ภายใต้โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเข้าสู่ยุคดิจิทัล การรักษาอัตลักษณ์ชุมชนท้องถิ่น เผชิญหน้ากับความท้าทายรอบด้าน โครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาทุนทางศิลปะและวัฒนธรรมย่านเยาวราช” ของมหาวิทยาลัยศิลปากร จึงเกิดขึ้นเพื่อรณรงค์ในเรื่องนี้
โดยผศ.ดร.วีรวัฒน์ สิริเวสมาศ อาจารย์ประจำคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นักวิจัยโครงการฯ บอกว่า จากการลงพื้นที่วิจัย เพื่อตอบโจทย์แนวทางพัฒนาเชิงพื้นที่ พบว่ากระดาษไหว้เจ้า ถือเป็นหนึ่งในภูมิปัญญา และอัตลักษณ์ของชุมชน
ซึ่งชุมชนเจริญไชยย่านเยาวราช เปรียบเสมือนเป็นศูนย์กลางของการค้าขายชุดกระดาษไหว้เจ้า และข้าวของเครื่องใช้ในการประกอบการนับถือและเคารพบรรพบุรุษ รวมถึงเทพเจ้าผ่านการจัดพิธีไหว้ในงานเทศกาลต่าง ๆ อาทิ เทียนเถ่าจี้ (กระดาษเงินกระดาษทองแผ่นใหญ่) กิมเต้า (กระดาษที่ถูกพับเป็นรูปถังเงินถังทอง) เป็นต้น แต่ปัจจุบันการผลิตงานกระดาษลดลง เพราะความนิยมของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
เรามีข้อเสนอที่ผ่านการพูดคุยกับคนในชุมชน ให้ช่วยกันยกระดับผลิตภัณฑ์ให้เกิดความทันสมัย ตอบโจทย์สังคม และค่านิยมของผู้คนในปัจจุบัน โดยยังคงคุณค่าความเป็นวัฒนธรรมในอดีต ซึ่งจะช่วยกระตุ้นและส่งเสริมอาชีพของผู้คนในพื้นที่อีกด้วย
“นักวิจัยทำงานร่วมกับชุมชนมาตลอด และได้เสนอการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใช้กระดาษสวยงาม คุณภาพดี เช่น กระดาษกล่องแบบที่ทำการ์ดอวยพรนำมาออกแบบเป็นโคมไฟ ของที่ระลึก รูปสัญลักษณ์ความเชื่อจีนที่ทันสมัย ที่ไม่จำเป็นจำต้องมาจากกระดาษไหว้เจ้า ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์สวยงาม เหมาะสมที่จะทำเป็นของที่ระลึก สร้างรายได้ให้กับชุมชนมากขึ้นด้วย รวมทั้งสามารถรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน”
เปรียบเทียบ ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซียแล้ว ต่างก้าวข้ามวัฒนธรรม การเผากระดาษแบบดั้งเดิมไปสู่การไหว้เจ้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ยังคงวัฒนธรรมการไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษแบบดั่งเดิมไว้ได้
ด้านรศ.ดร.นันทนิตย์ วานิชาชีวะ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยศิลปากร หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่คณะผู้วิจัยนำองค์ความรู้ ผลิตผลงานวิจัยเชิงบูรณาการที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ ช่วยตอบโจทย์แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 หรือตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของประเทศ รวมทั้งเป็นการต่อยอดงานวิจัยเชิงศิลปะ และวัฒนธรรม โดยเชื่อมโยงกับพันธกิจการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัย เพื่อการนำทุนทางศิลปะและวัฒนธรรมในย่านเยาวราชมาพัฒนาร่วมกับภาคีเครือข่ายและชุมชน
โดยงานวิจัยโครงการเริ่มมาตั้งแต่ปี 2561-2564 ซึ่งมหาวิทยาลัยศิลปากรได้จัดทำ “โครงการวิจัยการพัฒนาเมืองวัฒนธรรมอัจฉริยะ : กรณีศึกษาย่านเยาวราช-เจริญกรุง” ภายใต้ความร่วมมือกับชุมชน ภาคเอกชน ธุรกิจและภาคีเครือข่าย ทำให้ทราบปัญหา ความต้องการและศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่และชุมชน โดยเฉพาะด้านศิลปะและวัฒนธรรม นำมาสู่การศึกษาวิจัยในหลายด้านทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ชุมชน สถาปัตยกรรม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ไปจนถึงด้านศิลปะและการออกแบบ