไม่ควรรอดูอาการหรือคิดว่าเดี๋ยวก็หายได้เอง โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่ากลัวที่จะมาหาหมอที่โรงพยาบาล เพราะจะทำให้เสียโอกาสและช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการรักษาไปนั่นเอง”  

 

แนวโน้มคนไทยป่วย “โรคหลอดเลือดสมอง” พุ่งสูงขึ้น

สำหรับอุบัติการณ์โรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทยนั้น จากข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี ของ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2559-2561 จำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในบ้านเรามีแนวโน้มสูงขึ้น จาก 293,463 คน ในปี 2559 เพิ่มเป็น 331,086 คนในปี 2561 อีกทั้งอัตราการเสียชีวิตยังมากถึงปีละประมาณ 30,000 รายเลยทีเดียว

ขณะที่องค์กรโรคหลอดเลือดสมองโลก ระบุว่าในปี 2563 มีผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองกว่า 80 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตไปแล้วประมาณ 5.5 ล้านคน และยังพบผู้ป่วยใหม่มากถึงปีละ 14.5 ล้านคน โดย 1 ใน 4 เป็นผู้ป่วยที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากกรรมพันธุ์หรือพันธุกรรม และร้อยละ 60 เสียชีวิตก่อนวัยอันควร นอกจากนี้ ยังได้ประมาณการความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในประชากรโลกพบว่า ทุกๆ 4 คน จะป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง 1 คน

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาระบุว่า ร้อยละ 80 ของประชากรโลกที่มีความเสี่ยงสามารถป้องกันได้ หากใส่ใจดูแลสุขภาพด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม หวานจัด อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ควบคุมระดับความดันโลหิต ระดับไขมันและระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดเหล้าบุหรี่ ลดน้ำหนัก ควบคู่การเฝ้าระวังสังเกตอาการ โดยเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป เมื่อมีอาการเข้าข่ายต้องปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ส่วนผู้ป่วยที่อยู่ในการรักษาติดตามอาการควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ